Tuesday 31 May 2011

การเมืองเรื่องของไวน์




เมืองไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปแล้วครับ วันที่ 3 กรกฏาคมนี้คงจะเป็นวันพิเศษที่กระตุกต่อมสำนึกให้เรารู้สึกอีกครั้งว่าใครคือผู้มีอำนาจที่แท้จริงในประเทศนี้ อีกอย่าง วันนั้นคงเป็นวันที่สิ้นสุดการโฆษณาชวนเชื่อทางโทรทัศน์ของทั้งรัฐบาลและพรรคการเมืองหลายๆพรรคสักที ผมจะได้มีสมาธิดูรายการดีดีปรกติกับเขาบ้าง

เอ๊ะ แล้วการเมืองมันเกี่ยวอะไรกับเรื่องไวน์ เปล่านะครับ ผมคงไม่มานั่งเขียนนั่งบรรยายเรื่องนักการเมืองคนไหนดื่มไวน์อะไรบ้างให้ท่านผู้อ่านต้องรำคาญใจ(เพื่อต้องไปหามาดื่ม) ผมคิดว่าเรื่องไวน์มีหลายมุมที่มองแล้วน่าสนใจในสายตาของนักเขียนที่มองและติดตามการเมือง เพราะในอีกมุมหนึ่ง ไวน์คือความไม่เท่าเทียม ไวน์เต็มไปด้วยแง่คิด มายาคติ ไวน์คือการค้าขายและบางครั้งคือการผูกขาด ไวน์คือการตัดสินที่ยุติธรรม(หรืออาจจะไม่) ไวน์เป็นทั้งความจริงและการโกหก ไวน์คือเรื่องราวที่เต็มไปด้วยสีสัน รัก โลภ โกรธ หลง ไวน์คือกำลังใจ คือแรงสนับสนุนเวลาท้อแท้เดินต่อไม่ไหว และไวน์สามารถเป็นอะไรหลายๆอย่างที่คนเราเลือกหรืออยากที่จะให้เป็น
...
ถ้าการเมืองคือเรื่อง “การตลาด” ไวน์ก็เหมือนการเมืองตรง “การสร้างอุดมการณ์ในการตลาด” แบบที่ต้อง “คัดกรอง” เพราะเมื่อการเมืองในปัจจุบัน ด้วยสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และองค์ความรู้ ที่เป็นเทรนด์ทางการเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต การเสพ“สินค้า”ที่ภาพลักษณ์ ความหล่อ ความสวย การศึกษา การพูดคุยเก่ง นำหน้าสาระเนื้อหานโยบายที่เกิดขึ้น และกลยุทธ์ในการนำเสนอมุ่งเน้นฐานกว้างที่มีมวลชนจำนวนมากเพื่อดึงคะแนนหรือ“กำลังซื้อ”มาเป็นฝ่ายตนให้มากที่สุด จนคนที่สนใจในเนื้อหาจริงไม่ได้รับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะเปลือกแห่งการโฆษณาชวนเชื่อได้แย่งพื้นที่ในสนามการแข่งขันที่วัดกึ๋นและอุดมการณ์ไปหมด

สำหรับไวน์ ด้วยตลาดที่แข่งขันกันสูงทั้งในและนอกประเทศ การเลือกซื้อสินค้าทำให้ได้ไวน์คุณภาพต้องตาราคาถูกใจเป็นไปได้ยาก ในความเป็นจริงมีทั้งไวน์ที่ทำจากองุ่นนอกเขต องุ่นเร่งบ่ม ไวน์ฉลากสั่งผลิตพิเศษ(เพื่อเอาใจคนชอบของถูกหรือเพื่อสร้างแบรนด์) มีการเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ไวน์จากการโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อมในสื่อต่างๆ หรือการจัด Classification ของไวน์แบบเน้นสร้างประวัติศาสตร์ เรื่องราว ที่มาที่ไป ให้ดูดีดูขลัง สาระหรือรสชาดที่แท้จริงของไวน์จึงถูกบิดเบือนด้วยการโฆษณาและการวิจารณ์แบบถูกที่ต้นทาง บิดเบือนที่ปลายทาง หรือผิดๆถูกๆทั้งหมดบ้าง โครงสร้างของราคายังถูกกำหนดให้บิดเบี้ยวโดยผู้ผลิดหรือผู้ขาย ไม่ใช่กำหนดผู้ซื้อหรือกำหนดโดยตลาด สำหรับไวน์ระดับที่เรียกตัวเองว่าเป็น iconic ไวน์จากประเทศโลกเก่า “กึ๋น”และ“อุดมการณ์”ของไวน์หลายต่อหลายตัวหลายต่อหลายที่จึงถูกถูกพลิกโฉมไปหมดสิ้น
...
มองอีกมุม การเมืองคือเรื่องของตัณหาครับ “อำนาจ” เป็นสิ่งที่ไม่เข้าใครออกใคร นักการเมืองบ้านเราไม่รู้ว่าเป็นนักการเมืองโดยอาชีพหรือเป็นนักลงทุนกันแน่ พอมีเส้นบางๆระหว่างอาชีพกับการลงทุนประเทศเราเลยเปิดกว้างโดยเสรีแบบ “ใครก็เป็น(นักการเมือง)ได้”

