Wednesday, 1 June 2011
เมื่อธุรกิจต้องถอยหลังเพื่อเดินหน้า
หลายคนอยากมีกิจการของตัวเองกันทั้งนั้นครับ คงจะดีไม่น้อยถ้าเราได้เป็นนายของเราเอง ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และได้รักในสิ่งที่ตัวเองทำ สามารถบริหารเวลาการทำงานได้เอง วางแผนธุรกิจเอง แล้วก็ควบคุมเอง และแล้ววันนั้นก็มาถึง หลังจากที่เราอดทน เฝ้ารอ วางแผน และเริ่มลงทุนในธุรกิจใหม่ของเราเอง ทุกอย่างกำลังเริ่มต้นและดูท่าทางจะไปได้สวย
ไอเดียของการทำธุรกิจเอง ฟังดูทุกอย่างสวยหรูดูดีไปหมดนะครับ เสียดายที่ในโลกของความเป็นจริงและการค้าไม่มีอะไรโรยด้วยกลีบกุหลาบ (ส่วนใหญ่จะมีแต่หนามทิ่มแทงซะด้วยซ้ำ) ในอีกซีกหนึ่งของโลกของธุรกิจนั้นคือความล้มเหลว หรือเรียกง่ายๆว่า “เจ๊ง” ครับ
มีรายงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่าธุรกิจใหม่ขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทยจำนวนเกินกว่า 20% จะประสบปัญหาวิกฤตที่สามารถสั่นคลอนความอยู่รอดของธุรกิจภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี และบางส่วนในนี้ไปไม่รอด ปัญหาที่เจอส่วนใหญ่เกิดจาก การประเมินรายได้สูงเกินไป หรือประเมินรายจ่ายต่ำเกินไป มีลูกค้าน้อยกว่าที่คิด เลือกโลเคชั่นผิด แยกกระเป๋าเงินของตัวเองกับกระเป๋าของธุรกิจไม่ขาดออกจากกัน (อันนี้เยอะ) การขาดเครดิตที่ดีทางการค้าจากคู่ค้า หรือก็เจอค่าใช้จ่ายสารพัดสารเพที่ไม่ได้คาดคิดไม่ได้วางแผนไว้ก่อน
...
"Begin with the End in mind" จากหนังสือ "The Seven Habits of Successful Living." โดย Stephen Covey
...
ผมเชื่อว่าหลายคนที่อยากมีธุรกิจของตัวเองคงมีคำว่ากลัวเจ๊งอยู่ในหัวเหมือนกัน แต่คนทั่วไปคงไม่ได้คิดในรายละเอียดหรือลงดีเทลว่าถ้าเจ๊งขึ้นมาจริงๆแล้วจะต้องทำอะไรบ้าง คนที่ทำธุรกิจไม่มีใครประสบความสำเร็จได้ถ้าปราศจากการวางแผนที่ดี การทุ่มเททำงานหนัก และโชคช่วยนิดหน่อย(อันนี้สำคัญ เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องเฮงด้วย) แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือ การทำธุรกิจให้เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จได้จริงๆคือเราควรมีการวางแผนหาทางออก (exit strategy)ให้กับธุรกิจของเรา ไปพร้อมๆกับการวางแผนเดินไปข้างหน้า คิดไว้ตลอดเวลาเถอะครับ ว่าถ้าประสบปัญหาขึ้นมาจริงๆขึ้นมาต้องทำอย่างไรกับธุรกิจของเราบ้าง
ผมอยากฝากข้อคิดแนวทางออกของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เมื่อเดินหน้าไปต่อไปไม่ไหวไว้ 5 แนวทางครับ
...
แนวทางแรก เมื่อเห็นว่าธุรกิจมีปัญหาเริ่มจะเดินไปต่อได้ยากก็รีบพิจารณาหยุดใส่เม็ดเงินลงทุนต่อ ดึงเงินออกมากจากบริษัทให้มากที่สุดในกรณีที่คุณเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อาจดึงออกมาในรูปของเงินเดือน เงินยืมหรือการปันผลที่สูงหน่อย ข้อเสียของการทำแบบนี้อาจมีบ้างตรงที่คุณคงจะทำให้ผู้ถือหุ้นคนอื่นใจเสีย แน่นอนว่าเป็นการเพิ่มภาระทางภาษีให้ตัวคุณเอง และอาจส่งผลกระทบกับภาระทางการหมุนเวียนเงินสดของบริษัทในระยะยาว ข้อดีคือปลอดภัยไว้ก่อนครับ เงินอยู่กับตัวยังไงก็ชัวร์กว่า
แนวทางที่สอง พอก็คือพอครับ เมื่อธุรกิจไปไม่ไหวจริงๆก็ต้องหยุดไว้ก่อนและต้องหาทางชำระหนี้ หรือวางแผนจำหน่ายสินทรัพย์เมื่อบริษัทล้มละลาย (Liquidation) การชำระหนี้แน่นอนว่าเงินสดหรืออะไรที่เหลือจากการขายทรัพย์สินหรือสินทรัพย์ก็ต้องกระจายไปตามสัดส่วนของผู้ถือหุ้น ข้อดีของการชำระหนี้คือง่าย ถูกกฏหมาย ใครๆก็ทำกัน มีการเจรจาผ่อนผันหนี้สินได้ ที่สำคัญเมื่อทำแล้วสิทธิหรืออำนาจในการบริหารก็ยังอยู่ในมือเรา ข้อเสียคือราคาของสินทรัพย์ที่ขายได้ต้องเป็นไปตามราคาตลาดที่ต้องหักค่าเสื่อมทางบัญชี อีกอย่างชื่อเสียง เครดิต ลูกค้าที่บริษัทสร้างมาก็อาจจะหายไปหมด
