Tuesday, 31 May 2011

การเมืองเรื่องของไวน์




เมืองไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปแล้วครับ วันที่ 3 กรกฏาคมนี้คงจะเป็นวันพิเศษที่กระตุกต่อมสำนึกให้เรารู้สึกอีกครั้งว่าใครคือผู้มีอำนาจที่แท้จริงในประเทศนี้ อีกอย่าง วันนั้นคงเป็นวันที่สิ้นสุดการโฆษณาชวนเชื่อทางโทรทัศน์ของทั้งรัฐบาลและพรรคการเมืองหลายๆพรรคสักที ผมจะได้มีสมาธิดูรายการดีดีปรกติกับเขาบ้าง

เอ๊ะ แล้วการเมืองมันเกี่ยวอะไรกับเรื่องไวน์ เปล่านะครับ ผมคงไม่มานั่งเขียนนั่งบรรยายเรื่องนักการเมืองคนไหนดื่มไวน์อะไรบ้างให้ท่านผู้อ่านต้องรำคาญใจ(เพื่อต้องไปหามาดื่ม) ผมคิดว่าเรื่องไวน์มีหลายมุมที่มองแล้วน่าสนใจในสายตาของนักเขียนที่มองและติดตามการเมือง เพราะในอีกมุมหนึ่ง ไวน์คือความไม่เท่าเทียม ไวน์เต็มไปด้วยแง่คิด มายาคติ ไวน์คือการค้าขายและบางครั้งคือการผูกขาด ไวน์คือการตัดสินที่ยุติธรรม(หรืออาจจะไม่) ไวน์เป็นทั้งความจริงและการโกหก ไวน์คือเรื่องราวที่เต็มไปด้วยสีสัน รัก โลภ โกรธ หลง ไวน์คือกำลังใจ คือแรงสนับสนุนเวลาท้อแท้เดินต่อไม่ไหว และไวน์สามารถเป็นอะไรหลายๆอย่างที่คนเราเลือกหรืออยากที่จะให้เป็น
...
ถ้าการเมืองคือเรื่อง “การตลาด” ไวน์ก็เหมือนการเมืองตรง “การสร้างอุดมการณ์ในการตลาด” แบบที่ต้อง “คัดกรอง” เพราะเมื่อการเมืองในปัจจุบัน ด้วยสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และองค์ความรู้ ที่เป็นเทรนด์ทางการเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต การเสพ“สินค้า”ที่ภาพลักษณ์ ความหล่อ ความสวย การศึกษา การพูดคุยเก่ง นำหน้าสาระเนื้อหานโยบายที่เกิดขึ้น และกลยุทธ์ในการนำเสนอมุ่งเน้นฐานกว้างที่มีมวลชนจำนวนมากเพื่อดึงคะแนนหรือ“กำลังซื้อ”มาเป็นฝ่ายตนให้มากที่สุด จนคนที่สนใจในเนื้อหาจริงไม่ได้รับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะเปลือกแห่งการโฆษณาชวนเชื่อได้แย่งพื้นที่ในสนามการแข่งขันที่วัดกึ๋นและอุดมการณ์ไปหมด

สำหรับไวน์ ด้วยตลาดที่แข่งขันกันสูงทั้งในและนอกประเทศ การเลือกซื้อสินค้าทำให้ได้ไวน์คุณภาพต้องตาราคาถูกใจเป็นไปได้ยาก ในความเป็นจริงมีทั้งไวน์ที่ทำจากองุ่นนอกเขต องุ่นเร่งบ่ม ไวน์ฉลากสั่งผลิตพิเศษ(เพื่อเอาใจคนชอบของถูกหรือเพื่อสร้างแบรนด์) มีการเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ไวน์จากการโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อมในสื่อต่างๆ หรือการจัด Classification ของไวน์แบบเน้นสร้างประวัติศาสตร์ เรื่องราว ที่มาที่ไป ให้ดูดีดูขลัง สาระหรือรสชาดที่แท้จริงของไวน์จึงถูกบิดเบือนด้วยการโฆษณาและการวิจารณ์แบบถูกที่ต้นทาง บิดเบือนที่ปลายทาง หรือผิดๆถูกๆทั้งหมดบ้าง โครงสร้างของราคายังถูกกำหนดให้บิดเบี้ยวโดยผู้ผลิดหรือผู้ขาย ไม่ใช่กำหนดผู้ซื้อหรือกำหนดโดยตลาด สำหรับไวน์ระดับที่เรียกตัวเองว่าเป็น iconic ไวน์จากประเทศโลกเก่า “กึ๋น”และ“อุดมการณ์”ของไวน์หลายต่อหลายตัวหลายต่อหลายที่จึงถูกถูกพลิกโฉมไปหมดสิ้น
...
มองอีกมุม การเมืองคือเรื่องของตัณหาครับ “อำนาจ” เป็นสิ่งที่ไม่เข้าใครออกใคร นักการเมืองบ้านเราไม่รู้ว่าเป็นนักการเมืองโดยอาชีพหรือเป็นนักลงทุนกันแน่ พอมีเส้นบางๆระหว่างอาชีพกับการลงทุนประเทศเราเลยเปิดกว้างโดยเสรีแบบ “ใครก็เป็น(นักการเมือง)ได้”

