Tuesday, 27 October 2009

จดหมายฉบับหนึ่ง..ถึงน้องสาว




หวัดดีครับเซ่

วันนี้พี่จะเล่าอะไรให้ฟัง

พี่เรียนเอกแบบจับพลัดจัลผลู คือตอนนั้นเมืองไทยโดนโรคต้มยำกุ้ง พี่ก็เพิ่งเรียนจบโท จะกลับบ้านก็ไม่มีงานทำ(สายอสังหา วิศวกร สถาปนิก ทุกคนตกงานหมด) พอดีมหาลัยให้ทุนเรียนต่อ ก็เรียนไปงั้น เผลอปุ๊บเดียวอีกห้าหกเดือนจะจบแล้ว ที่บอกจะจบเพราะส่งงานหมดแล้ว ไม่มีอะไรจะเรียนแล้ว รู้สึกว่าตัวเองน่ะเป็นด๊อกเตอร์แล้ว รู้ทุกอย่างแล้ว

เบื่อนั่งๆนอนๆ รอนัดโพรเฟสเซอร์ 5 คนจากยูต่างๆล่วงหน้านานมาก เพื่อรอสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ครั้งสุดท้าย (เป็นรายการชี้เป็นชี้ตาย)

พี่เบื่อนานเข้าก็มีเวลามานั่งนึกว่าตัวเองอยากทำอะไร ชีวิตตัวเองในอังกฤษมี “สาระ” อะไรอีก นอกจากทำงานกับเรียน

พี่เลยเอาเวลาไปเรียนทำอาหารกับไวน์ที่ Le Cordon Bleu ครับ ขอบอกว่ามันส์มากก เรียนจบแล้วอยากเปิดร้านอาหารเลย (ทุกวันนี้ก็ยังยั่วตัวเองอยู่)

มีนักข่าวและน้องๆหลายคนมาถามว่าอะไรเป็น “สูตรสำเร็จ” หรือแรงบรรดาลใจในการทำงานของพี่ พี่ก็บอกว่า “ทำกับข้าว” เค้าก็ถามต่อแบบงงงงว่า “เหรอ แล้วทำกับข้าวนี่มันให้อะไรกับพี่ล่ะ แล้วไอ้ Le Cordon Bleu มันสอนอะไร เห็นดาราไฮโซเรียนกันเยอะ” พี่ตอบว่าเค้าไม่เคยสอน“สูตรสำเร็จ”อะไรนอกจากความสำคัญของการใช้ “มีด ไฟ อุณหภูมิ และรู้จักส่วนประกอบของอาหาร” ที่เหลือ คือ “จินตนาการ”

เซ่ครับ อาหารจะอร่อยหรือไม่ส่วนหนึ่งเริ่มต้นอยู่ถูก “เกลาหรือหั่น”อย่างไร จะใช้ไฟ “แรงหรือเบา”แค่ไหนในการปรุง และจะ”รอเสริฟ”เมื่อเวลาไหน อุณหภูมิเท่าไหร และที่สนุกคือส่วนประกอบแต่ละตัว ต้องการมีด ไฟ อุณหภูมิ “ไม่เหมือนกัน”

...

เซ่น่าจะเป็นคนคิดเยอะ เก่ง (แอบขี้เหงาและอ่อนโยน) ถ้าเป็นของกินน่าจะเป็นอะไรที่อร่อยได้ด้วยตัวเอง ถ้าอยู่ในกระบวนการก็น่าจะเหลาใกล้เสร็จแล้ว ไฟของจินตนาการมีอยู่เต็มที่ แถมมีบริษัทดีๆรอเสริฟอยู่ รออีกนิดน่าจะอร่อยขึ้นมั้ยครับ? (เพื่อรอเสริฟแบบอร่อยๆ ให้ใครก็ได้ในอนาคต)

...

