Monday 11 May 2009

Design Is.. Milan Salone Internazionale del Mobile (ตอนที่ 1) 11-05-09



ปีนี้งานแฟร์ที่มิลาน หรือ Milan Design Week 2009 ถึงแม้จะไม่คึกคักในแง่ปริมาณ(คน) แต่ยังคงไว้ซึ่งเนื้อหาและสาระไม่ทำให้ผิดหวังเหมือนเช่นเคยครับ เฟอร์นิเจอร์แบรนด์ดังขนเอาของมาโชว์พลังตบเท้ากันพรึบผรับ มีผลงานของดีไซเนอร์คนดัง ที่นำเสนอหลากหลายแลดูอลังการงานสร้าง หรือทั้งในแบบสวยพอเพียง สมราคางานใหญ่แห่งปีที่คนในวงการออกแบบสถาปัตยกรรมภายในและคอเฟอร์นิเจอร์ไม่อยากพลาด

ถ้าพูดถึงแทรนด์ของงาน ต้องบอกว่าภาพรวมเกาะกระแส eco-architecture หรือ green design ไปกะเค้าด้วย แหม ตอนนี้อะไรอะไรก็ต้องสิ่งแวดล้อมมาก่อนจริงมั้ยครับ อย่างไรก็ดีจะดูเฟอร์นิเจอร์อิตาลีให้เข้าใจต้องดูเข้าไปลึกถึงตัวตนหรือ identity ของแต่ละแบรนด์ (เนื่องจากแต่ละแบรนด์ไม่นิยมอิงกระแสอะไรมากนัก มักยืนยันหรือแทรกซึมความเป็นตัวของตัวเองลงในงานแต่ละคอลเลคชั่นมากกว่า)เอาให้เข้าใจจริงๆต้องดูด้วยว่าดีไซเนอร์คนไหนออกแบบ มันถึงจะเห็นภาพว่าเฟอร์นิเจอร์ตัวนั้นมันใช่เราหรือไม่ แหม ก็เฟอร์นิเจอร์ต้นทุนสูงแบบนี้ ซื้อไปก็เหมือนกับการลงทุนนะครับ งานเฟอร์นิเจอร์ที่มีดีไซน์แบบนี้เลือกชิ้นที่เราชอบ ที่เหมาะกับเรา ที่มีอัตลักษณ์ของเรา จริงๆ ยิ่งอยู่กับเรานาน จะยิ่งมีราคาต้นทุนที่สูงขึ้นครับ

ปีนี้ภาพรวมของดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ที่แบรนด์หลักๆ เช่น พวก B&B Italia หรือ Minotti และ Natuzzi เห็นได้อย่างชัดเจนคือแทรนด์ของการออกแบบที่ลงลึก แบบถึงไหนถึงกัน งานเก็บรายละเอียดชัดเจนมากขึน ลวดลาย pattern ใหญ่ๆไม่ว่าของหินหรือกระเบื้องก็ลดลง สำหรับลายไม้ มีการลดทอน(หรือบางทีก็ลบเลย)รายละเอียดของลายออกไป และใช้แว่นขยายส่องดูที่ grain แบบดุดัน จงใจครับ

เฟอร์นิเจอร์สำหรับแบรนด์ประเภท Moroso หรือ Edra หลายชิ้นงานยังคงไว้ซึ่งความกล้าใช้กล้าทดลอง หลักการของ Illusion ชัดเจนมาก ในแบรนด์บางแบรนด์ "หลอก" กันเห็นๆนึกว่าเป็นไม้แต่ไม่ได้ใช้อะไรเกี่ยวกับไม้สักนิด หรือบางแบรนด์โชว์ว่าเป็นเอเชียแต่จริงๆเป็นฝรั่งตั้งแต่ข้างในยันข้างนอก Kartell มาแนวขอบคุณครับพี่น้อง คอนเซ็ปแรงเหมือนเดิม โชว์ความเป็น human ของคนทุกแบบทุกประเทศสะท้อนออกมาในอารมณ์โต๊ะเก้าอี้

เกือบทั้งหมดของเฟอร์นิเจอร์แบรนด์เนม ผลงานที่มาโชว์เน้น "ดีเทล" ครับ จับประเด็นโดยการ "ซูม" ไปที่ไหนก็เจอ component ขยายขนาดยักษ์ ทั้งนี้ยังรวมถึงโคมไฟ สวิตท์ ปลั๊ก หิน หรือแม้แต่มือจับ

สิ่งที่ทำให้งานมิลานแฟร์น่าสนใจคือ งานนี้ไม่ใช่จัดเพื่อแค่ขายของครับ งานมิลานแฟร์คือเวทีที่สตูดิโอต่างๆจะเสนองานหรือแนวคิดอิงกระแสที่ยังอยู่ในช่วง Prototyping เพื่อหยั่งเสียงดูว่าชาวบ้านในวงการเค้าคิดกันอย่างไร สำหรับสตูดิโอดังๆอย่าง Established & Sons ของสองพี่น้องชาวฝรั่งเศสที่อยู่ในอังกฤษ ที่เอาไม้แผ่น American Tulipwood คละขนาดมาทำเวทีที่ออกแบบโดย Alan Dempsey และ Paul Loh เพื่อสื่อให้เห็นถึงวิธีนำเสนอเฟอร์นิเจอร์แนวคิดใหม่สำหรับคอลเลคชั่นต่อไปของสตูดิโอ หรือดีไซเนอร์ Amada Levete ที่เอาหินเทียมโคเรียนบางเฉียบ(เป็นไปได้งัย) มาทำเฟอร์นิเจอร์บิวท์อินที่ปูดออกมา(แบบสวยๆ) จากผนัง และใช้ไฟ LED เพื่อหักเหมุมมองของผู้อยู่ในห้องเมื่อเปลี่ยนมุมไปนั่งในที่ต่างๆของห้อง งานที่ผมประทับใจอีกชิ้นคืองานของ Mario Bellini ที่เอาเหล็กไวร์เมช(แบบที่ใช้ในงานก่อสร้างนั่นล่ะครับ)มาrecycle แล้วเอามาทำโซฟาเรืองแสงพลังงานต่ำ งานเก๋ไก๋ชิ้นนี้กำลังได้รับการพัฒนาเชิงการค้าต่อโดย สตูดิโอ Meritalia ในอิตาลีครับ

มิลานแฟร์ปีนี้ ยังพิเศษที่มีงานโชว์ที่เกี่ยวกับการออกแบบแสง(ไล้ติ้ง) ทั้งงานแบบคอนเซ๊ปและงานเฟอร์นิเจอร์จริง ที่เวียนมาครบรอบอีกครั้งในปีนี้มีชื่อว่า EUROLUCE น่าสนใจอย่างไร ฉบับหน้าผมจะเล่าให้ฟังอีกครับ

Thursday 7 May 2009

Made by Originals: Design Hotels


ผมชอบประโยคหนึ่งของ Albert Einstein ที่เคยบอกไว้ว่า "Imagination is more important than knowledge" หรือ "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้"

ขนาดนักฟิสิกส์ที่ต้องมีกฏและทฤษฏีเป็นพื้นฐานความคิดและการทำงาน ยังกล้าพูดแบบนี้

เห็นภาพครับ เห็นภาพ

...

