Friday, 19 December 2008

เรื่องกฏหมายอสังหาและก่อสร้าง (แค่คิดก็เหนื่อย)

เครียด เบื่อ เซ็งนะครับได้เรื่องความจริงของชีวิต

ผมเป็นคอนซัลล์ให้หลายๆคดีๆหนึ่ง เจ้าของบ้านเป็นพ่อลูกกัน มาจากต่างประเทศ ซื้อคอนโดห้องเหมือนกัน (ย้ำว่าห้องเหมือนกัน)แต่อยู่คนละตึกในโครงการ พร้อมๆกันจากโครงการที่มีดีเวลลอปเปอร์ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งแถวสุขุมวิท ทั้งสองพ่อลูกตัดสินใจฟ้องเจ้าของโครงการเนื่องจากส่งมอบห้องช้า(จากที่ต้องส่งมอบพร้อมกัน)และให้วัสดุไว้ไม่ตรงกับที่สัญญาจากใบโฆษณา สองพ่อลูกใช้ทนายคนเดียวกัน สำนวนเดียวกันแต่จำต้องแยกฟ้องสองศาลเนื่องจากคุณพ่อและคุณลูกมีข้อแต่งต่างเรื่องที่อยู่และโฉนดของตึกคอนโดคนละใบกัน คือคนละที่อยู่

เชื่อไหมครับ ศาลนึงตัดสินให้พ่อแพ้ ศาลนึงตัดสินให้ลูกชนะ

อีกคดีหนึ่งผู้รับเหมาที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งสร้างอาคารขนาดใหญ่ ทำกำแพงกันดินชั่วคราวเพื่อเจาะฐานราก ปรากฏบ้านข้างๆถล่ม ผู้รับเหมาต้องเช่าคอนโดให้เจ้าของบ้านอยู่ไปพลางๆระหว่างขอทำการก่อสร้างให้เสร็จและขอเวลาคิดค่าเสียหาย เจ้าของบ้านก็ยอมเห็นเป็นเจ้าของโครงการมีชื่อ ผู้รับเหมารับงานเป็นหมื่นล้าน พอตึกเสร็จผู้รับเหมาเสนอให้แค่ไม่กี่แสนสำหรับบ้านขนาดใหญ่หนึ่งหลังรวมสิ่งปลูกสร้างอื่นๆที่พังลงมา มีคนอยู่เป็นสิบ บ้านถล่มนะครับไม่ใช่ร้าวปูนฉาบ ขอย้ำ เรียกว่าอันตรายขนาด วสท ต้องลงมาดูและเขตประกาศให้ตึกเป็นเขตอันตรายละกัน

ที่สุดต้องขึ้นศาลเพราะตกลงกันไม่ได้ ศาลชั้นต้นตัดสินให้ผู้เสียหายได้รับเงิน 10ล้าน

แต่ถึงเดี๋ยวนี้เจ้าของบ้านยังไม่เห็นเม็ดเงิน เพราะรออุธรณ์(และคงจะฏีกา) ว่ากันไปอีก 5ปี 10ปี

ตอนนี้ผู้รับเหมาถูกฟ้องล้มละลายและรอโดนเตะออกจากตลาดหลักทรัพย์ ที่เจ็บใจคือยังมีค่าคอนโดไม่เคยจ่ายให้เจ้าของบ้านอีกเป็นล้านตลอดที่อยู่เป็นปี (ทุรนทุราย ย้ายเข้าและต้องกุลีกุจอ ย้ายออก)

อีกคดีนึง เจ้าของบ้านซึ่งโครงสร้างอายุเกิน 30ปี มีรอยร้าว(นิดนึง)เนื่องจากตึกข้างๆก่อสร้าง(เสร็จแล้ว) นึกขึ้นได้ว่า(อาจ)ต้องใช้เงิน ออกข่าวลงสื่อว่าผู้รับเหมาแย่ไม่รับผิดชอบสังคมแบบนั้นแบบนี้ ผู้รับเหมาไม่อยากเสียชื่อตกลงจะจ่ายให้เป็นล้าน ไม่เอา กระหน่ำข่าวไปอีก (จากคอนเน็คชั่นกับสื่อแบบอินไซด์) สรุปได้มาหลายสิบล้าน ตกลงได้นอกศาล บริษัทประกันภัยที่จ่ายกับผู้รับเหมาแทบล้มละลาย

คดีที่เกี่ยวข้องกับก่อสร้าง หรืออสังหาริมทรัพย์(บางส่วน)ปรกติเข้าหลักจ้างทำของ จึงไม่ต้องมีสัญญาก็ได้ อายุความสองปี ถึงแม้ สคบ จะพยายามทำให้ธุรกิจนี้บังคับสัญญาแต่ในทางปฏิบัติยากมากที่จะเป็นธรรมกับทุกฝ่าย หรือที่จะลงรายละเอียดขนาดนั้นในการทำงานและควบคุมงาน

จากผิดอาจเป็นถูก จากถูกอาจเป็นผิด ขึ้นอยู่กับวิธีการและหลักการ พลิกประเด็น หาประเด็น หลายเรื่องเกี่ยวข้องทางเทคนิค สัญญา ซึ่งพิสูจน์ยากทั้งทางปฏิบัติและทางทฤษฏี

ศาลไทยงานเยอะนะครับ ทะเลาะกันก่อนกว่าจะไปศาลต้องมีเป็นเดือนเป็นปี ชั้นต้นมี 2ปีกว่าจะทราบผลศาลอุธรณ์มีอีก 2ถึง4ปี ฏีกาอีกพอๆกัน รวมเป็น 5ถึง10ปี แล้วต้องมาตามบังคับคดีซึ่งมาอายุความอีก10ปีถ้าลูกหนี้ซ่อนทรัพย์เก่ง ก็เหนื่อยเล่นแมวจับหนู

เพราะฉะนั้น
ฟ้องแล้วท่านอาจไม่ได้อะไร

แต่ไม่ฟ้องท่านอาจไม่เหลืออะไร

ผมพูดถึงทั้งทั้งผู้ถูกทำและผู้ทระทำ

คุยกันเถอะครับ

No comments:

Post a Comment