แอบเล่าว่า 7-8 ปีที่พี่อยู่อังกฤษ ทุกๆปีสนุกมาก แต่6เดือนสุดท้ายเป็นช่วงเวลาที่พี่ได้อะไรกับชีวิตมากที่สุด ได้มากมาจนถึงทุกวันนี้ ได้เพราะมีเวลามานั่งคิดและทำสิ่งที่ตัวเองเพิ่งรู้ว่าพร้อมแล้วที่จะค้นพบ เป็นเวลาที่น้อยกว่า 1%ของทั้งชีวิตที่ตอบอะไรหลายๆอย่างแบบที่ตอนเรียนตอบไม่ได้



พี่ว่าตอนนี้เซ่มีเกือบทุกอย่างแล้ว รอแค่ใช้ “จินตนาการ” ว่าชิวิตตัวเองจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร ไม่ต้องรอให้ใครแนะนำครับ :)

พี่

Sunday, 25 October 2009

9 หนทางง่ายๆ ไปสู่ความสุขในที่ทำงาน




มีงานวิจัยออกมาหลายชิ้นบอกตรงกันว่าตัวเราเองนี่แหละเป็น “กุญแจ” สำคัญไปสู่ความสุขและสนุกในที่ทำงาน เป็นความสุขแบบความสนุกบนจุดที่ยืนอยู่ครับ

ข้อแรก ลองคิดดูว่าเป้าหมายในชีวิตการทำงานของเราคืออะไร มองตัวเองอยู่ที่ไหนในห้าปี สิบปีข้างหน้า นั่นคือเหตุผลอย่างหนึ่งที่เราทำและเป็นอย่างที่เราเป็นอยู่ครับ

ข้อสอง เราก็เป็น “เจ้าของกิจการ” ได้ด้วยตัวด้วยใจของเราเอง ก็ของหรืองานอะไรบนโต๊ะนั่นงัยครับ “กิจ” และ “การ” ของเราทั้งนั้น

ข้อสาม คุยกับเพื่อนๆที่ทำงานดูสิ เค้ามีเป้าหมายอะไรและทำอะไรเพื่อเป้าหมายแบบเราบ้าง

ข้อสี่ ปรึกษาเจ้านาย ถึงแผนชีวิตการทำงานของคุณ รับรองว่าได้อะไรดีๆครับ

ข้อห้า อย่าบอกตัวเองว่าโน่นก็ยาก นี่ก็ยากก บอกตัวเองว่าอะไรๆก็ง่าย ที่ยากแค่ยังคิดไม่ออกเท่านั้น (เดี๋ยวมันก็คิดออก)

ข้อหก เล่าให้เพื่อนร่วมงานฟังว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ หาแรงหนุน กำลังใจ อย่าเก็บงานตัวเองเอาไว้กับตัวเอง

ข้อเจ็ด คุยกับเพื่อนที่ทำงานที่ตัวเองไม่คิดว่าจะได้คุย (เพราะงานไม่ได้เกี่ยวข้องกัน) ปรึกษาคนแปลกหน้าในที่ทำงาน ถ้ามีปัญหา รับรองจะได้อะไรดีดีครับ

ข้อแปด มองโลกในแง่บวกเสมอ อะไรก็เกิดได้ อะไรก็ไม่แน่นอน เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันและรู้ไว้ว่า ใจสำคัญที่สุด

ข้อเก้า ชักเริ่มสนุกแล้วใช่มั้ยครับ...

เดินต่อไป มองกลับไปข้อแรกเมื่อรู้สึกอยากสุข

ไม่มีทุกข์ในที่ทำงานครับ... นะครับ

Monday, 19 October 2009

งานออกแบบ? นักออกแบบ?




