Tuesday 27 September 2011

ชีวิตคู่ กับ การทำธุรกิจ




มีคนเคยตั้งคำถามนักธุรกิจหนุ่มใหญ่ที่ประสบความสำเร็จท่านหนึ่งว่า ตลอดเวลาหลายปีมานี้ ท่านมีชีวิตแต่งงานที่ดีหรือเปล่า? นักธุรกิจท่านนั้นตอบว่า ในโลกนี้ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าชีวิตคู่หรือชีวิตแต่งงานที่ดีหรอก เพราะในช่วงชีวิตแต่งงานของคนทุกคู่จะมีทั้งเวลาที่ดีๆและเวลาที่ยากลำบากด้วยกันทั้งนั้น และสำหรับชีวิตคู่ของตัวท่านก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกับชีวิตของคนอื่นๆ



“Going into business is like going into marriage-enjoy yourselves but don’t rush into it” Warren Buffett.

ในหลายๆมุม การจะเริ่มต้นชีวิตแต่งงานดูแล้วก็ไม่แตกต่างกับการเริ่มต้นทำธุรกิจเหมือนที่ Warren Buffett กล่าวว่าไว้ข้างต้นครับ มีเรื่องหลายๆเรื่องและมีประเด็นหลายประเด็นที่เราควรจะทราบเพื่อที่จะทำให้ชีวิตคู่มีชีวิตชีวา อยู่กันไปได้รอดตลอดรอดฝั่ง หรือทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จไม่เสียหายไปซะก่อนเวลาอันควร ลองคิดดู เราจะร่วมหอลงโรงหรือจะลงหุ้นกับใครที่ไหนก็ต้องดูตามาตาเรือให้ดี มันเจ็บปวดไม่ต่างกันนะครับถ้าชีวิตคู่จะต้องจบลงด้วยการหย่าร้าง หรือธุรกิจต้องจบลงด้วยความไม่ลงรอยกันของหุ้นส่วน
...

ปัจจุบันมีตัวเลขที่น่าตกใจว่าบ้านเรา 1 ใน 5 ของชีวิตสมรส ในที่สุดจบลงด้วยความล้มเหลว และกว่า 60-80% ของธุรกิจเกิดใหม่ในที่สุดก็มีปัญหาและไปไม่รอดภายในปีแรกๆ

คำถามคืออะไรทำให้เกิดเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์แบบนั้น?

อย่างแรกเกี่ยวข้องกับการเซ็นเอกสารครับ (signing contract) เมื่อชีวิตคู่หรือธุรกิจมีเริ่มปัญหา เมื่อย้อนกลับมาดูอะไรๆที่เราเซ็นไปไม่ว่าจะเป็นสัญญาทางธุรกิจหรือทะเบียนสมรส เรามักจะพบว่าเราได้สร้างข้อผูกมัดทางการเงินให้กับตัวเองโดยที่เราไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ตั้งแต่ต้น แต่งงานนะครับไม่ใช่อยู่กันเล่นๆ ไอ้ตอนดีดีกันอยู่ก็ไม่สนใจหรอกครับเรื่องเงินทอง ทำธุรกิจก็เหมือนกัน ตอนมีกำไรเงินทองคล่องตัวก็ไม่มานั่งลงดีเทลล์รายละเอียดกันมากเท่าไหร่เรื่องข้อผูกพันธ์ทางสัญญาต่างๆ แต่เมื่อมีการผิดข้อตกลงนั้นๆ ผลที่ตามมาคือจบไม่ดี ลำบากทั้งชีวิตคู่และธุรกิจครับ

ถัดมาคือเรามักจะไม่พยายามเข้าใจว่าทั้งการเริ่มต้นชีวิตสมรสและการทำธุรกิจคือการสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวครับ (long term relationship) ทั้งสองอย่างไม่ใช่อะไรที่จะทำกันเล่นๆ ถึงกำลังมีความสุขหรือมีกำไร แต่ก็มีปัญหาที่อาจจะต้องเจอตลอดทางไม่ต่างกัน เจอกันก็ต้องช่วยกันแก้ลากถูกันไป
ที่สำคัญอีกอย่างก่อนจะตกลงปลงใจกันร่วมธุรกิจหรือชีวิตคู่ รู้จักการทำ due diligence กันหรือยัง ตรวจสอบกันให้ดีนะครับว่าเรากำลังจะแต่งกับใคร ดูดีแต่หน้าตาแต่ไม่รู้นิสัยที่แท้จริงกันหรือไม่ หรือหุ้นส่วนดูดีมีชาติตระกูลและเหมือนมีตังค์ เอาเข้าจริงมาแต่ตัวหรือเปล่า