แนวทางที่สาม คือหาทางขายธุรกิจออกไปให้กับคนรู้จัก ในเมื่อเราทำเองไม่รุ่ง ให้คนอื่นทำแล้วอาจจะไม่แน่ เกิดขึ้นเยอะแยะไปครับ ที่ผมเจอมาก็มีเจ้าของขายให้หุ้นส่วน หรือแม้แต่ลูกน้อง ผู้จัดการร้าน อาจด้วยราคาที่ถูกลงหน่อยแต่อย่างน้อยก็มีโอกาสได้กิจการของเราคืนมาบ้างในรูปหุ้นแลกเงินหรือเงินแลกหุ้นที่น้อยลง ข้อดีคือขายให้กับคนรู้จักคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ไม่ต้องหนักใจกับการประเมินมูลค่าธุรกิจกันมาก (due diligence) การขายให้คนใกล้ตัวแบบนี้ผู้ซื้อก็มักจะรักษารูปแบบหรือแบรนด์ของธุรกิจเอาไว้ (ถ้าต้องเปลี่ยนแปลงมากคงไม่อยากซื้อตั้งแต่แรก) ข้อเสียคือเราคงรู้สึกเสียดายครับถ้าขายให้คนใกล้ตัวแล้วเค้าดันสามารถทำให้รุ่งกว่า! หรือผู้ซื้อถ้าใกล้ชิดกันมากอาจเสียความรู้สึกได้ถ้าไปพบภายหลังว่าธุรกิจยังมีหนี้สินที่มองไม่เห็นคงค้างอยู่
แนวทางที่สี่ คือการควบรวมกิจการครับ (Acquisition) วิธีนี้สร้างขึ้นมาเพื่อให้คุณยังมีเงินเหลือให้ลูกหลานของคุณใช้ต่อแม้ไม่ต้องการทำธุรกิจของพ่อแม่(หรือทำไม่เป็น) การควบรวมกิจการคือหาบริษัทที่สนใจมาซื้อธุรกิจของคุณครับ ที่น่าสนใจคือคนที่สนใจในกิจการของคุณมักจะไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริงของบริษัทที่จะมาซื้อกิจการของคุณ แต่เขาตัดสินใจได้ ข้อดีที่เกิดขึ้นคือราคาของกิจการของคุณเป็นเรื่องของความชอบส่วนตัวไม่ใช่ราคาทุนหรือราคาตลาด ถ้าคุณสนใจแนวทางออกแนวทางนี้ ลูกค้าของคุณ supplier หรือแม้แต่คู่แข่งทางธุรกิจของคุณน่ะ คบเอาไว้นะครับ พวกเขาเหล่านี้แหละคือ potential buyers ในอนาคต ข้อเสียของการควบรวมกิจการคือการจัดการภายในและวัฒนธรรมองค์กร ถ้าทำไม่ดีก็เละครับ
แนวทางสุดท้าย คือพยายามผลักดันให้กิจการเข้าตลาดหลักทรัพย์ครับ(IPO) ผมเก็บเอาไว้เป็นแนวทางสุดท้ายหลายท่านคงแปลกใจเพราะน่าจะเป็นแนวทางแรกๆของการเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่การหาทางออก ที่จริงการนำบริษัทเข้าตลาดให้เป็นบริษัทมหาชนก็คือการระดมทุนจากแหล่งทุนภายนอกเพื่อมาต่อยอดกิจการนั่นเองครับ (ถ้าบริษัทไปได้ดี มีทุนหนาอยู่แล้ว ใครจะอยากเอาหุ้นตัวเองมาละลายขายให้คนอื่น) ข้อดีคือบริษัทคุณมีชื่อเสียงดังกระฉ่อนแน่ ทำอะไรก็โปร่งใส ราคาหุ้นคุณก็จะพุ่งพรวด (ถ้ารักษาเนื้อรักษาตัวดีๆ) มีมืออาชีพมาดูแลบริษัทมหาชนของคุณโดยปริยายตามข้อบังคับของกลต. ผลประโยชน์ทางภาษีก็ดีกว่า ข้อเสียคือ น้อยนักที่จะมีบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าตลาดได้ ถึงแม้ว่าตอนนี้เรามี ตลาดเล็กหรือ MAI สำหรับกิจการหรือวิสาหกิจประเภทนี้ งานทางบัญชีและการเงินของบริษัทของคุณจะเพิ่มขึ้นมหาศาล ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจสอบบัญชีและวาณิชธนกิจที่จะผูกกับธุรกรรมทางการเงินของคุณตลอดไป นอกจากนี้คุณยังจะใช้เวลาที่มีค่าของคุณส่วนใหญ่ในการซื้อขายหุ้นหรือการขยับขึ้นลงของราคาหุ้นของคุณเองมากกว่ามาสนใจในการดำเนินธุรกิจอย่างที่เจ้าของกิจการที่ดีควรจะทำ
...
เมื่อธุรกิจประสบปัญหา ก็ไม่ได้แปลว่ามันถึงทางตันเสมอไป อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ถึงเราจะมีเวลามาสร้างกำลังใจ แต่การเตรียมตัวหาทางหนีทีไล่เอาไว้ก่อนก็เป็นความคิดที่ไม่เลวนะครับ
No comments:
Post a Comment