เรื่องใกล้ตัวบางครั้งก็ดูเหมือนไกล สิ่งบางสิ่งที่อยู่ห่างออกไป บางครั้งก็แอบมาอยู่ใกล้ๆแค่นี้เอง

เคยถามตัวเองบ้างไหม อินทิเรียร์ดีไซน์เนอร์ “เป็นใคร” มาจากไหน.. มัณฑนากร? สถาปนิกมืออาชีพ? หรือคือคนออกแบบตกแต่งภายใน ผู้รับเหมาอินทิเรียร์ หรือคนที่เคยเป็นนักศึกษาหรือที่เรียนมาทางสายออกแบบ (..หรืออาจไม่ต้องเคยเรียน) หรือจะเป็นใครสักคนก็ได้ที่รสนิยมดูดี

เคยถามตัวเองบ้างไหม อินทิเรียร์ดีไซน์ “คืออะไร” การออกแบบตกแต่งภายในให้สวย หรู แลดูชิค ฮิป เก๋ เท่? คอนเทมหรือโมเดิร์น หรือคลาสสิกมีคุณค่าไร้กาลเวลา หรือไม่ว่าจะคืออะไร เป็นอะไร จะแต่งอย่างไร วางอะไรตรงไหนก็ได้ที่เป็นตัวเรา ก็จะเอาแบบนั้น ก็มันชอบแบบนี้ แล้วใครจะทำไม

หลายปีที่ผ่านไปโลกมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เร็วและแรง ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางวิทยาศาสตร์ทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้กลายเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องอะไรที่เป็นธรรมดาของชีวิต วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ยังทำให้เราเข้าใจร่างการ สรีระ ความสามารถและศักกายภาพของมนุษย์มากขึ้น และวิทยาศาสตร์ในหลายๆศาสตร์ทำให้เราเข้าใจและค้นพบมุมมองและพฤติกรรมของมนุษย์แบบที่ไม่เคยเข้าใจไม่เคยคาดคิดมาก่อนมาก่อน

วิทยาศาสตร์ทำให้อินทิเรียร์ดีไซน์ “เปลี่ยนไป” ทำให้คนที่เรียกตัวเองว่าดีไซเนอร์ต้อง “เปลี่ยนแปลง” ความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์ทำให้อินทิเรียร์ดีไซน์มีความสำคัญมากขึ้นในมิติของสังคม

จากนี้ไปอินทิเรียร์ดีไซน์คงไม่ใช่แค่ทำอะไรให้ “สวยและดูดี” แต่ต้องปรับสมดุลของพฤติกรรมต่างๆของเราเพื่อช่วยให้มันดีขึ้น และต้องทำให้ “คุณภาพ”ของเราชีวิตดีขึ้น จากการที่เราเข้าใจ “ความหมายของคุณภาพ” ชีวิตมากขึ้นด้วยความก้าวหน้าและโลกที่เปลี่ยนไป

อินทิเรียร์ดีไซน์ต้องเป็น “ผู้นำ” ความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ “ผู้ตาม” เหมือนที่เป็นมา อินทิเรียร์ดีไซน์เนอร์ต้องเข้าใจว่าออกแบบให้สวยให้มีสไตลย์น่ะ “ใครๆก็ทำได้” แต่สิ่งที่อยู่เหนือกว่าและสำคัญกว่านั้นคือเรื่องที่เปลี่ยนไปของ “มนุษย์”
...
เพราะเรามีชีวิตที่ยาวนานขึ้น จำนวนคนก็มากขึ้น เมืองก็แน่นขึ้น

เพราะเรารู้จักใช้ชีวิตมากขึ้น จำนวนฟังก์ชันก็มากขึ้น ความจำเป็นก็มากขึ้นและลดลง

เพราะเราเข้าใจชีวิตของตัวเราและคนอื่นแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ความสำคัญนอกเหนือจากฟังก์ชันหรือความสวยงามก็มากขึ้น มุมมองจากคนอื่นก็มีที่ยืน มีเวทีให้เล่นมากกว่าเดิม

งานของอินทิเรียร์ดีไซน์เนอร์นับจากนี้น่าจะมีจุดยืนอยู่ที่ความยาวนาน (Longevity) ทั้งในมิติของ “ความรู้สึกได้” และ “ความเป็นจริง”
...