“Marriage is a verb, not a noun, so is Business” ชีวิตสมรสต้องสร้างมันขึ้นมาด้วยความรักครับมันถึงจะสำเร็จ เหมือนกับการทำธุรกิจ ไม่ใช่มีงานแต่งเอิกเกริก แลกสินสอดทองหมั้นกันแล้วจะเรียกได้ว่ามีชีวิตแต่งงานที่ดีแล้วได้ การทำธุรกิจก็ไม่แตกต่างกัน เมื่อเริ่มต้นธุรกิจด้วย passion ก็ต้องเลี้ยงมันต่อไปด้วย passion ธุรกิจมันถึงจะอยู่รอดและไปต่อได้เรื่อยๆครับ

Cash หรือ Working capital เป็นเรื่องจริงที่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับทั้งชีวิตคู่และธุรกิจครับ เงินขาดมือเมื่อไหร่ทะเลาะกันเมื่อนั้น ตรงนี้ขอย้ำเลยนะครับ ต้องมีเงินสดสำรองไว้ในทุกกรณี

วันหนึ่งเมื่อต้องทั้งสองสิ่งเดินมาถึงจุดที่ต้องมีการเติบโตขยับขยาย (Expanding) ทั้งธุรกิจและชีวิตคู่ก็ควรมีการวางแผนที่ดีนะครับ เมื่อเราใช้ชีวิตคู่มาพักหนึ่งที่สุดก็ไม่พ้นการมีลูกมีหลาน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่นะครับ ไหนจะต้องวางแผนการเงินที่ดี ย้ายบ้านซื้อบ้านใหม่(ถ้าจำเป็น) หาโรงเรียนให้ลูก เปลี่ยนรถคันใหญ่ขึ้น สารพัดสารเพ เหมือนกับวงจรชีวิตการทำธุรกิจพอจะเริ่มประสบความสำเร็จก็อยู่นิ่งไม่ได้ต้องขยายกิจการ ต้องการกำลังคนมากขึ้น เงินกู้มากขึ้น ทรัพยากรมากขึ้น คู่ค้ามากขึ้น เพื่อให้ได้ลูกค้าหรือออเดอร์ที่มากขึ้น ทั้งหมดนี้ต้องวางแผนให้รัดกุมทั้งนั้นนะครับ

และสุดท้าย ต้องรู้จักหา Landing ให้กับตัวเองเมื่อรู้ว่าท่าทางจะไปด้วยกันไม่รอด สมัยนี้ยุคใหม่แล้วครับ เมื่อเริ่มรู้สึกว่าทั้งชีวิตคู่หรือธุรกิจจะไปต่อไปไม่ไหวก็ควรเตรียมตัวเตรียมใจไว้แต่เนิ่นๆ สำหรับคู่สมรสถ้าฝ่ายหนึ่งเต็มใจจะยกทุกอย่างให้อีกฝ่ายอยู่แล้วก็ดีเลิศประเสริฐศรี แต่ในความเป็นจริงสมัยนี้ผมเห็นหลายคู่เลิกกันก็ไม่ได้จำเป็นต้องยกอะไรให้กันหมด หลายคู่ก็แบ่งกันครึ่งๆหรือบางคู่อีกฝ่ายอาจได้ไม่ถึงครึ่ง! ไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับถ้าธุรกิจสมัยนี้จะมีการตกลงกันไว้ก่อนระหว่างผู้ถือหุ้นว่าถ้าบริษัทเกิดไปไม่รอดใครจะได้อะไรไป มีการทำ Shareholder’s agreement กันไว้ก่อนเยอะแยะไป

...
ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในชีวิตสมรสและธุรกิจของท่านครับ!

