Thursday, 24 June 2010

Creativity กับการ “กระชับพื้นที่”




Designer/Architect ทุกคนเจอะเจอปัญหาในการพัฒนาตัวเองให้โตขึ้น พัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นในสายงานของเราเองทั้งนั้นครับ

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การที่เราตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอจากมุมมองของตัวเองและความเป็นมืออาชีพอาจไม่เพียงพอต่อทุกสิ่งที่เปลี่ยนไปในโลกใบนี้ที่เล็กลงๆไปเรื่อยๆ Designer/Architect ต้องรู้จักมองหาหนทางที่จะทำให้งานของตัวเอง “สด” “ใหม่” ไม่ใช่แค่ทำให้งานดู“น่าสนใจ”แบบใครๆก็น่าจะทำได้ เรามักจะชินกับวิธีการทำงานแบบพยายามมองหา “ตัวอย่าง” มองหา “หนทาง” หรือ “สูตรสำเร็จ”ที่จะเพิ่มความเป็น creativity แบบว่า เอ๊ะ ไอเดียดีๆมันอยู่ที่ไหน เราลืมไปว่าบางทีถ้าเราแค่เราปรับเปลี่ยนแปลงมุมมอง ความคิดและ “ทัศนคติ”ของเราเอง เราก็สร้างทั้งไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ออกจากตัวเองได้ ด้วยตัวเองนะครับ ลองถามตัวเองดูว่า

1. เข้าใจตัวงานออกแบบขนาดไหน เข้าใจแบบ “คิดเอง เออเอง” หรือเข้าใจแบบสื่อสารออกมาให้คนอื่น appreciate ได้ “ขายได้” ตัวงานสื่อสารกับคนดูแบบคุยกันรู้เรื่องโดยไม่ต้องร่ายยาวพูดมาก มีคำพูดที่ว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เก่งๆไม่ใช่ทุกคนจะเป็นนักพูดที่ดี แต่ต้องเป็นครูที่ดีด้วยจิตวิญาณได้... Designer/Architect ก็ไม่แตกต่างกัน ถ้าเราไม่เข้าใจตัวงานจนสามารถทำให้งานของเรามันพูดได้ สื่อสารได้ เราต้องหาช่องทางแก้ไขจุดนี้ เปลี่ยนคำอธิบาย เปลี่ยนวิธีการนำเสนอแบบใหม่ๆ ทดลองลดอีโก้ตัวเอง อย่าลืมว่าส่วนสำคัญของงานออกแบบคือการนำเสนอและการสื่อสารนะครับ

2. ยึดตึดกับโจทย์ของลูกค้าเกินไปหรือเปล่า บางครั้งคนนอกมองนึกว่า Designer/Architect จะเป็นวิชาชีพที่ต้องสร้างสรรค์อยู่เสมอ แต่ Designer/Architect ไม่ใช่ artist เวลาคิดอะไรมักต้องมีกรอบการทำงานที่ชัดเจนกว่า แต่ก็ใช่ว่าเราต้องไปเอากรอบการทำงานครั้งหนึ่งครั้งเดียวมายึดเราไว้ทำให้ยิ่งคิดก็ยิ่งไม่ยืดหยุ่น กรอบการทำงานก็พัฒนาได้เปลี่ยนได้นะครับ ถ้าเรามีไอเดียดีๆทำไมโจทย์ของลูกค้าจะยืดหยุ่น เด้งหน้าเด้งหลังในหรือนอกกรอบไม่ได้ Designer/Architect บางคนพอใจกับแค่โจทย์ที่ลูกค้าหรือ project manager ยื่นให้แล้วทำให้งานออกแบบจบ ส่งงานไปก็จบเท่านั้น เวลา project manager สื่อสารกับลูกค้าไม่เหมือนเวลาเราคิดงานนะครับเพราะเค้ามักจะเสนอในกรอบที่เค้าคิด เค้ากำหนดเนื่องจากเค้ามีหน้าที่ต้องต้องแชร์ส่วนแบ่งความคิดให้คนกลุ่มอื่นๆอีก ไม่ลองคิดอะไรเจ๋งๆ แจ๋วๆที่อยู่นอกโจทย์แล้วนำเสนอให้เป็นทางเลือกของลูกค้าล่ะครับ ไอเดียดีๆที่เกิดขึ้นได้และดังเป็นพลุไม่ใช่เกิดจากการคิดการทำงานแบบ “เดินตามเส้น เป็นไปตามกติกา” แต่ เกิดจากลูกบ้าเรื่องล่าสุด ที่แอบมุดอยู่ในความกล้าของเราต่างหาก