เมื่อเมืองใหม่ชื่อซาชิในญี่ปุ่นทั้งเมืองสร้างจากโพลีคาร์บอน เทคโนโลยีที่คาดว่าจะพร้อมนำมาใช้ก็ในอีกสิบปีข้างหน้า เราออกแบบตอนนี้เพื่อรองรับอะไรในอนาคต และอนาคตคืออะไร

และเมื่อในแคลิฟอเนียร์มีพิพิธภัณฑ์หนึ่งที่อยู่ใต้ดิน ใช้แสงธรรมชาติและอากาศจากภายนอกทั้งหมด เราใช้ตำรามาตราฐานเล่ม แนวคิดเดิมๆหรือตีลังกามุมไหนเป็นพื้นฐานการออกแบบ

ทั้งตอนนี้ในฮ่องกงเริ่มมีการออกแบบอพาร์เมนต์ให้มีส่วนหนึ่งของฟังก์ชันครัวกับห้องนั่งเล่น “หมุนรอบตัว” ได้เพื่อปรับเปลี่ยนทั้ง “อารมณ์” และ “ความเป็นจริง” ของห้องที่พื้นที่จำกัดเหลือเกิน

เมื่อมีพลาซ่าในดูไบที่ใช้เทนชันเมมเบรนซึ่งให้แสงสว่าง กันความร้อนในกลางวัน แต่หุบให้สวยได้และให้แสงทำหน้าที่เหมือน “ไฟถนน” ในเวลากลางคืนจากการเก็บพลังงานในตอนกลางวัน

เมื่อสถานียูเนียนสแควร์ในนิวยอร์กกำลังจะมีร้านค้าจำนวนมากเกิดขึ้น ร้านรวงที่ไม่ทำให้สถานีที่แน่นขนัดอยู่แล้วไปด้วยคนแออัดมากขึ้น(แต่กลับรู้สึกแออัดน้อยลง) ด้วยแนวคิดร้านหมุนตามแทรฟฟิกของคน ตามแทรฟฟิกของเวลา

และเมื่อตึกสถาปัตยกรรมไดนามิกแห่งหนึ่งในดูไบ ออกแบบให้แต่ละชั้นและแต่ละฟลอร์หมุนได้เป็นอิสระด้วยตัวเองตามแรงลม แล้วอินทิเรียร์จะฉีกโจทย์เรื่องทิศทาง แสง ลมและ “อารมณ์”ที่สัมผัสได้จากสถาปัตยกรรมภายนอกได้อย่างไร

เมื่อโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำอย่างไรงานอินทิเรียร์ดีไซน์จะปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลง(แบบไม่เป็นผู้ตาม)

...

ทำอย่างไรให้ความหมายและวิธีการของงานอินทิเรียร์ดีไซน์คือ การปรับปรุงเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ไม่ใช่แค่ให้ความสวย

ทำอย่างไรให้มุมมองอินทิเรียร์ดีไซน์เนอร์จะรักษาสิ่งดีดีที่มีคุณค่าที่ค้นหาแล้วค้นพบ และสามารถสะท้อนให้เห็นด้วยตัวงาน ไม่ใช่แค่นำเสนอด้วย “สไตลย์” หรือ “แนวคิด”

ทำอย่างไรให้ผลงานดีไซน์ที่ออกมาจะยังเต็มไปด้วยความตื่นเต้น น่าติดตาม ทำให้ทุกคนทุกฝ่าย ไม่ว่าผู้ใช้หรือเจ้าของโครงการ เกิดความพึงพอใจ

ทำอย่างไรให้งานของเราทั้งหมดคือความภาคภูมิใจ น่าทึ่ง และน่าเคารพ

ทำอย่างไรให้เราทำหน้าที่สร้าง “ประสบการณ์ที่ดี” ให้คนรู้สึก “รับรู้ได้” เมื่ออยู่ในสเปซ เป็น “ประสบการณ์” ที่ยั่งยืนสักนิด แบบออกจากสเปซแล้วยังอด“คิดถึง”ไม่หาย

...

