Tuesday 6 July 2010

หน้าตาของ Design Leadership: Design Identity




หลายสัปดาห์ที่แล้วผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับ Design Leadership คุยเรื่องดีไซน์ลีดเดอร์กับบุคคลิกแบบที่เมเนเจอร์ควรมี เขียนจบไม่นานมีแอบโดนต่อว่า หลายท่านกล่าวหาผมว่า “จัดไม่จบ” ท่านว่าผมพูดไม่ครบว่า “Design Leadership” ตกลงมันคืออะไรกันแน่? อ๋อ ถ้าแค่คิด ทำ พูดแบบดีไซน์เนอร์จะทำให้วิวัฒนาการของกระบวนการแก้ปัญหามันดีขึ้น การแก้ปัญหามันเร็วขึ้นง่ายขึ้น แหม เป็นแบบนั้นก็มหัศจรรย์น่ะสิครับ

“Leadership” ที่เราหยิบยกมาคุยกัน ผู้คนส่วนใหญ่มักมองว่าเป็นแค่เรื่องตรรกกะทางจิตวิทยา มากกว่าเป็นอะไรจับต้องได้ Leadership..ไม่ช่วยลดต้นทุน Leadership..ไม่สร้างยอดขาย Leadership..ไม่สร้างกำไร Leadership..ก็แค่สร้างแรงใจ เพื่อลูกน้องทำงานแบบลืมหายใจ(เวลาเหนื่อย ท้อแท้) แล้วเดินต่อไปอีกหน่อยก็ถึงเส้นชัยแล้ว



“Design Leadership”เป็นคนละเรื่องกับ Business Leadership ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการเดินนำองค์กรไปข้างหน้า

ผลคาดหวังที่ได้จาก Design Leadership ต้องเป็นอะไรที่ “ฉลาด”และ“แจ๋ว”กว่านั้นครับ เพราะ Design Leadership ไม่ใช่การเดิน“นำหน้า”องค์กร แต่เป็นการเดินไปด้วยกัน เดินไปเป็นเพื่อน เดินไปเป็นพี่(เลี้ยง) หรือเดินอย่างอิสระ เพื่อเชื่อมต่อบริบทของการบริหารงานในองค์กรมีดีไซน์ที่เต็มไปด้วยความเกี่ยวพันและต่อเนื่องครับ

เมื่อพูดถึงผู้นำหรือ Leader ก็หมายถึงผู้ที่ชี้แนะเส้นทางให้คนเดิน ไม่ว่าจะให้เดินตามหรือเดินไปด้วย สำหรับเส้นทางธุรกิจในปัจจุบันเรื่องจะให้ลูกน้องเดินตามน่ะไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะให้เดินไปด้วยกัน คิดด้วยกัน ทำด้วยกัน เพื่อสร้างบรรยากาศที่สร้างสรรค์เพื่อสิ่งใหม่ๆน่ะ “ไม่ง่าย” ครับ



Business Leader ที่ชอบให้ลูกน้อง“เดินตาม” มองไปมองมาหน้าตาก็คงเห็นๆกันอยู่ว่ามีไม่กี่แบบ แต่Design Leader ที่เดินไปพร้อมๆกันกับลูกน้อง ถ้าจะให้จำแนกแบบให้เห้นตัวตน Identity คงจะประมาณนี้ครับ

Design Leader แบบปรมาจารณ์ The Maestros
ผู้นำทางศิลป์ ผู้ซึ่งยกระดับมาตราฐานในวิชาชีพที่เกียวข้องกับการออกแบบแขนงต่างๆ ตัวอย่างเช่น คุณภัทราวดี มีชูธน ทางด้านศิลปและการแสดง คุณนิธิ อ่านเปรื่อง ทางด้านสถาปัตยกรรมร่วมสมัย คุณนิวัติ กองเพียร ทางด้านจิตรกรรมและวรรรกรรม และอีกหลายๆท่านที่ไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งเป็นผู้นำทางความคิด ผ่านกระบวนความของงานและวิชาชีพที่แต่ละท่านได้มีส่วนร่วมให้กับสังคม

Design Leader แบบผู้มีวิสัยทัศน์ The Visionaries
ผู้นำที่สร้างและนำเสนอทิศทางใหม่ทางความคิด โดยก้าวข้ามผ่าน บริบทเก่าของสิ่งรอบตัวที่มีอยู่ ผู้นำแบบนี้เรามี Steve Jobs แห่ง Apple คุณประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์ “แกะดำทำธุรกิจ” วิศวกร ที่เปลี่ยนเส้นทางชีวิตเข้าสู่วงการโฆษณาและการตลาด หรือคุณธนา เธียรอัจฉริยะที่ทำให้ โทรศัพย์มือถือกลายเป็นเรื่องครอบครัว ส่วนตั๊วส่วนตัว แถมดูอบอุ่น ไกลตัวหน่อยก็ Larry Keeley ที่ปรึกษาระดับโลกทางด้าน design strategy

Design Leader แบบผู้จัดการ The Managers
ผู้นำองค์กรที่ยกระดับงานออกแบบให้เป็นเรื่องความอยู่รอดขององค์กร เช่น Chris Bangle แห่ง BMW ที่ขจัดภาพลักษณ์ของรถดื้อๆ ให้เป็นรถยนต์เพื่อความสนุก หรือ Tom Ford ดีไซเนอร์อัจฉริยะที่สร้างภาพลักษณ์หรูหราของของ Gucci ให้เต็มไปด้วยแฟชั่นที่จับต้องได้

