Tuesday, 23 November 2010
ถ้าคุณอยากเป็นเถ้าแก่
ฤดูการศึกษาของเมืองไทยตามระบบการเรียนปรกติจะมี 2 ภาคการศึกษาครับ ช่วงก่อนเริ่มภาคการศึกษาใหม่ที่ผ่านมาเราจึงเห็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์หลักสูตรปริญญาตรีโทเอก ที่มีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น รวมถึงคอร์สประเภท how-to ที่สอนกันด้วยระยะเวลาสั้นๆจบภายในหนึ่งวัน หนึ่งสัปดาห์ จนถึงไม่กี่เดือน มีให้เลือกมากมาย
ปรกติผมจะรับเชิญการเป็นวิทยากรไปพูดตามที่ต่างๆก็ช่วงเวลาระหว่างภาคการศึกษาแบบนี้ล่ะครับ เมื่อก่อนเป็นอาจารย์เต็มเวลามักเลือกสถานที่และช่วงเวลาที่ไปสอนไม่ค่อยได้ เดี๋ยวนี้สบายขึ้นเยอะ ผมจึงมักเลือกที่จะบรรยายในหัวข้อที่สั้นๆกระชับจบได้ในระยะเวลาที่ไม่มากนัก และโดยทั่วไป ที่สำคัญคือผมมักเลือกหัวข้อที่ได้แชร์ประสบการณ์กับนักศึกษาหรือผู้ที่ได้มาฟังบรรยาย เพราะผมเชื่อว่าทุกครั้งที่ผมไปพูดที่ไหน ผมอยากที่จะเรียนรู้จากผู้ฟังหรือนักศึกษา มากพอๆกับที่เขาเหล่านั้นตั้งใจ(และเสียเงิน)มาฟังผมพูด
ด้วยตัวผมซึ่งเป็นวิศวกรโดยอาชีพ แต่ไปจบปริญญาเอกทางการบริหารงานสถาปัตยกรรมและการออกแบบ กลับมารับราชการเป็นอาจารย์ และในที่สุดมาอยู่ในภาคเอกชนประกอบกิจการเป็นของตัวเอง คำถามยอดฮิตคำถามหนึ่งที่ผมถูกผู้ฟังถามอยู่เสมอเวลาไปบรรยายที่ไหนคือ “อาจารย์ครับ ถ้าเราอยากจะมีจะทำกิจการที่เป็นของตัวเองจำเป็นต้องมี MBA หรือจบปริญญาโททางธุรกิจหรือไม่”
ผมมักจะตอบไปว่า อาจจะไม่ และอาจจะใช่
…
“Entrepreneurship is a matter of the heart, and education is a matter of the brain”
“ความเป็นเถ้าแก่น่ะ มันอยู่ที่ใจ ส่วนการศึกษา มันเป็นเรื่องของสมอง”
...
“ใจ”มันสอนกันไม่ได้ครับ ถ้าเราเป็นเจ้าของกิจการหมายถึงเราต้องพร้อมที่จะสู้ พร้อมจะรับความเสี่ยงที่คาดไม่ถึงอยู่เสมอ (ทุนหาย กำไรหด ลูกค้าไม่มี เงินไม่เข้า ฯลฯ) “ใจ”ที่สอนกันไม่ได้แบบนี้จึงเป็นเรื่องของทัศนคติในการมองโลกอันแสนไม่แน่นอนและความกระหายอยากรู้อยากเห็น อยากประสบความสำเร็จ
การเรียนรู้ การศึกษา เป็นอีกเรื่องๆหนึ่งครับ การเรียนสามารถสร้าง“กรอบ”ให้เราคิด สร้าง“เกราะ”ให้เราอุ่นใจ ว่าความเสี่ยงที่คาดไม่ถึงน่ะมีอยู่จริง แต่เราต้องอย่างน้อยต้องเดาให้ได้ว่ามันจะมาเมื่อไหร่ อย่างไร ในทิศทางไหน เพื่อให้เราเลือกเดินในเส้นทางที่เสี่ยงน้อยที่สุด
...
