Wednesday 22 June 2011

อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของธุรกิจของท่าน




เพราะมิติของเวลาประกอบไปด้วย “อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” ซึ่งเกี่ยวเนื่องกันครับ



“อดีต”เคยเป็น“ปัจจุบัน”ของมิติหนึ่ง “อนาคต”ก็กำลังจะกลายเป็น“ปัจจุบัน”ของอีกมิติหนึ่ง จึงเป็นเรื่องไม่ถูกเสมอไปถ้าเราเลือกที่จะมีชีวิตอยู่แต่ในปัจจุบันเท่านั้น ไม่แปลกที่คนบางคนผูกติดกับอดีตและยึดเอาอดีตเป็นบทเรียนในการดำเนินชีวิต ขณะที่อีกคนมองไปข้างหน้า ไม่หันหลังมาเอาแต่มองหาแต่สิ่งที่อยากจะสร้าง อยากจะมี อยากจะเป็น หรือคนอีกคนหนึ่งสร้างชีวิตจากสิ่งที่มี สิ่งที่เป็น ไม่ใช่สิ่งที่ฝันหรือสิ่งที่เคยมี

...

ธุรกิจที่ฉลาดต้องไม่ปฏิเสธอดีตหรืออนาคต ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ใช้ชีวิตจมอยู่แค่ในอดีตหรือเพ้อหาแต่อนาคตเหมือนกันครับ ธุรกิจที่ดีต้องทำตัวเป็นปัจจุบันของอดีต คือรู้จักเรียนรู้ความผิดพลาดหรือความสำเร็จของสิ่งที่ผ่านมาและผ่านไป ธุรกิจที่ดีควรมองเห็นปัจจุบันของอนาคต คือต้องรู้จักวาดฝันและวางแผนเพื่อมองเห็นตัวเองในวันข้างหน้า ธุรกิจที่ดีต้องรู้ว่าวันนี้หรือปัจจุบันเป็นได้แค่กำลังให้ใจ เอาไว้เพื่อให้รู้จักหยุด รู้จักยั้ง เพื่อไม่ให้เราเอาแต่มัวแต่ฝันหรือเมามันกันความสำเร็จ



ทุกๆธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องพารู้จักตัวเองเข้าไปอยู่ในทั้งสามมิติของอดีต ปัจจุบันและอนาคตครับ ทำความรู้จักเดียวไม่พอ ต้องสร้าง“สมดุล”ทางธุรกิจให้กับทั้งสามมิติไปพร้อมๆกันด้วย

สำหรับนักธุรกิจ หลายๆท่านอาจมีข้อถกเถียงว่าการใช้ชีวิตอยู่กับอดีตเป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า ความจริงก็คืออดีตเป็นแหล่งข้อมูลที่มีคุณค่ามากสำหรับอนาคตนะครับ ที่ท่านคิดว่าเสียเวลาอาจเป็นไปได้สองกรณี หนึ่งคือข้อมูลทางธุรกิจของท่านมากเกินไป ดูแล้วตาลาย จนไม่รู้จะเอามาใช้ประโยชน์อย่างไร หรืออีกทางหนึ่งในทางตรงข้าม ข้อมูลของท่านก็อาจน้อยเกินไปจนไม่สามารถเอามาใช้ประกอบการตัดสินใจอะไรให้เกิดประโยชน์ได้ ลองสร้างสมดุลของอดีตโดยการหันกลับมาดูข้อมูลเหล่านั้นสิครับ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ surveys หรือ customer feedback และข้อมูลประวัติของยอดขาย เพื่อมาปรับปรุงการผลิตของเรา หรือลองคิดถึงลูกค้าที่เราเคยพูดคุยด้วย ได้ฟังความคิดเห็นของลูกค้าที่มีต่อคุณภาพของสินค้าหรือบริการเราในทุกระดับ ทุกย่างก้าวหรือยัง