เรื่องของไวน์จึงเต็มไปด้วยกิเลสครับ ไวน์สร้างมายาคติให้เราอยากมี อยากได้ อยากชิม อยากให้(เป็นของขวัญ) ไวน์จึงเป็นตัวแทนของ “อำนาจ”ที่มองไม่เห็นที่อยากมีไว้ครอบครอง แต่ในหลายๆประเทศไวน์เปรียบเสมือนสมบัติหรือ asset เป็นตัวแทนของอำนาจที่มองเห็นจับต้องได้ สามารถเปลี่ยนมือ ถ่ายโอน ได้เสมือนเป็นสกุลเงินสกุลหนึ่ง ที่สำคัญไวน์เหล่านั้นมีมูลค่าสูงขึ้นได้ด้วยตัวมันเอง(วินเทจดีๆ) หรือด้วยตัวผู้เป็นเจ้าของ(เลือกสถาบันประมูลไวน์เก่งๆ)
...
หรือเมื่อการเมืองคือ “การปกครอง” คือการใช้อำนาจที่ได้มาเพื่อสร้างความผาสุกให้แก่ผู้ถูกปกครอง หรืออาจมีความหมายว่าเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเพื่อที่จะกำหนดแนวทาง ข้อบังคับ หรือนโยบายให้คนในสังคมปฏิบัติตามและอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข

ไวน์ก็มีระบบการปกครองเพื่อการควบคุมคุณภาพและราคาครับ แต่ละประเทศการปกครองก็ไม่เหมือนกัน ระบบระเบียบสารพัด ยุบยับ หยุมหยิม และเต็มไปด้วย “การเมืองของการปกครอง” เช่น ที่ฝรั่งเศส ปกครองไวน์แบบเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำของชนชั้น เริ่มจาก ชนชั้นสูง (Grands Crus Classes’) ชนชั้นกลาง (Bourgeois, AOC) หรือ ชนชั้นแรงงาน (vin de pays) หรือ ที่อิตาลี เต็มไปด้วย classification ที่มีหลายมาตราฐาน สารพัดโครงสร้าง แต่เชื่อมาตราฐานแต่ละตัวไม่ค่อยได้ ดูแล้วงงไปหมด และที่อเมริกา การเมืองของไวน์ถูกกำหนดโดย distributor หรือผู้จัดจำหน่ายไม่ใช่ผู้ผลิต (แปลกประหลาดอยู่ที่เดียวในโลก) แต่น่าแปลกใจที่ไวน์ก็เหมือนการเมืองตรงที่ปกครองแล้วไม่แน่ใจว่าอำนาจที่ได้มาสร้างความสุขให้ผู้ถูกปกครอง ผู้ผลิตไวน์ ผู้จัดจำหน่าย หรือผู้ดื่มหรือไม่ อย่างไร (หลายฉลากอยากกลายเป็นคนชั้นสูง หลายฉลากอยากได้ความเท่าเทียมหรืออยากให้ยกเลิกการแบ่งชนชั้นแบบโบราณนี้)
...
และสุดท้าย การเมืองคือเรื่องของ “ความเชื่อ” ซึ่งความเชื่อทางการเมืองก็เหมือนกับความเชื่อของไวน์ที่เกิดจากการกล่อมเกลา หรือ เกิดจากการเรียนรู้ เป็นการนำมาซึ่งวัฒนธรรม โดยเป็นกระบวนการสร้างและการถ่ายทอดวัฒนธรรม เป็นการกล่อมเกลาทางจากคนรุ่นไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง จากนักดื่มอีกคนสู่นักดื่มคนอื่นๆ ความเชื่อทำให้เกิดการถ่ายทอดสิ่งที่ได้รับจากประสบการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะช่วยรักษาวัฒนธรรมทางความคิดเดิมๆเอาไว้ หรืออาจจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงไป หรือแม้แต่จะก่อให้เกิดการก่อตัวของวัฒนธรรมใหม่ๆขึ้นมาก็ได้