3. หาข้อมูลเพียงพอขนาดไหน มีเจ้าของงานคนหนึ่งของผมเคยพูดว่า “โถ(ดีนะ ที่ไม่..ถุย) ดีไซเนอร์ก็แค่เปิดหนังสือดีไซน์มาแล้วก็ปั๊มแบบมาให้ผม” หรือ “โถ เป็นวิศวกร เวลาดีไซน์ก็เปิดหนังสือเอา ใครๆก็ทำได้” ฟังแล้วเจ็บแปลบ แสบไปถึงขั้วหัวใจมั้ยครับ วิธีการหาข้อมูลทำ research สำหรับงานออกแบบต้องหาข้อมูลแบบ “กว้างxยาวxลึก”นะครับ ต้องมีมิติของความกว้างแบบหลากหลายของแหล่งข้อมูล อินเตอร์เน็ต หนังสือ งานแสดงผลงาน สื่อต่างๆที่มีอยู่สารพัดสารเพ ต้องมีมิติของความยาวที่ทันสมัยตลอดเวลา มองย้อนไปในอดีตแอบแวะปัจจุบัน ผ่านไปถึงอนาคต และต้องมีมิติลึกๆแบบกล้าๆที่จะก้าวข้ามผ่านงานที่อยู่เฉพาะในวิชาชีพของตัวเอง ดูอะไรแปลกๆแหวกแนวของคนอื่นๆบ้าง ลองมองแบบนักการตลาด มองแบบนักบัญชี มองแบบนักโฆษณา แล้วค่อยมองกลับมาดูงานของเราอีกที แล้วเราจะเห็นอะไรที่ไม่เหมือนเดิม

4. โดนล้มแบบแล้วใจสลาย ไม่ใช่เรื่องโลกแตกนะครับ เข้าใจเถอะว่า “creativity” ไม่ใช่ “solution” ไอเดียดีๆบางทีอาจไม่ใช่คำตอบ อย่าอีโก้นัก โดนล้มแบบ ถูกลูกค้าปฏิเสธ ไม่ว่าด้วยเหตผลอะไร ก็อย่าไปคิดมาก แต่ควรจะมาคิดใหม่ ลับสมองให้คม ไม่ต้องมานั่งโอดโอยจะเป็นลม ก็ไอเดียฉันผิดอะไร ก็ฉันคิดมาแล้ว คิดจบแล้ว เป็นเรื่องดีที่ Designer/Architect จะกล้า defend งานของตัวเองครับ โปรดอย่าลืมว่าเราทำงานให้คนกลุ่มใหญ่ที่กำลังจะสร้าง impact ให้คนกลุ่มใหญ่ยิ่งกว่า ล้มแรงต้องลุกแรงๆครับ

สุดท้าย ลองทำตัวเองเป็นผู้ฟัง ไม่ใช่ผู้พูดสิครับ ลองนั่งเงียบๆดู แอบฟังแอบถาม คำวิจารณ์งานของเราจากคนอื่น ลองคิดเงียบๆ(แบบไม่) ถ้าเราเป็นลูกค้าเราจะซื้อไอเดีย ซื้องานของเราเองหรือเปล่า ถ้าคำตอบยังมี doubt แม้แต่นิด แสดงว่ายังมี “พื้นที่” ยังมี “วงล้อม”ของ creativity ให้เรา“กระชับ”เพื่อคุณภาพงานที่จะดีขึ้นครับ

“Making the simple complicated is commonplace; making the complicated simple, awesomely simple, that's creativity.”

“ทำเรื่องง่าย ให้เป็นเรื่องยากน่ะ มันไม่ยาก ทำเรื่องยากๆให้เข้าใจได้ง่าย นั่นคือการสร้างสรรค์”
—Charles Mingus

Wednesday, 16 June 2010

จริงหรือ ที่ความสงบ จะสยบความเคลื่อนไหว




การพูดให้เสียงดัง แต่คน(ในองค์กร)ไม่ได้ยินเป็นเรื่องแปลก แต่ถ้าอยากแค่กระซิบเบาๆ แล้วเค้า(คู่แข่ง)รู้เป็นเรื่องน่าเศร้าทางธุรกิจครับ

...