งานอินทิเรียร์ดีไซน์คือการ “ขอยืม” ประสบการณ์ของคนอื่นรอบตัว สถาปนิก วิศวกร เจ้าของโครงการ หรือผู้ใช้งานในอนาคต เอามาออกแบบ เอามาเกลา เอามาเหลาให้ดีขึ้น สบายขึ้น ง่ายขึ้น และแน่นอน ต้องดูดีขึ้น

อินทิเรียร์ดีไซน์เนอร์ต้องเป็นผู้ที่รู้จักคนอื่นคนนั้นดีซะกว่าตัวเขารู้จักตัวเอง

พอยืม “ประสบการณ์” แล้วก็คืนกลับไปให้เป็น “สิ่งใหม่”
ได้รับแล้วเขาเหล่านั้นคงจะประทับใจ ที่รู้สึกว่าเราน่ะรู้จักเขาเป็นอย่างดี
..จนแอบ “คิดถึง”

...

ทีนี้รู้ตัวเองบ้างไหมว่า อินทิเรียร์ดีไซน์เนอร์ คือใคร

หรืออินทิเรียร์ดีไซน์คืออะไร

Sunday, 18 October 2009

แอบคิดนิดหนึ่ง: งานประกวดรางวัลที่หังโจว





สัปดาห์นี้ผมมาเมืองจีนครับ เป็นการมาเมืองจีนที่แตกต่างจากที่ไปทุกๆปีที่ผมมักจะมุ่งไปที่กวางโจว (Goungzhou) เพื่อดูความมหัศจรรย์ของเฟอร์นิเจอร์และนวัตกรรมใหม่ๆของประเทศจีนในงานคันตงแฟร์และบิวท์เดค ปีนี้ผมเข้าร่วมงานสัปดาห์งานดีไซน์ที่หังโจว (Hangzhou) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน100%ดีไซน์เซี่ยงไฮ้ (งาน100%Design® จะจัดตามเมืองที่เป็นศูนย์กลางการออกแบบใหญ่ๆทั่วโลก เช่นลอนดอน โตเกียว นิวยอร์ก ฯลฯ) โดย Asia Pacific Federation of Architects and Interiors (APFAI) ที่มีผู้บริหารและออร์แกไนเซอร์จาก PARSON School of Design, New York และนิตรสารอินทิเรียร์ชื่อดังของโลก Interior Design® เป็นผู้จัดการและสนับสนุนครับ

ผลงานของบริษัทฯของผมเองได้รับการคัดเลือกให้เข้ารอบสุดท้ายจากผลงานกว่าพันชิ้นในการแข่งขันประกวดผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมภายในของผู้เข้าประกวดของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อเมริกา อังกฤษ ฮ่องกง รวมทั้งเกือบทุกประเทศในเอเชีย ที่สุดหลังจากการเดินทางที่สุดแสนจะทุลักทุเล บินจากกรุงเทพต่อเครื่องสายการบินจีนที่กวางโจว (แวะค้างคืนอย่างฉุกละหุก เนื่องจากเจอพายุ) ก็เป็นที่น่าปลื้มใจที่บริษัทฯได้รับรางวัลใหญ่ คือรางวัล สถาปนิกยอดเยี่ยมอันดับ2 จาก 2009 Interior Design Awards for Elite ในกลุ่มงานสถาปัตยกรรมที่พักอาศัย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการแข่งขันกันสูงมากที่สุด โดยมีผู้เข้ารอบสุดท้ายของกลุ่มกว่าห้าสิบบริษัทจากทั่วโลก