เวลาไปต่างไปประเทศ ผมชอบไปพักโรงแรมเก๋ๆ ออกแบบแปลกๆ หนึ่งในนั้นคือกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Design Hotels คราวนี้ไปไปที่ STRAF, Milan

มีทั่วโลกหลายร้อยแห่งครับ แต่ละโรงแรมมีเจ้าของอิสระไม่ขึ้นกับใคร บริหารกันเองหรือจ้างมืออาชีพมาบริหาร การตัวเองเรียกว่า Design Hotels เป็นเพียงอัตลักษณ์ของกลุ่มสมาชิกโรงแรมแต่ละโรงแรมเท่านั้น

เรื่องดีไซน์ของแต่ละแห่งไม่ต้องห่วง จะสวยเปรี้ยวจี๊ดหรือขรึมเข้มโมเดิร์น ชิลเอ้าท์หรือชิลอิน บ้างก็ว่ามีภาพสะท้อนของวัฒนธรรมท้องถิ่นบรรยายออกมาด้วยวัสดุหรือองค์ประกอบอะไรก็ว่ากันไปแล้วแต่พรรณนา

เค้าให้มารวมอยู่ในกลุ่มก็น่าจะการันตีว่า "ดีไซน์จ๋า" ลูกค้าเยอะอยู่แล้ว

พอเวลาไม่กี่ปี ผ่านไปมันไม่ใช่อย่างงั้นสิครับ

มีเกิดก็ต้องมีดับ ฉันใดฉันนั้น


 

"ดีไซน์จ๋า" กันมากๆ มันก็ชัก "เฝอ" คนเบื่อ


 

สมาชิกโรงแรมเพิ่มขึ้น
แต่ดีไซน์ซ้ำไปซ้ำมา ดูไปทางโน้นก็ เอ๊ะคล้ายกับอันนี้
(ไม่พูดถึงบางโรมแรมใน สิงคโปร์กับนิวซีแลนด์ที่แย่มาก ไม่รู้เรียกตัวเองว่า Design Hotelsได้อย่างไร) แนวการคุมschemeโรงแรมในกลุ่ม ช่วงหลังๆ อะไรๆก็ "Lifestyle" อะไรๆก็ "โมเดิร์น" (ฟังดู คุ้นๆมั้ยครับ)


 

Design Hotels เลย "มองหา"ตัวเองใหม่ เอากันง่ายๆ ไม่ต้อง "มองหา"ที่ไหนไกล

เป็น concept ที่เรียกว่า "Made by Originals" ที่กำลังเป็นที่ฮือฮา


 

"Made by Originals" แทนที่จะ Focus ไปที่ ตัว architecture และ design กลับเสนอมุมมองที่เห็นตัวตนของ ผู้ออกแบบ ผู้คิด ผู้ทำ มากขั้น งานออกแบบของ Design Hotels ที่กำลังปรับเปลี่ยนลุคตัวอย่างรุนแรงจึงจะออกมาในแนว สื่อถึง "อารมณ์" human approach ที่ไปสู่สิ่งๆต่างๆที่สัมผัสได้และ
มอง "ภาพ"ของผู้ที่มีส่วนร่วมในงานออกแบบหรือคนที่เกี่ยวข้องกับโรงแรมนั้นๆโดยสื่อออกมาอย่างชัดเจนทั้งรูป กราฟฟิก ข้าวของเครื่องใช้ Treatment ต่างๆบนประตู ผนัง พื้นหรือฝ้า


 

เอากันง่ายๆ..

แทนที่จะมองทั้งภาพ "Lifestyle" แต่เปลี่ยนโดยเริ่มมองที่ "Life" แล้วค่อยหันหลังมาหา "Style"

แทนที่จะมองภาพ "งานดีไซน์" แต่หันกลับไปมอง "เบื้องหลัง" ของผู้ทำ "งานดีไซน์"

แทนที่จะมองหา "ที่มาที่ไป" ของแนวคิดจากสิ่งรอบตัว แต่หันมาสร้าง "สตอรี่" ของสิ่งที่อยู่ในตัวตน


 

...


 

เด็กนักเรียนคนหนึ่ง คุณครูให้ยื่นแขนออกมา ชูมือขึ้นตรงหน้า แล้วชูนิ้วขึ้นมา สองนิ้ว

คุณครูถามว่า "เธอว่า ตรงหน้าเธอมีนิ้วกี่นิ้ว"

"สองครับ"

คุณครูขยับแขนของเด็กคนนั้นเข้าไปเกือบชิดหน้าเด็ก แล้วถามอีกครั้งหนึ่ง

"คราวนี้ มีกี่นิ้ว"

"...เอ่อ..สาม หรือสี่มั้งครับ"

...

คนส่วนใหญ่ที่ถูกฝึกมาให้เดินตามกรอบของ "ความรู้" และ "จินตนาการ" เพื่อให้ตอบโจทย์ที่สำคัญว่า "ความเป็นจริง" คืออะไร

จริงๆแล้วคำตอบของ "ความเป็นจริง" ก็อาจอยู่ตรงนั้นแหละครับ

แค่ลองขยับเข้ามาใกล้ขึ้นอีกนิด หรือหันหลังกลับไปมองอีกหน่อย


 

คำตอบซ่อนอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ระหว่าง "ความรู้" และ "จินตนาการ"

Brand Characters, Your Identity: แต่เราก็หากัน..จนเจอ




เคยคุยกับเพื่อนๆหลายคน เค้าถามว่าทำไมเลือกเฟอร์นิเจอร์ให้เข้ากับบ้าน มันยากจัง ทำไมหน้าตามันก็ดูคล้ายกันปีแล้วปีเล่า วัสดุก็ดูเหมือนๆกันแต่ทำไมมันราคาไม่เท่ากัน ทำไมเฟอร์นิเจอร์จากเมืองนอก(หรือเดี๋ยวนี้แม้แต่ในประเทศ)
ราคาแพงเหลือเกิน ซื้อไปแล้วคุ้มหรือ บ้านจะสวยขึ้นมั้ย

...

แวบหนึ่งผมนึกถึงรุ่นน้องคนหนึ่งที่พึ่งจบและกำลังหางาน

รุ่นน้องคนนี้เตรียมตัวอย่างดีสำหรับการสัมภาษณ์ ผลการเรียนดีมาก พอร์ตงานpresentสวยหรู ก่อนออกจากบ้านไปวันนัดสัมภาษณ์ ตรวจแล้วตรวจอีก ตั้งแต่ ผม หน้า ผ้า เล็บ (โห ยังกับจะแต่งงาน)

ระหว่างสัมภาษณ์เธอก็เสนอผลงานที่เคยทำมาด้วยความเชื่อมั่น แต่ใจเต้นตู้มๆ กลัวเค้าไม่รับเข้ามาทำงาน แหม บริษัทออกจะใหญ่เด่นดัง มีชื่อเสียง

ก่อนคุยกันจบ ดีไซน์เนอร์หัวโต๊ะที่นั่งหน้ามุ่ยตลอดการสัมภาษณ์ หันมายิ้มแล้วพูดว่า "ผลงานขนาดคุณนี่ไม่ใช่แค่ "เรา" เลือกคุณ แต่อยากให้ "คุณ" เลือกเราด้วย"

เธอเล่าให้ฟังด้วยความภูมิใจ

...

