Tuesday 28 September 2010

ไม่อิน(เทรนด์) ก็เอ้าท์




ไม่ต้องร่ายยาวให้มากความ ว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการในยุคนี้สมัยนี้เปลี่ยนแปลงเร็วขนาดไหน ไม่ต้องย้ำอีกให้เสียเวลา ว่าเศรษฐกิจขณะนี้มีผลกระทบกับความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภคอย่างไร เรื่องของเรื่องคือธุรกิจของเราให้ความสำคัญกับเทรนด์เหล่านี้มากน้อยเพียงใด

องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่สามารถคาดเดาสิ่งต่างๆที่ผ่านเข้ามาและส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อของผู้บริโภคครับ อย่างไรก็ดีมีงานวิจัยหลายชิ้นจาก Harvard Business School ออกมาระบุว่าองค์กรเหล่านั้นยังไม่ได้ศึกษาปัจจัยหลักจากเทรนด์หรือกระแสใดๆที่สร้างอิมแพคโดยตรงกับความอยากจะซื้อ ทัศนคติและพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างลึกซึ้งจริงๆ ที่เป็นอย่างนั้นเพราะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่มักเลือกที่จะ“รอ”เพื่อดูคู่แข่งหรือสภาวะตลาดที่ตอบสนองต่อกระแสที่เกิดขึ้น หรือไม่ก็น้อยมากที่จะปรับสินค้าหรือบริการของตัวเองอย่างรวดเร็วให้เป็นไปตามกระแสของตลาด

...

กระแสหรือเทรนด์หลายครั้งก็สามารถสร้าง “พลัง” ทางการตลาดและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคได้หลายรูปแบบและหลายทางครับ

เช่น กระเป๋าถือสุภาพสตรียี่ห้อ Coach ที่เป็นภาษา feminism ที่บ่งบอกความมั่งคั่งของผู้ถือมากว่า70ปียังต้องปรับตัวตามกระแสความไม่แน่นอนตามเศรษฐกิจโลกโดยการขยายคำจำกัดความของความหรูของแบรนด์อย่างเนียนๆ ด้วยการนำเสนอสินค้าไลน์ใหม่ที่ราคาถูกลงแต่คงไว้ซึ่งความเป็น Coach อย่างกระเป๋าถือรุ่น Poppy

หรือ Nike+ ที่รวมเอาความเป็น sportmanship ของ consumer กับกระแสใหญ่เชิงวัฒนธรรมของความคลั่งไคล้ในเทคโนโลยีและแฟชั่นของคนอเมริกัน โดยการรวมเอารองเท้ากีฬามาไว้กับเครื่องเล่น iPod จากกระแสดิจิตอลที่เปลี่ยนแปลงแทรกซึมเข้ามาใน life-style ของเราอย่างรวดเร็ว (ขายถล่มไปสองล้านกว่าคู่)

และ เทรนด์ทางด้านการการ “รักษ์” สนใจดูแลสุขภาพ ที่ทำให้เครื่องเล่นเกมส์ Nintendo ต้องสู้กับกระแสต่อต้านการเล่นวิดิโอเกมส์ของเด็กๆที่ดูไร้สาระไม่มีประโยชน์ (เพราะได้แต่นั่งใช้นิ้วจ้องจอภาพอยู่นิ่งๆกับที่ทั้งวัน) โดยการพัฒนาโมดูลของผู้เล่นที่ผสานเอาความเคลื่อนไหวกับ physical movement ของตัวเองเข้าไปในคอนโซลของเกมส์ (หลายท่านคงเคยเห็น คนเล่นเกมส์ตีเทนนิสหรือเกมส์ทำกับข้าวที่ต้องขยับหน้าจอเหมือนกำลังมีกิจกรรมนั้นอยู่จริงๆ!)



