Monday, 31 January 2011

เรียนรู้เพื่อคิดต่าง




ในการกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุม State of the Union ในสหรัฐเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา ประธานาธิปดี บารัค โอบามา เน้นย้ำว่า ความสำคัญของอนาคตของสหรัฐ ขึ้นอยู่กับการแข่งขันกับตัวเองเพื่อให้การศึกษาที่ถูกต้องแก่เยาวชนของเรา ปัจจุบันจำนวนประชากรของสหรัฐที่จบการศึกษาอย่างน้อยปริญญาตรีตกลงมาอยู่แค่อันดับ 9 ของโลก

บทความทางการศึกษาล่าสุดของหนังสือพิมพ์ The Observer โดย Anushka Asthana ชี้ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันและความล้มเหลวของการศึกษาขั้นพื้นฐานในอังกฤษ ด้วยลักษณะทางกายภาพ โครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในรอบไม่กี่สิบปี รวมไปถึงความอ่อนล้าของความพยายามในการการปฏิรูปการศึกษาของหลายๆรัฐบาลก่อนหน้านี้

...

ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับคำสรรเสริญเยินยอว่าทักษะของแรงงานไทยเหนือกว่าดีกว่าเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่เมื่อเทียบกับคุณภาพแรงงานจากประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกอย่างจีน เราได้รับการบอกกล่าวว่าประเทศไทยมีระบบการศึกษาภาคบังคับ 12 ปีที่เหนือกว่าหลายๆประเทศในโลก เราเห็นข่าวในหนังสือพิมพ์ที่ลงกันปาวๆว่านักเรียนไทยที่ไปแข่งขันทางวิชาการโอลิมปิกได้รับเหรียญรางวัลอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลไทยดูจะภูมิใจเหลือเกินว่าการปฏิรูปการศึกษาในรอบ 12 ปี หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542นั้น ‘มีผลสัมฤทธิ์’

...

การศึกษาของประเทศไทยเริ่มต้นมาจากวัฒนธรรมของคนไทยที่ได้รับการสั่งสอนมาตั้งแต่โบราณให้เคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์ นักเรียนจะกลัว ไม่กล้าถาม ไม่กล้าตอบ ทำให้ปลูกฝังมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นระบบที่ฟังจากครูอย่างเดียว ไม่กล้าคิด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น วิเคราะห์ไม่เป็น การศึกษาไทยกลั้วกับวัฒนธรรมแบบไทยๆจึงเป็นระบบป้อนเข้าอย่างเดียว ไม่มีการแลกเปลี่ยนกัน หรือมีก็น้อยมาก มีการสนใจใฝ่หาความรู้ด้วยตนเองน้อย ทำให้เราคิดไม่เป็น วิเคราะห์ไม่ได้

แต่สังคมไทยก็ปลูกฝังว่านักเรียนต้องเป็น‘คนเก่ง’ ทั้งๆที่ก็รู้ว่าคนเก่งมักจะแข่งกันแค่เพื่อรางวัลหรือผลสอบเพียงอย่างเดียว โดยไม่คิดถึงเรื่องอื่นๆ

ทุกวันนี้การเรียนการสอนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็ยังไม่ค่อยจะมีมาตรฐานเดียวกัน เครื่องมืออุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนรวมถึงตัวอาจารย์ผู้สอนก็แตกต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยของรัฐบาลด้วยกัน หรือเอกชน ต่างจังหวัดไม่ต้องพูดถึง

ระบบการเรียนที่มีให้เลือกหรือถูกบังคับให้เลือกหลายมาตราฐานมากมาย (ซึ่งเดี๋ยวนี้มีระบบการศึกษาแบบนานาชาติด้วย) ให้หลักประกันอะไรกับเยาวชนไทยที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างของประเทศได้บ้าง?

...

Gillian Tett กล่าวในบทความล่าสุดของหนังสือพิมพ์ Financial Times โดยวิจารณ์นักศึกษาจากจีนและอินเดียที่เรียนในมหาวิทยาลัยในสหรัฐว่า ‘รู้จักโต้ตอบและยิงคำถามแรงๆ’กลับไปยังผู้สอนระหว่างการเรียน เมื่อเปรียบเทียบกับนักศึกษาจากเอเชียชาติอื่นรวมถึงไทยและญี่ปุ่นที่มักจะ‘สุภาพและนิ่งเงียบ’

...

ถึงเราจะภูมิใจในความเป็นไทย ในประวิติศาสตร์ ในอดีตอันเต็มไปด้วยเรื่องราวมหัศจรรย์ที่เหมือนจะดูสวยงาม เรารู้หรือไม่ว่าประเทศไทยติดอยู่ในอันดับท้ายๆในเรื่องประสิทธิภาพและคุณภาพการศึกษาระดับโลก โดยเฉพาะเรื่อง ‘Innovation’ และ ‘Creativity’

ความยึดมั่นถือมั่นในประวัติศาสตร์มากจนเกินไป เป็นจุดด่างที่ทำให้ประเทศล้าหลัง เวลามีปัญหาหรือข้อขัดแย้งอะไรใหม่ๆในสังคมหรือธุรกิจ คนไทยมักถูกสอนให้มองไปข้างหลังมากกว่ามองไปข้างหน้า ถูกสอนให้มองอดีตอันสวยงาม (ที่อาจไม่มีอยู่จริง) ถูกสอนให้มองผู้ที่เคยทำมาก่อน ผู้ที่เคยรู้มาก่อน ถูกสอนให้เชื่อผู้ที่ดูเหมือนจะเป็นคน‘ดี’หรือ‘ดูดี’มาก่อน ถูกสอนให้มองตัวอย่างในลักษณะ‘สูตรสำเร็จ’ของผู้ที่เคยประสบความสำเร็จในเรื่องนั้นเรื่องนี้มาก่อน

นักวิจารณ์สังคมท่านหนึ่งกล่าวอย่างไว้คมกริบว่า วัฒนธรรมความยึดมั่นถือมั่นแบบนี้ทำให้เกิดอาการละเมอเพ้อพกโหยหาอดีตที่มีอยู่แต่ในอุดมคติ น่าสนใจที่อาการแบบนี้ไม่ได้เป็นอยู่เฉพาะในเมืองไทยแต่เกิดขึ้นในประเทศยักษ์ใหญ่ในอดีตทั้งหลายที่ช้าที่จะปรับตัว เช่นสหราชอาณาจักร หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา ที่คนระดับประธานาธิปดียังออกมายอมรับ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

และอาการแบบนี้มักจะเกิดกับประเทศพวกที่ ‘ได้รับ’ จากอดีตจนเคยชิน ทำให้พอถึงเวลาที่ต้อง‘สร้าง’อนาคตขึ้นมาเองแล้วก็ทำไม่ได้ ไปไม่เป็น

...

ไม่แน่ใจเหมือนกัน ว่าเราเป็นแบบนั้นหรือเปล่า?

No comments:

Post a Comment