เมื่อสร้างสมดุลของอดีตได้แล้ว บางท่านก็มุ่งหน้าตั้งตาสู่อนาคตโดยทำปัจจุบันให้ดีที่สุด อย่างไรก็ดีบางครั้งขณะที่เรากำลังมองหาอนาคตที่สมบูรณ์แบบนั้น เราก็ละเลยปัจจุบันโดยไม่ทันระวังไม่ทันตั้งตัวนะครับ ข้อมูลการขายที่ได้จากการศึกษาอดีตนั้นอาจจะเป็น reference หรือ benchmark ที่ดี แต่อย่าลืมว่ารอบตัวเราคู่แข่งหรือคนอื่นๆนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่นเราอาจจะตั้งใจผลิตสินค้าจนมี inventory เดิมๆมากเกินไป ลืมมองความต้องการของตลาด ณ ปัจจุบันหรือแผนการตลาดการขายที่เปลี่ยนได้ทุกนาที ลองสร้างสมดุลของปัจจุบันโดยการวางแผนระยะสั้นให้ align กับตลาด หรือเน้นการ prototype สินค้าเพื่อทดลองตลาดก่อนน่าจะช่วยได้ครับ

การวางแผนธุรกิจคืออีกปัจจัยเพื่อความสมดุลของอนาคตครับ การวางแผนที่ดีต้องมีการ research เพื่อเอามา planning และก็นำมา analyze ที่สำคัญคืออนาคตก็คืออนาคต ถ้าถึงเวลาจะฝันต้องกล้า ต้องท้าทายกับความคิดความเชื่อมั่นจากอดีตของตัวเอง ความกลัวคือสิ่งที่ทำให้อนาคตของธุรกิจของเราเสียสมดุล แน่นอนว่าแผนธุรกิจควรสร้างบนพื้นฐานของความเป็นจริง แต่อย่าลืมว่าธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้ก็อยู่ที่เราตั้งเป้าว่าเรามองความเป็นจริงอยู่บนพื้นฐานของอะไร

...

เพื่อธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ จงเรียนรู้เพื่อให้ทำความรู้จักกับ“ปัจจุบันของอดีต” พร้อมๆกับทำความคุ้นเคยกับความเป็น“ปัจจุบันของอนาคต”ครับ

Thursday 9 June 2011

Slow Business




หลายท่านคงจำนิทานอีสบเรื่องเต่ากับกระต่ายได้ เจ้าเต่ากับกระต่ายเถียงกันว่าใครเร็วกว่ากัน ทั้งคู่จึงตกลงที่จะวิ่งแข่ง มีการกำหนดเส้นทางวิ่ง แล้วก็เริ่มการแข่งขัน เจ้ากระต่ายออกสต๊าตท์นำโด่งมาแต่ไกลก็เลยชะล่าใจ แอบทักทายกองเชียร์รอบข้าง และพักผ่อนใต้ต้นไม้ซักกะแป๊บนึงก่อนแข่งต่อก็คงดี ไปๆมาๆ ตื่นมาอีกทีเจ้าเต่าก็คว้าแชมป์ไปแล้ว



ตั้งแต่ยุค 1990 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน การทำธุรกิจใดๆก็ตามมักถูกกำหนดด้วยคำว่า “ความเร็ว” หรือ speed เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ ทุกบริษัททุกองค์กรมุ่งหน้าพัฒนาปรับปรุงความเร็วในการทำธุรกิจในแง่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเร็วของการผลิต ความเร็วของการนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด หลายบริษัทยอมยืดหยุ่นโครงสร้างขององค์กรเพื่อตามให้ทันความเร็วในการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินหรือความต้องการของลูกค้า หนังสือตำราประเภท how to ทางธุรกิจ เต็มไปด้วยการเน้นย้ำและกล่าวถึงความเร็วและการปรับตัวเพื่อตอบรับความเร็วแง่ต่างๆ

