Friday, 21 August 2009
ชวน + เชื่อ
สังคมไทยหรือสังคมคู่ขนาน เป็นสังคมหมุนรอบตัว เป็นเรื่องใกล้ตัวเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน มองไปทางไหนก็เจอคนโน้น รู้จักคนนี้ ทั้งการเมือง ธุรกิจ รวมทั้ง “การเมืองเรื่องธุรกิจ”
เมื่อเป็นเรื่องของครอบครัว การพูดคุย บอกต่อ แบบปากต่อปาก (viral and verbal) หรืออะไรที่ได้ยินจากคนในครอบครัว จากคนใกล้ตัว ไม่ว่าเรื่องอะไร หรือประเด็นใดในสังคม จึงกลายเป็นสื่อที่ทรงพลังเป็นอย่างยิ่ง
เป็นสื่อที่สามารถเปลี่ยน “ประเด็น” ที่กำลังเกิดขึ้นให้กลายเป็น “กระแส”
เป็น “กระแส” ที่สามารถถูก “บิด” ให้ “ประเด็น” แกล้งทำเป็นลืมความจริง
...
Public Relation, Advertising และ Propaganda เปิดดิกเล่มไหนก็แปลคล้ายๆกัน มีความหมายในภาษาไทยที่หน้าตาเหมือนๆกัน คือการประชาสัมพันธ์ ชวนเชื่อ
Public Relation คือความพยายามของ “ขยายและเขย่า” ประเด็นต่างๆบนพื้นฐานของความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่าเรื่องปั้นแต่ง
Propaganda คือความจงใจในการ “ชักชวน” ทำให้เชื่อ ทำให้หลง บางจังหวะทำให้ “งงงง” ในพฤติกรรม สิ่งต่างๆหรือแนวคิดที่เกิดจากการปั้น
Advertising คือการเชื่อมต่อความรู้สึกของคนกับสิ่งอื่น คือการ “เกลาและเหลา” ภาพของความรู้สึก ความต้องการของคน ให้ “คม” ให้จับต้องได้
...
ถ้าบอกว่ามาจากครอบครัวเดียวกัน Public Relation น่าจะเป็นแค่รุ่นลูก อยู่คนละระนาบกับ Propaganda และ Advertising
ถ้าการบอกว่าการทำ Public Relation ทำให้เกิดความรับรู้ด้วย “การยอมรับ” และให้เกียรติ เป็นตัวแทนของภาพดี (positive) ต่างจาก Propaganda ที่เกิดจาก “การยัดเยียด” ด้วยวิธีที่แยบยล เหมือนเล่นซ่อนแอบ เล่นขายของ หรืออะไรสบายๆแบบที่สังคมไทยชอบเล่น เป็นตัวแทนของอีกด้านของภาพลบ (negative reverse)
และถ้าบอกว่า Advertising คือลูกล่อลูกชนที่หลายๆคนชอบเอามาแอบใช้ ที่บางครั้งต้องเล่นบทดี บางครั้งต้องเล่นบทร้าย
ต้องเข้าข้างทั้งพ่อและลูก (ยังไง มันก็ครอบครัวเดียวกัน)
...
คำถามคือสำหรับครอบครัวนี้ ถ้าต้องรู้จักกันไว้สนิทสนมกันไว้แบบไทยๆ เราจะเลือกพูดคุยกับใครก่อน
สำหรับ Propaganda ความสำคัญไม่ใช่เรื่องของ “เนื้อหา” แต่เป็นกระบวนการแบบ “ชวน” เพื่อให้ “เชื่อ”
ผิดหรือไม่ถ้าผู้บริหารระดับสูงพูดทุกวันถึงความบรรเจิดขององค์กรจากการบริหารแต่ไม่เคยเห็น ไม่เคยบอกว่าจริงๆแล้ววันๆทำอะไร หรือบริษัทที่กำลังจะเข้าตลาดตีฆ้องร้องป่าวถึงอนาคตอันก้าวไกลของหุ้นก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ (ก็ กลต. ท่านสั่งมานิ)
หรือถูกแค่ไหน ที่นักการเมืองบางคนให้เหตุผลการตัดสินใจเรื่องสำคัญระดับชาติด้วยการบอกง่ายๆว่า “ก็ประเทศอื่นเค้าก็ทำกันแบบนั้น” หรือ “ทีคุณก็เคยทำแบบนี้” หรือคนบางกลุ่มยังคิดแบบเดิมๆว่าองค์กรของผู้ถืออาวุธคือ “ฮีโร่” ผู้รับผิดชอบต่อการแก้วิกฤตของชาติ หรือนักการเมืองอีกคนที่ทำโพล์เพื่อหวังได้ประโยชน์จากการพีอาร์สถาบันที่ทำโพล์มากกว่าสนใจให้คนรู้ผลของโพล์ (เลยเสนอผลการสำรวจโพล์แบบมั่วๆ... เก่งจริงๆ)
แต่ Public Relation เป็นเรื่องของเนื้อหา ด้วยกระบวนการแบบทำให้รู้สึกว่า “เชื่อ” แล้วหวังว่าคงจะเอาไป “ชวน(ต่อ)”
ผิดมากหรือ เมื่อข่าวบางเรื่อง ไม่เห็นจะเป็นเรื่องแต่ทำให้มันเป็นเรื่อง (ต้องเกาะกระแส เดี๋ยวคนลืม)
ถูกหรือเปล่า เมื่อเรื่องดีๆหลายเรื่อง ควรจะเป็นเรื่องที่น่าจดจำน่าติดตามเอามาบอกต่อ แต่สำหรับสื่อบางสื่อมองว่าคือสิ่งเหล่านี้ที่ไม่มีคน(ใคร)สนใจ คนไม่เสพ
เมื่อ Advertising “เน้น”ที่เนื้อหา เอามาทำให้มัน “ดูสำคัญ” โดยวิธีแบบที่เรียกว่า บางครั้งต้องชวนก่อนเพื่อให้เชื่อ บางครั้งทำให้เสมือนว่าจริงๆตัวเองน่ะเชื่ออยู่ก่อนแล้ว ก็เลยมั่นใจไปชวนคนอื่น
...
สังคมไทย ธุรกิจแบบไทยๆ จะคุยกับใคร ฟังจากที่ไหน ถึงจะรู้จะเข้าใจว่าเป็นกระแส หรือความเป็นจริง?
No comments:
Post a Comment