เรื่องการติดตามเทรนด์ให้อินน์ไม่เอ้าท์เป็นเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องการทำให้สินค้าหรือบริการของเราสะท้อนและตอบรับรูปแบบของเทรนด์นั้นๆออกมาได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าเราๆท่านๆส่วนใหญ่คิดแบบง่ายๆว่ากระแสหรือเทรนด์นั้นๆอาจอยู่นอกขอบเขตตลาดของเรา (ตีกรอบให้ตัวเอง) หรือเรามองเข้าข้างตัวเองว่ากระแสเป็นแค่กระแส ไม่ไปศึกษาอย่างจริงจังว่ากระแสจะสร้างผลกระทบกับตลาดของเราอย่างไรได้บ้าง หรือแม้แต่การที่เรามัวแต่ใช้เวลารอดูนานเกินไปจนคู่แข่งหรือคนอื่นคว้าไอเดียหรือความคิดดีๆเอาไปทำก่อน

เทรนด์หรือกระแส ไม่ว่าทางสังคม สิ่งแวดล้อม การเมืองหรือเศรษฐกิจ คิดแล้วมีผลกระทบต่อวิธีการที่ผู้คนมองโลกรอบๆตัวและสร้างทิศทางในการที่ผู้บริโภคจะคาดหวังอะไรๆจากสิ้นค้าและบริการ องค์กรทางธุรกิจต้องรู้จักวิธีทำตัวให้อินน์อยู่เสมอ เพราะทำตัวตกยุคเมื่อไหร่ก็บ๊ายบายเมื่อนั้นครับ

Thursday 9 September 2010

ขอบคุณที่ได้รู้จัก




การที่เราเป็นเจ้าของกิจการหรือหัวหน้างานในธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อมหรือ SME หมายถึงการอยู่ในสภาวะแวดล้อมและโอกาสที่จะได้ตื่นเต้นกับพบเจอผู้ร่วมงานใหม่ที่เปลี่ยนหน้าค่าตาเข้ามาเรื่อยๆด้วยธรรมชาติขององค์กรลักษณะนี้ และในทางตรงข้ามก็คงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ในที่สุดต้องเผชิญหน้ากับการลาจากหรือการเลิกจ้างเพื่อนร่วมงานด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม

ที่น่าสนใจและท้าทายเราคือ สุดท้ายแล้วเรากับพนักงานใหม่จะได้เป็น “คนแปลกหน้าที่รู้ใจกันดีที่สุด” หรือกลายเป็นว่าจะต้องกล่าวคำ“ขอบคุณที่ไม่รู้จัก”

...
ชีวิตจริงบางทีก็เหมือนในหนัง เหมือนเต๋อกับหนูนาใน “กวน มึน โฮ” ที่ต่อให้รักกันแค่ไหน เมื่อเดินต่อกันไปไม่ได้ในที่สุดก็ ต้องลาจาก…

ชีวิตจริงเป็นหัวหน้างานมันไม่ง่ายเหมือนหนัง จะให้คนออกโดยไม่ระวัง มีหวังต้องช้ำนอกช้ำใน
...

ตลอดชีวิตการทำงานของผม ผมเคยให้พนักงานออก หรือเลิกจ้างพนักงานไปหลายคนครับ ต้องยอมรับว่ามันก็ไม่ใช่ประสบการณ์ที่ดีเท่าไหร่ บางครั้งทำเพราะควรทำ บางครั้งเพราะจำเป็นต้องทำ และหลายครั้งผมไม่แน่ใจว่าทำถูกต้องหรือไม่ แต่เมื่อธุรกิจต้องเป็นไป ชีวิตต้องเดินต่อ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดครับ จากประสบการณ์ทำให้ลองนั่งนึกดูว่าควรคิดอ่านประเมินอะไรบ้าง

อย่างแรกควรหาข้อมูลปรึกษาคนกลาง บางครั้งเรามีมุมหลายมุมที่มองไม่เหมือนมุมอีกหลายมุมจากคนอื่นๆไม่ว่านายหรือลูกน้องและเพื่อนร่วมงานระดับเดียวกัน ลองให้คนกลางเปรียบเทียบการทำงานระหว่างคนที่เรากำลังจะเลิกจ้างกับคนอื่นๆในหรือนอกองค์กรก็ได้ครับ สิ่งที่ได้ไม่ใช่คำตอบแต่คือความมั่นใจในสิ่งที่เรากำลังจะทำ(หรือไม่)