ถึงแม้ว่าความเร็วจะสร้างให้หลายธุรกิจประสบความสำเร็จตลอดเวลาที่ผ่านมา ความเร็วก็ได้ก่อให้เกิดผลเสียที่ไม่ได้ตั้งใจ เมื่อธุรกิจเร่งผลิตให้เร็วขึ้น ทำต้นทุนให้ต่ำลง แต่หลายครั้งกลับไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคมีความสุขขึ้น
การวิ่งแข่งขันกันโดยเน้นเอาแต่ที่เร็วเข้าว่าทำให้เราลืมมองปัจจัยภายนอกที่สำคัญของธุรกิจครับ ปัจจัยเช่นสิ่งแวดล้อม จริยธรรมในการแข่งขัน ผลกระทบต่อคุณภาพของชีวิตและสังคมของเรา โมเดลธุรกิจที่สร้างบนพื้นฐานของ“ความเร็ว” หรือความเร่งรีบจึงไม่ได้ตอบโจทย์ทุกข้อของคุณภาพและคุณค่าชีวิตของผู้บริโภคในทุกวันนี้

Carlo Petrini นักเขียนเรื่องอาหารชาวอิตาเลียน ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารในอิตาลีเป็นผู้หนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการทำธุรกิจบนพื้นฐานของความเร่งรีบ แถมทนไม่ไหวที่อาหารด่วนอย่างแมคโดนัลด์จะแผ่อาณาจักรไปถึงเมืองเก่าแก่อย่างโรม ได้จัดตั้งกลุ่ม Slow Food movement ขึ้นในปี 1986 โดยให้ความสำคัญกับศิลปะของอาหาร ทั้งการปรุงและการกิน ทั้งการเลือกและเตรียมวัตถุดิบ กระบวนการปรุง การรู้จักรับรสอาหาร ที่ในที่สุดได้สร้างกระแส Slow life Slow everything หรือ “การใช้ชีวิตอย่างไม่เร่งรีบ” ไปทั่วโลก ตอนนี้มีทั้ง Slow Design (ออกแบบให้มีคุณค่า รักษาทรัพยากร) Slow Travel (เที่ยวช้าๆ อย่างรู้จักท้องถิ่น) Slow Architecture (ปลูกสร้างอย่างช้าๆ และไม่ก่อมลพิษ) Slow Transportation (เดินทางด้วยการเดินและขี่จักรยาน) และอีกหลายๆ slow ที่เรียกรวมๆว่าเป็นการการใช้ชีวิตเนิบๆนาบๆแบบที่มีความหมาย ใส่ใจรายละเอียด มองเห็นสิ่งอื่นๆ รอบตัวไปพร้อมกัน ด้วยความเร็วที่พอเหมาะพอดี
...
Zippo บริษัทผู้ผลิตไฟแช๊กได้พยายามลดทอนการสร้างขยะให้กับสินค้าของบริษัทโดยการเปิดแผนกใหม่เพื่อรองรับการซ่อมบำรุงไฟแช๊กที่ชำรุดทั้งๆที่รู้ว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุนสักเท่าไหร่ (เรื่องของไฟแช๊กใช้เสร็จใครๆก็โยนทิ้ง)

Phil & Ted บริษัทออกแบบและผลิตรถเข็นเด็กชื่อดังของโลกออกแบบรถเข็นให้สามารถรองรับลูกคนที่สองหรือคนที่สามได้ โดยไม่ต้องซื้อรถใหม่ทั้งคันเมื่อมีสมาชิกในบ้านเพิ่มขึ้นและสามารถพับเก็บพกพาสำหรับการเดินทางโดยเครื่องบินได้สะดวกมากขึ้น

Coco Channel ยังเปลี่ยนแปลงแนวคิดการออกแบบตามกระแสแคร์แฟชัน มาเน้นสิ่งที่นั่งยืนถาวรกว่าโดยการออก collection ที่ชื่อว่า Little Black Dress ซึ่งเป็นเสื้อผ้าแนวร่วมสมัย ใส่ได้เรื่อยๆ หลายสถานการณ์ สวยนาน สวยถาวร

และขณะนี้กระแส Slow Architecture ที่เน้นย้ำการสร้างความสมดุลของเทคโนโลยีให้สะท้อนความสุขของผู้อยู่อาศัย ผู้ใช้งานอาคาร ซึ่งออกจะดูจะข่มนิดๆกับกระแส GREEN ที่เอาเข้าจริงไปเน้นที่มาตราฐานและการใช้งานอาคารเพียงเพื่อขอใบรับรองให้ได้ชื่อว่าเป็นอาคารเขียว