เรื่องของ character หรือ "บุคลิก" ของแต่ละแบรนด์เฟอร์นิเจอร์เป็นเรื่องน่าติดตาม เป็นเพราะยิ่งตาม ยิ่งรู้ ยิ่งสนุก

เหมือนตัวละครครับ

บางแบรนด์แต่ละปีแต่ละตอน มีปิดโน่น แอบบอกนี่ เหมือนหนังสอบสวนซ่อนเงื่อนชวนให้เดา บางแบรนด์มาแนวหนุ่มฝรั่งใจดี ตรงไปตรงมา น่าเชื่อถือ เคยเป็นอย่างไรก็เป็นแบบนั้น บางแบรนด์จากเด็กขี้เล่นกลายเป็นหนุ่มมีเสน่ห์ บางแบรนด์เป็นสาวเจ้าระเบียบเนี๊ยบนิ้ง บางแบรนด์เหมือนวัยรุ่นลองผิดลองถูกเดาอารมณ์ไม่ได้ซักที(แต่สนุกดี เร้าใจไม่น่าเบื่อ) บางแบรนด์หล่อกริ๊ปแบบไหนก็แบบนั้น บางแบรนด์ออกแนวเป็นตัว "ดื้อ"เล็กๆแบบอ่อนไหว ฉันเป็นฉันเอง(ก็ฉันอยากโชว์)...หลายแบรนด์เป็นแม่บ้านสาวชาวอเมริกัน เสมอต้นเสมอปลาย ทันสมัย (ประเภทดาบก็แกว่งมือก็ไกว)


 

เลือกเฟอร์นิเจอร์สักชิ้นว่าไป ก็เหมือนเลือกไวน์ บางครั้งขึ้นอยู่กับอารมณ์มากกว่าเหตุผล

ไวน์แต่ละวินเทจรสชาติก็เปลี่ยนได้ตามดินฟ้าอากาศ แทรนด์หรือรูปแบบเฟอร์นิเจอร์ในแต่ละปีก็เปลี่ยนได้ตามกลไกของตลาดหรืออารมณ์ของผู้ออกแบบ

สิ่งที่แตกต่างคือไวน์แต่ละขวดเปิดแล้วดื่มเดี๋ยวเดียวก็หมดแล้ว

เฟอร์นิเจอร์อยู่กับเราไปหลายปี
เลือกแล้วอยู่กันนานๆครับ

...

เฟอร์นิเจอร์ "ที่เหมาะที่ใช่" จึงต้องมี "บุคลิก" เหมือน "ตัวตน" ของเรา

"ราคา" หรือ "รูปแบบ (ดีไซน์)" ไม่ใช่ดัชนีกำหนด "ค่าตัว" เสมอไป

"บุคลิก"ของแบรนด์ ต่างหากที่จะบอกได้ว่าเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนั้นเหมาะกับ "ตัวตน" เราหรือไม่

...

เฟอร์นิเจอร์ไม่ใช่ "รถไฟ"ครับ ไม่มีขบวนแรก ไม่มีขบวนสุดท้าย

อยู่ที่ "หากันเจอ" หรือยัง

พอเจอแล้วทีนี้เวลานั่งมองดูโซฟาหรือเก้าอี้ตัวนั้น ก็ได้แต่ถามว่า

"หายไปไม่นาน ทำไมเธอสวยขึ้นจัง"

Wednesday 6 May 2009

สีโปรดของคุณ


ช่วงนี้หลายๆท่านคงรู้สึกเหมือนผมว่า
เวลาคุยกับคนอื่นๆ ชอบมีคำถามประเภทหมาหยอกไก่
มาถามอ้อมๆ (แกมบังคับ) ว่าชอบ "สี" อะไร หรือเป็น "สี" อะไร

อืม... ถ้าผมต้องตอบ ต้องนึกถึงตอนเป็นเด็ก

ตอนเด็กๆ ผมเป็นคนไม่ชอบวิชาศิลปะเป็นอย่างยิ่งครับ

ครูให้วาดภาพ ระบาย "สี" ทีไร เป็นต้องเอามาให้แม่หรือน้องชายทำให้ทุกครั้ง

ก็แค่ดูรูปที่ครูเอามาสอน มันยังไม่รู้เรื่องว่ามันคืออะไร มีความหมายอะไรมาสื่อ รู้สึกแต่ว่าเห็นแต่ "สี" เลอะเทอะเปรอะไปเปรอะมา แล้วจะวาดภาพสวยๆส่งครูได้อย่างไร

เลยพาลมาไม่ทำมันซะเลย

โตขึ้นมา ดันทำงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ทำให้เริ่มเข้าใจและสนใจศิลปะ

โชคดีได้เดินทางบ่อย เลยพอบอกตัวเองได้ว่าชอบสารพัด "สี" ที่มีแต่เสน่ห์ ของรอยต่อ
อิตาลีตอนเหนือ-สวิสตอนใต้-ฝรั่งเศสทางตะวันตกครับ

...

ยุโรปมีอะไรให้ดูให้ค้นหาเยอะครับโดยเฉพาะเรื่อง "สี"

คำว่าสหภาพยุโรปเกิดจากการรวมตัวของ "สี" จากธงของประเทศหลายประเทศเนื่องจากความหวาดกลัว "ลัทธิชาตินิยม" ที่ถูกใช้มาบ่อนทำลายซึ่งกันและกันเองหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ก่อนจะมาถึงทุกวันนี้ยุโรปผ่านอะไรมาเยอะ ซึ่งมีบางมุมที่ผมรู้สึกว่ามีอะไรคล้ายๆกับเรามาก

เมื่อก่อนดินแดนในยุโรปไม่สามารถแยกได้ชัดเจนว่าใครเป็นใคร ประเทศไหนเป็นประเทศไหน ยุโรปมีแต่ชนเผ่าที่มีวัฒนธรรมคล้ายๆกัน ปกครองกันหลวมๆและแต่ละชนเผ่าก็กลืนกันไปกลืนกันมาอยู่หลายร้อยหลายพันปี

