Thursday, 9 June 2011

Slow Business




หลายท่านคงจำนิทานอีสบเรื่องเต่ากับกระต่ายได้ เจ้าเต่ากับกระต่ายเถียงกันว่าใครเร็วกว่ากัน ทั้งคู่จึงตกลงที่จะวิ่งแข่ง มีการกำหนดเส้นทางวิ่ง แล้วก็เริ่มการแข่งขัน เจ้ากระต่ายออกสต๊าตท์นำโด่งมาแต่ไกลก็เลยชะล่าใจ แอบทักทายกองเชียร์รอบข้าง และพักผ่อนใต้ต้นไม้ซักกะแป๊บนึงก่อนแข่งต่อก็คงดี ไปๆมาๆ ตื่นมาอีกทีเจ้าเต่าก็คว้าแชมป์ไปแล้ว



ตั้งแต่ยุค 1990 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน การทำธุรกิจใดๆก็ตามมักถูกกำหนดด้วยคำว่า “ความเร็ว” หรือ speed เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ ทุกบริษัททุกองค์กรมุ่งหน้าพัฒนาปรับปรุงความเร็วในการทำธุรกิจในแง่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเร็วของการผลิต ความเร็วของการนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด หลายบริษัทยอมยืดหยุ่นโครงสร้างขององค์กรเพื่อตามให้ทันความเร็วในการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินหรือความต้องการของลูกค้า หนังสือตำราประเภท how to ทางธุรกิจ เต็มไปด้วยการเน้นย้ำและกล่าวถึงความเร็วและการปรับตัวเพื่อตอบรับความเร็วแง่ต่างๆ

ถึงแม้ว่าความเร็วจะสร้างให้หลายธุรกิจประสบความสำเร็จตลอดเวลาที่ผ่านมา ความเร็วก็ได้ก่อให้เกิดผลเสียที่ไม่ได้ตั้งใจ เมื่อธุรกิจเร่งผลิตให้เร็วขึ้น ทำต้นทุนให้ต่ำลง แต่หลายครั้งกลับไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคมีความสุขขึ้น
การวิ่งแข่งขันกันโดยเน้นเอาแต่ที่เร็วเข้าว่าทำให้เราลืมมองปัจจัยภายนอกที่สำคัญของธุรกิจครับ ปัจจัยเช่นสิ่งแวดล้อม จริยธรรมในการแข่งขัน ผลกระทบต่อคุณภาพของชีวิตและสังคมของเรา โมเดลธุรกิจที่สร้างบนพื้นฐานของ“ความเร็ว” หรือความเร่งรีบจึงไม่ได้ตอบโจทย์ทุกข้อของคุณภาพและคุณค่าชีวิตของผู้บริโภคในทุกวันนี้

Carlo Petrini นักเขียนเรื่องอาหารชาวอิตาเลียน ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารในอิตาลีเป็นผู้หนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการทำธุรกิจบนพื้นฐานของความเร่งรีบ แถมทนไม่ไหวที่อาหารด่วนอย่างแมคโดนัลด์จะแผ่อาณาจักรไปถึงเมืองเก่าแก่อย่างโรม ได้จัดตั้งกลุ่ม Slow Food movement ขึ้นในปี 1986 โดยให้ความสำคัญกับศิลปะของอาหาร ทั้งการปรุงและการกิน ทั้งการเลือกและเตรียมวัตถุดิบ กระบวนการปรุง การรู้จักรับรสอาหาร ที่ในที่สุดได้สร้างกระแส Slow life Slow everything หรือ “การใช้ชีวิตอย่างไม่เร่งรีบ” ไปทั่วโลก ตอนนี้มีทั้ง Slow Design (ออกแบบให้มีคุณค่า รักษาทรัพยากร) Slow Travel (เที่ยวช้าๆ อย่างรู้จักท้องถิ่น) Slow Architecture (ปลูกสร้างอย่างช้าๆ และไม่ก่อมลพิษ) Slow Transportation (เดินทางด้วยการเดินและขี่จักรยาน) และอีกหลายๆ slow ที่เรียกรวมๆว่าเป็นการการใช้ชีวิตเนิบๆนาบๆแบบที่มีความหมาย ใส่ใจรายละเอียด มองเห็นสิ่งอื่นๆ รอบตัวไปพร้อมกัน ด้วยความเร็วที่พอเหมาะพอดี
...
Zippo บริษัทผู้ผลิตไฟแช๊กได้พยายามลดทอนการสร้างขยะให้กับสินค้าของบริษัทโดยการเปิดแผนกใหม่เพื่อรองรับการซ่อมบำรุงไฟแช๊กที่ชำรุดทั้งๆที่รู้ว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุนสักเท่าไหร่ (เรื่องของไฟแช๊กใช้เสร็จใครๆก็โยนทิ้ง)

Phil & Ted บริษัทออกแบบและผลิตรถเข็นเด็กชื่อดังของโลกออกแบบรถเข็นให้สามารถรองรับลูกคนที่สองหรือคนที่สามได้ โดยไม่ต้องซื้อรถใหม่ทั้งคันเมื่อมีสมาชิกในบ้านเพิ่มขึ้นและสามารถพับเก็บพกพาสำหรับการเดินทางโดยเครื่องบินได้สะดวกมากขึ้น

Coco Channel ยังเปลี่ยนแปลงแนวคิดการออกแบบตามกระแสแคร์แฟชัน มาเน้นสิ่งที่นั่งยืนถาวรกว่าโดยการออก collection ที่ชื่อว่า Little Black Dress ซึ่งเป็นเสื้อผ้าแนวร่วมสมัย ใส่ได้เรื่อยๆ หลายสถานการณ์ สวยนาน สวยถาวร

และขณะนี้กระแส Slow Architecture ที่เน้นย้ำการสร้างความสมดุลของเทคโนโลยีให้สะท้อนความสุขของผู้อยู่อาศัย ผู้ใช้งานอาคาร ซึ่งออกจะดูจะข่มนิดๆกับกระแส GREEN ที่เอาเข้าจริงไปเน้นที่มาตราฐานและการใช้งานอาคารเพียงเพื่อขอใบรับรองให้ได้ชื่อว่าเป็นอาคารเขียว



ในนิทานอีสป กระต่ายวิ่งๆหยุดๆเพื่อโค้งคำนับรับเสียงปรบมือจากฝูงชนกองเชียร์ที่ตัวเองวิ่งเร็วซะเหลือเกิน ขณะที่เต่ามุ่งมั่นกับการแข่งขัน เดินไปเรื่อย เหนื่อยก็หยุด จนได้รับชัยชนะ ข้อแตกต่างระหว่างนิทานอีสปเรื่องเต่ากับกระต่าย กับวัฒนธรรมการทำธุรกิจในโลกทุกวันนี้คือ ความเร่งรีบหรือความเร็วอาจจะไม่ได้รับการชื่นชมเสมอไปจากผู้ที่อยู่รอบข้าง และคนเหล่านั้นก็เริ่มหันกลับมาให้ความสนใจว่าทำไมเราควรจะเดินช้าๆ ค่อยๆคิด ค่อยๆหายใจบ้าง เพื่อเส้นชัยข้างหน้าที่ไม่นานก็เดินถึงได้เหมือนกันครับ

No comments:

Post a Comment