Thursday, 24 June 2010

Creativity กับการ “กระชับพื้นที่”




Designer/Architect ทุกคนเจอะเจอปัญหาในการพัฒนาตัวเองให้โตขึ้น พัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นในสายงานของเราเองทั้งนั้นครับ

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การที่เราตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอจากมุมมองของตัวเองและความเป็นมืออาชีพอาจไม่เพียงพอต่อทุกสิ่งที่เปลี่ยนไปในโลกใบนี้ที่เล็กลงๆไปเรื่อยๆ Designer/Architect ต้องรู้จักมองหาหนทางที่จะทำให้งานของตัวเอง “สด” “ใหม่” ไม่ใช่แค่ทำให้งานดู“น่าสนใจ”แบบใครๆก็น่าจะทำได้ เรามักจะชินกับวิธีการทำงานแบบพยายามมองหา “ตัวอย่าง” มองหา “หนทาง” หรือ “สูตรสำเร็จ”ที่จะเพิ่มความเป็น creativity แบบว่า เอ๊ะ ไอเดียดีๆมันอยู่ที่ไหน เราลืมไปว่าบางทีถ้าเราแค่เราปรับเปลี่ยนแปลงมุมมอง ความคิดและ “ทัศนคติ”ของเราเอง เราก็สร้างทั้งไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ออกจากตัวเองได้ ด้วยตัวเองนะครับ ลองถามตัวเองดูว่า

1. เข้าใจตัวงานออกแบบขนาดไหน เข้าใจแบบ “คิดเอง เออเอง” หรือเข้าใจแบบสื่อสารออกมาให้คนอื่น appreciate ได้ “ขายได้” ตัวงานสื่อสารกับคนดูแบบคุยกันรู้เรื่องโดยไม่ต้องร่ายยาวพูดมาก มีคำพูดที่ว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เก่งๆไม่ใช่ทุกคนจะเป็นนักพูดที่ดี แต่ต้องเป็นครูที่ดีด้วยจิตวิญาณได้... Designer/Architect ก็ไม่แตกต่างกัน ถ้าเราไม่เข้าใจตัวงานจนสามารถทำให้งานของเรามันพูดได้ สื่อสารได้ เราต้องหาช่องทางแก้ไขจุดนี้ เปลี่ยนคำอธิบาย เปลี่ยนวิธีการนำเสนอแบบใหม่ๆ ทดลองลดอีโก้ตัวเอง อย่าลืมว่าส่วนสำคัญของงานออกแบบคือการนำเสนอและการสื่อสารนะครับ

2. ยึดตึดกับโจทย์ของลูกค้าเกินไปหรือเปล่า บางครั้งคนนอกมองนึกว่า Designer/Architect จะเป็นวิชาชีพที่ต้องสร้างสรรค์อยู่เสมอ แต่ Designer/Architect ไม่ใช่ artist เวลาคิดอะไรมักต้องมีกรอบการทำงานที่ชัดเจนกว่า แต่ก็ใช่ว่าเราต้องไปเอากรอบการทำงานครั้งหนึ่งครั้งเดียวมายึดเราไว้ทำให้ยิ่งคิดก็ยิ่งไม่ยืดหยุ่น กรอบการทำงานก็พัฒนาได้เปลี่ยนได้นะครับ ถ้าเรามีไอเดียดีๆทำไมโจทย์ของลูกค้าจะยืดหยุ่น เด้งหน้าเด้งหลังในหรือนอกกรอบไม่ได้ Designer/Architect บางคนพอใจกับแค่โจทย์ที่ลูกค้าหรือ project manager ยื่นให้แล้วทำให้งานออกแบบจบ ส่งงานไปก็จบเท่านั้น เวลา project manager สื่อสารกับลูกค้าไม่เหมือนเวลาเราคิดงานนะครับเพราะเค้ามักจะเสนอในกรอบที่เค้าคิด เค้ากำหนดเนื่องจากเค้ามีหน้าที่ต้องต้องแชร์ส่วนแบ่งความคิดให้คนกลุ่มอื่นๆอีก ไม่ลองคิดอะไรเจ๋งๆ แจ๋วๆที่อยู่นอกโจทย์แล้วนำเสนอให้เป็นทางเลือกของลูกค้าล่ะครับ ไอเดียดีๆที่เกิดขึ้นได้และดังเป็นพลุไม่ใช่เกิดจากการคิดการทำงานแบบ “เดินตามเส้น เป็นไปตามกติกา” แต่ เกิดจากลูกบ้าเรื่องล่าสุด ที่แอบมุดอยู่ในความกล้าของเราต่างหาก