เพราะฉะนั้น เมื่อได้ดื่มไวน์ซักจิบ ผู้ที่ดื่มไวน์ส่วนใหญ่จึงควรพึ่งพึง พิจารณารูป รส กลิ่น สี ของไวน์ด้วย “ความเชื่อ”ของตัวเองเป็นหลัก ไม่ว่าความเชื่อนั้นจะมาจากฉลากบนขวด หรือจากการโฆษณาของนักวิจารณ์ไวน์(ไม่แปลกถ้าท่านเลือกที่จะเชื่อ) ความเชื่อเมื่อเกิดจากการเรียนรู้เมื่อดื่มบ่อยๆจึงเป็นความเชื่อที่ฝึกได้ ถ่ายทอดได้ดี และสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ต้องผูกติดกับใครหรือยึดติดกับอะไรนอกจากตัวเองครับ รักชอบขวดไหน รสชาดประมาณใด ทุกอย่างเป็นเรื่องความชอบของเราเอง ชิมเองคิดเอง โน้มเอียงได้ ไม่จำเป็นต้องเหมือนใครหรือรอให้ใครมาโน้มน้าวความชอบของเราครับ
...
เพราะในอีกมุมหนึ่งไวน์ก็คือการเมือง (และการเมืองก็หนีไม่พ้นเรื่องของไวน์) อยู่ที่มองมุมไหนและใครมองใครอยู่
...

สำหรับงานเขียนคอลัมน์นี้ ผมจึงขอเขียนออกแนวมุมมอง ความคิด เกี่ยวกับไวน์ โดยนำเสนอผ่านแง่มุมใหม่ที่แตกต่างออกไปด้วยเกร็ดต่างๆจากชีวิตของไวน์และนักชิมนักดื่ม เพื่ออรรถรสของผู้อ่าน Wine Today ทุกท่านครับ

Wednesday 11 May 2011

เรื่องของความสุข-ทุกข์ กับ นักการตลาด




ได้อ่านหนังสือเล่มใหม่เล่มหนึ่งชื่อ “ความสุขโดยสังเกต” โดยนักเขียนนามปากกา “นิ้วกลม” ทำให้นึกถึงเรื่องเกี่ยวกับ“ความสุข”ในรูปแบบต่างๆ สำหรับบางคนความสุขเป็นสิ่งที่ต้องวิ่งตามหา สำหรับหลายๆคนความสุขกลับเป็นสิ่งที่ได้มาเองไม่ต้องออกแรงอะไร



“ความสุข” ถือเป็นเรื่องที่ฮ๊อตฮิตในปัจจุบันครับ นักวิจัยหลายคนพยายามศึกษาว่าอะไรทำให้สุข หรือถ้าจะไม่ทุกข์นั้นต้องทำอย่างไร นักการตลาดส่วนใหญ่มักจะหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องความสุขตรงๆแต่จะใช้วิธีออกแบบหรือเล่าเรื่องราวดีดีผ่านประสบการณ์ดีดีที่จะ‘เร้า’ให้ผู้บริโภครู้สึกดีดีแบบอ้อมๆผ่านสื่อลักษณะต่างๆ

เรื่องราวดีดีเหล่านี้มักจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่สร้างความสำเร็จทางการตลาดครับ นักการตลาดที่เก่งจะสามารถร้อยเรียงเรื่องราวต่างที่สามารถส่งถึงผู้บริโภคแล้ว‘กระตุ้น’ให้เกิดการผสมผสานทางอารมณ์ในลักษณะต่างๆ

...

