Thursday 13 August 2009

ชีวิตอาจไม่ใช่แค่"การเรียนรู้" แต่การเรียนรู้คือการ"ทำความรู้จัก"กับชีวิต




ต้องเข้าใจให้ถูกก่อนว่าเราอาจเข้าใจผิด

อาจจะผิดตั้งแต่แรกที่ตะบี้ตะบันตั้งเป้าเรียนรู้ ตาม"ธง"ที่มีคนตั้งให้ตั้งแต่เด็ก

ลองนึกดูเล่นๆ วันนี้เราเป็นอยากที่เราอยากเป็น เราทำอย่างที่เราอยากทำ เรารู้อย่างที่เราอยากรู้
เพราะมีคนบอก เพราะมีคนชี้

หรือเพราะเรามีความรู้สึกอยากเป็น อยากทำ อยากรู้ ด้วยตัวของเราเอง จากการรู้จักท้าทาย ผสมผสานเรื่องราวต่างๆ สิ่งต่างๆที่มีคนบอก มีคนชี้

..ออกมาเป็นสิ่งที่เป็นตัวของเราเอง

...

สังคมไทยมีข้อสมมติฐานที่ว่า "เรียนรู้คือเรื่องในระบบ เมื่อเรียนจบแล้วก็เลิกกัน"

เพราะสังคมไทยส่วนหนึ่งขีดเส้นใต้คนในสังคมด้วย "ชนชั้น"

"ชนชั้น" ของ ปวช ปวส ปริญญา ตรี โท เอก
"ชนชั้น" ของ โฟร์แมน วิศวกร หมอ นักการเมือง ข้าราชการ กรรมกร คนกวาดถนน
"ชนชั้น" ของ ยี่ห้อเด่นดัง แพง ถูก

เป็นการขีดเส้นใต้คนในสังคมแบบครอบงำ ที่ไม่ทำให้คนรู้จักคิด ไม่ส่งเสริมให้คนรู้จักใฝ่หาและเอาสิ่งที่เราเรียนรู้มาสร้าง"มูลค่าเพิ่ม" แต่เป็นการบอกคนในสังคมแบบอ้อมๆว่า "มูลค่า"ของตัวเอง"เพิ่มได้"จากการยกระดับตัวเองขึ้นไปอยู่อีก"ชนชั้น" และเป็นการบอกตรงๆว่าเมื่อก้าวข้ามไปอยู่อีก"ชนชั้น" การเรียนรู้ก็คงจบ (แบบโกหกตัวเอง)

เป็นสมมติฐานที่สมมติว่าคุณค่าจริงๆ ของตัวเอง ผูกอยู่กับสิ่งที่คนอื่นกำหนด
เป็นสมมติฐานที่ทำให้คนในสังคมไม่รู้สึกภูมิใจคุณค่าจริงๆจากตัวตนของตัวเอง

...

หลังจากทำวิจัย เก็บข้อมูลมาหลายปี เพื่อนที่เรียนปริญญาเอกมาด้วยกันยืนรอให้กำลังใจหน้าห้อง ก่อนที่ผมจะขึ้นสอบป้องกันวิทยานิพนธ์

"งานของคุณน่ะ ใครๆรู้ว่าดีอยู่แล้ว แต่พอสอบผ่าน มันก็จะล้าสมัยทันทีนะ"

ตอนนั้นคิดว่า โห ไม่ช่วยแล้ว ยังมาทำลายขวัญ

ตอนนี้ก็ยังนึกถึงอยู่เหมือนกัน แต่นึกแบบ อิช์ค AF6 พูดตอนหันหลังกลับเดินออกจากบ้าน

"หึ คนที่ยังอยู่ต่อน่ะ.. มันเจ็บ"

นึกแบบว่ารู้แล้วว่าการเรียน ร้อง เล่น เต้นระบำ (เพื่อเดินหาตามความฝัน) น่ะ

"มันยังไม่จบแค่นี้"

...


การเรียนรู้คือการทำความรู้จักกับชีวิต

เรียนรู้ว่าความหมายของคำว่า "รักพ่อ รักแม่" เป็น"อย่างไร" โดยการแปลความหมายของคำว่า"รัก" จากการสัมผัส จากความผูกพัน จากความเอาใจใส่ ไม่ใช่แค่"คืออะไร" แค่จากการฟังคำบอกเล่าของคนอื่นว่าถึงคุณค่าของพ่อแม่ จากคำอธิบายถึงเรื่องของ "บทบาท" และ "พระคุณ"

เรียนรู้ว่าความรักมีหลายมิติและมีการเติบโต เมื่อมีหลายมิติก็มีหลาย"มุม"ให้"มอง" เมื่อมีการเติบโตก็ไม่แปลกที่จะมีการ"เปลี่ยนแปลง"

พูดถึงเรื่องรัก ในหลายมิติ "เงิน"เป็นเรื่องสำคัญ แต่พอเติบโตขึ้น เงินก็อาจไม่ใช่ หรือสำคัญน้อยลง หรือในบางมิติที่ "เวลา"คือความสำคัญ แต่พอเรียนรู้มากขึ้น บางทีก็อาจจะไม่

...

ชีวิตจริงๆแล้วคือการเรียนรู้

คือการเรียนรู้ว่าปริญญาไม่ใช่เป้าหมาย เรียนรู้ว่าเรื่องหลายเรื่องใน "สังคม" เป็นแค่ภาพลวงตาที่มีคนตั้งธง"ชนชั้น"เอาไว้ให้

คือการเรียนรู้ว่า"มูลค่าเพิ่ม" สร้างได้ "โดยตัวเอง เพื่อตัวเอง"
โดยการทำความรู้จักกับชีวิตตัวเองให้มากขึ้น

รู้จัก"ความรักในการเรียนรู้ "และพร้อมเสมอที่จะ"เรียนรู้เพื่อจะได้รัก"
ไม่ว่าเรื่องใดๆที่"แวะ"เข้ามาทำความรู้จักกับชีวิต

4 comments:

Vendyp said...

ไม่ได้อ่านงานเขียนอาจารย์ ดร. กุลเดช แนวนี้มานาน คุณภาพยังเข้มข้น

ยอดเยี่ยมเหมือนเดิมเลยค่ะ...


*งานนี้ไม่มีคอมเมนท์เพราะความเห็น "อยู่รวมกันหมด" ที่ "ประโยคสรุป"

ของบทความเลยค่ะ :) โดนใจอีกแร้ววว อิอิ



**ขอบคุณอาจารย์ดร กุลเดชที่นำเสนอบทความดีๆนะคะ ^:^


-------------------

p.s. สำหรับบล๊อกโน้นเนื้อหามีประโยชน์มากเลยค่ะ ชอบๆ แต่ไม่ได้คอม

เม้นท์ต่อเลย อิอิ เนื่องจากลืมพาสเวิร์ดค่ะอาจารย์ เด๋วจะไป regist. ใหม่นะ

คะ

Ploy Lumthong said...

รู้สึกว่ามีคนเข้าใจ
ขอบคุณมากค่ะ

กุลเดช สินธวณรงค์ said...

ขอบคุณครับ

Anonymous said...

ขอบคุณ ครับ

Post a Comment