อังกฤษเกิดจากผู้อพยพของโจรสลัดแถมสแกนดิเนเวียนพวกSaxon ตอนหลังมาโดนอิทธิพลของผู้รุกรานจากสเปนและโรมัน ฝรั่งเศสไม่ต้องพูดถึงคำว่า France ไม่เคยมี มีแต่แคว้นต่างๆที่มี King เป็นของตนเองไม่ว่า Lyon, RhoneหรือReims เยอรมันออสเตรียเป็นเผ่าเร่ร่อนซะเป็นส่วนใหญ่ยกเว้นพวกขุนนางตอนกลางของประเทศที่เรียกตัวเองว่าเป็นเผ่าพันธ์บริสุทธิ์ โรมันครองด้านใต้กินถึงแอฟริกาเหนือ สเปน โปรตุเกสเป็นอาณานิคมเค้าทั้งนั้น ยุโรปตะวันออกไม่ต้องพูดถึงแตกออกได้อีกเป็นร้อย

ด้วย "สี" ด้าน ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและภาษาที่แตกต่างกันมาก ทำให้คนส่วนใหญ่รวมทั้งคนยุโรปเอง
ไม่คิดว่าจะรวมกันได้

แต่เขาก็ทำได้ และทำได้ดีด้วย

เขาทำได้โดยไม่ต้องละลาย "สี" ที่เป็นของตัวเอง ชอบสีไหนก็ยังเป็น "สี"นั้น แต่ละประเทศยังคงเอกลักษณ์ทางการเมือง ความคิด ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรมตัวเองอย่างแข็งแกร่ง เข้มข้นและเหนียวแน่น

ประเทศในยุโรปวันนี้ส่วนใหญ่ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เคยเป็นอย่างไรก็ยังคงเป็นแบบนั้น

...

มองมาดูทางเรา ทุกวันนี้ เดี่ยวนี้ มีคนชอบพูดแต่เรื่อง "สี"

บ้างว่าชอบ "สี" โน้น เป็นเสื้อ "สี"นี้

บางคนเริ่มเปลี่ยน "สี" บางคนเริ่มจะสร้าง "สี" ของตัวเองใหม่

สื่อและนักการเมืองหลายคนบอกเลิกเถอะ สังคมเรามันต้องไม่มี "สี" อย่างนี้มันต้องละลาย "สี" (โถ ลืมมองว่าตัวเองยังเลอะอยู่เลย)


 

นี่เราต้องเลือกด้วยหรือครับ?

ขอให้พูดดังๆได้ว่าเราเป็น "สี" ไหน และเดินไปด้วยกันทุก "สี"

ดีกว่ามั้ยครับ

...


 


 

Saturday 2 May 2009

เรื่องไม่เว่อร์.. (เหมือน)เฟอร์นิเจอร์ อิตาลี



สิ่งที่ทำให้วงการออกแบบสถาปัตยกรรมของอิตาลี "แตกต่าง" คืออะไร หลายท่านคงยังสงสัย

อย่างที่ผมเคยเล่าให้ฟัง ประเทศนี้เมืองนี้มีการจัดระเบียบการทำงานโดยนักคิดและนักออกแบบครับ นี่คือจุดเริ่มต้นและคือจุดเริ่มต้นของเดินทางที่จะทิ้งประเทศอื่นๆไปเรื่อยๆ ประเทศนี้ถูกครอบงำ(ในทางที่ดี)โดยสถาปนิก นักออกแบบซึ่งเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ (ขอให้มีใจรักและแนวคิดที่โดน) มีอิสระทางความคิดในการพัฒนางานของตัวเองในทุกแบบทุกสไตล์ งานออกแบบของอิตาลีจึง "ทันสมัย" อยู่เสมอ

โครงสร้างการบริหารจัดการแบรนด์ของวงการสถาปัตยกรรมในอิตาลีค่อนข้างชัดเจน ถ้าเปรียบเทียบก็คงพูดได้ว่า ดีไซน์เนอร์หรือคนที่อยากเป็นดีไซเนอร์ทุกคนของอิตาลีก็เหมือนศิลปินอิสระ ทำงานตามแนวคิดตัวเองและส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องสังกัดค่ายหรือสตูดิโอ ศิลปินเหล่านี้มีบ้านที่ทำสตูดิโอของตัวเองหรือรวมตัวกันทำงานกันเป็นกลุ่มใหญ่มากขึ้นเพื่อผลิตงานสเกลใหญ่ น่าสนใจกว่าและอาจต้องใช้เงินทุนหรือทรัพยาการมากขั้น แบรนด์ต่างๆก็เหมือนผู้จัดจำหน่ายที่อาจมีหรือไม่มีสตูดิโอในสังกัดเลยและมีการทำหนดทิศทาง คาแรกเตอร์ของงานที่แบรนด์เหล่านั้นมีอยู่เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของแบนรด์ เมื่อโครงสร้างของแบรนด์เป็นแบบนี้ทำให้แบรนด์แต่ละแบรนด์ทำงานได้กว้างขึ้นคลอบคลุมเกือบทุกศาสตร์ของงานสถาปัตยกรรมตั้งแต่ออกแบบผลิตภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน สถาปัตยกรรมทุกสเกลตั้งแต่ภายในภายนอกจนถึงงานกราฟฟิก สิ่งพิมพ์ หลากหลายแต่ทำได้ดีคุมโทนของแบรนด์ได้แบบว่ามีผลงานอะไรออกมาก็ยังอยู่ในคาแรกเตอร์ของแบรนด์นั้นๆ

ถ้าให้แบ่งกลุ่มของแบรนด์อิตาลีตามลักษณะและสไตล์งานคงต้องแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ Design House, Fashion House และ Art House

Design House คือพวกที่อยู่ในวงการออกแบบมานาน บางแบรนด์อายุเป็นร้อยๆปี ทำงานตามทิศทางที่โจทย์ของแบรนด์กำหนดไว้อย่างตรงไปตรงมาและมักเป็นโจทย์จากแทรนด์ที่มีส่วนผสมทางการตลาดและความต้องการของลูกค้าพอสมควร แบรนด์กลุ่มนี้ปรับตัวอย่างสม่ำเสมอครับ ตัวอย่างกลุ่มนี้ก็พวก B&B Italia, Minotti หรือ Poliform

Fashion House คือแบรนด์ที่พัฒนาตัวเองมาจากงานออกแบบอื่นที่ที่เกี่ยวกับแฟชั่นมากกว่างานสถาปัตยกรรมโดยตรง เน้นการทำงานออกแบบที่อิงแนวทางของแฟชั่นหลักของแบรนด์ที่มีอยุ่มาก่อนและมาปรับใช้ให้ไปได้กับงานเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มนี้มาแรงและมีอะไรที่ surprise วงการตลอดเวลาครับ
กลุ่มนี้เห็นได้ชัดก็ Kenzo ที่อยู่ในวงการมานานหรือFENDI ที่หันออกแบบชุดครัวสุดล้ำ กรี๊ดสลบ, GIORGIO ARMANI ที่กวาดออกแบบและทำเองตั้งแต่ Café ยัน Disco ไปจนถึงตกแต่งภายในเครื่องบินและขายของแต่งบ้านเนี๊ยบกริ๊บ
หรือ BVLGARI ที่ตอนนี้มาทำโรงแรมอารมณ์นิ่งๆที่ตอนนี้เป็นสุดยอด talk of the town ในมิลาน (แอบบอกว่าผมชอบมากกก)