ศาสตราจารย์ มาติน เซลิคแมน(Martin Seligman) ผู้แต่งหนังสือ Positive Psychology กล่าวว่า การที่คนเราจะรู้สึกมีสุขได้ อยู่ที่เรามองว่าสิ่งที่จะทำให้เรามีสุขนั้นคือสิ่งที่เรา“ต้องการ” หรือ สิ่งที่เรา“ควรมี” (want vs should-have) เรื่องของเรื่องคือ ถ้าความสุขนั้นคือสิ่งที่เรา “ต้องการ” นั่นคือความสุขแบบต้องขวนขวายหามาเพื่อทำให้เราพ้นจากความทุกข์ พ้นจากความไม่พึงพอใจ ถ้าความสุขนั้นคือสิ่งที่เรา “ควรมี” นั่นคือความสุขแบบที่ทำให้เราพอใจ เป็นความสุขแบบง่ายๆที่เรามีอยู่แล้วในกระเป๋า อยู่ที่เราจะเลือกเอามาใช้ เมื่อไหร่ อย่างไร



“ความทุกข์” ของผู้ซื้อคือสิ่งที่นักการตลาดชอบเอามาเล่นครับ

เมื่อไม่นานมานี้เพื่อนของผมคนหนึ่งออกรถโตโยต้า คัมรี่ ไฮบริดตัวใหม่แล้วรีบขับมาอวดโฉมเฉียดไปเฉียดมาให้พี่ๆน้องๆเพื่อนๆชมตามประสาคนมีรถใหม่ด้วยความภูมิใจ ไม่กี่วันต่อมาพี่ชายของเค้าซึ่งอยู่บ้านเดียวกันดันออกรถเบนซ์ อีคลาสตัวใหม่ที่เพิ่งเปลี่ยนโฉม มาจอดคู่กัน ผลคือกร่อยครับ เพื่อนของผมไม่ค่อยพูดถึงรถใหม่ของเค้าอีกเลย

หรือขนมโดนัท Krispy Crème ที่ตอนแรกๆที่ต้องเข้าคิวกันข้ามวันข้ามคืนเพื่อได้ลองสักชิ้น positionตัวเองเป็นของหาซื้อยาก หรือกว่าจะได้มาน่ะไม่ง่าย ล่าสุดตอนนี้ไปดูแล้วไม่เห็นมีใครต้องต่อคิว แค่แวะไปพารากอนก็ซื้อได้เลย ผลที่ได้คือคนกลับคิดว่าเลิกฮิตแล้วมั้งหรือไม่อร่อยแล้วมั้ง เลยพาลไม่ค่อยซื้อกัน (เป็น yoyo effect ซะงั้น)

และที่ล่าสุดนี้สายการบิน KLM สร้าง surprise ให้ผู้โดยสารที่ส่งข้อความบอกเพื่อนๆว่ากำลังเหนื่อยหรือเบื่อกับการต่อเครื่องโดยการ check-in ผ่านโปรแกรม FourSquare โดยพนักงานภาคพื้นของ KLM จะการตรวจสอบ profile ของผู้โดยสารคนนั้นๆ แล้วรีบไปมอบของขวัญ(ที่เลือกแล้วน่าจะถูกใจ)เพื่อปลอบใจปลอบขวัญผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง

...

เห็นมั้ยครับว่า สิ่งที่‘มี’มักไม่ได้ทำให้เราไม่มีความสุข สิ่งที่‘ไม่มี’ต่างหากที่กระตุ้นความอยากและจะกระชากกำลังซื้อเพื่อทำให้เกิดความดับทุกข์ในใจของผู้ซื้อ



“นิ้วกลม” บอกว่า การ"สังเกต" ความสุขของตัวเองและคนอื่นอาจทำให้เรามีความสุขมากขึ้น เพราะคือการทำความเข้าใจว่า อะไรทำให้เรามีความสุข

แต่สำหรับนักการตลาด การ"สังเกต" หรือเลือกเล่นกับความทุกข์ แม้อาจจะดูไร้ใจไปหน่อย แต่ก็เป็นปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแคมเปนทางการตลาดหลายชิ้น

..และที่สุดแล้วก็เพื่อให้ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อมีความสุขเพิ่มขึ้นนะครับ