Design Leader แบบเจ้าของกิจการ The Entrepreneurs
ผู้นำแบบ“เถ้าแก่” ที่กล้าเสี่ยงกล้าลองวิธีการทำธุรกิจใหม่ๆ แบบ คุณอิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เถ้าแก่น้อย ที่เคยสร้างรายได้จากเกมส์ออนไลน์ที่ตัวเองเล่นจนมาขายสาหร่ายแล้วรวยกว่า หรือคุณตัน โออิชิที่ตั้งตัวเพราะบุฟเฟท์ รวยด้วยชาเขียว และช๊อกฟ้าผ่าวงการด้วยการขายหุ้นให้คู่แข่ง(คราวนี้รวยไม่เลิก) หรือ David Kelly ผู้ก่อตั้ง IDEO บริษัทที่ปรึกษาด้านการออกแบบและนวัตกรรมที่มีผลงานระดับโลกกับแบรนด์แบบ Prada

Design Leader แบบแบรนด์แอมบาสเดอร์ The Ambassadors
ผู้นำหรือตัวแทนของแบรนด์ที่สามารถสื่อสารและเข้าถึงผู้คนในแง่ความสำคัญของดีไซน์ หลายท่านคงรู้จัก Richard Branson แห่ง Virgin หรือ คุณดวงฤทธิ์ บุนนาคตัวแทนของสถาปนิกรุ่นใหม่ หรือ คุณฐิติพัฒน์ ศุภภัทรานนท์ แห่ง Harn Thann และคุณเศรษฐา ทวีสิน ผู้ซึ่งมาพร้อมกับภาพลักษณ์ที่ อบอุ่น น่าเชื่อถือของยักษ์ใหญ่ Sansiri

Design Leader แบบตัวแทนไอเดียความสนุก The Entertainers
ผู้นำที่สามารถเปลี่ยนแปลง ขัดเกลาองค์กระกอบของงานดีไซน์ให้เป็นอะไรที่เข้าใจง่าย สามารถเข้าถึงได้โดยคนทั่วไป เช่น Philippe Starck กับงานไอเดีย“ลึกๆ”ที่ไม่ต้องดูให้มันอาร์ต ไม่ต้อง“ลึก” ก็สวยได้ หรือดีไซเนอร์ผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต เจ้าของไอเดียสิ่งเหลือใช้แปลงกายเป็นงานออกแบบ

Design Leader แบบนักวิชาการ The Scholars
ผู้นำทางความคิดที่สร้างมุมมองใหม่ของงานออกแบบผ่านการศึกษาเพื่อให้เข้าถึง เรามี ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะนักวิทยาศาสตร์จากองค์การนาซ่าที่สามารถใช้หลักธรรมะเข้ามาผสมผสานในการบริหารจัดการองค์กร หรืออย่าง ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่เอาความน่าหลงใหลของทะเลที่“ออกแบบโดยธรรมชาติ”มาสื่อให้เห็นถึง“วิธีการแบบธรรมชาติ” ในการ“สื่อสารกับธรรมชาติ” เพื่อให้เรารักธรรมชาติแบบใครๆก็คิดไม่ถึง

Design Leader แบบนักปฏิวัติ The Provocateurs
ผู้นำหัวขบถที่อยู่นอกวงการออกแบบที่มักที่จะท้าทายวิธีคิดแบบดีไซเนอร์ หลายท่านคงรู้จัก Chung Kook Hyun เบื้องหลัง Sumsung ที่อุดหนุนแนวคิดของวิศกรรมที่ขับเคลื่อนโดยบริบทของงานดีไซน์ หรือ Axel Meyer ของ Nokia ที่ยังเลือกที่จะดื้อเลือกที่จะกำหนดให้โทรศัพย์เป็น communication มากกว่า living iconic แบบ iPhone (ก็ไม่เห็นจะผิดอะไร ยังขายดีเป็นที่หนึ่ง)

Design Leader แบบนักเขียน นักคิด นักวิจารณ์ The Scribes
ผู้นำ หรือผู้ชี้นำทางความคิด ที่นำเสนอมุมมองใหม่ที่ของวิธีคิดเชิงดีไซน์โดยสื่อออกมาทางวรรณกรรม Jeremy Myerson แห่ง Design Week และ Tyler Brule จาก Wallpaper ใกล้ตัวเราหน่อยก็ คุณประชา สุวีรานนท์แห่ง Design and Culture หรือ คุณมกร เชาวน์วาณิชย์ เจ้าของงานครีเอทีฟสองหัว และ คุณสักกฉัฐ ศิวะบวร บรรณาธิการของ iDesign



ตัวตนของ Design Leader ยังมีอีกเยอะครับ ยังแบ่งแยกได้อีกหลายหมวดหลายหมู่ ก็ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ความแตกต่าง” ที่น่าสนใจคือในความแตกต่างนี้ยังมีสิ่งหนึ่งที่ Identity ของ Design Leader มีเหมือนกันคือพวกเขาเหล่านี้เก่งที่ “รู้จักมองไปข้างหน้าและกล้าลองกับอนาคต” “คิดเชิงกลยุทธ์แต่ไม่ยึดติดกับแบบแผน” และที่สำคัญ “รู้จักเป็นผู้นำแบบที่เข้าใจในเงื่อนไขของผู้ตาม”



ตัวตนของ Design Leader ที่ฉลาด จึงต้องมีทั้ง ความมั่นใจจากเบื้องหลัง ความหนักแน่นในปัจจุบัน
เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับ “คนที่กำลังเดินตามหลัง”...

แล้ว “เดินไปด้วยกัน” สู่อนาคตครับ

No comments:

Post a Comment