แล้วถามใจตัวเอง ถ้าเราเป็นเขาเราจะทำอย่างไรเมื่อถูกเลิกจ้าง เรากำลังเปรียบเทียบผลงานของเขากับผลงานของเรา หรือกำลังเปรียบเทียบผลงานของเขากับความหวังความตั้งใจของเรา ไม่เหมือนกันนะครับ ผลงานของเราแปลว่าเราพิสูจน์แล้ว ความหวังความตั้งใจของเราแปลว่าเราตั้ง“ธง”ของผลงานเอาไว้ ณ จุดๆหนึ่งแล้วบอกให้เขาเดินไปหาแต่เขาเดินไปไม่ถึง คำถามคือเขารู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่าเรามี“ธง”ผืนนั้นอยู่หรือไม่

จากนั้นต้องให้โอกาสและให้เวลาครับ มีสามสิ่งที่เป็นเรื่องจริงที่เจ็บปวดถ้าเราตัดสินใจเลิกจ้างเร็วเกินไป ข้อแรก มันอาจไม่ใช่ความผิดของพนักงานคนนั้นเมื่อทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามแผน(ของเรา) ข้อสอง คนเรามันปรับปรุงตัวกันได้ คนเราเปลี่ยนกันได้ แค่เมื่อไหร่เท่านั้นเอง และสุดท้าย ถึงแม้ว่าเลิกจ้างพนักงานคนหนึ่งแล้วเพื่อนร่วมงานอีกหลายๆคนจะรู้สึกสะใจว่ามันไปได้ซักที จะมีคนอื่นๆที่มักมององค์กรในมุมที่ว่า “อ๋อ บริษัทนี้มันทำกันแบบนี้เหรอ นึกจะไม่เอามันก็ไม่เอา” ซะงั้น

ต้องแน่ใจว่าเอกสารแน่นปึ๊ก ทั้งเรื่องการจ้างงาน สัญญา เงื่อนไขการจ้าง ความลับของบริษัท สิทธิของพนักงาน และเนื้องานที่มอบหมายให้พนักงานทำ (job description)

จะทำแล้วต้องหนักหน่วง เหนียวแน่น ตัดสินใจแล้วต้องทำเองและทำทันทีครับ ไม่งั้นตัวเราเองจะกลายเป็นตัวตลกในสายตาบริษัท พนักงานคนอื่นหรือแม้แต่เจ้านาย ตัดสินใจแล้วไม่ทำ มาเงื้อง่าราคาแพงแล้วยิ่งจะกลายเป็นเรื่องกวนใจเสียสมาธิ สร้างความรำคาญกับตัวเอง (และอาจมีคนอื่น) ว่า เฮ้อ มันไม่จบซักที

อย่าไปรับปากสัญญิงสัญญาอะไรไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “โถ อย่าเสียใจไปเลยน้อง เอาน่าพี่จะแนะนำงานใหม่ให้” หรือ “เอาวะ พี่จะคุยกับนายให้อีกที” ความรู้สึกส่วนตัวแบบนี้เอาออกมาปนกับความเป็นมืออาชีพไม่ได้ครับ

มาถึงขั้นนี้แล้ว ลองส่องมองตัวเองในกระจกครับ ถามตัวเองดูดีๆว่า ก็ไอ้ที่ต้องลงเอยกันแบบนี้ แล้วเราดันไปจ้างเขามาทำไมแต่แรก ความผิดส่วนหนึ่งไม่มากก็น้อยก็อยู่ที่ตัวเราด้วย จริงมั้ยครับ

และท้ายที่สุด อย่าเอาแบบเรื่องนี้มาพูดต่อทั้งภายนอกและภายในองค์กร เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็ยังเป็นเพื่อนร่วมอาชีพกัน วันนึงอาจจะเวียนมาหากัน มาเจอะเจอกันในต่างสถานะกันก็ได้ (กลับกลายมาเป็นคู่แข่ง คู่ค้า หรือแม้แต่ลูกค้า)
...