Art House คือแบรนด์ประเภทแฟนพันธ์แท้ครับ เน้นเทคนิคแนวคิดที่เมื่อก่อนเคยทำอย่างไรเดี๋ยวนี้ก็คิดและทำอย่างนั้น ต้องยอมรับว่าถึงแม้ที่มาที่ไปของแบรนด์กลุ่มนี้จะผลิตและออกแบบกันมาเป็นร้อยปี ผลิตภัณฑ์หรือเฟอร์นิเจอร์ที่เค้าผลิตกันวันหน้าอาจหน้าตาไม่เหมือนเมื่อก่อนแต่กลับรู้สึกได้อย่างแรงถึง "กลิ่น" จากรากเหง้าของแบรนด์ครับ ตั้งแต่งานเครื่องหนังและทองเหลืองแบบชาววังสุดเนี๊ยบจาก Poltrana Frau (ไม่แปลกที่คนซื้อก็ royalty ทั้งนั้น) งานไม้มีเรื่องราวและเทคนิคTuscanจ๋า ของ Cassina หรืองานแสงและงานไฟจากสถาปนิกชื่อโบราณ(แต่งานระบือ)แบบ Fontana Arte ที่ทำ stained-glass ของ Duomo de Milano (กว่าจะเสร็จปาไปห้าร้อยปี!)

ก็ว่ากันไป
เว่อร์ไปมากน้อย แต่ละแบรนด์แต่ละแบบ

แต่ที่น่าทึ่งแบบไม่เวอ่ร์
คืออะไรทราบมั้ยครับ?

มีงานดีๆออกมาคนที่นี่ไม่ได้สนใจจะจำว่าเฟอร์นิเจอร์ตัวนั้นตัวนี้ "แบรนด์" อะไร
หรือ "แพง" ขนาดไหน

คนที่นี่จะจำว่า "ใคร" ออกแบบ

ตามไปดูงานแฟร์ (ภาคพิศดารและหิวโหย)


ผมเป็นคนชอบรับประทานครับ

มายุโรปทีไร ได้เป็นต้องลุยทุกระดับประทับใจ

ผมลุยกินตั้งแต่ร้าน Paella ข้างถนนหน้าตลาด (แต่เราเอามาขึ้นโต๊ะเป็นของหรู) จนถึง Michelin Star (ที่หลังๆไม่ค่อยน่าเชื่อถือ)

ผมดื่มหมด ตั้งแต่ไวน์บ้านที่ชาวบ้านในยุโรปตะวันออกไม่อยากทิ้ง เลยเอามาต้มขายหลอกนักท่องเที่ยว (mulled wine) จนถึง Premier Grand Cru Classe' ที่ราคาขึ้นลงตามใจท่าน Robert Parker

ผมมามิลานครั้งนี้ได้ลองไปทานที่ Cracco Peck เจ้าของทำร้านขาย Prosciutto และ Italian Delicacies ดังมากชื่อ Peck คนมาอิตาลีบ่อยๆรู้จักดี
ร้านนี้ได้หนึ่งดาวมิชิลิน อีกร้านที่ Don Carlos ร้านนี้ได้สองดาว ทั้งสองร้านอยู่แถวๆ Duomo

อร่อยครับ บริการดี อาหารเยี่ยม (แต่ไม่มีดนตรีไพเราะ... เหมือนตอนปิดสนามบิน)

ไวน์อิตาเลี่ยนปรกติเลือกยาก(มาก) และที่ดีๆราคาแพงเกินไป แต่ไวน์ Brunello ทั้งสองร้านนี้เข้าขั้น "มหัศจรรย์" ครับ

พูดเรื่องอาหาร สำหรับท่านๆที่ชอบคงทราบว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง

ว่าไปแล้วศิลปะการทำอาหารก็เหมือนงานดีไซน์ต้องมีการพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ

หลายปีก่อนเค้าว่ามาตราฐานของอาหารที่สุดพิเศษจากร้านอาหารชั้นนำระดับนี้ ต้องเป็นอาหารที่เตรียมจากส่วนผสมที่ "สด" และ "ใหม่"ครับ

เนื้อวัวต้องสดใหม่ตายจริง หรือแช่เย็นจัดที่อุณหภูมิเท่านี้เท่านั้น ห้ามแช่แข็งและเอามาทำโดยเด็ดขาดกระต่ายจะขึ้นโต๊ะได้ต้องยิงมาเท่านั้นห้ามเชือด
(มันจะได้ไม่เครียดและหลั่งสารทำให้เนื้อไม่เด้ง) หรือแฮม Serrano จากสเปน ต้องทำจากหมูดำตายมาใหม่ๆแล้วห้อยหัวหมูลงให้เลือดออกตายพร้อมๆเนื้อที่ค่อยแห้งในหุบเขาที่อากาศเย็นเจี๊ยบ (จะได้กินมั้ยเนี่ย)

หลายปีถัดมาเค้าเน้นที่ "เทคนิค" การทำอาหารครับ

ร้านที่เจ๋งเชปต้องจบจากที่โน้นที่นี่ ทำ fume'จากปลา และ crème' brulee' จาก Iranian คาร์เวียร์
หรือคัดไขกระดูกสันหลังลูกแกะหนึ่งขวบมาทำซอสกับไวน์หวาน หรือเอาน้ำแร่ยัดให้ห่านอิสรเอลกินจนท้องโตตับโตเพื่อให้ Fois gras "กรอบนอก เด้งตาม นุ่มใน" (โห แค่ฟังก็เหนื่อย) ขั้นตอนทำสเต็กต้องมีเผาจริงเผาหลอก (ฟังแล้วเสียว) เอาน้ำที่ไหลออกมาตอนเผากลับมาทำซ๊อสหรือทำ condiment (ไอ๊หยา)

สองสามปีนี้ แทรนด์ไม่ใช่สดใหม่หรือเทคนิดครับ แต่ต้อง "Naturale" หรือ "จากธรรมชาติ"

เห็ดTruffle' ห้ามใช้หมูเก็บ
ต้องหมาเท่านั้น (เพราะหมูแบบดั้งเดิมมันทำให้เห็ดเสียรูปรส แต่หมาเอาแต่ดม ไม่แทะไม่แตะกิน!) ปลาSalmonต้องWild จากScotlandอย่างเดียว
เนื้อวัวต้อง US certified เลี้ยงในทุ่งอยู่แบบ "พอเพียง" ไม่ขุนห้ามโด๊บ เนื้อแกะต้อง New Zealand เกาะหนือเท่านั้น เพราะปล่อยตามเลคให้หากินหาอยู่เอง(เศร้า) หรือแม้กระทั่งน้ำดื่มต้องยี่ห้อ Voss ที่มาจากน้ำธรรมชาติของ นอร์เวย์ที่ไม่มีแร่ธาติ โซเดียมหรือสารเจอปนทั้งสิ้น (แต่ผมว่ามันไม่อร่อยเลย ประมาณน้ำกลั่นรถยนต์)

