Thursday 9 September 2010

ขอบคุณที่ได้รู้จัก




การที่เราเป็นเจ้าของกิจการหรือหัวหน้างานในธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อมหรือ SME หมายถึงการอยู่ในสภาวะแวดล้อมและโอกาสที่จะได้ตื่นเต้นกับพบเจอผู้ร่วมงานใหม่ที่เปลี่ยนหน้าค่าตาเข้ามาเรื่อยๆด้วยธรรมชาติขององค์กรลักษณะนี้ และในทางตรงข้ามก็คงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ในที่สุดต้องเผชิญหน้ากับการลาจากหรือการเลิกจ้างเพื่อนร่วมงานด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม

ที่น่าสนใจและท้าทายเราคือ สุดท้ายแล้วเรากับพนักงานใหม่จะได้เป็น “คนแปลกหน้าที่รู้ใจกันดีที่สุด” หรือกลายเป็นว่าจะต้องกล่าวคำ“ขอบคุณที่ไม่รู้จัก”

...
ชีวิตจริงบางทีก็เหมือนในหนัง เหมือนเต๋อกับหนูนาใน “กวน มึน โฮ” ที่ต่อให้รักกันแค่ไหน เมื่อเดินต่อกันไปไม่ได้ในที่สุดก็ ต้องลาจาก…

ชีวิตจริงเป็นหัวหน้างานมันไม่ง่ายเหมือนหนัง จะให้คนออกโดยไม่ระวัง มีหวังต้องช้ำนอกช้ำใน
...

ตลอดชีวิตการทำงานของผม ผมเคยให้พนักงานออก หรือเลิกจ้างพนักงานไปหลายคนครับ ต้องยอมรับว่ามันก็ไม่ใช่ประสบการณ์ที่ดีเท่าไหร่ บางครั้งทำเพราะควรทำ บางครั้งเพราะจำเป็นต้องทำ และหลายครั้งผมไม่แน่ใจว่าทำถูกต้องหรือไม่ แต่เมื่อธุรกิจต้องเป็นไป ชีวิตต้องเดินต่อ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดครับ จากประสบการณ์ทำให้ลองนั่งนึกดูว่าควรคิดอ่านประเมินอะไรบ้าง

อย่างแรกควรหาข้อมูลปรึกษาคนกลาง บางครั้งเรามีมุมหลายมุมที่มองไม่เหมือนมุมอีกหลายมุมจากคนอื่นๆไม่ว่านายหรือลูกน้องและเพื่อนร่วมงานระดับเดียวกัน ลองให้คนกลางเปรียบเทียบการทำงานระหว่างคนที่เรากำลังจะเลิกจ้างกับคนอื่นๆในหรือนอกองค์กรก็ได้ครับ สิ่งที่ได้ไม่ใช่คำตอบแต่คือความมั่นใจในสิ่งที่เรากำลังจะทำ(หรือไม่)

แล้วถามใจตัวเอง ถ้าเราเป็นเขาเราจะทำอย่างไรเมื่อถูกเลิกจ้าง เรากำลังเปรียบเทียบผลงานของเขากับผลงานของเรา หรือกำลังเปรียบเทียบผลงานของเขากับความหวังความตั้งใจของเรา ไม่เหมือนกันนะครับ ผลงานของเราแปลว่าเราพิสูจน์แล้ว ความหวังความตั้งใจของเราแปลว่าเราตั้ง“ธง”ของผลงานเอาไว้ ณ จุดๆหนึ่งแล้วบอกให้เขาเดินไปหาแต่เขาเดินไปไม่ถึง คำถามคือเขารู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่าเรามี“ธง”ผืนนั้นอยู่หรือไม่

จากนั้นต้องให้โอกาสและให้เวลาครับ มีสามสิ่งที่เป็นเรื่องจริงที่เจ็บปวดถ้าเราตัดสินใจเลิกจ้างเร็วเกินไป ข้อแรก มันอาจไม่ใช่ความผิดของพนักงานคนนั้นเมื่อทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามแผน(ของเรา) ข้อสอง คนเรามันปรับปรุงตัวกันได้ คนเราเปลี่ยนกันได้ แค่เมื่อไหร่เท่านั้นเอง และสุดท้าย ถึงแม้ว่าเลิกจ้างพนักงานคนหนึ่งแล้วเพื่อนร่วมงานอีกหลายๆคนจะรู้สึกสะใจว่ามันไปได้ซักที จะมีคนอื่นๆที่มักมององค์กรในมุมที่ว่า “อ๋อ บริษัทนี้มันทำกันแบบนี้เหรอ นึกจะไม่เอามันก็ไม่เอา” ซะงั้น

ต้องแน่ใจว่าเอกสารแน่นปึ๊ก ทั้งเรื่องการจ้างงาน สัญญา เงื่อนไขการจ้าง ความลับของบริษัท สิทธิของพนักงาน และเนื้องานที่มอบหมายให้พนักงานทำ (job description)

จะทำแล้วต้องหนักหน่วง เหนียวแน่น ตัดสินใจแล้วต้องทำเองและทำทันทีครับ ไม่งั้นตัวเราเองจะกลายเป็นตัวตลกในสายตาบริษัท พนักงานคนอื่นหรือแม้แต่เจ้านาย ตัดสินใจแล้วไม่ทำ มาเงื้อง่าราคาแพงแล้วยิ่งจะกลายเป็นเรื่องกวนใจเสียสมาธิ สร้างความรำคาญกับตัวเอง (และอาจมีคนอื่น) ว่า เฮ้อ มันไม่จบซักที

อย่าไปรับปากสัญญิงสัญญาอะไรไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “โถ อย่าเสียใจไปเลยน้อง เอาน่าพี่จะแนะนำงานใหม่ให้” หรือ “เอาวะ พี่จะคุยกับนายให้อีกที” ความรู้สึกส่วนตัวแบบนี้เอาออกมาปนกับความเป็นมืออาชีพไม่ได้ครับ

มาถึงขั้นนี้แล้ว ลองส่องมองตัวเองในกระจกครับ ถามตัวเองดูดีๆว่า ก็ไอ้ที่ต้องลงเอยกันแบบนี้ แล้วเราดันไปจ้างเขามาทำไมแต่แรก ความผิดส่วนหนึ่งไม่มากก็น้อยก็อยู่ที่ตัวเราด้วย จริงมั้ยครับ

และท้ายที่สุด อย่าเอาแบบเรื่องนี้มาพูดต่อทั้งภายนอกและภายในองค์กร เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็ยังเป็นเพื่อนร่วมอาชีพกัน วันนึงอาจจะเวียนมาหากัน มาเจอะเจอกันในต่างสถานะกันก็ได้ (กลับกลายมาเป็นคู่แข่ง คู่ค้า หรือแม้แต่ลูกค้า)
...

เหมือน เต๋อกับหนูนา เราแค่ไม่เหมาะกันตอนนี้ แต่ก็อย่างว่า

วันหนึ่งเราอาจเป็น “คนสองคนที่ไม่รู้จัก... แต่รักกัน”
...ก็ได้

No comments:

Post a Comment