Monday 19 October 2009

งานออกแบบ? นักออกแบบ?




เรื่องใกล้ตัวบางครั้งก็ดูเหมือนไกล สิ่งบางสิ่งที่อยู่ห่างออกไป บางครั้งก็แอบมาอยู่ใกล้ๆแค่นี้เอง

เคยถามตัวเองบ้างไหม อินทิเรียร์ดีไซน์เนอร์ “เป็นใคร” มาจากไหน.. มัณฑนากร? สถาปนิกมืออาชีพ? หรือคือคนออกแบบตกแต่งภายใน ผู้รับเหมาอินทิเรียร์ หรือคนที่เคยเป็นนักศึกษาหรือที่เรียนมาทางสายออกแบบ (..หรืออาจไม่ต้องเคยเรียน) หรือจะเป็นใครสักคนก็ได้ที่รสนิยมดูดี

เคยถามตัวเองบ้างไหม อินทิเรียร์ดีไซน์ “คืออะไร” การออกแบบตกแต่งภายในให้สวย หรู แลดูชิค ฮิป เก๋ เท่? คอนเทมหรือโมเดิร์น หรือคลาสสิกมีคุณค่าไร้กาลเวลา หรือไม่ว่าจะคืออะไร เป็นอะไร จะแต่งอย่างไร วางอะไรตรงไหนก็ได้ที่เป็นตัวเรา ก็จะเอาแบบนั้น ก็มันชอบแบบนี้ แล้วใครจะทำไม

หลายปีที่ผ่านไปโลกมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เร็วและแรง ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางวิทยาศาสตร์ทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้กลายเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องอะไรที่เป็นธรรมดาของชีวิต วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ยังทำให้เราเข้าใจร่างการ สรีระ ความสามารถและศักกายภาพของมนุษย์มากขึ้น และวิทยาศาสตร์ในหลายๆศาสตร์ทำให้เราเข้าใจและค้นพบมุมมองและพฤติกรรมของมนุษย์แบบที่ไม่เคยเข้าใจไม่เคยคาดคิดมาก่อนมาก่อน

วิทยาศาสตร์ทำให้อินทิเรียร์ดีไซน์ “เปลี่ยนไป” ทำให้คนที่เรียกตัวเองว่าดีไซเนอร์ต้อง “เปลี่ยนแปลง” ความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์ทำให้อินทิเรียร์ดีไซน์มีความสำคัญมากขึ้นในมิติของสังคม

จากนี้ไปอินทิเรียร์ดีไซน์คงไม่ใช่แค่ทำอะไรให้ “สวยและดูดี” แต่ต้องปรับสมดุลของพฤติกรรมต่างๆของเราเพื่อช่วยให้มันดีขึ้น และต้องทำให้ “คุณภาพ”ของเราชีวิตดีขึ้น จากการที่เราเข้าใจ “ความหมายของคุณภาพ” ชีวิตมากขึ้นด้วยความก้าวหน้าและโลกที่เปลี่ยนไป

อินทิเรียร์ดีไซน์ต้องเป็น “ผู้นำ” ความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ “ผู้ตาม” เหมือนที่เป็นมา อินทิเรียร์ดีไซน์เนอร์ต้องเข้าใจว่าออกแบบให้สวยให้มีสไตลย์น่ะ “ใครๆก็ทำได้” แต่สิ่งที่อยู่เหนือกว่าและสำคัญกว่านั้นคือเรื่องที่เปลี่ยนไปของ “มนุษย์”
...
เพราะเรามีชีวิตที่ยาวนานขึ้น จำนวนคนก็มากขึ้น เมืองก็แน่นขึ้น

เพราะเรารู้จักใช้ชีวิตมากขึ้น จำนวนฟังก์ชันก็มากขึ้น ความจำเป็นก็มากขึ้นและลดลง

เพราะเราเข้าใจชีวิตของตัวเราและคนอื่นแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ความสำคัญนอกเหนือจากฟังก์ชันหรือความสวยงามก็มากขึ้น มุมมองจากคนอื่นก็มีที่ยืน มีเวทีให้เล่นมากกว่าเดิม

งานของอินทิเรียร์ดีไซน์เนอร์นับจากนี้น่าจะมีจุดยืนอยู่ที่ความยาวนาน (Longevity) ทั้งในมิติของ “ความรู้สึกได้” และ “ความเป็นจริง”
...