พูดก็พูดเมืองจีนเดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปมากครับ ปรับตัวเองจากผู้ผลิต ผู้ตาม เดินหาความเป็นผู้นำ ผู้พัฒนา การที่ APFAI เลือกหังโจวเป็นโฮสต์จัดงานครั้งนี้ก็เพราะเห็นภาพอุตสาหกรรมงานออกแบบและงานออกแบบสถาปัตยกรรมของเมืองหลายเมือง รวมทั้งเขตหังโจว ซูโจวและเขตเซี่ยงไฮ้ที่เปลี่ยนไปแบบดังกล่าว(อย่างแรง) จนทำให้ผู้นำของโลกด้านการออกแบบอย่างอิตาลี ฝรั่งเศส หรือประเทศอื่นในยุโรปและอเมริกาต้องหันกลับมามอง (อีกไม่นานอาจต้องวิ่งไล่ตาม ถ้ามัวแต่มอง) ดีไซน์เนอร์ชื่อดังเดี๋ยวนี้ก็อยู่แถวฮ่องกง สิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ทั้งนั้น งานที่ดีๆ แลดูมันส์ๆก็มักมีให้เห็นจากภูมิภาคแถบนี้เป็นส่วนใหญ่ ก็คงด้วยการเงินและเศรษฐกิจของคนและธุรกิจแถวนี้ เดี๋ยวนี้ใครว่าเมืองจีนเชย ว่าไปว่าเดี๋ยวนี้โลกทั้งใบหมุนรอบเอเชียก็ไม่เกินความจริงครับ

คงต้องหันกลับมาดูว่างานออกแบบในบ้านเรามีความเป็นอินเตอร์ขนาดไหน จริงๆแล้วฝรั่ง(ทั้งประเภทหัวดำหรือหัวทอง)ยอมรับกันทั้งนั้นว่าดีไซน์เนอร์ไทยนั้นฝีมือดีมากแต่หาทางเกิดยาก (หาตัวไม่ค่อยเจอ หรือเจอแต่ยังไม่ใช่) ผมคิดว่าเพราะเวลาเราคิดงาน เรามักเดินวนอยู่กับตัวเองและไม่รู้จักผสมผสานความสามารถของความเป็นนักศิลปะหรือศิลปินที่มีอยู่ในตัวให้เข้ากับกระแสหรือความเป็นจริงอะไรที่เกิดอยู่รอบโลก ความภูมิใจในความเป็นไทยน่ะดีแต่ต้องรู้จักสิ่งที่อยู่รอบตัวแล้วแสดงออกมาแบบตามให้ทันด้วย จริงมั้ยครับ

Friday, 16 October 2009

เครือข่ายสังคมออนไลน์ นโยบายบนความเป็นจริง




สองสามสัปดาห์มานี้ผมไม่มีเวลากับงานเขียนมากนัก โชคดีที่เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีออนไลน์ทั้งหลาย ไม่ว่ามือถือ สมาร์ทโฟน วายไฟ และโซเชียลเน็ตเวิร์กหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทำให้เรื่องส่วนตัวและการทำงานหลายอย่างของผมถึงจะไม่ได้ราบรื่นนัก แต่ก็ไม่ถึงกับสะดุด

“คุณเล่นเอ็ม หรือเฟสบุ๊คหรือเปล่า” ดูเหมือนคำถามแบบนี้จะเป็นเรื่องปรกติไปแล้วสำหรับการสัมภาษณ์งานในยุคปัจจุบัน ผู้ถูกสัมภาษณ์มักจะตอบแบบกล้าๆกลัวๆว่า “เล่นครับ เอ่อแต่ก็ไม่บ่อย”

...ก็ว่ากันไป

“คือที่ถามน่ะ เพราะบริษัทสนใจคนที่ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นหรือคุ้นเคยกับมันครับ”
“อ๋อ งั้นหรือพี่” ท่าทางเครียดน้อยลง
“ครับ ผมน่ะติดเอ็ม และใช้บีบีอับรูปขึ้นเฟสบุ๊กประจำเลยครับพี่”

...

เครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นเรื่องที่ธรรมดาและกึ่งจะจำเป็นไปซะแล้วในโลกทุกวันนี้ อย่างไรก็ดีหลายๆบริษัท มีมุมมองหลายมุมและมีวิธีปฏิบัติกับพนักงานที่ใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์กในรูปแบบต่างๆกัน เพื่อนของผมคนหนึ่งทำงานในบริษัทออกแบบที่อเมริกาได้รับอนุญาติให้เล่นเฟสบุ๊กได้ไม่เกินสิบนาทีต่อวัน (แต่ก็ไม่ได้ห้าม) บริษัทไฟแนนซ์หลายแห่งในเมืองไทยบล๊อกเอ็มและเฟสบุ๊กอย่างเด็ดขาด อีกหลายบริษัททางวิศวกรรมในเมืองไทยปล่อยให้ใช้อย่างอิสระเพราะอาจไม่รู้ว่ามันคืออะไรและพนักงานทำอะไรอยู่อีกด้านหนึ่งของคอมพิวเตอร์ส่วนตัว บริษัทใหญ่เล็กที่ทำทางด้านสื่อ มีเดีย หรือประชาสัมพันธ์ โฆษณา กำหนดว่าพนักงานรุ่นใหม่ๆต้องรู้จักสามารถใช้เว็บและโซเชียลเน็ตเวิร์กได้อย่างคล่องแคล่วเพื่อการทำงานวิจัยตลาดและพูดคุยติดต่อกับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับองค์กรต่างๆ เรื่องของเครือข่ายสังคมออนไลน์ขณะนี้กำลังกลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดาและควรมีรูปแบบกำหนดการใช้งานได้ตรงกับเป้าหมายและนโยบายองค์กร เมื่อเรื่องที่ “ธรรมดา” ของโลกปัจจุบันกลายเป็นเรื่อง “ไม่ธรรมดา” ที่ทุกๆองค์กรควรรู้ เข้าใจและสามารถกำหนดเป็นแนวทางได้

...

ไม่ว่าจะเป็นแนวทางแบบ “อยากให้คุณรู้ว่าเราอยากให้คุณใช้ (เครือข่ายสังคมออนไลน์)” แต่คุณจะใช้ให้เป็นและใช้อย่างมีประโยชน์ได้อย่างๆไร

หรือเป็นแนวทางแบบ “อยากให้เข้าใจวิธีการใช้งาน” มากน้อย ถี่บ่อย แผนกใดใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์ไหน ในเครื่องมือในเครือข่ายประเภทใด (ไม่ใช่ตะบี้ตะบันเล่นแต่เกมส์) ขอบเขตอยู่ที่ไหน

ทั้งเป็นแนวทางแบบ “อยากให้เข้าใจ อยากให้คุณรู้จักแยกแยะการใช้งานส่วนตัวและการใช้เรื่องงาน” จะมีกี่บัญชีชื่อ กี่แอ็กเค้าก็ว่ามา
และเป็นแนวทางแบบ “อยากให้เข้าใจว่ามีความเสี่ยงจากการใช้งาน” ไม่ว่าไวรัส หรือความลับบริษัทรั่วไหล และเราจะช่วยกันป้องกันอย่างไรดี

สุดท้าย คืออยากให้เข้าใจว่า “ถ้าคุณสามารถใช้ประโยชน์จากเจ้าเครือข่ายสังคมออนไลน์เหล่านี้ได้ บริษัทจะมองเห็นคุณค่า” และพร้อมที่จะตอบแทนพนักงานในรูปแบบต่างๆ

...

กำหนดแนวทางได้ดี ทำให้พนักงานเข้าใจและเชื่อมั่น สุดท้ายนโยบายเหล่านี้จะให้ผลเลิศกับองค์กรเอง