Saturday 7 May 2011

ธุรกิจของคุณในอีก10ปีข้างหน้า




อยากให้เราลองนึกภาพคุ้นตาของเด็กนักเรียนสมัยนี้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือเสมือนเป็น'ลมหายใจทางสังคม'ของพวกเขา ตั้งแต่ตื่นนอนยันนอนหลับ เด็กสมัยนี้ไม่ใช่แค่'เสพ'แต่'สร้าง'คอนเทนต์ได้เองเพื่อแสดงออก เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วม และจำแลงตัวตนกับกลุ่ม หรือเพื่อนของพวกเขา เด็กสมัยนี้ต้องการ 'เชื่อมต่อ' ความคิด ความเชื่อ ความรู้สึกถึงสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวครับ

นักการตลาดเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Gen C ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น Generation ของการเชื่อมต่อ (Connected) การสื่อสาร (Communicating) การยึดเนื้อหา (Content-centric) และการสร้างสังคมความผูกพันธ์ (Community-oriented) คนกลุ่มนี้ชื่นชมความมีเสรีทางความคิดและอิสระวัฒนธรรม กล้าแสดงออก เป็นตัวของตัวเอง คนกลุ่มนี้โตขึ้นมากับ Harry Potter, Internet TV, iPad หรือ iPhone สำหรับคนกลุ่มนี้เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่'จุติ'ขึ้นมาพร้อมกับชีวิตของเขา แทรกซึมในชีวิตของเขา โตมากับเขา เทคโนโลยีไม่ใช่แค่เป็น'ตัวช่วย'หรือส่วนเสริมให้ชิวิตประจำวันสะดวกสบายขึ้นเหมือนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเขาอีกต่อไป

คนกลุ่มนี้ไม่ยึดอยู่กับโลกเพียงมิติเดียว เพราะเขาเกิดขึ้นมาในยุคของโลกที่ไม่รู้จักความเป็นจริงอื่นนอกจาก อินเตอร์เนต สมาร์ตโฟน หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ พวกเขาทุกคนมีโทรศัพท์มือถือแต่ส่วนใหญ่จะเอาไว้ 'chat' แม้แต่เวลาจะคุยกันเรื่องจิปาถะสัพเพเหระก็เอาไปโพสต์ไว้บน Facebook เพื่อให้ทุกคนมองเห็นว่าเค้ากำลังสนใจเรื่องอะไร จะดูทีวีเดี๋ยวนี้ก็ YouTube ไปโดยปริยาย (คนจัดเรตติ้ง เลื่อนเวลา'ดอกส้มสีทอง'คงไม่รู้ ว่าเดี๋ยวนี้พวกหนูเค้าตามดู'เรยา'ได้จาก YouTube นี่แหละ)

ที่น่าสนใจคือภายในไม่ถึงสิบปีข้างหน้าเด็กๆของเราจะกลายเป็นตัวแทนคนกลุ่มนี้โดยสมบูรณ์ กลุ่มที่จะเป็นตัวแทนของประชากรกว่าครึ่งใน สหรัฐ ยุโรปและอีกหลายประเทศในเอเชีย

...
แล้วธุรกิจของเราเตรียมตัวรับมือกับผู้บริโภคกลุ่มใหม่กลุ่มนี้อย่างไร?
...

ลองนึกภาพดู ว่าเรายังนั่งถกเถียงกันเรื่องกฏหมายคุ้มครองคุณหมอหรือกฏหมายรักษาสิทธิของผู้บริโภคในการรักษาพยาบาล ในขณะที่อีกหน่อยไม่นานเราน่าจะเห็นโรงพยาบาลต่างๆต้องปรับตัวให้ทันกับพลังทางความคิดของคนไข้ที่จะเขียนบล๊อกหรือสื่อออนไลน์ระบายความรู้สึกของคุณภาพการรักษาพยาบาลของคุณหมอ คุณภาพการบริการของโรงพยาบาลที่ได้รับ ค่าใช้จ่ายของการรักษา หรือแม้แต่ประเภทของยาที่คุณหมอหรือโรงพยาบาลเลือกใช้ งานวิจัยทางการแพทย์คงจะถูกกำหนดโดยสิ่งเหล่านี้ รูปแบบของการรักษาโรคและการให้บริการจะเปลี่ยนไป ส่งผลถึงรูปแบบธุรกิจของการประกันสุขภาพของเอกชนหรือแม้แต่นโนบายการประกันสุขภาพของรัฐที่จะต้องหันกลับมามอง