จะว่าไปกว่าจะไปสรรหาแบบนี้มาได้แต่ละร้านก็น่าจะเหนื่อยนะครับ การได้มิชิลินมาว่ายากแล้ว รักษาไว้ยิ่งยากกว่า ทราบมาว่าตอนนี้มิชิลิน ไล่เก็บดาวคืนจากร้านที่ไม่สามารถรักษามาตราฐานได้เป็นว่าเล่น

แหม จะว่าไปบางร้านก็ไม่ควรได้เลย

ทำงานศิลปะ(อาหาร)เหล่านี้คนทานเค้าดูทุกองค์ประกอบ ตั้งแต่ วิธีapproachเข้าร้าน(ทำเหมือนเครื่องบินกำลังจะร่อนลง) ความสะอาด การตกแต่งภายใน

บริกร การแต่งตัว การพูดจา ความรู้เรื่องอาหาร การแนะนำอาหาร การเชิญแขกเข้าโต๊ะ ระหว่างรับประทานมีการเสริฟมุมไหน เติมไวน์ไหร่ เก็บอาการเรียกอาหารอย่างไร

ผ้าปู ผ้ากันเปื้อน การจัดวางจานช้อน มุม มีด ภาชนะที่ใช้ทำจากอะไรเพื่ออาหารอะไร ว่ากันตั้งแต่ทำจากกระเบื้อง สเตนเลส งานช้าง เหล็ก ไม้ แก้วไวน์ทำจากอะไร เหมาะกับไวน์ประเภทที่สั่งหรือไม่ ไวน์มีให้เลือกเยอะหรือเหมาะสมกับอาหารในเมนูเพียงใด เมนูปรับเปลี่ยนบ่อยขนาดไหน มีอะไรพิศษประจำวัน(เพราะอะไร)

นี่ขนาดยังไม่ได้เริ่มรับประทานนะเนี่ย

ยังต้องมีเริ่มต้นชิม การเลือกระดับความสุกดิบของเนื้อแต่ละประเภท ปลาแต่ละประเภท หอยแต่ละประเภท การตัดรสอาหารด้วยอาหาร เซอร์แบหรือน้ำ การเรียงลำดับความเข้มของอาหารตามรสหรือจากซ๊อส การหั่นอาหาร(มุมหั่นไม่เหมือนกันรสชาติเพี้ยน) การปรุงเติมเกลือหรือชีสหรือพริกไทบนโต๊ะ(ปรกติจะไม่ทำ) การเปลี่ยนไวน์ การจบไวน์ สำหรับบริกรหรือเชประหว่างรับประทานมีการเสริฟมุมไหน เติมไวน์ไหร่ อย่างไร เก็บอาหารอย่างไร เรียกอาหารแต่ละคอร์สอย่างไร

รับประทานอาหารแบบนี้จะว่าไปก็เหมือน "ดู"และ "อภิเชษฏ์" งานอาร์ตนะครับ

แรกๆดูไม่รู้เรื่องทำให้อาจพาลเบื่อไปเลย

แต่ยิ่งดู ยิ่งรู้ ยิ่งสนุกและจะ "อภิเชษฏ์"ครับ

ตามไปดูงานแฟร์ (ตอนที่ 2)


เผลอปุ๊ปเดียวผมมามิลานได้สองสามวันแล้ว ปลายหนาวต้นซัมเมอร์แบบนี้อากาศเปลี่ยนฝนตกกระหน่ำทุกวันครับ เป็นอะไรที่แปลกไม่เคยเจอตั้งแต่มายุโรป(ที่ไม่น่าจะได้เจอกับอากาศทึมๆมึนๆ แบบอังกฤษ)

ตั้งแต่เดินทางเข้ามาวันแรกบน
Malpensa Express
หรือเข้างาน Design Week 2009 (มิลานแฟร์) ผมมีอันต้องตะลึงตึงตึง

คน ครับ คน

คลื่นมนุษย์มหาศาลทะลักกันเข้ามาเบียดเสียดเดินทางกันมาที่มิลาน ขนาดมาวันแรกๆซึ่งงานแสดงซึ่งจัดที่ Rho Fiera
ศูนย์แสดงสินค้าแห่ง(ไม่)ใหม่ของเมือง ยังไม่เปิดให้คนทั่วไปชม ต้องคนที่ทำธุรกิจการค้าหรือนักออกแบบหรือสถาปนิกเท่านั้นเข้าชม คนยังทะลักล้นทุกที่ทุกสถานีทุกทางเข้า ผมลองนึกดูเล่นๆ เอ๊ะไหนว่าเศรษฐกิจไม่ดี

ปีนี้นอกจากภาพรวมของดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ที่ตามแฟชั่นของไลฟ์สไตล์มากขึ้นแล้ว สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือแทรนด์ของการออกแบบที่ลงลึก แบบ "ตบแรงๆ" แล้วขอจูบ

งานเก็บรายละเอียดชัดเจนมากขึน ลวดลาย pattern ใหญ่ๆไม่ว่าของหินหรือกระเบื้องก็ลดลง สำหรับลายไม้มีการลบรายละเอียดของลายออกไปแต่ขยายส่องดูที่grainแบบดุๆ

หลายชิ้นงานกล้าใช้
กล้า"ทดลอง" หลักการของ Illusion ชัดเจนมากในแบรนด์หลัก "หลอก" กันดื้อๆว่าเป็นไม้แต่ไม่ได้ใช้ไม้ หรือโชว์ว่าเป็นเอเชียแต่จริงๆเป็นฝรั่ง

เกือบทั้งหมดของผลงานที่มาโชว์เน้น "ดีเทล" ครับ จับประเด็นโดยการ "ซูม" ไปที่ไหนก็เจอ component ขยายขนาดยักษ์ ไม่ว่าโคมไฟ สวิตท์ ปลั๊ก หิน หรือแม้แต่มือจับ

นอกจากเรื่องแทรนด์แล้ว ที่น่าสังเกตได้อย่างหนึงในปีนี้คือกลับมาเรื่องคนที่มาร่วมงานครับ

