Thursday 26 August 2010

ต้นทุนของความเชื่อมั่น




สำหรับบริษัทขนาดเล็ก การเสียพนักงานที่มีความสามารถดีๆออกไป เป็นเรื่องแย่ และจะยิ่งนับเป็นเรื่องใหญ่เป็นอย่างยิ่ง ถ้าพนักงานคนนั้นดึงลูกค้าดีๆของเราไปด้วย สำหรับธุรกิจในเมืองไทย การมีเพื่อนฝูงเป็นเรื่องสำคัญ ทะเลาะกันกับเพื่อนหรือพันธมิตรทางธุรกิจเหมือนกับเล่นไพ่แล้วเสียสองเด้ง นอกจากเสียความสัมพันธ์ดีๆกับพันธมิตรที่มีอยู่ ชื่อเสียงในวงการของธุรกิจทั้งสองฝ่ายก็คงฉาวโฉ่ เพราะแมงโม้ที่ไม่สนว่าใครถูกใครผิด คงเอาไปพูดต่อๆไปเรื่อย

...

การทรยศหักหลังกันเองของคนในองค์กร (Betrayal) เป็นสิ่งที่ทำลายแรงยึดเหนี่ยวของความก้าวหน้า เป็นเชื้อโรคที่คอยกัดกินความเจริญทางความคิด กำลังใจ ความผูกพันธ์รวมถึงความเป็นเพื่อน

Betrayal เรื่องเล็กๆ ที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันในบริษัทถึงแม้จะดูเป็นเรื่องเล็กๆจิ๊บจ๊อยแต่ก็สามารถกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้นะครับ เรื่องของ Betrayal ง่ายๆเช่น การที่พูดแล้วรับปากแล้วแต่ไม่รักษาคำพูด การพูดจานินทาลับหลังคนอื่น การใส่ร้ายป้ายสีกันเอง การไม่แบ่งปันข้อมูลที่อาจจะทำให้อีกฝ่ายทำงานได้ง่ายขึ้น เอาเข้าจริง เป็นบ่อยๆเข้า ทำให้อีกฝ่ายที่ถูกกระทำหรืออาจรู้สึกว่ากำลังถูกกระทำน้อยอกน้อยใจ สูญเสียต้นทุนที่สำคัญขององค์กรคือ “ความเชื่อมั่น” ได้นะครับ

ในความเป็นจริงแล้วคนในองค์กรคงรู้สึกน้อยใจในเรื่องต่างๆอยู่ตลอดเวลา เรื่องเล็กๆแบบ นายไม่รัก ระบบบริษัทไม่ดีไม่สนับสนุนความคิดเรา เงินเดือนน้อยไป หรือ ผู้ใหญ่ไม่สนับสนุน เรื่องเหล่านี้ส่วนสำคัญอยู่ที่ตัวเจ้าของกิจการหรือหัวหน้างานครับ

คิดว่าให้งานใหญ่เค้าไปแล้วแต่ได้ให้อำนาจการตัดสินใจกับเค้าไปด้วยหรือเปล่า ?
คิดว่าให้ตำแหน่งใหญ่ไปแต่ความวางใจไปด้วยหรือไม่ ?
ให้คำสัญญาแต่ให้และแสดงออกถึงความเชื่อมั่นในตัวลูกน้องหรือยัง ?

ถ้าคำตอบของคำถามเหล่านี้ส่วนใหญ่คือไม่ การทำแบบนี้นอกจากจะทำให้เค้าเสียกำลังใจ ยั่งบั่นทอนความสามารถของลูกน้องดีๆเหล่านี้อีกด้วย

...
“...แม้จะรักเธอเท่าไหร่ ฉันก็ต้องคอยบังคับใจฉันให้เหินห่าง ทั้งที่ใจตัวเอง อยากระบายให้เธอรู้บ้าง
และเธอสูงเกินจะใฝ่ เธอคงจะไม่สนใจในคนข้างล่าง ที่เขาเฝ้ามองอยู่ ถึงแม้ไม่มีความหวัง”
...บอย โกสิยพงษ์


