Thursday 28 January 2010

Design Is..Furniture as an Investment 28-01-10




สวัสดีปีใหม่ครับ ปีใหม่แบบนี้ขอให้ทุกท่านมีแต่เรื่องดีๆ และหวังว่าหลายๆท่านคงกำลังสบายใจกับผลประกอบการที่ตรง(หรือทะลุ)เป้านะครับ

เริ่มต้นปีแบบนี้ทุกท่านคงกำลังวางแผนชีวิตและกิจการสำหรับทั้งปีนี้และในปีถัดๆไป พูดถึงแผนการในชีวิตคงต้องเอ่ยถึงเรื่องเงินๆทองๆและเรื่องการลงทุน ทุกท่านเชื่อหรือไม่ครับว่าการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์เดี๋ยวนี้เสมือนคือการเลือกลงทุนอย่างหนึ่ง

ในอดีตก่อนที่จะมีการผลิตเฟอร์นิเจอร์ออกมาเป็นลักษณะแมสมากๆเหมือนทุกวันนี้ การจะทำเฟอร์นิเจอร์สักชิ้นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ ตู้เตียง เสมือนคือการทำงานของช่างฝีมือซึ่งเต็มไปด้วยพลังในการการสร้างสรรค์ เป็นการทำงานที่ใส่ใจในทุกรายละเอียด ใช้วัสดุคุณภาพดีที่สุด (โดยเฉพาะการคัดเลือกไม้ประเภทต่างๆ) ทุ่มเทให้เวลากับงานแต่ละชิ้นเหมือนกำลังสร้างความภาคภูมิใจไม่ใช่แค่จะทำให้เสร็จ เฟอร์นิเจอร์หลายชิ้นส่วนใหญ่ในอดีตจึงเปรียบเสมือนงานชิ้นเอก เป็นเครื่องพิสูจน์ความภูมิใจที่ยังสัมผัสได้ คงทนและแน่นอน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ปัจจุบันเราเรียกเฟอร์นิเจอร์ที่เข้าข่ายและมีคุณสมบัติแบบนี้ว่าเป็นเฟอร์นิเจอร์ระดับหรูหราครับ คำว่าหรูหราคำนี้ทำให้คนเข้าใจผิด คิดไปถึงรสนิยมของผู้สะสมหรือผู้ที่จะซื้อว่าต้องสูงส่งและแพงเท่านั้นตามไปด้วย จริงๆแล้วไม่ใช่เลยครับ passion และความตั้งใจในการทำเฟอร์นิเจอร์ต่างหากที่ให้เฟอร์นิเจอร์ออกมามีบุคลิกที่เปี่ยมไปด้วยพลังเหมือนเฟอนิเจอร์ในอดีตที่เรายังคงมองหาได้ในปัจจุบันผ่านตัวตนของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์หลายๆแบรนด์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ ทั้งแบรนด์อายุมากหรือแบรนด์ใหม่ๆ ไม่จำกัดการออกแบบว่าจะเป็นแนวโมเดิร์น คอนเทม หรือคลาสสิค ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้สะสมครับ

การเลือกซื้อโซฟาซักตัวจึงเป็นการเลือกลงทุนครับ ก็เมื่อโซฟาดีๆหรือหรือเตียงหลังหนึ่งนี่ เรายังใช้กันร่วมสิบปี เรื่องของเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ดีๆจึงเป็นการลงทุนว่าวัสดุที่ใช้จะทนทานขนาดไหน และลงทุน(ลุ้น)ว่าราคาของโซฟาตัวนั้นราคาซื้อขายแลกเปลี่ยนจะเป็นอย่างไรเมื่อแบรนด์นั้นจะออกคอลเลคชันใหม่ โดยทั่วไปแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ระดับนี้จะรู้จักรักษาเนื้อรักษาตัวเพื่อรักษาแบรนด์ จะไม่ออกรุ่นใหม่ๆพร่ำเพรื่อ จะไม่ทำโปรโมชัน จะไม่ลดแลกแจกแถม หลายครั้งอยากขายคนที่อยากซื้อ(แบบมองแวบเดียวรู้ว่าใช่หรือไม่ใช่) และจะชอบทำงานร่วมกับดีไซเนอร์หรือเจ้าของบ้านที่เข้าใจสเปซของตัวเองเป็นอย่างดี