3. หาข้อมูลเพียงพอขนาดไหน มีเจ้าของงานคนหนึ่งของผมเคยพูดว่า “โถ(ดีนะ ที่ไม่..ถุย) ดีไซเนอร์ก็แค่เปิดหนังสือดีไซน์มาแล้วก็ปั๊มแบบมาให้ผม” หรือ “โถ เป็นวิศวกร เวลาดีไซน์ก็เปิดหนังสือเอา ใครๆก็ทำได้” ฟังแล้วเจ็บแปลบ แสบไปถึงขั้วหัวใจมั้ยครับ วิธีการหาข้อมูลทำ research สำหรับงานออกแบบต้องหาข้อมูลแบบ “กว้างxยาวxลึก”นะครับ ต้องมีมิติของความกว้างแบบหลากหลายของแหล่งข้อมูล อินเตอร์เน็ต หนังสือ งานแสดงผลงาน สื่อต่างๆที่มีอยู่สารพัดสารเพ ต้องมีมิติของความยาวที่ทันสมัยตลอดเวลา มองย้อนไปในอดีตแอบแวะปัจจุบัน ผ่านไปถึงอนาคต และต้องมีมิติลึกๆแบบกล้าๆที่จะก้าวข้ามผ่านงานที่อยู่เฉพาะในวิชาชีพของตัวเอง ดูอะไรแปลกๆแหวกแนวของคนอื่นๆบ้าง ลองมองแบบนักการตลาด มองแบบนักบัญชี มองแบบนักโฆษณา แล้วค่อยมองกลับมาดูงานของเราอีกที แล้วเราจะเห็นอะไรที่ไม่เหมือนเดิม

4. โดนล้มแบบแล้วใจสลาย ไม่ใช่เรื่องโลกแตกนะครับ เข้าใจเถอะว่า “creativity” ไม่ใช่ “solution” ไอเดียดีๆบางทีอาจไม่ใช่คำตอบ อย่าอีโก้นัก โดนล้มแบบ ถูกลูกค้าปฏิเสธ ไม่ว่าด้วยเหตผลอะไร ก็อย่าไปคิดมาก แต่ควรจะมาคิดใหม่ ลับสมองให้คม ไม่ต้องมานั่งโอดโอยจะเป็นลม ก็ไอเดียฉันผิดอะไร ก็ฉันคิดมาแล้ว คิดจบแล้ว เป็นเรื่องดีที่ Designer/Architect จะกล้า defend งานของตัวเองครับ โปรดอย่าลืมว่าเราทำงานให้คนกลุ่มใหญ่ที่กำลังจะสร้าง impact ให้คนกลุ่มใหญ่ยิ่งกว่า ล้มแรงต้องลุกแรงๆครับ

สุดท้าย ลองทำตัวเองเป็นผู้ฟัง ไม่ใช่ผู้พูดสิครับ ลองนั่งเงียบๆดู แอบฟังแอบถาม คำวิจารณ์งานของเราจากคนอื่น ลองคิดเงียบๆ(แบบไม่) ถ้าเราเป็นลูกค้าเราจะซื้อไอเดีย ซื้องานของเราเองหรือเปล่า ถ้าคำตอบยังมี doubt แม้แต่นิด แสดงว่ายังมี “พื้นที่” ยังมี “วงล้อม”ของ creativity ให้เรา“กระชับ”เพื่อคุณภาพงานที่จะดีขึ้นครับ

“Making the simple complicated is commonplace; making the complicated simple, awesomely simple, that's creativity.”

“ทำเรื่องง่าย ให้เป็นเรื่องยากน่ะ มันไม่ยาก ทำเรื่องยากๆให้เข้าใจได้ง่าย นั่นคือการสร้างสรรค์”
—Charles Mingus

No comments:

Post a Comment