เมื่อหัวหน้างานกำลังจะตัดสินใจอะไรเรื่องใหญ่ๆที่คิดว่าสำคัญกับบริษัท อย่าคิดถึงแต่บริษัทนะครับ คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดกับ“คนข้างล่าง”ที่อยู่ในบริษัทด้วย และเพื่อที่จะนำคนเหล่านั้นออกจากความรู้สึกถูกหักหลังน้อยอกน้อยใจ ให้กลับกลายเป็นความไว้วางใจ ความสนใจ อยากระบายให้“นาย”รู้บ้าง น่าจะลองทำแบบนี้ครับ

รู้จักสังเกตและยอมรับว่าลูกน้องทำอะไรอยู่ ดูเหมือนอู้แต่เค้ากำลัง“นั่งปลดปล่อยความคิด”เพื่อเรา เพื่องานเพื่อความสร้างสรรค์หรือเปล่า ต้องเข้าใจว่างานที่สร้างสรรค์ไม่ได้เกิดจากความกดดันแต่เกิดจากความยอมรับและเปิดกว้างในทุกมิติของการทำงาน

รับรู้รับฟังและปล่อยให้เค้าระบายออกมาซะบ้าง เจ้านายที่ดีควรรู้จักรับฟังปัญหาไม่ว่าจะสำคัญกับงานหรือไม่ ที่สำคัญต้องเข้าใจว่าลูกน้องต้องการสิ่งที่เรียกว่าเวลาและความรู้สึกดีดี ตามความจำเป็นของงาน

“ไตร่ตรองดูให้ดี สิ่งที่อยู่ในใจคั่งค้าง” มีอะไรพูดออกมาให้หมด กระตุ้นเค้าให้พูดออกมาให้เคลียร์ (แบบตะล่อมนะครับ ไม่ใช่ตะคอก) อะไรที่มันสะสมไว้เรื่องไม่ดีๆอาจกลายเป็นเรื่องแย่ แล้วก็พาลให้มันระเบิดออกมาหมดไม่วันใดก็วันหนึ่ง

“ให้ใจที่มันอ่อนไหว ได้พักผ่อนคลายเสียบ้าง” อย่าไปกดดันลูกน้องว่าทุกงานต้องมีเป้าแบบนั้นแบบนี้ ของความชัดเจนขออะไรที่แน่นอนซะทุกเรื่อง บางครั้งรู้ว่างานนั้นทำไปก็อาจไม่สำเร็จ แล้วลูกน้องหาทางออกไม่เจอ เราก็ยังต้องรู้จักหา“แลนดิ้ง”ให้เค้าหน่อย ทางหนึ่งเพื่อรักษาหน้าเรา อีกทางหนึ่งให้เขาได้ผ่อนคลายเสียบ้าง

“แม้ดีใจ ก็ต้องฝืนทำตัวเหินห่าง” เมื่องานสำเร็จหัวหน้างานที่ดีต้องยกความดีนั้นให้ลูกน้อง ถ้างานพลาดต้องขอตัวเองให้รับผิดชอบแทนลูกน้อง อย่าผูกผลงานใดๆไว้กับบริบทของตัวเองนะครับ


“Friendship and Betrayal are two things apart, yet one thing together”
...

อย่าเสียคนดีๆออกไป ด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง
อย่าเสียเพื่อนคนสำคัญออกไป ด้วยการไม่สนใจเรื่องที่อาจจะกลายเป็นเรื่อง

เพราะความน้อยเนื้อต่ำใจเนื่องจากความรู้สึก“ถูกหักหลัง”นั้น...
มี “ต้นทุนของความเชื่อมั่น” ที่สูงมากนะครับ

Tuesday 10 August 2010

บาดแผลของความล้มเหลว




สองสามวันมานี้ผมนั่ง“รอ”แรงบันดาลใจในการเขียนงาน นั่งรอก็แล้ว ยืนรอก็แล้ว นอนรอก็แล้ว เจ้าแรงบันดาลใจที่ว่านี้มันก็ยังไม่ยอมมาซักที สงสัยผมจะเริ่มต้นผิด ที่คิดว่าแรงบันดาลใจมันคงเหมือนกำลังภายในที่เกิดขึ้นได้เอง