ในนิทานอีสป กระต่ายวิ่งๆหยุดๆเพื่อโค้งคำนับรับเสียงปรบมือจากฝูงชนกองเชียร์ที่ตัวเองวิ่งเร็วซะเหลือเกิน ขณะที่เต่ามุ่งมั่นกับการแข่งขัน เดินไปเรื่อย เหนื่อยก็หยุด จนได้รับชัยชนะ ข้อแตกต่างระหว่างนิทานอีสปเรื่องเต่ากับกระต่าย กับวัฒนธรรมการทำธุรกิจในโลกทุกวันนี้คือ ความเร่งรีบหรือความเร็วอาจจะไม่ได้รับการชื่นชมเสมอไปจากผู้ที่อยู่รอบข้าง และคนเหล่านั้นก็เริ่มหันกลับมาให้ความสนใจว่าทำไมเราควรจะเดินช้าๆ ค่อยๆคิด ค่อยๆหายใจบ้าง เพื่อเส้นชัยข้างหน้าที่ไม่นานก็เดินถึงได้เหมือนกันครับ

Wednesday 1 June 2011

เมื่อธุรกิจต้องถอยหลังเพื่อเดินหน้า




หลายคนอยากมีกิจการของตัวเองกันทั้งนั้นครับ คงจะดีไม่น้อยถ้าเราได้เป็นนายของเราเอง ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และได้รักในสิ่งที่ตัวเองทำ สามารถบริหารเวลาการทำงานได้เอง วางแผนธุรกิจเอง แล้วก็ควบคุมเอง และแล้ววันนั้นก็มาถึง หลังจากที่เราอดทน เฝ้ารอ วางแผน และเริ่มลงทุนในธุรกิจใหม่ของเราเอง ทุกอย่างกำลังเริ่มต้นและดูท่าทางจะไปได้สวย

ไอเดียของการทำธุรกิจเอง ฟังดูทุกอย่างสวยหรูดูดีไปหมดนะครับ เสียดายที่ในโลกของความเป็นจริงและการค้าไม่มีอะไรโรยด้วยกลีบกุหลาบ (ส่วนใหญ่จะมีแต่หนามทิ่มแทงซะด้วยซ้ำ) ในอีกซีกหนึ่งของโลกของธุรกิจนั้นคือความล้มเหลว หรือเรียกง่ายๆว่า “เจ๊ง” ครับ

มีรายงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่าธุรกิจใหม่ขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทยจำนวนเกินกว่า 20% จะประสบปัญหาวิกฤตที่สามารถสั่นคลอนความอยู่รอดของธุรกิจภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี และบางส่วนในนี้ไปไม่รอด ปัญหาที่เจอส่วนใหญ่เกิดจาก การประเมินรายได้สูงเกินไป หรือประเมินรายจ่ายต่ำเกินไป มีลูกค้าน้อยกว่าที่คิด เลือกโลเคชั่นผิด แยกกระเป๋าเงินของตัวเองกับกระเป๋าของธุรกิจไม่ขาดออกจากกัน (อันนี้เยอะ) การขาดเครดิตที่ดีทางการค้าจากคู่ค้า หรือก็เจอค่าใช้จ่ายสารพัดสารเพที่ไม่ได้คาดคิดไม่ได้วางแผนไว้ก่อน

...
"Begin with the End in mind" จากหนังสือ "The Seven Habits of Successful Living." โดย Stephen Covey
...