วันนี้ตลาดในต่างประเทศการประมูลขายเฟอร์นิเจอร์โบราณ เครื่องตกแต่งหรือแม้แต่ พรมเปอร์เซียอายุเป็นร้อยปีเป็นเรื่องปรกติครับ ตลาดนี้เป็นตลาดใหญ่มากนะครับ ที่นำหน้าเราไม่ว่าฮ่องกง สิงคโปร์เค้าเริ่มมีตลาดเฟอร์นิเจอร์เพื่อการลงทุนมาซักพักแล้ว ลองคิดดูเล่นๆ สิ่งที่เราเรียกว่าเฟอร์นิเจอร์โบราณในอดีต ถ้ากลายเป็นเงินทองในวันนี้ แล้วสิ่งที่เรามองว่าเป็นเฟอร์นิเจอร์หรูหราโมเดิร์นในปัจจุบัน ถ้าเลือกดีๆจะมีมูลค่ามหาศาลขนาดไหนในวันข้างหน้า อิตาเลี่ยนดีไซน์แบรนด์ใหม่หลายๆแบรนด์ซึ่งทำเฟอร์นิเจอร์ที่เราเรียกว่าโมเดิร์นออกมาจนพิพิธภัณฑ์ยังต้องเลือกเอามาเก็บไว้ อนาคตข้างหน้าการลงทุนของท่านในการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์แบรนด์ให้ถูกตา ถูกใจ และถูกแบรนด์ก็คือสมบัติที่ชื่นชมได้นั่นเองนะครับ

ผมเขียนคอลัมน์นี้มาหลายฉบับ ส่วนใหญ่จะวนไปเวียนมาเป็นเรื่องงานออกแบบและเฟอร์นิเจอร์ มีผู้อ่านหลายท่านอีเมล์มาสอบถามเรื่องงานออกแบบกับงานบ้านโมเดิร์นซึ่งเข้าใจไปคนละทิศคนละทางว่าไอ้เจ้าบ้านสีขาวๆกล่องๆนี่มันก็สวยเหมือนกันหมด หรือใครๆก็ออกแบบหรือสร้างทำให้เป็นบ้านโมเดิร์นได้เหมือนกันหมดหรืออย่างไร(คงจะไม่) ครั้งหน้าผมจะเล่าให้ฟังนะครับ

“Manager” หรือ “Leader” : Design Leadership




ตั้งแต่ปลายปีเก่าจนถึงต้นปีนี้เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของบรรดาลูกจ้างและมนุษย์เงินเดือนครับ หลายๆบริษัทหลายๆองค์กรเริ่มทยอยแจกโบนัสมาตั้งแต่ปลายปี สำหรับในแวดวงก่อสร้าง ออกแบบและอสังหาฯหลังจากตลอดทั้งปีลุ้นภาวะเศรษฐกิจพลิกคว่ำพลิกหงายให้ใจคอวูบวาบเล่น แล้วช่วงนี้ก็เริ่มมีข่าวดีแย้มออกมาบ้าง ถึงจะทราบว่าบริษัทรับเหมาก่อสร้างหลายแห่งนอกจากไม่มีโบนัส แถมเงินเดือนไม่ขึ้นแล้ว ยังต้องประกาศปิดตัวลงชั่วคราว(หรือถาวรเลยก็มี) และบริษัทฯออกแบบหลายแห่งที่สัญญาจะให้โบนัสพนักงานมาหลายปีดีดักแต่รอแล้วรอเล่าก็ยังไม่เคยได้สักที แต่ก็ทราบว่าบริษัทพัฒนาที่ดินที่สร้างคอนโดขายแห่งหนึ่งแจกโบนัสพนักงานระดับบริหารบางคนสูงสุดถึง 11 เดือน