หรือลองมองธุรกิจท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มสูงว่าอีกไม่นานบริษัททัวร์แบบโบราณจะทำตลาดและหาลูกค้าได้ยากขึ้น เพราะคนจะเลือกสถานที่เที่ยวแบบ'ฟัง'จากคนอื่น'ฟัง'จากกลุ่มที่บอกต่อมาว่าที่ไหนน่าไปเพื่อที่จะได้ออกแบบ Itinerary ได้เอง เดินทางก็ไม่ต้องกลัวหลงเพราะมือถือแทบทุกตัวในอนาคตคงจะมี GPS และ Navigator จะจองตั๋วเครื่องบินหรือโรงแรมเดี๋ยวนี้ทุกคนก็แทบจะทำเองออนไลน์กันหมดแล้ว รูปแบบการทำตลาดการท่องเที่ยวคงจะเปลี่ยนไปโดยปริยาย

ธุรกิจค้าปลีกแทบไม่ต้องพูดถึง เมื่อผู้บริโภครุ่นใหม่ต้องการ'เสพ'ในสิ่งที่ตัวเองรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งหรือ 'belong to' แบรนด์สินค้าจำเป็นต้องเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขา เพื่อดูว่าพวกเขาสนใจอะไรกันอยู่ ซึ่งจะช่วยให้การสื่อข้อความของแบรนด์และสินค้าต่างๆมีความน่าเชื่อถือ ตรงใจ โดนกลุ่มมากยิ่งขึ้น สื่อออนไลน์ประเภท cloud computing จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจนี้ดำรงอยู่ได้ด้วยการสร้างนวัตกรรมที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างผู้บริโภค ผู้ผลิต และผู้จำหน่ายได้

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและสร้างสรรค์ (design and creativity) ต้องสร้างเครือข่ายของผู้บริโภคเพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบครบวงจร อย่าลืมนะครับว่าคน Gen C ชอบแสดงความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองออกมา และพวกเขาจะไม่คอยแต่รอรับไอเดียใหม่ๆเพราะจะรู้สึกถูกยัดเยียด แต่เขาอยากจะเข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมเล่น หรือร่วมกำหนดรูปแบบของสินค้าที่เขาอยากจะเสพ ดีไซเนอร์หรือโพรดิวเซอร์ที่ทำงานแบบ'ตามใจคนจัด ขัดใจคนขอ และไม่ง้อคนฟัง'คงเหลือที่ยืนอยู่ไม่เท่าไหร่ในเวทีแห่งอนาคตครับ

...

โลกของธุรกิจในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ากำลังจะถูกกำหนดโดยคนกลุ่มนี้ครับ สำหรับเจ้าของกิจการ การวางแผนทางธุรกิจคงไม่ใช่วางกันเป็นเดือนหรือเป็นปี แต่ต้องมองไปข้างหน้าไกลกว่านั้นเยอะ สำหรับบริษัทใหญ่ๆ ผู้บริหารคงต้องเริ่มมามองดูว่าทรัพยากรของบริษัทกำลังจะเปลี่ยนรูปแบบและพฤติกรรมไปอย่างๆไรเพื่อจะได้ปรับตัวองค์กรให้เข้ากับรูปแบบธุรกิจที่กำลังจะเปลี่ยนไปในอนาคตอันใกล้นี้

Sunday 1 May 2011

การเมือง กับ Marketing 3.0




ยุคนี้สมัยนี้ ไม่ว่าธุรกิจ องค์กร หรือ เซเลบ ต้องเกี่ยวข้องกับทำการตลาด ต้องสร้างแบรนด์กันทั้งนั้นนะครับ ไม่เว้นแม้กระทั่งนักการเมืองหรือผู้นำประเทศ

...