เรื่องของไวน์จึงเต็มไปด้วยกิเลสครับ ไวน์สร้างมายาคติให้เราอยากมี อยากได้ อยากชิม อยากให้(เป็นของขวัญ) ไวน์จึงเป็นตัวแทนของ “อำนาจ”ที่มองไม่เห็นที่อยากมีไว้ครอบครอง แต่ในหลายๆประเทศไวน์เปรียบเสมือนสมบัติหรือ asset เป็นตัวแทนของอำนาจที่มองเห็นจับต้องได้ สามารถเปลี่ยนมือ ถ่ายโอน ได้เสมือนเป็นสกุลเงินสกุลหนึ่ง ที่สำคัญไวน์เหล่านั้นมีมูลค่าสูงขึ้นได้ด้วยตัวมันเอง(วินเทจดีๆ) หรือด้วยตัวผู้เป็นเจ้าของ(เลือกสถาบันประมูลไวน์เก่งๆ)
...
หรือเมื่อการเมืองคือ “การปกครอง” คือการใช้อำนาจที่ได้มาเพื่อสร้างความผาสุกให้แก่ผู้ถูกปกครอง หรืออาจมีความหมายว่าเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเพื่อที่จะกำหนดแนวทาง ข้อบังคับ หรือนโยบายให้คนในสังคมปฏิบัติตามและอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข

ไวน์ก็มีระบบการปกครองเพื่อการควบคุมคุณภาพและราคาครับ แต่ละประเทศการปกครองก็ไม่เหมือนกัน ระบบระเบียบสารพัด ยุบยับ หยุมหยิม และเต็มไปด้วย “การเมืองของการปกครอง” เช่น ที่ฝรั่งเศส ปกครองไวน์แบบเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำของชนชั้น เริ่มจาก ชนชั้นสูง (Grands Crus Classes’) ชนชั้นกลาง (Bourgeois, AOC) หรือ ชนชั้นแรงงาน (vin de pays) หรือ ที่อิตาลี เต็มไปด้วย classification ที่มีหลายมาตราฐาน สารพัดโครงสร้าง แต่เชื่อมาตราฐานแต่ละตัวไม่ค่อยได้ ดูแล้วงงไปหมด และที่อเมริกา การเมืองของไวน์ถูกกำหนดโดย distributor หรือผู้จัดจำหน่ายไม่ใช่ผู้ผลิต (แปลกประหลาดอยู่ที่เดียวในโลก) แต่น่าแปลกใจที่ไวน์ก็เหมือนการเมืองตรงที่ปกครองแล้วไม่แน่ใจว่าอำนาจที่ได้มาสร้างความสุขให้ผู้ถูกปกครอง ผู้ผลิตไวน์ ผู้จัดจำหน่าย หรือผู้ดื่มหรือไม่ อย่างไร (หลายฉลากอยากกลายเป็นคนชั้นสูง หลายฉลากอยากได้ความเท่าเทียมหรืออยากให้ยกเลิกการแบ่งชนชั้นแบบโบราณนี้)
...
และสุดท้าย การเมืองคือเรื่องของ “ความเชื่อ” ซึ่งความเชื่อทางการเมืองก็เหมือนกับความเชื่อของไวน์ที่เกิดจากการกล่อมเกลา หรือ เกิดจากการเรียนรู้ เป็นการนำมาซึ่งวัฒนธรรม โดยเป็นกระบวนการสร้างและการถ่ายทอดวัฒนธรรม เป็นการกล่อมเกลาทางจากคนรุ่นไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง จากนักดื่มอีกคนสู่นักดื่มคนอื่นๆ ความเชื่อทำให้เกิดการถ่ายทอดสิ่งที่ได้รับจากประสบการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะช่วยรักษาวัฒนธรรมทางความคิดเดิมๆเอาไว้ หรืออาจจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงไป หรือแม้แต่จะก่อให้เกิดการก่อตัวของวัฒนธรรมใหม่ๆขึ้นมาก็ได้

เพราะฉะนั้น เมื่อได้ดื่มไวน์ซักจิบ ผู้ที่ดื่มไวน์ส่วนใหญ่จึงควรพึ่งพึง พิจารณารูป รส กลิ่น สี ของไวน์ด้วย “ความเชื่อ”ของตัวเองเป็นหลัก ไม่ว่าความเชื่อนั้นจะมาจากฉลากบนขวด หรือจากการโฆษณาของนักวิจารณ์ไวน์(ไม่แปลกถ้าท่านเลือกที่จะเชื่อ) ความเชื่อเมื่อเกิดจากการเรียนรู้เมื่อดื่มบ่อยๆจึงเป็นความเชื่อที่ฝึกได้ ถ่ายทอดได้ดี และสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ต้องผูกติดกับใครหรือยึดติดกับอะไรนอกจากตัวเองครับ รักชอบขวดไหน รสชาดประมาณใด ทุกอย่างเป็นเรื่องความชอบของเราเอง ชิมเองคิดเอง โน้มเอียงได้ ไม่จำเป็นต้องเหมือนใครหรือรอให้ใครมาโน้มน้าวความชอบของเราครับ
...
เพราะในอีกมุมหนึ่งไวน์ก็คือการเมือง (และการเมืองก็หนีไม่พ้นเรื่องของไวน์) อยู่ที่มองมุมไหนและใครมองใครอยู่
...

สำหรับงานเขียนคอลัมน์นี้ ผมจึงขอเขียนออกแนวมุมมอง ความคิด เกี่ยวกับไวน์ โดยนำเสนอผ่านแง่มุมใหม่ที่แตกต่างออกไปด้วยเกร็ดต่างๆจากชีวิตของไวน์และนักชิมนักดื่ม เพื่ออรรถรสของผู้อ่าน Wine Today ทุกท่านครับ

No comments:

Post a Comment