เหมือน เต๋อกับหนูนา เราแค่ไม่เหมาะกันตอนนี้ แต่ก็อย่างว่า

วันหนึ่งเราอาจเป็น “คนสองคนที่ไม่รู้จัก... แต่รักกัน”
...ก็ได้

Wednesday 8 September 2010

กระตุกต่อมสร้างสรรค์




"All great innovations are built on rejection." Louise Nevelson



ธุรกิจหลายๆแบบเช่น งานโฆษณา พีอาร์ ประชาสัมพันธ์ สถาปนิก กราฟฟิกดีไซน์ เพื่อจะให้ได้งาน วิธีการทำงานส่วนใหญ่ต้อง"รีด"เอาความคิดสร้างสรรค์ออกมาเพื่อนำเสนอหรือเพื่อ"pitch"ลูกค้าก่อน ยิ่ง ยุคนี้สมัยนี้ลูกค้าเป็นใหญ่ซะด้วย การ "pitch" ลูกค้าสำคัญๆแต่ละครั้งจึงถือเป็นเรื่องใหญ่ไม่มีเล็ก เสนองานแต่ละทีต้องเอาเอ็มดีมานั่งพรีเซนต์เอง แต่ละบริษัทลงทุนกันเยอะ ปั่นไอเดียไปกัน แล้วออกมาขายฝันให้ลูกค้าเร้าใจในความคิดอันบรรเจิดของเรา

ถ้าไม่ได้งานก็แล้วไป แต่คำถามคือถ้าลูกค้าเกิดพอใจ พอได้งานมาแล้ว แล้วยังไงต่อ? ถ้าเราทุกคนนักคิดทุกบริษัทมีน้ำมันหล่อลื่นมาชโลมสมองตั้งแต่เริ่มเสนองานจนสามารถสนองเงิน(จากลูกค้า)ได้จนจบก็น่าดีใจ ทว่าความเป็นจริงมนุษย์ไม่ใช่เครื่องยนต์และความสร้างสรรค์ที่ยัง"คิดไม่จบ"แบบนี้ มันก็หมดกันได้ถ้าเราขาดแรงจูงในสร้างงาน

...
แรงจูงในสามารถทำให้เราทำงานได้ดี ได้เร็ว ได้มีคุณภาพ ทำให้ได้เห็นคุณค่าของงานครับ การสร้างสรรค์งานชิ้นหนึ่งเกี่ยวพันกับการรักษาระดับของความอยาก(ทำ) หรือเจ้าแรงจูงใจให้อยู่กับเราตลอดหรืออย่างน้อยก็ขอรู้ว่ามีกำลังใจเอาไว้กอดอยู่ข้างๆ
คนส่วนใหญ่สร้างแรงจูงใจ หรือรักษากำลังใจอย่างต่อเนื่องเพื่องานสร้างสรรค์ได้จาก 5 สิ่งในการทำงานครับ การแข่งขัน (competition) ขั้นตอน (process) ตัวงาน (product) ผลที่ได้ (impact) และความภูมิใจที่ได้ควบคุม (oversight)
...

"การแข่งขันหรือฉันต้องเป็นที่หนึ่ง" สำหรับหลายๆคน เราต้องการมีพลังผลักดันความคิดแบบ งานฉันต้องดีเพราะฝีมือฉันน่ะแจ๋ว งานฉันทำแล้วต้องได้รางวัลต้องดีเด่นเหนือใคร ถ้ากำลังใจของเรามาแนวนี้ไม่ต้องอายไม่ต้องเขินครับ แสดงพลังของคุณที่ซ่อนอยู่ออกมา เสนองานดีๆเข้าประกวด ออกไปแข่งขัน หรือทำงานทุกชิ้นให้ดีเหมือนจะส่งเข้าประกวดได้ตามเวทีต่างๆ

