Sunday, 30 August 2009

ความรู้สึก 7 แบบ ที่บอกได้ว่าเรากำลังหาเรื่องสร้าง “ความเครียด” ในที่ทำงานให้กับตัวเอง




“รู้สึกว่าเงินเดือนน้อย รายได้ไม่พอใช้”
เรื่องจริงคือไม่มีใครหาเงินพอใช้นะครับ พูดให้เข้าใจอีกทีคือไม่มีใครในโลกรู้ว่าคำว่า"พอ"คืออะไร คือ"จุดไหน" คือ"เมื่อไหร่"

“รู้สึกขาดความรัก”
นายรักและโปรดปรานคนอื่นมากกว่า (รู้ได้งัย อาจเป็นคุณก็ได้) เพื่อนรักและชอบคุยคนอื่นมากกว่า เพื่อนหักหลัง (รู้สึกระแวง จะถูกหักหลัง)

“รู้สึกว่าแผนก หรือฝ่ายของตัวเป็นลูกเมียน้อย”
ฝ่ายโน้น แผนกนี้ได้อะไรเยอะกว่า ที่ทำงานดีกว่า ได้ของใช้ โบนัส ค่าตอบแทนดีกว่าทั้งๆที่ทำงานน้อยกว่า (โอย เลิกคิดแบบ"เด็กๆ"แล้วรู้จักโตซะทีเถอะ)

“รู้สึกว่านายซาดิสต์”
(บ้าสั่งงานเหลือเกิน มาทำเองมั่งสิวะ) นายทำตัวเป็นเด็ก เอาแต่ใจ สั่งงานแต่ไม่เคยสอน ไม่เคยบอกว่าทำอย่างไร ใจเย็นๆครับ ลองเช็คอัตราการว่างงานดู ตอนนี้เฉลี่ยเมืองไทยอยู่ที่เกือบ 5% แยกย่อยเป็นอุตสาหกรรมต่างๆตัวเลขยิ่งสูง (เรื่องบางเรื่องก็เลือกมากไม่ได้นะ)

“รู้สึกว่างานเยอะ เวลาน้อย”
อะไรมันจะแย่ขนาดนั้น แล้วรู้จักวางแผนหรือยัง หรือคนอื่นทำไม่ได้ เราก็เลยต้องทำไม่ได้ไปด้วย แล้วคนอื่นน่ะมันคิดเหมือนเราหรือเปล่า

“รู้สึกเริ่มเข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้”
แหม.. เรื่องแบบนี้ก็เกิดกับทุกคน ปนกันไปทุกที่ จะไปคิดทำไม ปรับตัวสิครับ อย่าเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง

“รู้สึกพูดอะไรไปผู้บริหารไม่ฟัง”
รู้มั้ยครับผู้บริหารก็มนุษย์ มีเรื่องอื่นทำในชีวิตเหมือนกัน บางบริษัทก็บริหารโดยคนดี คนเก่ง บางบริษัทก็บริหารโดยพวกผู้บริหารที่แย่ๆ (ถึงแม้อาจจะเก่ง)

ลองดูสิครับ ถ้าเราเจอประสบการณ์ หรือเริ่มมีความรู้สึกแบบนี้สักสองสามข้อแล้วสู้ไม่ไหว ก็ลองหางานใหม่ เมื่อลองเปลี่ยนงานแล้วไม่เจออีก แสดงว่าไอ้บริษัทเก่านี่มันแย่ อาการหนักแล้ว ปล่อยให้มันเจ๊งไปเถอะ แต่ถ้าเปลี่ยนงานแล้วก็เจอเรื่องเดิมๆอีก แสดงว่าปัญหาอยู่ที่ตัวเราเอง และอย่าหาเรื่องเริ่มต้นความรู้สึกที่ไม่สร้างสรรค์แบบนั้นอีก

คิดมากก็ปวดหัวปรับตัวดีกว่า (จะได้ไม่ต้องเครียด ปวดหัว)