เวลาผมต้องตอบคำถามดังกล่าวผมจึงเลือกยกตัวอย่างในลักษณะ “ชง” ให้ผู้ฟังรู้จักและอยากสนุกกับความเสี่ยงใดๆ แต่ขณะเดียวกันก็ลืมตายอมรับความเป็นจริงในสิ่งที่จะเกิดในโลกใบนี้ครับ
การเรียน การศึกษา ทำให้สมองกับใจทำงานไปด้วยกันได้แบบสร้าง“สมดุล”ของตรรกกะทางความคิดครับ
ก็เมื่อการตัดสินใจทางธุรกิจบางครั้งใจมันบอกว่า“ใช่” แต่สมองมันบอกว่า“ไม่” และในทางกลับกัน หลายครั้งถึงแม้ใจมันบอกว่า“ยัง” แต่สมองมันสั่งให้“ต้องเดิน”
ฉะนั้นเรื่องของการเป็นเถ้าแก่ให้ประสบความสำเร็จจึงไม่ใช่ต้องว่ามีปริญญาเสมอไปหรือไม่ แต่เป็นเรื่องของการรู้จักวิธีการบริหารสมองแบบ“เติมใจ”เข้าไปให้กัน แล้ว“เติมกำลัง”ให้ใจ ด้วยภูมิคุ้มกัน ด้วยความรู้ที่สมองสร้างได้
เพราะหลายครั้งสมองบอกสิ่งที่ฉลาดๆ เพื่อที่ไม่ต้องให้ใจเราไปพะวงกับการเรียนถูกเรียนผิดอีก (ก็คนอื่นทำผิดมาแล้ว)
แต่ก็หลายครั้งที่โจทย์ทางธุรกิจมันยาก นอกตำราและเกินกำลังของความรู้ใดๆที่เราสามารถนำมาอ้างอิง ต้องวัดกันด้วยใจหรือประสบการณ์ เพื่อเอามาตัดสิน
...
ผมจึงเชื่อว่า การเรียนรู้และการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำความรู้จักหลีกเลี่ยงความเสี่ยง และสร้างความน่าจะเป็นของความสำเร็จในการเป็นเจ้าของกิจการ แต่ผมก็เชื่อว่าถึงแม้เราจะมีเครื่องมือเหล่านั้น จิตใจที่พร้อม ประสบการณ์ที่มี คือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการฉวยโอกาสของความน่าจะเป็นเหล่านั้นเพื่อให้เราเดินหน้าต่อไปให้ยั่งยืน
...
เพราะในโลกธุรกิจ สมองและใจ เดินไปด้วยกันครับ
Friday, 5 November 2010
ต้นทุนของเวลา
ทราบข่าวคราวของประชาชนที่เดือนร้อนจากวิกฤตภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วมและลมพายุ ในเกือบทั่วทุกภาคของประเทศไทยแล้วหดหู่นะครับ เครียดแทนท่านที่ต้องประสบเคราะห์กรรมแบบที่ตั้งตัวไม่ทันมาก่อน วิกฤตแบบนี้เรื่องของความเสียหายเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากว่าจะเกิดเมื่อใด หรือจะเสียหายมากน้อยเพียงใด แต่เรื่องที่พอจะช่วยบรรเทาความเสียหายโดยการจัดการกับวิกฤตอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่วางแผนล่วงหน้าและกระทำได้อย่างรวดเร็วครับ
หน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานรวมทั้งรัฐบาลได้รับการตำหนิอย่างรุนแรงว่ารับมือกับปัญหาได้อย่างเชื่องช้าไม่ทันใจ และไม่ทันอารมณ์เหมือนอย่างนักข่าวบางช่องที่ทั้งเกาะติดสถานการณ์และลงไปลุยน้ำท่วมช่วยเหลือ พูดคุยกับประชาชนผู้ต้องเผชิญกับภัยพิบัติครั้งนี้ โดนต่อว่ามากๆเข้าผมว่า ถ้ารัฐบาลขออะไรได้สักอย่างคงอยากจะย้อนเวลากลับไปสัก หนึ่งอาทิตย์ หนึ่งวัน หรือเพียงหนึ่งชั่วโมง เพื่อที่จะมีโอกาส ทำอะไรๆได้ดีกว่านี้
...