"ทำงานเป็นระบบ คิดให้จบแล้วถึงจะสวย" สถาปนิกระดับตำนานหลายคนที่ทำงานดีๆมีเคล็ดลับการออกแบบอาคารอลังการงานสร้างที่"ความสวย"ของ"เส้น"กับ"ความตรง"ของ"ไลน์"นะครับ คนบางคนชอบที่จะทำงานบนพื้นฐานของขั้นตอน ของแผน เพื่อเพิ่มความมั่นใจที่คนอื่นหรือระบบได้พิสูจน์แล้วว่าถ้าเดินตามน่ะ มันจะดีเอง ก็ไม่ผิดครับ ถ้าวิธีการทำงานของเรามาแนวนี้ ขอให้เลือกงานที่ให้"เวลา"กับคุณในการคิด งานที่กะเกณฑ์ได้มามีปริมาณมากน้อยในช่วงเวลาตรงไหนอย่างไร ขอให้เราระวังเรื่องการทำงานใกล้ deadline เพราะจะทำให้งานคุณนอกจากจะไม่สร้างสรรค์ยังจะตายเอาง่ายๆ เพราะทุรนทุราย ด้วยความร้อนรน

"ตัวงานสำคัญกว่า ไม่ว่าที่มาจะเป็นอย่างไร" สำหรับคนโฆษณาหลายคนต้องการเห็น campaign ที่เราสร้างออกมาเกิดขึ้นจริงกลายเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ artist ทุกคนอยากจะเห็นรูปที่ตัวเองวาดเสร็จสมบูรณ์ อินทิเรียร์ทุกคนอยากจะเห็นงานที่ตัวเองออกแบบ สร้างเสร็จเร็วๆ เพื่อจะได้ดูว่ามันจะสวยขนาดไหน ถ้ากำลังใจของคุณมาแบบนี้ขอให้ทำงานแบบเร็วรัดกระชับพื้นที่ไวไวครับ อย่าไปผูกติดกับขั้นตอนใดๆมาก ทำงานให้เร็ว ทดลองให้บ่อย ลองเส้นทางใหม่ๆหลายๆทางเพื่อไปหาจุดหมายอันเดียวกันครับ

"รักงานของฉัน คือ รักฉัน" ผลที่ได้รับหรือการตอบรับที่ดีจากสาธารณชนคนอื่นๆหลายครั้งคือสิ่งที่สำคัญของคนทำงานนะครับ งานจะสวยหรือไม่ อาจไม่เด่นที่สุดแต่คนชอบ อาจไม่สวยที่สุดในสายตาเราแต่ลูกค้าโอ ชิ้นงานแพงที่สุด ลูกค้าไม่เอาแต่นายชม สิ่งที่ดีที่สุดในโลกของเราคือคนอื่นอภิเชษฐ์งานของเรา ถ้าเราเป็นแบบนี้ควรทำงานกับลูกค้าแบบเน้นความต้องการของลูกค้าเยอะๆแล้วก็ตามใจเค้าให้มากครับ

"เดินไปด้วยกันเธอกับฉันเราหลายคน" นักออกแบบส่วนใหญ่ทำงานเป็นทีมครับ ความสำเร็จของงานหลายครั้งคือความสำเร็จของทีม ไม่ว่างานจะออกมาดีมากดีน้อยเป็นอย่างไรก็คือสิ่งที่ทุกคนในทีมร่วมเดินมาด้วยกัน ถ้าแรงจูงใจของเราเป็นแรงจูงใจที่มาจากการได้ทำงานร่วมกัน เราน่าจะเน้นทำงานสร้างสรรค์แบบที่เน้นระบบการทำงานเชิง project management ในงานก่อสร้างหรืองานออกแบบ และการทำงานสร้างสรรค์ที่ทำเพื่อสังคมครับ


การสร้างสรรค์งานดีๆบางทีต้องมี"อุปกรณ์"ครับ แล้วอุปกรณ์ที่ดีที่สุดก็คือการหาวิธีการ"กระตุกต่อมความคิด"ของเราในรูปแบบต่างๆกัน

...และเราก็สามารถทำได้ง่ายๆทุกวันโดยการสร้างกรอบเพื่อค้นหารูปแบบของโอกาสเหล่านี้ ที่เหมาะสม ในจังหวะเวลาที่ต่างๆกันครับ