Saturday 30 July 2011

เมื่อธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลง





หลายครั้งที่ธุรกิจได้เดินทางมาถึงจุดๆหนึ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยได้คิดและเคยกำหนดไว้ครับ สำหรับเจ้าของกิจการคนหนึ่ง การที่จะต้องเดินออกจากที่ที่หนึ่งซึ่งไม่รู้ว่าที่ต่อไปต้องไปเจอกับอะไร ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ยากจะค้นหา ยากจะอธิบายและบางครั้งยากที่จะทำใจ ถ้าเป็นภาษาวิชาการต้องบอกว่า การดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจใดๆต้องใช้ "Leadership" ของผู้บริหารที่สูงมาก



การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่ายๆสำหรับผู้บริหารองค์กรเท่านั้น พนักงาน ลูกค้าหรือวงจรชีวิตใดๆในอุตสาหกรรมโดยเฉพาะธุรกิจบริการล้วนถูกส่งผลกระทบไปด้วย ลองคิดดูอยู่ดีๆถึงแม้รู้ว่าจะต้องเปลี่ยน ใครจะสามารถพลิกมุมมอง แง่คิดต่องาน หรือรูปแบบการทำธุรกิจที่ตนเองคุ้นเคยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันได้อย่างรวดเร็วทันใจ อย่างไรก็ดี ทุกธุรกิจเกิดใหม่หรือธุรกิจที่อยู่มานานก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาครับ แต่จะเกิดในจังหวะเวลาด้วยอัตราความเร็วที่เหมาะสมกับธุรกิจนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน ธนาคาร ค้าปลีก นำเข้ารถยนต์ ก่อสร้าง อสังหาฯ โทรคมนาคม หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน


ปัญหาคือ เมื่อไหร่หรือมีสัญญาณอะไรที่จะบอกเราได้ว่าธุรกิจถึงอาจเดินมาถึงจุดเปลี่ยน?
...

เมื่อธุรกิจดูมีทีท่าว่าจะแย่ลงเรื่อยๆ เอ๊ะ เศรษฐกิจไม่ดีหรือเปล่า หรือภาพรวมทั่วไปของธุรกิจดีแต่คู่แข่งเราดันทำได้ดีกว่า ปัญหาองค์กรเกิดขึ้นเยอะ ธุรกิจมีปัญหาเพราะโพรดักท์ที่ออกแบบที่ผลิต หรือโพรดักท์โอเคแต่ทำราคาผิด หรือโพรดักท์โอเค ราคาก็โอเคแต่ได้ลูกค้าผิด สิ่งเหล่านี้ทำให้เราต้องมานั่งทบทวนแล้วว่าเราจะดำเนินทิศทางธุรกิจแบบนี้ต่อไปถึงเมื่อไหร่ เพราะอะไรมีจุดเริ่มต้นก็มีจุดจบนะครับ ไปต่อทางนี้ไม่ได้ก็หาทางออกใหม่ ประเด็นคือต้องเริ่มคิดหาแผนสองแผนสำรองอยู่ตลอดเวลา คิดไว้จะทำ(เพราะจำเป็นหรือไม่)เป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ

หรือเมื่อธุรกิจถูกถล่มด้วยข้อร้องเรียนจากลูกค้า ต้องลองมาดูว่าเราสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง สร้างความคาดหวังที่เหมาะสมให้ลูกค้าหรือยัง ลูกค้าเรียกร้องหรือบ่นว่าด้วยเหตุและผลที่สมเหตุสมผลอย่างไร หมดยุคแล้วครับสำหรับธุรกิจบริการที่ลูกค้าถูกเสมอ ยุคนี้ต้องสร้างความเข้าใจ ต้องเอดูเขด(educate) ลูกค้านะครับ สิ่งที่สำคัญคือไม่ใช่ไปป้อนในสิ่งที่ลูกค้าไม่ได้ต้องการ แต่ต้องเป็นการเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วยกันทั้งคู่ จำไว้นะครับว่า CRM (Customer Relationship Management) เค้าทำกันสองทางไปและกลับครับ ไม่ใช่ทางๆเดียว

หรือเมื่อรู้สึกว่าลูกจ้างพนักงานบริษัทเริ่มไม่แฮปปี้ ต้องท่องไว้นะครับ ลูกน้องเราที่ดีจะแฮปปี้ไปด้วยเมื่อทำให้ลูกค้าแฮปปี้ เพราะส่วนหนึ่งมันก็เป็นความภูมิใจของเขา การสื่อสารองค์กรสมัยใหม่โดยเฉพาะโซเชียลเน็ดเวริกทำให้พนักงานในองค์กรสามารถเข้าถึงความคิด ความรู้สึกและสัมผัสตัวตนของกลุ่มลูกค้าได้โดยตรง สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีความผูกพัน มีความรับผิดชอบต่องานของเขามากขึ้น ที่สำคัญทำให้พนักงานของเราเห็นอะไรชัดขึ้น(หรืออาจจะเห็นเรื่องต่างๆชัดด้วย) สิ่งที่ไม่ต้องไปกังวลคือการที่เราให้อำนาจการสื่อสารกับเขามากแบบนั้นมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย เป็นการพัฒนาทักษะและสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวพนักงานเองมากขึ้นครับ

หรือเมื่อการตลาดไม่ไปถึงไหน เดินอยู่ในแนวทางเก่าๆ ส่ง message เดิมๆหรือไม่ การตลาดทำบนพื้นฐานการพัฒนารูปแบบสื่อสารอย่างชาญฉลาด (Interruption and Cleverness) มากกว่าที่จะใช้ คุณค่า ความจริงใจและการเข้าถึง (Value, Honesty and Engagement) หรือไม่ หรือเมื่อเราลงทุนทางการตลาดยังรู้สึกว่ามันเป็น"ค่าใช้จ่าย"มากกว่ารู้สึกว่าเป็น"การลงทุน" อย่างนี้ไปไม่ถูกเดินไม่เป็นแล้วครับ

หรือสุดท้าย ถ้าให้ตอบคำถามตัวเองว่าบริษัทจะเดินไปทางไหน ยังตอบไม่ได้ แบบนี้โคม่าแล้วครับ เคยมั้ยครับ พอมีคนอื่นมาถามเราว่าบริษัทเป็นอย่างไร มีทิศทางเดินแบบไหน ผลประกอบการเท่าไหร่ เราตอบได้เป็นวรรคเป็นเวรอย่างคล่องแคล่วแต่ในใจยัง guilty ลองแอบถามตัวเองในมุมเงียบๆของตัวเองนะครับ ว่าตอนนี้เรายืนอยู่จุดไหน หรือเมื่อก่อนเราเป็นอย่างไร และอนาคตเรากำลังเดินไปสู่จุดที่หวังไว้หรือไม่ ที่สำคัญ คนในองค์กรของเรารู้สึกมั่นใจ(หรือไม่มั่นใจ)ไปกับเราอย่างนั้นด้วยหรือเปล่า เดินไปคนเดียวมันว้าเหว่นะครับ


สัญญาณทั้งหมดที่บอกให้เรารู้ว่าเราต้องเปลี่ยนตัวเองที่ผมพอจะคิดได้ก็ประมาณนี้ครับ

แล้วสัญญาณของธุรกิจของคุณล่ะครับ เป็นอย่างไร?

Friday 8 July 2011

การตลาดกับงานดีไซน์




มีเพื่อนในวงการของผมคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า บางครั้งรู้สึกอยากทดสอบไอเดียของตัวเองโดยการประกาศให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองคิดอะไรอยู่แต่ไม่กล้า เพราะบางครั้งกลัวว่าไอเดียขณะนั้นยังเป็นแค่"ไอระเหย"ของความคิดของคนคนเดียวที่มองด้านเดียวอยู่ ผมกลับมองว่าบางครั้งถ้อยคำที่โต้เถียงกันทางความคิดภายในตัวเองเหล่านั้นเป็นเสียงตะโกนนอกกรอบซึ่งสามารถเปลี่ยนเอามาใช้เป็นพลังทางการตลาดในยุคนี้ได้ดีเป็นอย่างยิ่งครับ

การตลาดสำหรับธุรกิจประเภทบริการ ออกแบบและดีไซน์ (service-based marketing) เป็นการตลาดแบบที่เราให้ความเคารพในความสามารถในการออกความเห็นสวนทางกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ ความเห็นในแง่ดังกล่าวซึ่งเป็นความเสียงของปัจเจกบุคคลที่ตะโกนมาจากฝั่งผู้บริโภคคือการสร้างคำถามที่ตามมาด้วยความสนใจในสินค้าหรือบริการที่เรากำลังจะขาย เช่นการออกแบบโต๊ะสักชิ้นหนึ่งสร้างทางเลือกให้คนสนใจจากความขัดแย้งทางความคิดของผู้ซื้อว่า"ใช่"หรือ"ไม่ใช่" มากกว่าสวยหรือไม่ หรือการที่บริษัทกฏหมายเลือกที่จะสร้างความผูกพันธ์กับลูกค้าเรื่องความรับผิดชอบหรือความเชื่อมากกว่าโอกาสที่จะชนะคดี (ซึ่งไม่มีใครรู้ นอกจากศาล ทำให้สัญญาอะไรไม่ได้) และการที่ลูกค้ารู้สึกว่าการได้ถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสถาปนิกเรื่องแบบ ที่อาจจะสำคัญกว่าระยะห่างของคำว่าบริษัทไหนออกแบบแล้วสวย