คงเป็นเพราะที่ผ่านมาผมไม่เคยมีโจทย์ในการเขียนงาน วิธีการทำงานของผมคือการพยายามหาเนื้อหาจากแรงบันดาลใจที่อยู่รอบๆตัว แล้วเอามาถัวมากลั้วเล่นกับตัวหนังสือ เพื่อสื่อออกมา เพื่อสร้างงานเขียน แต่ช่วงนี้มันเป็นเรื่องเป็นราวไม่ออก คงเพราะเรื่องรอบตัวมันวุ่นวาย เลยไม่เกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียนอะไร จนมาได้นึกถึงเพลง “เรื่องจริง” ของ บอยด์ โกสิยพงศ์ ในหัว จู่ๆ ก็รู้สึกว่ามีอะไรๆไหลเข้ามา แต่ก็ยังคิดอย่างอื่นไม่ออก แค่อยากเขียนอะไรสักอย่างโดยใช้เพลงนี้เป็นแรงบันดาลใจ


“...ว่าสำหรับฉันนั้นเธอคือทุกสิ่ง เป็นแรงบันดาลใจเป็นทุกๆอย่าง
เธอเชื่อมให้ฉันเห็นภาพที่สวยงาม ของชีวิต แม้ว่าเรายังไม่ทันได้รู้จัก กันเลย...”


Architects are late bloomers. Most architects do not hit their professional stride until around age 50!, Matthew Frederick

สำหรับสถาปนิกและนักออกแบบ กว่าจะสร้างตัวเองและตัวงานให้ไปถึงจุดสุดยอดของวิชาชีพ ต้องล้วนแล้วแต่ผ่านอุปสรรคของความไม่แน่นอนของธรรมชาติของงานออกแบบ การสร้างสรรค์ และนวัตกรรม สถาปนิกและนักออกแบบต้องผ่านความสำเร็จและความล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน แต่ด้วยธรรมชาติของคำว่า “นวัตกรรม”หรือ“การสร้างสรรค์” ความล้มเหลวบางครั้งก็ไม่ได้มีความหมายในเชิงลบเสมอไป ด้วยแรงบันดาลใจที่เสมอภาคเท่าๆกันตอนเริ่มต้น ด้วยวิธีการคิดการทำงานแบบรลองทำในสิ่งที่คนอื่นเคยลอง ผิดพลาดในสิ่งที่คนอื่นเคยผิดพลาดมาแล้ว และเรียนรู้จากสิ่งที่คนอื่นก่อนเราเคยเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้นมาก่อน

...
“...เพราะงานออกแบบเป็นการเชื่อมภาพที่สวยงามของคำตอบที่อาจเป็นผลมาจากความล้มเหลวหลายๆอย่างในชีวิตในวันนั้น
ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่ทันได้รู้จักกับคำตอบนั้นในวันนี้... ”
...
เพราะแรงบันดาลใจคือพลังเชิงบวกของความล้มเหลว
...
ความล้มเหลว ถึงดูจะไม่น่าสนุกก็เป็นเรื่องไม่น่ากลัวครับ นักบริหารนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จล้วนผ่านความล้มเหลว ล้มลุกคลุกคลานกันมาแล้วทั้งนั้น สิ่งที่น่าสนใจคือเราจะเปลี่ยนความล้มเหลวเหล่านั้นให้เป็นพลังเชิงบวกหรือเป็นแรงบันดาลใจได้อย่างไร
เปลี่ยนได้ ไม่ใช่โดยนั่ง“รอ”พลังเชิงบวกแต่อย่างเดียว แต่ทำได้โดยควบคุมความล้มเหลว ลดความผิดพลาดเชิงลบที่แย่ๆ ที่กำลังเป็นบาดแผลขององค์กรครับ
...
ความผิดพลาดแบบรู้ทั้งรู้ว่าผิด ก็ยังจะทำ
รู้ว่าข้อมูลทางการตลาดออกมาชี้ชัดว่าบริษัทไม่เหมาะกับสินค้าหรือบริการใน segment นี้แต่ไม่ชี้แจงความจริงให้เจ้านายฟังเพราะกลัวโดนดุเพราะคิดว่าเจ้านายยังไงก็คงไม่ฟัง หรือรู้ว่าทำโครงการนี้ยังไงก็เกินงบ ส่งงานก็ไม่ทันแน่ๆยังทู่ซี้บอกเจ้านายว่า...ครับ มันยังโอเคครับ... ความผิดพลาดแบบนี้จะว่าไปเกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันในองค์กรนะครับ