ผมเชื่อว่าหลายคนที่อยากมีธุรกิจของตัวเองคงมีคำว่ากลัวเจ๊งอยู่ในหัวเหมือนกัน แต่คนทั่วไปคงไม่ได้คิดในรายละเอียดหรือลงดีเทลว่าถ้าเจ๊งขึ้นมาจริงๆแล้วจะต้องทำอะไรบ้าง คนที่ทำธุรกิจไม่มีใครประสบความสำเร็จได้ถ้าปราศจากการวางแผนที่ดี การทุ่มเททำงานหนัก และโชคช่วยนิดหน่อย(อันนี้สำคัญ เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องเฮงด้วย) แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือ การทำธุรกิจให้เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จได้จริงๆคือเราควรมีการวางแผนหาทางออก (exit strategy)ให้กับธุรกิจของเรา ไปพร้อมๆกับการวางแผนเดินไปข้างหน้า คิดไว้ตลอดเวลาเถอะครับ ว่าถ้าประสบปัญหาขึ้นมาจริงๆขึ้นมาต้องทำอย่างไรกับธุรกิจของเราบ้าง

ผมอยากฝากข้อคิดแนวทางออกของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เมื่อเดินหน้าไปต่อไปไม่ไหวไว้ 5 แนวทางครับ
...

แนวทางแรก เมื่อเห็นว่าธุรกิจมีปัญหาเริ่มจะเดินไปต่อได้ยากก็รีบพิจารณาหยุดใส่เม็ดเงินลงทุนต่อ ดึงเงินออกมากจากบริษัทให้มากที่สุดในกรณีที่คุณเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อาจดึงออกมาในรูปของเงินเดือน เงินยืมหรือการปันผลที่สูงหน่อย ข้อเสียของการทำแบบนี้อาจมีบ้างตรงที่คุณคงจะทำให้ผู้ถือหุ้นคนอื่นใจเสีย แน่นอนว่าเป็นการเพิ่มภาระทางภาษีให้ตัวคุณเอง และอาจส่งผลกระทบกับภาระทางการหมุนเวียนเงินสดของบริษัทในระยะยาว ข้อดีคือปลอดภัยไว้ก่อนครับ เงินอยู่กับตัวยังไงก็ชัวร์กว่า

แนวทางที่สอง พอก็คือพอครับ เมื่อธุรกิจไปไม่ไหวจริงๆก็ต้องหยุดไว้ก่อนและต้องหาทางชำระหนี้ หรือวางแผนจำหน่ายสินทรัพย์เมื่อบริษัทล้มละลาย (Liquidation) การชำระหนี้แน่นอนว่าเงินสดหรืออะไรที่เหลือจากการขายทรัพย์สินหรือสินทรัพย์ก็ต้องกระจายไปตามสัดส่วนของผู้ถือหุ้น ข้อดีของการชำระหนี้คือง่าย ถูกกฏหมาย ใครๆก็ทำกัน มีการเจรจาผ่อนผันหนี้สินได้ ที่สำคัญเมื่อทำแล้วสิทธิหรืออำนาจในการบริหารก็ยังอยู่ในมือเรา ข้อเสียคือราคาของสินทรัพย์ที่ขายได้ต้องเป็นไปตามราคาตลาดที่ต้องหักค่าเสื่อมทางบัญชี อีกอย่างชื่อเสียง เครดิต ลูกค้าที่บริษัทสร้างมาก็อาจจะหายไปหมด

แนวทางที่สาม คือหาทางขายธุรกิจออกไปให้กับคนรู้จัก ในเมื่อเราทำเองไม่รุ่ง ให้คนอื่นทำแล้วอาจจะไม่แน่ เกิดขึ้นเยอะแยะไปครับ ที่ผมเจอมาก็มีเจ้าของขายให้หุ้นส่วน หรือแม้แต่ลูกน้อง ผู้จัดการร้าน อาจด้วยราคาที่ถูกลงหน่อยแต่อย่างน้อยก็มีโอกาสได้กิจการของเราคืนมาบ้างในรูปหุ้นแลกเงินหรือเงินแลกหุ้นที่น้อยลง ข้อดีคือขายให้กับคนรู้จักคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ไม่ต้องหนักใจกับการประเมินมูลค่าธุรกิจกันมาก (due diligence) การขายให้คนใกล้ตัวแบบนี้ผู้ซื้อก็มักจะรักษารูปแบบหรือแบรนด์ของธุรกิจเอาไว้ (ถ้าต้องเปลี่ยนแปลงมากคงไม่อยากซื้อตั้งแต่แรก) ข้อเสียคือเราคงรู้สึกเสียดายครับถ้าขายให้คนใกล้ตัวแล้วเค้าดันสามารถทำให้รุ่งกว่า! หรือผู้ซื้อถ้าใกล้ชิดกันมากอาจเสียความรู้สึกได้ถ้าไปพบภายหลังว่าธุรกิจยังมีหนี้สินที่มองไม่เห็นคงค้างอยู่