เรามาลองใช้ประโยชน์แบบจริงจังจากเครือข่ายสังคมออนไลน์กันดีมั้ยครับ

Design Is.. Milan Salone Internazionale del Mobile (ตอนที่ 3) 09-10-09




อีกไลท์ติ้งแบรนด์ๆหนึ่งที่น่าสนใจและได้นำเสนอในงาน EUROLUCE เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของมิลานแฟร์ 2009 ที่ผมอยากจะกล่าวถึงคือ ฟอนทานา อาเต (Fontana Arte) ซึ่งเป็นบริษัทที่ออกแบบผลิตไฟและระบบแสงสว่างมานานหลายร้อยปีครับ ผลงานที่โดดเด่นที่ทำให้แบรนด์ Fontana Arte นี้เป็นที่รู้จักคืองานออกแบบแสงและทิศทางของแสงผ่านของอีเลเมนต์ภายในสถานที่สำคัญต่างๆ งานแสตนกล๊าสในโบสถ์เมืองมิลาน ดูโอโม ซึงยังเป็นหลักฐานยืนยันความเป็นนักออกแบบทิศทางของแสงที่ไม่เป็นสองรองใครในยุโรปหรือในโลกมาจนถึงทุกวันนี้

Fontana Arte เป็นแบรนด์รู้จักดีในแก่การนำเสนอการออกแบบดวงโคมเก๋หรู จนที่ยอมรับของนักสะสมเฟอร์นิเจอร์ในยุโรป และเริ่มฮิตในเอเชียและอเมริกา

สำหรับงานที่ Fontana Arte นำเสนอในงานแฟร์ครั้งนี้สร้างสรรค์โดย นักออกแบบและสถาปนิก Piero Russi โดยตั้งใจนำเสนอให้เห็นถึงความผสมผสานของวัฒนธรรมการทำงานของนักออกแบบในนามของฟอนทานาเองในอดีตผ่านการเน้นย้ำให้เห็นถึงรากเหง้าของโครงการต่างๆในโลกปัจจุบันโดยนำเสนอออกมาเป็นลำแสงที่ส่องกระทบลงบนอีลีเมนต์รูปไข่ที่ต้องการ งานของฟอนตานาอาเตยังมีอีกหลายชิ้นที่นำเสนอโดยศิลปินนักออกแบบรุ่นใหม่ที่เต้มไปด้วยความสามารถเช่น Marco Acerbis, Marco Merendi, Matteo Nunziati, Julian Pastorino & Cecilia Suarez, Piero Russi, Gabi Peretto, Maurizio Quargnale, Marco Zanuso Jr. หรือ นักออกแบบสถาปนิกชื่อดังอย่าง Arquitectonica/arch. Laurinda Spear จาก Miami และ lighting specialists อย่างบริษัทสถาปนิก Dante Bonuccelli ผู้เพิ่งสร้างชื่อจากงานในมิลานเองอย่างมหาวิทยาลัย Bocconi และการออกแบบแสงให้กับ Politecnico ที่เมือง Bovisa. งานของฟอนตานาอาเตครั้งนี้แตะและเตะตา ด้วย เชฟของวัสดุผสมอลูมินัมและไฟเบอร์กล๊าสที่ต่อเนื่อง เร้าใจของกระจกผสมแก้วขึ้นรูป ด้วยวัสดุดังกล่าวทำให้งานที่ออกมาใช้พลังงานต่ำแต่มีการกระจายตัวของแสงดีมาก

ที่สะดุดตามาอีกชิ้นหนึ่งคือแผ่นกระจกดิสก์ 11 แผ่นที่นำมาประกอบกันด้วย stratified glass sheet ที่หนักถึง 450 กิโลกรัม แต่แต่ละแผ่นหมุนรอบตัวเองเหมือน satellites ในท้องฟ้า

งานแฟร์แต่ละครั้งมีรายละเอียดมากมายที่น่าสนใจเล่าไม่หมดจริงๆครับ ครั้งต่อไปผมอยากจะพูดถึงแบรนด์เฟอร์นิเจอร์แบรนด์หนึ่งซึ่งหลายๆท่านเป็นแฟนพันธ์แท้ แบรนด์นี้มักได้รับงานออกแบบและผลิตเฟอร์นิเจอร์หรูในรถยนต์หรู เรือสำราญ เครื่องบินส่วนตัวของบุคคลสำคัญ หรือแม้แต่ในชั้นหนึ่งหรือชั้นธุรกิจของหลายสายการบิน แล้วพบกันครั้งหน้านะครับ