ความผิดพลาดแบบถ้าเอาใจใส่และตั้งใจจริงๆมันก็คงไม่เกิด
ความละเลยในการเอาใจใส่ในการทำงานหรืออีโก้ มักจะทำให้เกิดความผิดพลาดแบบนี้ครับ ..เออน่า รู้แล้ว... หรือทัดศนคติการทำงานแบบ ...เรื่อยๆเปื่อยๆ เป็นความผิดพลาดหลักอย่างหนึ่งที่พบเห็นบ่อย แต่ความผิดพลาดแบบนี้เราสามารถปรับทัศนคติในการทำงานของคนในองค์กรได้เร็วและไม่ยาก ถ้าเรารู้จักสร้างแรงจูงใจในการทำงานที่ดีให้คนในองค์กรได้ครับ

ความผิดพลาดแบบไม่ต้องคิด ไม่ทดลอง ลุยทำดูเลย ลงเอยยังไงค่อยว่ากัน
ทุกคนไม่ใช่เกิดมาเป็นคนเก่งนะครับ ทุกบริษัทก็ไม่ได้มีทรัพยากรมาให้พนักงานไม่ว่าระดับไหนมานั่งผลาญเล่น สถาปนิกก่อนขึ้นแบบจริงยังต้องทำ working mass model เพื่อศึกษาว่าแบบออกมาแล้วหน้าตารูปร่างจะได้ตามใจคิดเหมาะตามใจฝันหรือไม่ การจะทำ marketing campaign สักตัวถือเป็นเรื่องใหญ่ ยังต้องมีการทำ pilot study ศึกษาทดลองจากโครงการเล็กๆที่คล้ายกันก่อน หรือการเลือก software ทางการเงินมาใช้กับธนาคารยังต้องมีการ pitching และทดสอบระบบก่อนการ implement จริง ทุกอย่างที่ทำก็เพื่อเรียนรู้ว่าจะมาความผิดพลาดอะไรที่เราคาดไม่ถึงเพื่อที่จะกำจัดออกไปก่อนการลงมือทำจริง

...

“บาดแผลของความล้มเหลว” เป็นภาพสะท้อนที่ดีของ “แรงบันดาลใจ”

เพราะความล้มเหลวบังคับให้เราต้องถอดรื้อสิ่งต่างๆ ที่ไม่สำคัญ คิดว่าตัวเองว่าเราเป็นอะไรมากกว่าที่เป็น แล้วก็เริ่มทุ่มเทพลังงานให้กับการทำงานเดียวที่สำคัญให้เสร็จให้ได้

เพราะความล้มเหลวบ้างเป็นบางครั้งในชีวิตเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีทางที่ใครจะใช้ชีวิตโดยที่ไม่เคยล้มเหลวกับอะไรเลย
เพราะความล้มเหลวมอบความมั่นคงทางจิตใจให้กับเรา ความล้มเหลวสอนเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับตัวเราเอง ที่เราไม่สามารถเรียนรู้ได้จากคนอื่น

เพราะบาดแผลนั้น คอยเป็น“เครื่องเตือนใจ”…
ว่าความล้มเหลว มีคุณค่า ยิ่งกว่าแรงบันดาลใจ