แนวทางที่สี่ คือการควบรวมกิจการครับ (Acquisition) วิธีนี้สร้างขึ้นมาเพื่อให้คุณยังมีเงินเหลือให้ลูกหลานของคุณใช้ต่อแม้ไม่ต้องการทำธุรกิจของพ่อแม่(หรือทำไม่เป็น) การควบรวมกิจการคือหาบริษัทที่สนใจมาซื้อธุรกิจของคุณครับ ที่น่าสนใจคือคนที่สนใจในกิจการของคุณมักจะไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริงของบริษัทที่จะมาซื้อกิจการของคุณ แต่เขาตัดสินใจได้ ข้อดีที่เกิดขึ้นคือราคาของกิจการของคุณเป็นเรื่องของความชอบส่วนตัวไม่ใช่ราคาทุนหรือราคาตลาด ถ้าคุณสนใจแนวทางออกแนวทางนี้ ลูกค้าของคุณ supplier หรือแม้แต่คู่แข่งทางธุรกิจของคุณน่ะ คบเอาไว้นะครับ พวกเขาเหล่านี้แหละคือ potential buyers ในอนาคต ข้อเสียของการควบรวมกิจการคือการจัดการภายในและวัฒนธรรมองค์กร ถ้าทำไม่ดีก็เละครับ

แนวทางสุดท้าย คือพยายามผลักดันให้กิจการเข้าตลาดหลักทรัพย์ครับ(IPO) ผมเก็บเอาไว้เป็นแนวทางสุดท้ายหลายท่านคงแปลกใจเพราะน่าจะเป็นแนวทางแรกๆของการเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่การหาทางออก ที่จริงการนำบริษัทเข้าตลาดให้เป็นบริษัทมหาชนก็คือการระดมทุนจากแหล่งทุนภายนอกเพื่อมาต่อยอดกิจการนั่นเองครับ (ถ้าบริษัทไปได้ดี มีทุนหนาอยู่แล้ว ใครจะอยากเอาหุ้นตัวเองมาละลายขายให้คนอื่น) ข้อดีคือบริษัทคุณมีชื่อเสียงดังกระฉ่อนแน่ ทำอะไรก็โปร่งใส ราคาหุ้นคุณก็จะพุ่งพรวด (ถ้ารักษาเนื้อรักษาตัวดีๆ) มีมืออาชีพมาดูแลบริษัทมหาชนของคุณโดยปริยายตามข้อบังคับของกลต. ผลประโยชน์ทางภาษีก็ดีกว่า ข้อเสียคือ น้อยนักที่จะมีบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าตลาดได้ ถึงแม้ว่าตอนนี้เรามี ตลาดเล็กหรือ MAI สำหรับกิจการหรือวิสาหกิจประเภทนี้ งานทางบัญชีและการเงินของบริษัทของคุณจะเพิ่มขึ้นมหาศาล ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจสอบบัญชีและวาณิชธนกิจที่จะผูกกับธุรกรรมทางการเงินของคุณตลอดไป นอกจากนี้คุณยังจะใช้เวลาที่มีค่าของคุณส่วนใหญ่ในการซื้อขายหุ้นหรือการขยับขึ้นลงของราคาหุ้นของคุณเองมากกว่ามาสนใจในการดำเนินธุรกิจอย่างที่เจ้าของกิจการที่ดีควรจะทำ

...

เมื่อธุรกิจประสบปัญหา ก็ไม่ได้แปลว่ามันถึงทางตันเสมอไป อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ถึงเราจะมีเวลามาสร้างกำลังใจ แต่การเตรียมตัวหาทางหนีทีไล่เอาไว้ก่อนก็เป็นความคิดที่ไม่เลวนะครับ