อะไรเป็นเหตุผลให้ความแตกต่างมันถึงได้มีมากมายขนาดนั้น?
...
ช่วงหลังๆการบริหารจัดการทรัพยาการบุคคลมีวิธีการใหม่ที่สร้างสรรค์และระมัดระวังในการคัดเลือกบุคคลากรเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและการจัดการมากขึ้น สำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและพัฒนา ตำแหน่งตั้งแต่ระดับผู้จัดการขึ้นไปโดยเฉพาะสำหรับบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมประเภทอสังหาฯ ไอที หรือแม้แต่รีเทลและงานบริการนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เรามักจะคุ้นเคยกับการทำงานหรือการมองหาตำแหน่งนี้ที่เรียกว่า “ผู้จัดการส่วนออกแบบ” หรือ “Design Manager”

ผมได้รับการสอบถาม แลกเปลี่ยนความคิด และพูดคุยจากน้องๆ เพื่อนๆ หรือแม้แต่กับลูกค้า ถึงทัศนคติที่ว่า “Design Manager” ที่ดีที่เก่งควรเป็นอย่างๆไร

อะไรทำให้หลายๆบริษัทมีผลประกอบการในปีที่ผ่านมาต่างกันเหลือเกินทั้งๆที่บริษัทฯส่วนใหญ่ก็ลงทุนกับบุคลากรด้านการออกแบบหรือ R&D ไม่ว่า in-house หรือ out-source อย่างเต็มที่กันทั้งนั้น (ยกตัวอย่าง ในแวดวงอสังหาฯ สังเกตุว่ารูปร่างหน้าตาของบ้าน อาคารคอนโด รูปแบบ ผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทฯส่วนใหญ่ก็ออกมาดูดี ไม่ค่อยมีที่ติ)

เป็นแบบนี้ก็เพราะ “หน้าที่” และความคาดหวังส่วนใหญ่จาก “Design Manager” ยังคงอยู่ในกรอบของ การสร้างงานออกแบบให้แตกต่างจากคู่แข่ง หรือการใช้งานทรัพยากรให้เกิดประโยชน์และก่อให้เกิดกำไรสูงสุด และคือการสร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อความเป็นไปได้ในการสานต่อเพื่อผลิต

แต่สิ่งที่ควรมีแบบ “Design Leader” ด้วยการผลักดันองค์กรให้เดินหน้า กลับกลายเป็น “บทบาท” ที่เป็นส่วนน้อย

หลายองค์กรมี “Design Manager” แต่ไม่ทุกองค์กรที่จะมีคนที่รู้จักสร้างบทบาทแบบ “Design Leader”
...
คนที่รวมเอากระบวนการคิดแบบ “Design Thinking” เข้ามาในการทำงาน เอาเข้ามาในองค์กร
ด้วยการมองว่าองค์กรคือนวัตกรรมที่ยังสร้างหรือยังทำไม่เสร็จ ยังไม่ตกผลึก (unfinished prototype)
ด้วยการทำงานแบบดีไซเนอร์ที่ลองผิดลองถูกอย่างเป็นระบบ (calculated trial-and-error)
เริ่มจากการ “สังเกตุ” แล้ว “ระบุจำแนก” รูปแบบของพฤติกรรมของสิ่งต่างๆรวมถึงปัญหา ก่อนจะนำมาซึ่งการ “สร้างสรรค์ความคิดใหม่” ทดลอง “นำความคิดเหล่านั้นมาใช้” เพื่อฟัง “ข้อคิดเห็น”จากผู้เกี่ยวข้อง แล้วเริ่มต้นกระบวนการเหล่านี้ทั้งหมดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดีและดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ

เป็นการสร้างวิวัฒนาการณ์แบบการแก้ปัญหา เหมือนวิวัฒนการณ์ของการทำงานแบบดีไซเนอร์

...

ความแตกต่างขององค์กรหรือบริษัทต่างๆในภาวะที่คล้ายกันแบบนี้อยู่ที่ “วัฒนธรรมองค์กร” และ “Design Leadership”
ผู้ที่อยู่รอดคือผู้ที่มีวัฒนธรรมที่ปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อสร้างหรือรักษาความเป็นผู้นำ เพื่อสร้างให้สินค้า บริการและประสบการณ์เป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้า“แปลกใจ” รู้สึกดีเป็นพิเศษแบบ “แตกต่าง”



Design Management สร้าง“กรอบ” เอาไว้ทำงานรอบๆตัว
Design Leadership จะสร้างความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ แบบ“ไม่มีกรอบ” ถึงอาจยังไม่ชอบ

..แต่อยากให้ลองดูครับ