เมื่อเมืองใหม่ชื่อซาชิในญี่ปุ่นทั้งเมืองสร้างจากโพลีคาร์บอน เทคโนโลยีที่คาดว่าจะพร้อมนำมาใช้ก็ในอีกสิบปีข้างหน้า เราออกแบบตอนนี้เพื่อรองรับอะไรในอนาคต และอนาคตคืออะไร

และเมื่อในแคลิฟอเนียร์มีพิพิธภัณฑ์หนึ่งที่อยู่ใต้ดิน ใช้แสงธรรมชาติและอากาศจากภายนอกทั้งหมด เราใช้ตำรามาตราฐานเล่ม แนวคิดเดิมๆหรือตีลังกามุมไหนเป็นพื้นฐานการออกแบบ

ทั้งตอนนี้ในฮ่องกงเริ่มมีการออกแบบอพาร์เมนต์ให้มีส่วนหนึ่งของฟังก์ชันครัวกับห้องนั่งเล่น “หมุนรอบตัว” ได้เพื่อปรับเปลี่ยนทั้ง “อารมณ์” และ “ความเป็นจริง” ของห้องที่พื้นที่จำกัดเหลือเกิน

เมื่อมีพลาซ่าในดูไบที่ใช้เทนชันเมมเบรนซึ่งให้แสงสว่าง กันความร้อนในกลางวัน แต่หุบให้สวยได้และให้แสงทำหน้าที่เหมือน “ไฟถนน” ในเวลากลางคืนจากการเก็บพลังงานในตอนกลางวัน

เมื่อสถานียูเนียนสแควร์ในนิวยอร์กกำลังจะมีร้านค้าจำนวนมากเกิดขึ้น ร้านรวงที่ไม่ทำให้สถานีที่แน่นขนัดอยู่แล้วไปด้วยคนแออัดมากขึ้น(แต่กลับรู้สึกแออัดน้อยลง) ด้วยแนวคิดร้านหมุนตามแทรฟฟิกของคน ตามแทรฟฟิกของเวลา

และเมื่อตึกสถาปัตยกรรมไดนามิกแห่งหนึ่งในดูไบ ออกแบบให้แต่ละชั้นและแต่ละฟลอร์หมุนได้เป็นอิสระด้วยตัวเองตามแรงลม แล้วอินทิเรียร์จะฉีกโจทย์เรื่องทิศทาง แสง ลมและ “อารมณ์”ที่สัมผัสได้จากสถาปัตยกรรมภายนอกได้อย่างไร

เมื่อโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำอย่างไรงานอินทิเรียร์ดีไซน์จะปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลง(แบบไม่เป็นผู้ตาม)

...

ทำอย่างไรให้ความหมายและวิธีการของงานอินทิเรียร์ดีไซน์คือ การปรับปรุงเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ไม่ใช่แค่ให้ความสวย

ทำอย่างไรให้มุมมองอินทิเรียร์ดีไซน์เนอร์จะรักษาสิ่งดีดีที่มีคุณค่าที่ค้นหาแล้วค้นพบ และสามารถสะท้อนให้เห็นด้วยตัวงาน ไม่ใช่แค่นำเสนอด้วย “สไตลย์” หรือ “แนวคิด”

ทำอย่างไรให้ผลงานดีไซน์ที่ออกมาจะยังเต็มไปด้วยความตื่นเต้น น่าติดตาม ทำให้ทุกคนทุกฝ่าย ไม่ว่าผู้ใช้หรือเจ้าของโครงการ เกิดความพึงพอใจ

ทำอย่างไรให้งานของเราทั้งหมดคือความภาคภูมิใจ น่าทึ่ง และน่าเคารพ

ทำอย่างไรให้เราทำหน้าที่สร้าง “ประสบการณ์ที่ดี” ให้คนรู้สึก “รับรู้ได้” เมื่ออยู่ในสเปซ เป็น “ประสบการณ์” ที่ยั่งยืนสักนิด แบบออกจากสเปซแล้วยังอด“คิดถึง”ไม่หาย

...

งานอินทิเรียร์ดีไซน์คือการ “ขอยืม” ประสบการณ์ของคนอื่นรอบตัว สถาปนิก วิศวกร เจ้าของโครงการ หรือผู้ใช้งานในอนาคต เอามาออกแบบ เอามาเกลา เอามาเหลาให้ดีขึ้น สบายขึ้น ง่ายขึ้น และแน่นอน ต้องดูดีขึ้น

อินทิเรียร์ดีไซน์เนอร์ต้องเป็นผู้ที่รู้จักคนอื่นคนนั้นดีซะกว่าตัวเขารู้จักตัวเอง

พอยืม “ประสบการณ์” แล้วก็คืนกลับไปให้เป็น “สิ่งใหม่”
ได้รับแล้วเขาเหล่านั้นคงจะประทับใจ ที่รู้สึกว่าเราน่ะรู้จักเขาเป็นอย่างดี
..จนแอบ “คิดถึง”

...

ทีนี้รู้ตัวเองบ้างไหมว่า อินทิเรียร์ดีไซน์เนอร์ คือใคร

หรืออินทิเรียร์ดีไซน์คืออะไร

2 comments:

Ploy Lumthong said...

สวัสดีค่ะพี่โป้
พักนี้พี่ไม่ post note ใน facebook เลย เลยเข้ามาดูใน blog แทน
แนวคิดของพี่ จะปรับเอาไปใช้กับงานโฆษณาค่ะ ขอบคุณมากค่ะ :)
พลอย ค่ะ

กุลเดช สินธวณรงค์ said...

สวัสดีครับ ในfacebookพี่อยากให้เป็นอะไรที่เบาๆครับ :)

Post a Comment