สาเหตุที่คนยุคนี้สมัยนี้ดูจะไม่ค่อยพูดจากัน ไม่ค่อยฟังกันแล้ว ก็ด้วยเวลาที่เปลี่ยนไป สังคมที่เริ่มเปลี่ยนแปลง
สังคมไทยโดยพื้นฐานไม่ใช่สังคมของการแสดงออกตรงไปตรงมา เป็นสังคมของหน้าตา วาจาและกริยาเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยการแสดงออกแบบบอกให้เดา แต่ไม่ค่อยยอมบอกให้รู้ ว่าคุณน่ะ จริงๆแล้วคิดอะไรอยู่
เรื่องที่แย่คือสังคมแบบนี้ พอคิดต่างหรือคิดไม่เหมือนกันแล้วต้องมาเก็บกด พอเห็นต่างแล้วกลับหาทางออกไม่เจอ
สังคมแบบนี้ ถ้ามองให้ทันสมัยแบบการเมือง เรียกว่าเป็นการจราจลทางความคิด และถ้ามองลึกๆอีกสักนิด มันก็ไม่ต่างอะไรกับระเบิดเวลาทางพฤติกรรม


มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งจาก Harvard Business Review ระบุว่าพนักงานในองค์กรส่วนใหญ่อยากพูดอยากออกความเห็นเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นในองค์กร ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน เกี่ยวกับลูกค้า เกี่ยวกับเพื่อนร่วมงาน หรือเกี่ยวกับเจ้านายตัวเอง ที่น่าตกใจคืองานวิจัยชิ้นดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า กว่าครึ่งของพนักงานงานเหล่านั้นตัดสินใจที่จะเงียบหรือเลือกที่จะไม่พูดอะไร เพราะกังวลถึงผลที่จะตามมา... ว่ากันให้ชัดๆคือไม่อยากจะรับผิดชอบผลที่จะเกิดขึ้น

ความ“ดื้อเงียบ”แบบนี้ที่กลายเป็นความ“ลี้ลับ”ในสังคมหรือองค์กร ที่กำลังบั่นทอนการทำงานและกำลังใจของทั้งผู้อยากจะพูดรวมถึงผู้จะควรจะฟัง

สาเหตุของความเงียบของมนุษย์ไม่ว่าเรื่องใดๆ คือ “ความกลัว” ครับ กลัวที่ต้องรับผิดชอบ กลัวความผิด กลัวความไม่รู้ และกลัวว่าเรื่องที่กลัวอยู่นั้นน่ะ คือความจริงที่กำลังเกิดกับตัวเอง
...

ความเงียบแบบนี้ถ้าปล่อยไว้มีแต่จะทำลายล้างซึ่งกันและกัน ระหว่างผู้ที่อยากจะพูดและผู้จะอยากจะฟัง
ทำให้ผู้บริหารเข้าใจผิดประเด็น (แบบเดาไปเองว่าสิ่งไหนคืออะไร) ทำให้พฤติกรรมดื้อเงียบกลายเป็นแฟชั่นที่สร้างวัฒนธรรมที่ผิดในการบริหารงานบุคคล (เลือกเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งให้คนกล้าพูด คนที่ดูเหมือนจะพูดเก่ง) ทำให้แก้ต้องปัญหาในสังคมไม่รู้จบ (เพราะไม่ทราบจริงๆว่าปัญหาคืออะไร) ทำให้เพื่อนร่วมงานกลายเป็นคู่แข่ง ที่สำคัญ ทำให้หัวหน้ากับลูกน้อง หรือผู้ใหญ่กับเด็ก มีเส้นแบ่งของ“ชนชั้น”ที่ชัดเจนมากกว่ามาตราฐานของบทบาทและสติปัญญา

...ถึงแม้ในที่สุดเรื่อง“ความเงียบ”แบบนี้อาจทำให้สังคมหรือองค์กรเดินหน้าไปได้ แต่คงเดินไปในเส้นทางที่ไม่ได้ดีที่สุด สำหรับทุกคน

...