ทุกอย่างอยู่ที่ใจนะครับ

Friday, 21 August 2009

ชวน + เชื่อ




สังคมไทยหรือสังคมคู่ขนาน เป็นสังคมหมุนรอบตัว เป็นเรื่องใกล้ตัวเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน มองไปทางไหนก็เจอคนโน้น รู้จักคนนี้ ทั้งการเมือง ธุรกิจ รวมทั้ง “การเมืองเรื่องธุรกิจ”

เมื่อเป็นเรื่องของครอบครัว การพูดคุย บอกต่อ แบบปากต่อปาก (viral and verbal) หรืออะไรที่ได้ยินจากคนในครอบครัว จากคนใกล้ตัว ไม่ว่าเรื่องอะไร หรือประเด็นใดในสังคม จึงกลายเป็นสื่อที่ทรงพลังเป็นอย่างยิ่ง

เป็นสื่อที่สามารถเปลี่ยน “ประเด็น” ที่กำลังเกิดขึ้นให้กลายเป็น “กระแส”

เป็น “กระแส” ที่สามารถถูก “บิด” ให้ “ประเด็น” แกล้งทำเป็นลืมความจริง

...

Public Relation, Advertising และ Propaganda เปิดดิกเล่มไหนก็แปลคล้ายๆกัน มีความหมายในภาษาไทยที่หน้าตาเหมือนๆกัน คือการประชาสัมพันธ์ ชวนเชื่อ

Public Relation คือความพยายามของ “ขยายและเขย่า” ประเด็นต่างๆบนพื้นฐานของความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่าเรื่องปั้นแต่ง

Propaganda คือความจงใจในการ “ชักชวน” ทำให้เชื่อ ทำให้หลง บางจังหวะทำให้ “งงงง” ในพฤติกรรม สิ่งต่างๆหรือแนวคิดที่เกิดจากการปั้น

Advertising คือการเชื่อมต่อความรู้สึกของคนกับสิ่งอื่น คือการ “เกลาและเหลา” ภาพของความรู้สึก ความต้องการของคน ให้ “คม” ให้จับต้องได้

...


ถ้าบอกว่ามาจากครอบครัวเดียวกัน Public Relation น่าจะเป็นแค่รุ่นลูก อยู่คนละระนาบกับ Propaganda และ Advertising

ถ้าการบอกว่าการทำ Public Relation ทำให้เกิดความรับรู้ด้วย “การยอมรับ” และให้เกียรติ เป็นตัวแทนของภาพดี (positive) ต่างจาก Propaganda ที่เกิดจาก “การยัดเยียด” ด้วยวิธีที่แยบยล เหมือนเล่นซ่อนแอบ เล่นขายของ หรืออะไรสบายๆแบบที่สังคมไทยชอบเล่น เป็นตัวแทนของอีกด้านของภาพลบ (negative reverse)

และถ้าบอกว่า Advertising คือลูกล่อลูกชนที่หลายๆคนชอบเอามาแอบใช้ ที่บางครั้งต้องเล่นบทดี บางครั้งต้องเล่นบทร้าย

ต้องเข้าข้างทั้งพ่อและลูก (ยังไง มันก็ครอบครัวเดียวกัน)

...


คำถามคือสำหรับครอบครัวนี้ ถ้าต้องรู้จักกันไว้สนิทสนมกันไว้แบบไทยๆ เราจะเลือกพูดคุยกับใครก่อน

สำหรับ Propaganda ความสำคัญไม่ใช่เรื่องของ “เนื้อหา” แต่เป็นกระบวนการแบบ “ชวน” เพื่อให้ “เชื่อ”

ผิดหรือไม่ถ้าผู้บริหารระดับสูงพูดทุกวันถึงความบรรเจิดขององค์กรจากการบริหารแต่ไม่เคยเห็น ไม่เคยบอกว่าจริงๆแล้ววันๆทำอะไร หรือบริษัทที่กำลังจะเข้าตลาดตีฆ้องร้องป่าวถึงอนาคตอันก้าวไกลของหุ้นก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ (ก็ กลต. ท่านสั่งมานิ)

