Thursday, 28 January 2010
“Manager” หรือ “Leader” : Design Leadership
ตั้งแต่ปลายปีเก่าจนถึงต้นปีนี้เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของบรรดาลูกจ้างและมนุษย์เงินเดือนครับ หลายๆบริษัทหลายๆองค์กรเริ่มทยอยแจกโบนัสมาตั้งแต่ปลายปี สำหรับในแวดวงก่อสร้าง ออกแบบและอสังหาฯหลังจากตลอดทั้งปีลุ้นภาวะเศรษฐกิจพลิกคว่ำพลิกหงายให้ใจคอวูบวาบเล่น แล้วช่วงนี้ก็เริ่มมีข่าวดีแย้มออกมาบ้าง ถึงจะทราบว่าบริษัทรับเหมาก่อสร้างหลายแห่งนอกจากไม่มีโบนัส แถมเงินเดือนไม่ขึ้นแล้ว ยังต้องประกาศปิดตัวลงชั่วคราว(หรือถาวรเลยก็มี) และบริษัทฯออกแบบหลายแห่งที่สัญญาจะให้โบนัสพนักงานมาหลายปีดีดักแต่รอแล้วรอเล่าก็ยังไม่เคยได้สักที แต่ก็ทราบว่าบริษัทพัฒนาที่ดินที่สร้างคอนโดขายแห่งหนึ่งแจกโบนัสพนักงานระดับบริหารบางคนสูงสุดถึง 11 เดือน
อะไรเป็นเหตุผลให้ความแตกต่างมันถึงได้มีมากมายขนาดนั้น?
...
ช่วงหลังๆการบริหารจัดการทรัพยาการบุคคลมีวิธีการใหม่ที่สร้างสรรค์และระมัดระวังในการคัดเลือกบุคคลากรเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและการจัดการมากขึ้น สำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและพัฒนา ตำแหน่งตั้งแต่ระดับผู้จัดการขึ้นไปโดยเฉพาะสำหรับบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมประเภทอสังหาฯ ไอที หรือแม้แต่รีเทลและงานบริการนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เรามักจะคุ้นเคยกับการทำงานหรือการมองหาตำแหน่งนี้ที่เรียกว่า “ผู้จัดการส่วนออกแบบ” หรือ “Design Manager”
ผมได้รับการสอบถาม แลกเปลี่ยนความคิด และพูดคุยจากน้องๆ เพื่อนๆ หรือแม้แต่กับลูกค้า ถึงทัศนคติที่ว่า “Design Manager” ที่ดีที่เก่งควรเป็นอย่างๆไร
อะไรทำให้หลายๆบริษัทมีผลประกอบการในปีที่ผ่านมาต่างกันเหลือเกินทั้งๆที่บริษัทฯส่วนใหญ่ก็ลงทุนกับบุคลากรด้านการออกแบบหรือ R&D ไม่ว่า in-house หรือ out-source อย่างเต็มที่กันทั้งนั้น (ยกตัวอย่าง ในแวดวงอสังหาฯ สังเกตุว่ารูปร่างหน้าตาของบ้าน อาคารคอนโด รูปแบบ ผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทฯส่วนใหญ่ก็ออกมาดูดี ไม่ค่อยมีที่ติ)
เป็นแบบนี้ก็เพราะ “หน้าที่” และความคาดหวังส่วนใหญ่จาก “Design Manager” ยังคงอยู่ในกรอบของ การสร้างงานออกแบบให้แตกต่างจากคู่แข่ง หรือการใช้งานทรัพยากรให้เกิดประโยชน์และก่อให้เกิดกำไรสูงสุด และคือการสร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อความเป็นไปได้ในการสานต่อเพื่อผลิต
แต่สิ่งที่ควรมีแบบ “Design Leader” ด้วยการผลักดันองค์กรให้เดินหน้า กลับกลายเป็น “บทบาท” ที่เป็นส่วนน้อย
…
หลายองค์กรมี “Design Manager” แต่ไม่ทุกองค์กรที่จะมีคนที่รู้จักสร้างบทบาทแบบ “Design Leader”
...
คนที่รวมเอากระบวนการคิดแบบ “Design Thinking” เข้ามาในการทำงาน เอาเข้ามาในองค์กร
ด้วยการมองว่าองค์กรคือนวัตกรรมที่ยังสร้างหรือยังทำไม่เสร็จ ยังไม่ตกผลึก (unfinished prototype)
ด้วยการทำงานแบบดีไซเนอร์ที่ลองผิดลองถูกอย่างเป็นระบบ (calculated trial-and-error)
เริ่มจากการ “สังเกตุ” แล้ว “ระบุจำแนก” รูปแบบของพฤติกรรมของสิ่งต่างๆรวมถึงปัญหา ก่อนจะนำมาซึ่งการ “สร้างสรรค์ความคิดใหม่” ทดลอง “นำความคิดเหล่านั้นมาใช้” เพื่อฟัง “ข้อคิดเห็น”จากผู้เกี่ยวข้อง แล้วเริ่มต้นกระบวนการเหล่านี้ทั้งหมดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดีและดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ
เป็นการสร้างวิวัฒนาการณ์แบบการแก้ปัญหา เหมือนวิวัฒนการณ์ของการทำงานแบบดีไซเนอร์
...
ความแตกต่างขององค์กรหรือบริษัทต่างๆในภาวะที่คล้ายกันแบบนี้อยู่ที่ “วัฒนธรรมองค์กร” และ “Design Leadership”
ผู้ที่อยู่รอดคือผู้ที่มีวัฒนธรรมที่ปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อสร้างหรือรักษาความเป็นผู้นำ เพื่อสร้างให้สินค้า บริการและประสบการณ์เป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้า“แปลกใจ” รู้สึกดีเป็นพิเศษแบบ “แตกต่าง”
…
Design Management สร้าง“กรอบ” เอาไว้ทำงานรอบๆตัว
Design Leadership จะสร้างความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ แบบ“ไม่มีกรอบ” ถึงอาจยังไม่ชอบ
..แต่อยากให้ลองดูครับ
No comments:
Post a Comment