เวลา คือ “ต้นทุน” ที่สูงมากของชิวิตครับ เพียงเสี้ยวนาทีทำให้เราตัดสินใจอะไรผิดที่อาจทำให้เราเสียใจไปตลอดชีวิต ที่น่าเศร้าคือเรามักจะนึกถึง“ต้นทุน”ตัวนี้เมื่อเรารู้ตัวว่า“ขาดทุน”ไปซะแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น เราๆท่านๆส่วนใหญ่เวลาตัดสินใจผิดหรือไม่ได้ตัดสินใจอะไรที่สร้างผลดีให้กับองค์กรกลับโทษตัวเอง โทษว่าเราไม่มี“ต้นทุน”ตัวนี้ โทษว่าเราไม่มี“เวลา”ตั้งแต่ต้น
คิดดูให้ดีเวลาเป็นต้นทุนที่มหัศจรรย์ของชีวิตนะครับ ลองคิดดูถ้าคิดเป็นชั่วโมง จะมีต้นทุนอะไรบ้างที่มีค่าสูงขนาดนี้แต่สามารถเริ่มต้นใหม่ได้ทุกวันสำหรับหนึ่งวันที่มีถึง 24 ชั่วโมง เมื่อเราคิดแบบวันนี้เราใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงของเราคุ้มหรือไม่?
วันนี้เราใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงในหนึ่งวันของเราคุ้มหรือยังครับ
...
สำหรับคนที่ชอบบ่นว่างานเยอะ โอย จะไม่มีเวลาทำงานเหลืออยู่แล้ว ลองนึกดูเล่นๆถ้าวันหนึ่ง เอ็มดีหรือ ประธานบริษัท เดินลงมาพูดกับคุณโดยตรงว่าอยากให้คุณทำงานชิ้นหนึ่งให้ โดยรายงานตรงต่อท่าน ซึ่งงานชิ้นนั้นเป็นงานที่สำคัญมากและขอใช้เวลาของคุณอยู่กับท่านเพื่องานชิ้นนี้เพียงหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น เป็นคุณๆจะทำหรือไม่? เกือบร้อยทั้งร้อยต้องตอบว่าทำ ส่วนหนึ่งอาจเพราะหน้าที่ แต่อีกส่วนหนึ่งเพราะหัวใจพองโตที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำงานสำคัญจากคนระดับสูงสุดขององค์กร
อ้าว? ไหนบอกยุ่ง ไม่มีเวลาทำงานเหลืออยู่แล้ว แล้วไปหาเวลาพิเศษนี้ได้อย่างไร
...
ความจริงก็คือเราต่างมีเวลา“พิเศษ”แบบนี้ซ่อนอยู่ทั้งนั้นครับ ขอให้เรามีแรงจูงใจเพียงพอเราก็สามารถบริหารต้นทุนตัวนี้ของเราจากภายในได้ดีขึ้น ลองนึกดูนะครับเวลาพิเศษแบบนี้บริหารได้โดยการเลิกทำสิ่งง่ายๆประจำวันที่จุกจิก เช่นเลิกไปใส่ใจกับการประดิดประดอย powerpoint presentation ให้สวยงาม เลิกประชุมในสิ่งที่ไม่จำเป็น(คุยกันหลายครั้งแล้วไม่รู้เรื่องสักที) เลิกทำงานในสิ่งที่สั่งคนอื่นให้ทำหรือทำในเวลาอื่นได้
จริงๆแล้วในแต่ละวันทุกคนมีเวลาเหลือกันทั้งนั้น แล้วแต่ว่าเราใช้ประโยชน์จากต้นทุนตัวนี้มากขนาดไหน จะให้ให้กำไรเป็นผลพลอยได้กับตัวเองและผู้อื่น หรือทำให้มันขาดทุนโดยมานั่งเสียใจทีหลังเมื่องานผิดผลาดหรือส่งงานไม่ทันแล้วมานั่งโทษต้นทุนตัวเองว่ามีไม่พอ ทั้งๆที่ต้นทุนตัวนี้อยู่กับเรา เกิดกับเรา บริหารโดยตัวเราซะเองทั้งนั้น
ชีวิตต้องวางแผน ทำงานต้องมีเป้าหมายต้องมีตารางเวลานะครับ ลองพินิจลองวิเคราะห์ดูว่าเราใส่ใจกับการบริหารต้นทุนตัวนี้ของเรามากน้อยขนาดได้ หรือปล่อยให้ตัวมันเองบริหารตัวมันเองไปเรื่อยๆ
...
เพราะไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสย้อนเวลา ขอเริ่มต้นใหม่
เมื่อความผิดพลาดหรือหายนะมาถึง