หรือถูกแค่ไหน ที่นักการเมืองบางคนให้เหตุผลการตัดสินใจเรื่องสำคัญระดับชาติด้วยการบอกง่ายๆว่า “ก็ประเทศอื่นเค้าก็ทำกันแบบนั้น” หรือ “ทีคุณก็เคยทำแบบนี้” หรือคนบางกลุ่มยังคิดแบบเดิมๆว่าองค์กรของผู้ถืออาวุธคือ “ฮีโร่” ผู้รับผิดชอบต่อการแก้วิกฤตของชาติ หรือนักการเมืองอีกคนที่ทำโพล์เพื่อหวังได้ประโยชน์จากการพีอาร์สถาบันที่ทำโพล์มากกว่าสนใจให้คนรู้ผลของโพล์ (เลยเสนอผลการสำรวจโพล์แบบมั่วๆ... เก่งจริงๆ)

แต่ Public Relation เป็นเรื่องของเนื้อหา ด้วยกระบวนการแบบทำให้รู้สึกว่า “เชื่อ” แล้วหวังว่าคงจะเอาไป “ชวน(ต่อ)”

ผิดมากหรือ เมื่อข่าวบางเรื่อง ไม่เห็นจะเป็นเรื่องแต่ทำให้มันเป็นเรื่อง (ต้องเกาะกระแส เดี๋ยวคนลืม)
ถูกหรือเปล่า เมื่อเรื่องดีๆหลายเรื่อง ควรจะเป็นเรื่องที่น่าจดจำน่าติดตามเอามาบอกต่อ แต่สำหรับสื่อบางสื่อมองว่าคือสิ่งเหล่านี้ที่ไม่มีคน(ใคร)สนใจ คนไม่เสพ

เมื่อ Advertising “เน้น”ที่เนื้อหา เอามาทำให้มัน “ดูสำคัญ” โดยวิธีแบบที่เรียกว่า บางครั้งต้องชวนก่อนเพื่อให้เชื่อ บางครั้งทำให้เสมือนว่าจริงๆตัวเองน่ะเชื่ออยู่ก่อนแล้ว ก็เลยมั่นใจไปชวนคนอื่น


...


สังคมไทย ธุรกิจแบบไทยๆ จะคุยกับใคร ฟังจากที่ไหน ถึงจะรู้จะเข้าใจว่าเป็นกระแส หรือความเป็นจริง?

Thursday, 13 August 2009

ชีวิตอาจไม่ใช่แค่"การเรียนรู้" แต่การเรียนรู้คือการ"ทำความรู้จัก"กับชีวิต




ต้องเข้าใจให้ถูกก่อนว่าเราอาจเข้าใจผิด

อาจจะผิดตั้งแต่แรกที่ตะบี้ตะบันตั้งเป้าเรียนรู้ ตาม"ธง"ที่มีคนตั้งให้ตั้งแต่เด็ก

ลองนึกดูเล่นๆ วันนี้เราเป็นอยากที่เราอยากเป็น เราทำอย่างที่เราอยากทำ เรารู้อย่างที่เราอยากรู้
เพราะมีคนบอก เพราะมีคนชี้

หรือเพราะเรามีความรู้สึกอยากเป็น อยากทำ อยากรู้ ด้วยตัวของเราเอง จากการรู้จักท้าทาย ผสมผสานเรื่องราวต่างๆ สิ่งต่างๆที่มีคนบอก มีคนชี้

..ออกมาเป็นสิ่งที่เป็นตัวของเราเอง

...

สังคมไทยมีข้อสมมติฐานที่ว่า "เรียนรู้คือเรื่องในระบบ เมื่อเรียนจบแล้วก็เลิกกัน"

เพราะสังคมไทยส่วนหนึ่งขีดเส้นใต้คนในสังคมด้วย "ชนชั้น"

"ชนชั้น" ของ ปวช ปวส ปริญญา ตรี โท เอก
"ชนชั้น" ของ โฟร์แมน วิศวกร หมอ นักการเมือง ข้าราชการ กรรมกร คนกวาดถนน
"ชนชั้น" ของ ยี่ห้อเด่นดัง แพง ถูก

