Wednesday, 16 June 2010

จริงหรือ ที่ความสงบ จะสยบความเคลื่อนไหว




การพูดให้เสียงดัง แต่คน(ในองค์กร)ไม่ได้ยินเป็นเรื่องแปลก แต่ถ้าอยากแค่กระซิบเบาๆ แล้วเค้า(คู่แข่ง)รู้เป็นเรื่องน่าเศร้าทางธุรกิจครับ

...

สาเหตุที่คนยุคนี้สมัยนี้ดูจะไม่ค่อยพูดจากัน ไม่ค่อยฟังกันแล้ว ก็ด้วยเวลาที่เปลี่ยนไป สังคมที่เริ่มเปลี่ยนแปลง
สังคมไทยโดยพื้นฐานไม่ใช่สังคมของการแสดงออกตรงไปตรงมา เป็นสังคมของหน้าตา วาจาและกริยาเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยการแสดงออกแบบบอกให้เดา แต่ไม่ค่อยยอมบอกให้รู้ ว่าคุณน่ะ จริงๆแล้วคิดอะไรอยู่
เรื่องที่แย่คือสังคมแบบนี้ พอคิดต่างหรือคิดไม่เหมือนกันแล้วต้องมาเก็บกด พอเห็นต่างแล้วกลับหาทางออกไม่เจอ
สังคมแบบนี้ ถ้ามองให้ทันสมัยแบบการเมือง เรียกว่าเป็นการจราจลทางความคิด และถ้ามองลึกๆอีกสักนิด มันก็ไม่ต่างอะไรกับระเบิดเวลาทางพฤติกรรม


มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งจาก Harvard Business Review ระบุว่าพนักงานในองค์กรส่วนใหญ่อยากพูดอยากออกความเห็นเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นในองค์กร ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน เกี่ยวกับลูกค้า เกี่ยวกับเพื่อนร่วมงาน หรือเกี่ยวกับเจ้านายตัวเอง ที่น่าตกใจคืองานวิจัยชิ้นดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า กว่าครึ่งของพนักงานงานเหล่านั้นตัดสินใจที่จะเงียบหรือเลือกที่จะไม่พูดอะไร เพราะกังวลถึงผลที่จะตามมา... ว่ากันให้ชัดๆคือไม่อยากจะรับผิดชอบผลที่จะเกิดขึ้น

ความ“ดื้อเงียบ”แบบนี้ที่กลายเป็นความ“ลี้ลับ”ในสังคมหรือองค์กร ที่กำลังบั่นทอนการทำงานและกำลังใจของทั้งผู้อยากจะพูดรวมถึงผู้จะควรจะฟัง

สาเหตุของความเงียบของมนุษย์ไม่ว่าเรื่องใดๆ คือ “ความกลัว” ครับ กลัวที่ต้องรับผิดชอบ กลัวความผิด กลัวความไม่รู้ และกลัวว่าเรื่องที่กลัวอยู่นั้นน่ะ คือความจริงที่กำลังเกิดกับตัวเอง
...

ความเงียบแบบนี้ถ้าปล่อยไว้มีแต่จะทำลายล้างซึ่งกันและกัน ระหว่างผู้ที่อยากจะพูดและผู้จะอยากจะฟัง
ทำให้ผู้บริหารเข้าใจผิดประเด็น (แบบเดาไปเองว่าสิ่งไหนคืออะไร) ทำให้พฤติกรรมดื้อเงียบกลายเป็นแฟชั่นที่สร้างวัฒนธรรมที่ผิดในการบริหารงานบุคคล (เลือกเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งให้คนกล้าพูด คนที่ดูเหมือนจะพูดเก่ง) ทำให้แก้ต้องปัญหาในสังคมไม่รู้จบ (เพราะไม่ทราบจริงๆว่าปัญหาคืออะไร) ทำให้เพื่อนร่วมงานกลายเป็นคู่แข่ง ที่สำคัญ ทำให้หัวหน้ากับลูกน้อง หรือผู้ใหญ่กับเด็ก มีเส้นแบ่งของ“ชนชั้น”ที่ชัดเจนมากกว่ามาตราฐานของบทบาทและสติปัญญา

...ถึงแม้ในที่สุดเรื่อง“ความเงียบ”แบบนี้อาจทำให้สังคมหรือองค์กรเดินหน้าไปได้ แต่คงเดินไปในเส้นทางที่ไม่ได้ดีที่สุด สำหรับทุกคน

...

สิ่งที่ควรจะทำคือการเอาชนะ “ความกลัว” เหล่านั้นครับ

สำหรับผู้ฟัง ต้องเอาชนะ โดยต้องยอมรับด้วยความเข้าใจ ว่าความกลัวแบบนี้มีอยู่จริง และต้องเข้าใจว่ามีความกลัวความกังวลบางอย่างมันสิงอยู่ในใจของผู้ที่อยากจะพูด

สำหรับผู้พูด ต้องเอาชนะ โดยเปลี่ยนความกลัวเป็นความกล้า ที่จะคิดว่าไอ้ความกลัวที่มีอยู่ตรงนั้น เมื่อยังไงซะถ้าพูดออกไปแล้วมันจะต้องเกิดผลอะไรตามมา และรู้ทั้งรู้ว่ายังไงเราก็ขจัดมันออกไปไม่ได้ ก็ไม่เห็นจะต้องไปกลัวอะไรมัน

และสำหรับทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ต้องเอาชนะโดยให้กำลังใจ คิดให้ดีว่า ไม่ว่าเราจะเป็นใคร ไม่ว่าเราจะเดินอยู่ในบทบาทไหน จริงๆแล้วในสังคมของเรา หรือในองค์กรของเรา เรากำลังเดินไปด้วยกัน เพื่อไปหาจุดหมายเดียวกัน

...

พูดคุยและรับฟังกันให้มากๆเถอะครับ

เพราะ “ความสงบ” ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ไม่ควรปล่อยให้ถูกใช้เพื่อสยบความเคลื่อนไหวใดๆ

ที่เกิดจาก “ความกลัว”

No comments:

Post a Comment