คนเอเชีย ไม่ว่าจะจีน ไทยแขกปีนี้จะน้อยลงมาก แตกต่างจากทุกปีซึ่งคนจากแถวๆบ้านเราจะมาตะลุยดูงาน ถ่ายรูปกันทุกซอกมุม จากบนลงล่างเก็บดีเทลใกล้มาไกล บันทึกกันเข้าไปทั้งภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์เล็กหรือใหญ่ จนบางครั้งบางทีเป็นที่รำคาญของฝรั่งที่มาออกงานโชว์ เพราะเขาไม่อยากให้ถ่ายเนื่องจากเป็นลิขสิทธ์ของเขาและอาจเป็นเพราะเหตุผลว่าตัวงานที่เอามาออกยังอยู่ในขั้นทดลองทดสอบหยั่งเสียงตลาดและวงการออกแบบเพื่อนำไปปรับปรุงต่อ นี่เองเป็นเหตุผลที่เรามักเห็นเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากเมืองจีนหรือที่ดีไซน์ในเอเชียที่อาจดูสวยมีกลิ่นของความโมเดิร์น มองเผินๆหน้าตามันออกจะแปลกๆแต่เผลอคิดไปได้ว่าเออเราก็ทำได้คิดได้ ผลิตได้เหมือนฝรั่ง(เนอะ) ก็ที่มันดูแล้วเพี้ยนๆหลุดๆไปบ้างเนื่องจากไปก๊อปของๆเค้าที่ความคิดความอ่านมันยังไม่ตกผลึกและอยู่ในขั้นทดลองมา แล้วเอามา improvise (เอามาแถ) เอาเองนี่ต่างหากครับ (คือแปลว่าเค้ายังคิดไม่จบแล้วเรารีบไปเอามา
เลยทำไม่เหมือนสิ่งที่เค้าจะตั้งใจแสดงออกมา)

อย่างไรก็ดีจะว่าไปคนแถวๆบ้านเราก็ไม่ได้เลวร้ายไปทั้งหมดนะครับ เรื่องฝีมือการผลิตก็ดีเข้าขั้น ขนาดกระทั่งตอนนี้หลายๆแบรนด์ใหญ่ในอิตาลีและฝรั่งเศส จ้างคนจีนและแขกทำงานเฉพาะทางบางอย่างเช่นส่วนประกอบที่เป็นหนัง โครงเหล็กและพีวีซีด้วยซ้า ยิ่งไปกว่านั้นหลายๆสตูดิโอในอิตาลีตอนนี้ก็เริ่มมีทั้งดีไซเนอร์ทั้งจีน อินเดียและญี่ปุ่น ที่มีความหลากหลายทางความคิดและวัฒนธรรมการออกแบบ มีพื้นฐานจากโรงเรียนหรือสถาบันด้านการออกแบบจากยุโรป (แน่นอนว่าเค้าเก็บเป็นความลับสุดยอด กลัวเสียหน้า และราคาหน้าตั๋ว "Made in Italy")

ที่สนใจคือเมื่อไหร่เราๆท่านๆจะไม่ต้องรอแค่ปลายน้ำแบบนี้เล่า

ไม่รู้จะมีใครตอบได้บ้าง

ตามไปดูงานแฟร์ (ตอนที่ 1)


สัปดาห์นี้ผมต้องเดินทางอีกแล้วครับ คราวนี้ตั้งใจว่าจะเขียนอะไรจริงๆจังๆระหว่างทริป เพราะไปไหนกลับมาทีไรและเอามาเขียนทีหลังเป็นได้ทำรายละเอียดตกหล่นทุกที

ช่วงต้นปีของทุกปีหลังจากอีสเตอร์มีงานแสดงผลงานและนวัตกรรมทางด้านการออกแบบที่ดังมากงานหนึ่งในยุโรป คนจากทั่วโลกแห่กันมาจนเมืองๆนี้ซึ่งเป็นศูนย์กลางของแฟชั่นและไลฟ์สไตลย์ของยุโรปจนวุ่นวายไม่ได้หายใจหายคอ หลายปีก่อนงานนี้เป็นงานของคนที่ทำธุรกิจด้านการออกแบบ นำเข้าส่งออก โดยเฉพาะจากทางเอเชีย เดินกันแทบถล่ม เรียกว่าครึ่งๆเดินชนกับฝรั่งเป็นพวกหน้าตี๋หน้าหมวยหรือแขกทั้งนั้น เอ๊ะ แล้วอะไรทำให้เขาเหล่านั้นมากันเยอะ เอ๊ะอะไรทำให้งานนี้อยู่ยงคงกระพันกันมาหลายปี

มีคำพูดคำหนึ่งบอกว่าคนที่นี่หายใจเข้าออกเป็นศิลปะ (it's in the air that they breath) คำพูดนี้ไม่ไกลเกินจริง ลองนึกดูนะครับว่าจะมีกี่แห่งในโลกที่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวแล้วกลับไปมักจะบอกว่ามาที่นี่เดินเมืองไหนก็สวย มองไปทางไหนก็สวย หรือจะมีกี่วัฒนธรรมในโลกที่เก่าแก่แต่ไม่เคยเก่าเก็บ สามารถนำเสนอทั้งความอนุรักษ์นิยม ความร่วมสมัย ความทันสมัย ผ่านการจินตนาการจากวิวัฒนาการในทุกบริบทของสังคมที่จับต้องได้ และจะมีกี่แห่งในโลกที่เป็นจุดศูนย์กลางของศิลปะและแฟชั่นด้วยผ่านการบริหารและจัดการด้วยรากฐานของวิธีคิดวิธีการทำงานของศิลปินเหมือนเฉกเช่นในอดีตแต่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่นี่..อิตาลี

งานแสดงผลงานและนวัตกรรมทางด้านการออกแบบจัดขึ้นทุกปีที่เมืองมิลานครับ ผมขอเรียกสั้นๆว่า "มิลานแฟร์" ตัวงานดูเผินๆเหมือนการออกแสดงผลงานหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ประจำปีของแบรนด์ต่างๆทางสถาปัตยกรรม แต่ผมว่าเสน่ห์ของงานคือเป็นการนำแสนอแนวคิดของศิลปินแบบ "ไม่เปื้อน" (uncontaminated) ครับ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น
เรามาว่ากัน

ผมขอเริ่มที่เฟอร์นิเจอร์ อย่างที่กล่าวข่างต้น เป็นที่รู้กันว่าแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่มาจากอิตาลีนั้นมากับคำว่า "สวย" และ "แพง" สองคำนี้เป็น "ต้นทุน" ของ "แบรนด์" ที่จริงเป็นอย่างยิ่งครับ
แบรนด์เฟอร์นิเจอร์จากอิตาลีหรือหลายประเทศในยุโรปบริหาร "ต้นทุน" ของตัวเองแบบบริหาร "สตูดิโอ" โดยแต่ละ "สตูดิโอ" มี designer หลายคนหลากความคิดหลายวิธีการแต่ทำงานด้านการออกแบบที่เป็นทิศทางของตนเองที่ถนัดและชัดเจนเป็นตัวของตัวเอง designerคอยป้อนงานออกแบบพร้อมกัยงานผลิตให้ "สตูดิโอ" โดยมี "สตูดิโอ"คอยกำหนดกรอบแนวคิดกว้างๆจากโจทย์ของ "แบรนด์" ที่วางไว้ให้