เป็นการขีดเส้นใต้คนในสังคมแบบครอบงำ ที่ไม่ทำให้คนรู้จักคิด ไม่ส่งเสริมให้คนรู้จักใฝ่หาและเอาสิ่งที่เราเรียนรู้มาสร้าง"มูลค่าเพิ่ม" แต่เป็นการบอกคนในสังคมแบบอ้อมๆว่า "มูลค่า"ของตัวเอง"เพิ่มได้"จากการยกระดับตัวเองขึ้นไปอยู่อีก"ชนชั้น" และเป็นการบอกตรงๆว่าเมื่อก้าวข้ามไปอยู่อีก"ชนชั้น" การเรียนรู้ก็คงจบ (แบบโกหกตัวเอง)

เป็นสมมติฐานที่สมมติว่าคุณค่าจริงๆ ของตัวเอง ผูกอยู่กับสิ่งที่คนอื่นกำหนด
เป็นสมมติฐานที่ทำให้คนในสังคมไม่รู้สึกภูมิใจคุณค่าจริงๆจากตัวตนของตัวเอง

...

หลังจากทำวิจัย เก็บข้อมูลมาหลายปี เพื่อนที่เรียนปริญญาเอกมาด้วยกันยืนรอให้กำลังใจหน้าห้อง ก่อนที่ผมจะขึ้นสอบป้องกันวิทยานิพนธ์

"งานของคุณน่ะ ใครๆรู้ว่าดีอยู่แล้ว แต่พอสอบผ่าน มันก็จะล้าสมัยทันทีนะ"

ตอนนั้นคิดว่า โห ไม่ช่วยแล้ว ยังมาทำลายขวัญ

ตอนนี้ก็ยังนึกถึงอยู่เหมือนกัน แต่นึกแบบ อิช์ค AF6 พูดตอนหันหลังกลับเดินออกจากบ้าน

"หึ คนที่ยังอยู่ต่อน่ะ.. มันเจ็บ"

นึกแบบว่ารู้แล้วว่าการเรียน ร้อง เล่น เต้นระบำ (เพื่อเดินหาตามความฝัน) น่ะ

"มันยังไม่จบแค่นี้"

...


การเรียนรู้คือการทำความรู้จักกับชีวิต

เรียนรู้ว่าความหมายของคำว่า "รักพ่อ รักแม่" เป็น"อย่างไร" โดยการแปลความหมายของคำว่า"รัก" จากการสัมผัส จากความผูกพัน จากความเอาใจใส่ ไม่ใช่แค่"คืออะไร" แค่จากการฟังคำบอกเล่าของคนอื่นว่าถึงคุณค่าของพ่อแม่ จากคำอธิบายถึงเรื่องของ "บทบาท" และ "พระคุณ"

เรียนรู้ว่าความรักมีหลายมิติและมีการเติบโต เมื่อมีหลายมิติก็มีหลาย"มุม"ให้"มอง" เมื่อมีการเติบโตก็ไม่แปลกที่จะมีการ"เปลี่ยนแปลง"

พูดถึงเรื่องรัก ในหลายมิติ "เงิน"เป็นเรื่องสำคัญ แต่พอเติบโตขึ้น เงินก็อาจไม่ใช่ หรือสำคัญน้อยลง หรือในบางมิติที่ "เวลา"คือความสำคัญ แต่พอเรียนรู้มากขึ้น บางทีก็อาจจะไม่

...

ชีวิตจริงๆแล้วคือการเรียนรู้

คือการเรียนรู้ว่าปริญญาไม่ใช่เป้าหมาย เรียนรู้ว่าเรื่องหลายเรื่องใน "สังคม" เป็นแค่ภาพลวงตาที่มีคนตั้งธง"ชนชั้น"เอาไว้ให้

คือการเรียนรู้ว่า"มูลค่าเพิ่ม" สร้างได้ "โดยตัวเอง เพื่อตัวเอง"
โดยการทำความรู้จักกับชีวิตตัวเองให้มากขึ้น

รู้จัก"ความรักในการเรียนรู้ "และพร้อมเสมอที่จะ"เรียนรู้เพื่อจะได้รัก"
ไม่ว่าเรื่องใดๆที่"แวะ"เข้ามาทำความรู้จักกับชีวิต