สถาปนิก นักออกแบบผลิตภัณฑ์ ต้องการมุ่งมั่นทำงานในวิชาชีพของตัวเองมากกว่าการที่จะต้องมานั่งทำตลาดครับ ถึงแม้พวกเขารู้ว่าการหาลูกค้าใหม่ๆและการทำตลาดเป็นเรื่องสำคัญในยุคนี้สมัยนี้ การทำตลาดกลับเป็นเสมือนเป็นเรื่องถูกบังคับหรือยาขมสำหรับผู้คนในแวดวงดีไซน์เสียมากกว่า ด้วยอัตลักษณ์แบบนี้เองทำให้เราพอจะสรุปได้ว่ามีหลายเหตุผลที่บริษัทประเภทบริการ ออกแบบและดีไซน์มักไม่ค่อยประสบความสำเร็จเรื่องการตลาด

เค้าว่า สถาปนิก 10 คนคุยกันก็มี 10 ความคิด สถาปนิก 2 คนคุยกันก็มี 2 ความคิด ถ้าสถาปนิกอยู่คนเดียว เขาก็จะไปยืนกลางแดดแล้วก็ยังหาเรื่อง "ทะเลาะกับเงาตัวเอง" หลายบริษัทออกแบบมักจะตัดสินใจเรื่องงานการตลาดโดยคณะกรรมการหรือหุ้นส่วนบริษัทซึ่งประกอบด้วยคนหลายคน ด้วยความเป็นนักคิดแบบกล้าๆกลัวๆที่ถูกจับมารวมตัวกัน ผลคือ"เละ"ครับ ทะเลาะกันไม่เลิกเถียงกันไม่จบ งานการตลาดแบบนี้สำหรับบริษัทลักษณะนี้ เราควรปล่อยให้คนไม่กี่คนที่เค้าเข้าใจเรา เข้าใจธรรมชาติของธุรกิจเราจริงๆมาทำเถอะครับ

หรืออีกอย่าง บรรดานักคิดชอบหาทางลัดในเรื่องที่ตัวเองสนใจน้อย แต่คิดเยอะเกินไปในเรื่องที่ตัวเองสนใจมากครับ งานการตลาดไม่มีทางลัดที่ชัดเจนและไม่มีทางตรงๆให้เดินเสมอไปครับ การตลาดเกิดจากการวางแผนที่ดี จับประเด็นที่โดน เรื่องบางเรื่องที่เป็น gimmick ของสินค้าของเรากว่าจะคิดออกมาได้ไม่ใช่ง่าย ไม่ลัดมากก็ไม่มีใครชนะ หรือเดินตรงไปตรงมาตลอดเวลาก็ไม่ได้ใจผู้บริโภคนะครับ

การทำตลาด"เมื่อว่าง"ก็เป็นอีกเรื่องที่พลาด สถาปนิกนักออกแบบมักเห็นงานสำคัญกว่าเสมอ พอมีลูกค้าหรือมีงานคิดมันส์ๆมีอะไรอยู่ในมือก็ทิ้งหมด งานการตลาดเป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่อง ใส่ใจ อยู่ในแผนธุรกิจของเราตลอดเวลานะครับ

หรือสุดท้าย เมื่อต้องทำก็ทำแบบประชดมันซะ เขียนแผนการตลาดซัก 50 หน้าเหมือนแบบก่อสร้างหรือ prototype ของผลิตภัณพ์ของเรา ว่ากันให้ละเอียดยิบไม่มีหล่นดีเทลล์ ความเป็นจริงคือเขียนออกมาแล้วทำได้หรือเปล่า อ่านแล้วเข้าใจมันหรือไม่ การทำการตลาดก็เหมือนกับการไปออกกำลังกาย ไปเดือนละครั้งก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร หักโหมไปอาทิตย์ละห้าครั้งในหนึ่งเดือนก็มากไปเสียเวลาทำงาน ต้องรู้จักประเมินว่าเราตั้งใจจะไปยิมเพื่ออะไร ลดน้ำหนักหรือเพิ่มกล้ามเนื้อขนาดไหน กำหนดกติกาให้ตัวเองได้เมื่อไหรถึงจะบังเกิดผลมากที่สุดครับ