สิ่งที่ควรจะทำคือการเอาชนะ “ความกลัว” เหล่านั้นครับ

สำหรับผู้ฟัง ต้องเอาชนะ โดยต้องยอมรับด้วยความเข้าใจ ว่าความกลัวแบบนี้มีอยู่จริง และต้องเข้าใจว่ามีความกลัวความกังวลบางอย่างมันสิงอยู่ในใจของผู้ที่อยากจะพูด

สำหรับผู้พูด ต้องเอาชนะ โดยเปลี่ยนความกลัวเป็นความกล้า ที่จะคิดว่าไอ้ความกลัวที่มีอยู่ตรงนั้น เมื่อยังไงซะถ้าพูดออกไปแล้วมันจะต้องเกิดผลอะไรตามมา และรู้ทั้งรู้ว่ายังไงเราก็ขจัดมันออกไปไม่ได้ ก็ไม่เห็นจะต้องไปกลัวอะไรมัน

และสำหรับทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ต้องเอาชนะโดยให้กำลังใจ คิดให้ดีว่า ไม่ว่าเราจะเป็นใคร ไม่ว่าเราจะเดินอยู่ในบทบาทไหน จริงๆแล้วในสังคมของเรา หรือในองค์กรของเรา เรากำลังเดินไปด้วยกัน เพื่อไปหาจุดหมายเดียวกัน

...

พูดคุยและรับฟังกันให้มากๆเถอะครับ

เพราะ “ความสงบ” ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ไม่ควรปล่อยให้ถูกใช้เพื่อสยบความเคลื่อนไหวใดๆ

ที่เกิดจาก “ความกลัว”

Monday, 7 June 2010

Social Network กับ อสังหาริมทรัพย์



ช่วงหลายเดือนมานี้ต้องยอมรับว่าเป็นช่วงขาขึ้นของเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือ Social Network ซึ่งได้พิสูจน์ตัวเองตามคำทำนาย(และคำปรามาส)แล้วว่าเป็น “ของจริง”ครับ ด้วยขีดความสามารถของสมาร์ตโฟนต่างๆที่เพิ่มขึ้นมาก ตอนนี้มองไปทางไหนมีแต่คนนั่งสไลด์ไอโฟน หรือแช็ตด้วยบีบี หลายๆธุรกิจกำลังตั้งตัวไม่ติดกับกระแสของสื่อช่องทางใหม่นี้ หรือก็ยังพยายามปรับตัวแบบงงงง ก็เพิ่งไม่กี่เดือนนี้คนไทยยังไม่ค่อยใช้ทวิตเตอร์ เอาแต่เล่นเอ็ม หรือเฟสบุ๊กยังจำกัดอยู่แค่คนกลุ่มคนชั้นกลางที่มีการศึกษาสูงหน่อยอยู่เลย บริษัทอสังหาที่มีทุนทรัพย์มากหน่อยก็ขยับตัวอย่างเป็นระบบเพื่อรวมช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์เข้ามาอยู่ในส่วนหนึ่งของงานการตลาดภาพรวมทั้งหมดแล้ว บริษัทที่ยังขยับตัวช้าก็นั่งดูคนอื่นเค้าไปเรื่อยๆก่อน ว่ากันไปครับ

มีคำถามว่า แล้วบริษัทออกแบบ บริษัทสถาปนิก บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จำเป็นต้องโดดเข้าร่วมรถไฟขบวนนี้หรือเปล่า แน่นอนครับ เมื่อขณะนี้เครื่องมือและรูปแบบทางการตลาดในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก ถ้าคุณไม่เริ่มต้น คู่แข่งของคุณก็จะแซงหน้าคุณไป

แต่การใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ให้เกิดประโยชน์ไม่ใช่เรื่องง่ายแบบไวเท่าใจคิด การใช้ประโยชน์จากสื่อช่องทางใหม่เหล่านี้ไม่ใช่แค่ลงโพรไฟล์ใน Facebook, Twitter หรือ LinkedIn ถ้าเราคิดจะตั้งใจทำมันให้เกิดผลจริงจัง เราต้องมี “กลยุทธ์” ครับ
การทำการตลาดเป็นเรื่องของการสร้างเครือข่ายเพื่อการรับรู้ เพราะฉะนั้น social network ที่เราจะใช้ต้องเกี่ยวข้องกับการสร้างเครือข่ายของคนที่ “แชร์” ความรู้สึกหรือมีเรื่องที่สนใจและพร้อมที่จะสร้างความสนใจใหม่ๆด้วยกัน เป็นเครือข่ายแบบที่เกิดขึ้นได้โดย ไม่ต้องพยายามมาก ไม่ลำบาก “ไม่รู้สึกถูกยัดเยียด” เป็นเครือข่ายแบบที่หลากหลายและเปิดกว้าง เป็นเครือข่ายสังคมใหม่ที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ แต่รอบคอบด้วยเนื้อหาหรือ content ที่มีประเด็นให้ถกเถียงกันต่อ