จำเบเกอรี่มิวสิคได้มั้ยครับ? หลายปีก่อนเบเกอรี่มิวสิคฉีกกติกาของค่ายเพลงในอดีตที่กำหนดทิศทางแนวคิดเพลงให้ศิลปินร้อง กำหนดวิธีการบริหารศิลปินจากคนที่ไม่ใช่ศิลปิน กำหนดวิธีการกลยุทธ์การทำเพลง (production)โดยนักการตลาด เบเกอรี่มิวสิคฉีกกติกาโดยเอาทุกอย่างมาให้นักร้องทำ! (นั่นก็แรงไปนิด ไปมาเลยเจ๊ง แต่แกรมมี่ยังอยู่)

กติกาเหล่านี้ ไม่เคยมีในวงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องมี "ต้นทุน" ของ "แบรนด์" ครับ ความสวยหรือราคาที่แพงสำหรับที่อื่นอาจบอกได้ว่าเป็นกลไกของอุปสงค์ อุปทานและการตลาด และ "ต้นทุน" ของ "แบรนด์"ของเฟอร์นิเจอร์แบบ B&B Italia, Minotti หรือ Moroso คือการทำงานศิลปะด้วยศิลปิน บริหารโดยศิลปิน เพื่อคนที่เคารพศิลปะ

"ต้นทุน" ของ "แบรนด์" แบบนี้ดังกล่าวจึงลึก "ต้นทุน"แบบนี้ทำให้เฟอร์นิเจอร์อิตาลีขายได้ที่ตัว "งาน" ไม่ใช่ตัว "แบรนด์"

สวยก็แบบมีตัวตน สวยแบบมีเรื่องราว สวยแบบมีที่มาที่ไป (คือซื้อโซฟาไปซักตัว ต้องไปคิดต่อ คิดแล้วจะยิ่งสวย ยิ่งสนุก)

แพงก็ที่คุณค่าและมีมูลค่าเหนือกาลเวลา (คือซื้อโต๊ะไปซักตัวคือการลงทุน ยิ่งเก็บยิ่งมีค่า)

น่าเสียดายที่คนเอเชียไม่เคารพกติกาซักเท่าไหร่ ทุกๆปีแห่กันมาเพื่อ "ตัดตอน" กติกา
โดยการ "ก๊อปปี้" ซะมากกว่า พอเป็นอย่างนี้เวลามางานแฟร์ทุกปีคนที่นี่เค้าเลยมักไม่ค่อยให้เกียรติ เพราะท่านเอาแต่ยิงถ่ายรูปเอาๆโดยไม่สนอะไรเลย ทั้งๆที่ป้ายก่อนเข้างาน ก่อนออกจากงาน อยู่ในงานบอกว่าห้ามถ่าย! คนเอเชียตัดตอนกติกาการออกแบบ การจัดการไปที่การผลิตเลย ทั้งโลกเค้ารู้กันว่ามาดูแทรนด์ใหม่ที่มิลานแฟร์แต่ไปดูของก๊อป (ที่เหมือนมากกกแต่ถูกกว่า 3เท่า)ที่เมืองจีน (จัดสองเดือนหลังจากจบมิลานแฟร์ ไม่น่าเชื่ออาตี๋ทำได้ทุกอย่าง!)

เอ๊ะแบบนี้แปลว่าคนจีน คนแขกออกแบบไม่เป็นได้แต่ลอกเค้าและเอามาผลิตอย่างนั้นหรือ แปลว่างานออกแบบหรือศิลปะของเอเชียหรือชาติอื่นๆสู้ฝรั่งไม่ได้หรืองัย

คงไม่ใช่แบบนั้นทั้งหมดครับ

แล้วผมจะกลับมาบอกว่าทำไม

ตามไปดูงานแฟร์ (ตอนที่ 3)



เผลอนิดเดียวผมกำลังนั่งนั่งรถผ่าน Genoa และกำลังจะไป Nice ครับ เสียดายมาครั้งนี้ไม่มีเวลาแวะ Portofino เมืองสุดเก๋ของ italian Reivera

แถบอิตาลีทางตอนใต้ต่อเนื่องฝรั่งเศสริมขอบของทะเล
เมดิเตอเรเนียน
ตั้งแต่ Sanremo มา Monaco ไล่ไป Nice และ St Tropez เป็นเขตที่ร่ำรวยไปด้วยวัฒนธรรมครับ ธรรมดาเหมือนกับทุกที่ในโลก เมืองโซนนี้นรบกันไปรบกันมาหลายร้อยหลายพันปีจนวัฒนธรรมผสมผสานกลืนกันไปมาแยกกันไม่ออกตั้งแต่ภาษา ของกิน ศิลปะและการใช้ชีวิต


 

นี่อาจเป็นเขตที่เรียกว่ามีคนพื้นเมืองเป็นฝรั่งเศสแบบบ้านๆน่ารักที่ไม่จองหอง หรือเป็นอิตาเลี่ยนแบบเรียบร้อยที่ไม่เละเทะที่สุดก็ว่าได้

ดูเผินๆผู้คนที่นี่อาจดูหรูหราแต่งตัวสวยงาม เกินระดับปรกติของคนยุโรปทั่วไป จริงๆแล้วผมว่าคนที่นี่รวยด้วยวัฒนธรรมและศิลปะที่มีมากกว่าที่อื่นครับ

สิ่งที่ผมรู้สึกได้ว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้ทุกอย่างพิเศษคือ "สี" ครับ


ตอนกลางวัน ฟ้าที่นี่ "ฟ้า"เป็น "ฟ้า"ครับ ร้อนแรงแบบเมดิเตอเรเนียน แต่อมความอบอุ่นของวัฒนธรรมยุโรป ไม่แสบร้อนเหมือนแอฟริกาตอนเหนือแถว Tangier และไม่กระด้างเหมือนแสงที่ Greece

ตอนบ่ายแก่ๆ โทนสีของเมืองคือ สี "ส้ม" ของแสงจากแดดที่ "หมดแรง" ผสมกับ "เงา" จากสีของกระเบื้องหลังคาดินเผาเก่าๆหลายร้อยปี

ตอนใกล้ค่ำ อาคารแบบ Baroque ที่สูงทึมแต่มีสีสัน "สารพัดสี" เป็น "ฉาก" ของเมืองชายทำเลยังทำให้บรรยากาศโรแมนติกแบบโรงละครกลางแจ้งอย่างน่าประหลาด

จำสีไม้ที่เราเคยใช้ระบายสีตอนอยู่อนุบาลได้มั้ยครับ?

Riviera แถวนี้
มี "สี" อารมณ์นั้นเลย

เป็นอารมณ์ที่ หลากหลาย มีสารพัด "สี" ในกล่อง

เหมือนคนที่ผ่านอะไร เห็นอะไรมาเยอะ

มี "กร้าน" มี "เสี้ยน" มี "มิติ" จากการกดดินสอสี

แต่ก็เป็นอารมณ์ที่ "บางๆ"
"เบาๆ"

เป็นอารมณ์ที่เข้าใจว่า ที่สุดแล้วชีวิตที่มี "สี" แบบถูกระบายแบบ "เบาๆ" "จางๆ" นั้น

ดูแล้วสบายตา
อยู่แล้วสบายใจที่สุดครับ