Thursday 4 February 2010

Designing Luxury




ดูเหมือนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ“ความหรูหรา”เห็นท่าจะแยกไม่ออกจากเรื่องของพลังของงานดีไซน์นะครับ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมีอยู่มากมายใน luxury segment ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่แบรนด์แฟชั่นทั่วไปจนถึงนาฬิกาและน้ำหอม

พูดถึงการจะทำน้ำหอมให้ดังสักยี่ห้อหนึ่ง ต้องเกี่ยวข้องกับการใช้ทักษะในการออกแบบสร้างสรรค์สิ่งที่แตกต่าง(แบบคนละเรื่องเดียวกัน) 2 สิ่ง นั่นคือ การออกแบบกลิ่นและการออกแบบขวดบรรจุ สำหรับแบรนด์ดีๆดังๆ หลายท่านบอกได้เต็มปากว่า“แค่เห็นขวด”ก็หอมแล้ว และแบรนด์บางแบรนด์ออกซับแบรนด์ในตระกูลเดียวกันออกมา ผู้ซื้อที่เป็นแฟนพันธ์แท้ก็สามารถเชื่อมั่นไปกว่าครึ่งว่าหอมแน่ แม้ไม่ต้องดม


ลองคิดเล่นๆ เหตุผลที่แบรนด์น้ำหอมหลายๆแบรนด์สามารถสร้างตัวตนไปได้ถึงขนาดนั้น เพราะอะไร?


สิ่งที่สำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งของการบริหาร luxury แบรนด์ คือ “การสื่อสาร” ข้อความระหว่าง “ตัวตนของแบรนด์” กับ “พลังของงานดีไซน์ในแบรนด์” ที่ต้องการสื่อออกมา แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จคือแบรนด์ที่มีพลวัตและปฏิสัมพันธ์สูงกับผู้บริโภคแบบ ..จับต้องได้ด้วยประสบการณ์.. สัมผัสได้ด้วยภาษาใจ.. และ..สามารถเข้าถึงและรับรู้ในสิ่งที่ต้องการ โดยไม่ต้องอธิบาย..

...
ลองคิดไปเรื่อยๆ แบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่นกลุ่มโรงแรมหรูทำไมต้องพัฒนาตัวตนอยู่ตลอดเวลา?
...

มองแบรนด์โรงแรมจากการสร้างประสบการณ์ที่จับต้องได้ ด้วยภาพของความหรูหราในห้องพัก เครื่องนอน การตกแต่งสถานที่ ไปจนถึง gourmet cuisine ที่โรงแรมภูมิใจนำเสนอ

ดูบางแบรนด์โรงแรมที่พัฒนามาถึงการสร้างกลุ่มและกลไกที่สัมผัสได้ด้วยใจสะท้อนผ่านรสนิยมการออกแบบโรงแรมที่มีแนวคิดใหม่ ไม่ค่อยจะเหมือนใครของ Design Hotels, Tablet Hotels, Hip Hotels, Small and Luxury Hotels (SLHs)

และเดี๋ยวนี้การทำโรงแรมกอปรกับการท่องเที่ยวให้“หรู” เป็นเรื่องของการสร้างความเข้าใจ สร้างคำจำกัดความถึง “รูปแบบ” ที่แตกต่างของคำว่าท่องเที่ยวด้วย “การประดิษฐ์” และ “ออกแบบความหรูหรา” เพื่อประสบการณ์ดีๆของผู้อยากที่จะมีอยากจะสัมผัส

แบรนด์ดิ้งการท่องเที่ยวเดี๋ยวนี้ต้องออกแบบ“ความหรูหราที่ประสบการณ์”ครับ วันนี้ตลาด luxury travel เชยแล้วถ้าจะมานั่งขายชื่อเสียงของสถานที่สำคัญหรือชื่อประเทศโน้น โรงแรมนี้ วงการท่องเที่ยวเดี๋ยวนี้ตอนนี้จะมีก็แต่เรื่องของการสัมผัสการทำไวน์และทานอาหารแบบ fine dining จากชาโตว์จริงๆที่ฝรั่งเศส หรือการพักผ่อนพร้อมดูงานมิลานแฟชั่นวีคใน service apartment กลางเมืองมิลานที่ออกแบบโดย Armani Casa ไปจนถึงการนอนเต๊นท์หรู ส่องสัตว์แบบซาฟารีพร้อมสปากลางป่าแบบคนอังกฤษในแอฟริกา กลับมานอนพักในวังเก่าแบบ Florentine ในอิตาลี ที่แขกที่เข้าพักจะได้รับการบริการแบบ royalty หรือจะเป็นประสบการณ์บนเรือหรือในบ้านโคโลเนียลยุค American revolution ของหลายประเทศในแถบแคริบเบียน


กลไกของแบรนด์ที่ตัวแบรนด์และผลิตภัณฑ์ของแบรนด์สัมผัสตรงกับผู้ซื้อจึงต้องเป็นเรื่องของ “การออกแบบความทรงจำ” ที่โดนสัมผัสได้ด้วย “จิตใจและอารมณ์” และต้องสัมผัสได้แบบถูกที่ถูกเวลา

...
ลองคิดให้ดี เอาเข้าจริงๆ แบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับก่อสร้าง ออกแบบและอสังหา ที่ว่า“หรูหรา” มีที่มาเป็นอย่างไร?


มาจากประสบการณ์ที่คุณจับต้องได้(จริงหรือ)

มาจากรสนิยมที่สร้างและแปลกใหม่ด้วยคุณภาพและพลังของการออกแบบ(ที่ไม่เคยเห็น..แต่อาจรู้สึกว่าใช่)

หรือมาด้วยการดีไซน์ประสบการณ์จริง สร้างเรื่องราวที่โดนใจ สร้างเรื่องที่ใครๆได้รู้สึกว่าใช่ (อยากจะมีและอยากจะเป็น)

...
น่าคิดนะครับ