กุญแจสำคัญของสื่อสังคมออนไลน์เพื่อจุดประสงค์ทางการตลาดอสังหาริมทรัพย์ คือ ความรับรู้ของแบรนด์ (Brand awareness) การจัดการชื่อเสียงของ แบรนด์ (Brand reputation management) การสร้างช่องทางธุรกิจใหม่ (New business generation) การประชาสัมพันธ์ (News distribution and PR) การหาข้อมูลการตลาด (Research through online polls) การบริการลูกค้า (Customer support) การให้รายละเอียดข่าวสารข้อมูลการเปิดตัวสินค้าและบริการ (Specific product/service launch campaigns) การติดต่อกับคู่ค้า (Connecting with affiliate companies)

ปัจจุบันนี้เรามีช่องทางสื่อสารอะไรเป็นตัวเลือกเพื่อจุดประสงค์ทางการตลาดดังกล่าวบ้าง

บล๊อก (Blogs) เป็นช่องทางการสื่อสารแบบสองทางระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่านครับ บล๊อกต่างจากเว็บเพจเพราะบล๊อกพูดแล้วมีคนพูดด้วย บล๊อกไม่ควรใช้ในการขายหรือยัดเยียด แต่ควรให้ข้อมูลในลักษณะความเห็น คำแนะนำที่จะทำให้น่าสนใจและมีเสน่ห์ที่ทำให้ผู้อ่านอยากจะสมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับข้อมูลต่อเนื่อง

ไมโครบล๊อก (Microblogs) ตอนนี้ก็มีแต่ Twitter ที่คนพูดถึงมากที่สุด ด้วยกระแสและความเร็วของการสื่อสาร (จนน่าจะมาแทนที่บริการส่งข่าว sms เร็วๆนี้) ทวิตเตอร์เป็นการส่งข้อความสั้นเพื่อ “เร้า” ความสนใจ เป็นการเหย่ให้คิด พูดให้น่าติดตามครับ

เครือข่ายออนไลน์ (Social Networking sites) ไม่ว่าจะเป็น Facebook, LinkedIn, MySpace, Plaxo, Xing ซึ่งก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตัวที่น่าสนใจมากสำหรับอสังหาริมทรัพย์และมีเครือข่ายของสถาปนิก วิศวกร มัณฑนากรมากอยู่แล้วคือ LinkedIn และ Facebook. สำหรับ Xing มีสถาปนิกใช้กันเยอะมากและเป็นที่นิยมในต่างประเทศมากครับ เครือข่ายเหล่านี้เปิดโอกาสให้เราแลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องราวต่างๆได้ง่าย ต่อเนื่องและไม่จำกัด

เครือข่ายบุ๊กมาร์ก (Social bookmarking sites) ซึ่งรวมพวก Digg และ Stumbleupon. เว็บเหล่านี้ทำให้เราสามารถบุ๊กมาร์กหน้าเว็บที่เราชอบและเก็บเอาไว้โดยมีระบบการโวตให้ความเห็นเพื่อให้ผู้อ่านคนอื่นเกิดความสนใจและเข้ามาชมหน้าของเว็บเหล่านั้น โดยมากการใช้เครือข่ายเหล่านี้ใช้เพื่อเพิ่มยอดผู้เข้าชม สมาชิก หรือผู้สนใจในบล๊อกของเราครับ

การใช้สื่อสังคมออนไลน์ต้องมีกลยุทธ์ ใช้สุมสี่สุ่มห้าก็ไม่มีประโยชน์นะครับ อย่าลืมว่าการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ก็เพื่อสร้างเครือข่ายและเพื่อการพูดคุย จะเริ่มต้นอย่างไรต้องถามตัวเองก่อนว่า

1. จุดประสงค์ในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของคุณคืออะไร ทำให้แบรนด์เป็นที่รับรู้? หรือมองหาธุรกิจใหม่? หรือเพื่อสร้างชื่อเสียงของแบรนด์อีกด้านให้ดีขึ้น? หรือเพื่อออกสินค้าหรือบริการใหม่? หรือเพื่อรับสมัครมองหาบุคคลากรผู้ร่วมงานเพิ่ม? อะไรก็แล้วแต่ เนื้อหาที่ออกไปไม่เหมือนกันนะครับ สื่อที่ใช้ก็ไม่เหมือนกันด้วย

2. คุณกำลังคุยกับใคร? ลองนึกดูว่าคุณต้องการให้ข้อความของคุณไปถึงกลุ่มเป้าหมายอะไรบ้าง สถาปนิกคงไม่อยากอ่านโฆษณา ผู้บริโภคทั่วไปคงไม่อยากดูอะไรที่อาร์ตย่อยยากเกินไป นักการตลาดคงสนใจอะไรที่เป็นตัวเลข ต้องไม่ลืมว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์คือการสื่อสาร “สองทาง” คุณต้องคุยกับเค้าในเรื่องที่เค้ารู้เรื่องและอยากจะรู้เรื่องด้วย

3. ใครในองค์กรจะรับผิดชอบในการควบคุมดูแลเครือข่ายสังคมออนไลน์ของคุณ? ควรเป็นคนมีไหวพริบขนาดไหน ติดตามข่าวสารต่างๆอย่างรวดเร็ว รู้รอบ สื่อสารภาษาต่างๆดี มีความรู้ด้านต่างๆที่จะคุยกับเครือข่ายของคุณขนาดไหน

4. จากนั้นคุณต้องมาเลือกว่า platforms ที่คุณจะใช้คืออะไร? เดี๋ยวนี้ทั้ง Facebook, LinkedIn หรือ Twitter มันต่อเนื่องกันหมด คำถามคือต้องใช้มันทั้งหมดทุกตัวหรือไม่ เพื่ออะไร ผมทราบว่าคนไทยเล่นเฟสบุ๊กขึ้นเยอะเพราะการเมืองและก็เลิกเล่นไปเยอะเพราะการเมือง! เนื่องจากข้อมูลที่ส่งเข้ามากลายเป็นความเห็นที่แตกต่าง ทวิตเตอร์ ทวิตเข้าไปมากๆก็ไร้สาระและตรวจสอบที่มาไม่ค่อยได้ เรื่องราวเริ่มคล้ายๆกันไปหมดเนื่องจากทุกคนก็ follow คนโน้น ติดตามคนนี้ ซ้ำไปซ้ำมาข้อมูลข่าวสารก็จะกลายเป็นขยะ

5. เลือกสร้างชื่อโพรไฟล์ของคุณและเขียนคำอธิบายของธุรกิจคุณใหม่เหมาะสมครับ อย่าลืมว่าระบบติดตามของ เครือข่ายสังคมออนไลน์ ทุกตัวแม้จะดีขึ้นเรื่อยๆก็ยังเป็นแค่อัลกอรึทึมที่มนุษย์ใส่ลงไป คีย์เวิร์ดบางคำในโพรไฟล์ของคุณทำให้คนหรือเพื่อนใหม่ค้นหาคุณพบง่ายๆหรือลืมคุณไปเลยก็ได้

6. มองหาหรือกลุ่มคนที่คุณอยากจะสร้างเครือข่ายด้วย โดยทั่วไปเดี๋ยวนี้ระบบ search engine ใน เครือข่ายสังคมออนไลน์แต่ละตัวดีขึ้นมาก แต่ที่สำคัญมีสมาชิกใหม่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์เหล่านี้เพิ่มขึ้นทุกวัน เพราะฉะนั้นคุณต้องดูข้อมูลของสมาชิกคนอื่นว่าเค้าติดตามใครติดตามอะไรกันบ้าง ที่สำคุญยิ่งกว่าคุณต้องดูข้อมูลเหล่านั้นบ่อย ถี่ และต่อเนื่อง เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้เปลี่ยนทุกวินาทีครับ

7. เมื่อคุณพร้อม ต่อจากนี้ไปเป็นเรื่องของ content ครับ ต้องขยันหาเรื่องคุยหรือ issue ต่างๆที่ต่อเนื่อง อยู่ในกระแสรองหรือกระแสหลักของการออกแบบหรือ lifestyle ของสมาชิกที่ติดตาม ที่สำคัญต้องเกี่ยวข้องเกาะไปถึงวัตถุประสงค์ทางการตลาดที่คุณตั้งไว้แต่แรก

ลองเริ่มต้นดู แล้วคุณจะรู้ว่าเรากำลังทำการตลาดไปสู่อนาคตครับ