ในอดีตผู้สมัครหรือนักการเมืองไทยมักพึ่งพาระบบหัวคะแนน หรือการทำงานมวลชนในรูปแบบต่างๆ โดยมี “สินค้า” คือ “ความเชื่อในแนวนโยบายและสัญญา” เพื่อให้เข้าถึง “กำลังซื้อ” ที่สำคัญคือ “คะแนนเสียง” หรือประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนน เมื่อหลายปีไปที่ผ่านมาเราเห็นพรรคการเมืองบางพรรคนำหลักการของ “การเมืองโดยใช้การตลาดนำ” ซึ่งก็ไม่ได้แปลกไปกว่าการยึดถือแนวทาง Marketing-oriented ในการประกอบธุรกิจ มาใช้อย่างประสบความสำเร็จด้วย การออกแคมเปญ “ประชานิยม” หรือ “ประชาภิวัฒน์”แบบแจกแหลกในรูปแบบต่างๆ

และช่วง 1-2 ปีให้หลังมานี้ นักการตลาดได้สร้างสีสรรให้กับการเมืองทั้งในต่างประเทศและในประเทศโดยการเติมรูปแบบใหม่ๆของเครื่องมือทางการตลาดด้วยความก้าวหน้าทางอินเตอร์เนตและแนวคิดของ Marketing 2.0 ซึ่งเป็นการตลาดที่เน้นการสร้างความแตกต่าง และเป็นการตลาดเพื่อสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า(ประชาชน) เป็นการตลาดเพื่อเน้นคุณค่าใช้เชิงอารมณ์ Emotional Value แบบ Customer Oriented หรือเปลี่ยนเป็นการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เป็นการตลาดซึ่งมุ่งที่จะสร้างความสัมพันธ์และประสบการณ์ร่วมที่ดีกับลูกค้า



Barack Obama คือผู้ซึ่งมองเห็นคุณค่าในการเข้าถึงเทคโนโลยีกอปรกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและพฤติกรรมของประชากรในสหรัฐ Obama สร้างแบรนด์ให้ตัวเองให้กลายเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ผ่านภาพลักษณ์ของการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย รวดเร็วและเชื่อถือได้ โครงการรับบริจาคทางการเงินเพื่อใช้หาเสียงของ Obama เกือบทั้งหมดทำผ่านอีเมล์โดยมีการเชื่อมโยง profile ของผู้บริจาคที่มีกลุ่มอายุและพฤติกรรมใกล้เคียงกัน โครงการดังกล่าวได้มีการออกแบบ platform ของผู้บริจาคให้สามารถติดต่อแสดงความคิดเห็นถึงกันได้ในเรื่องการเมือง นโยบายและการหาเสียงของ Obama

Hillary Clinton เลือกที่จะเข้าถึงกลุ่ม Gen Y โดยใช้ YouTube ในการแสดงความคิดเห็นเรื่องนโยบายของพรรคและวิสัยทัศน์ของเธอเองในเรื่องการพัฒนาเยาวชน คลิปของ Clinton มีผู้เข้าชมกว่า 250,000คน ภายในเวลาเพียงสามวัน นอกจากนั้นเธอยังมี Blog ของตัวเองที่ update อย่างด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และเธอมี websiteของตัวเองที่ใช้งานง่ายและเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน (user-friendly)


แม้แต่ CNN ก็ยังขี่กระแส Marketing 2.0 โดยการถ่ายทอดการโต้วาที (debate) ระหว่างผู้สมัครเข้ารับคัดเลือกเป็นประธานาธิปดีสหรัฐผ่านทาง YouTube ซึ่งสามาถนำคลิปนั้นมาดูซ้ำและแสดงความคิดเห็นได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้นักการเมืองเกือบทุกคนในสหรัฐยังมีเครื่องมืออื่นๆ เช่น MySpace, Facebook, และ Flickr เพื่อให้ใครๆเสนอตัวเข้ามาเป็นเพื่อน เพื่อแสดงออกและโต้ตอบกันในเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องทางการเมือง ถือเป็นการสร้าง personal brand ที่ใช้ได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง

...

ตัดกลับมาดูที่เมืองไทยบ้านเรา เห็นนักการเมืองไทยเพิ่งเริ่มใช้ Facebook หรือ Twitter ในการสื่อสารกับกลุ่ม “ลูกค้า” ของตัวเองบ้าง น่าเศร้าที่นักการเมืองบางท่านไม่เข้าใจคำว่า political marketing ซึ่งไม่เหมือนการตลาดสำหรับสินค้าหรือบริการทั่วไป นักการเมืองไทยสักเอาแต่จะขายของขาย “สินค้า” ทางการเมือง สนใจแต่คำว่าตัวเองก็มี Facebook หรือสนใจแค่จำนวนของคนที่เข้ามากด “Like” ในเพจของตัวเอง (พอมีคนแสดงความเห็นที่ตัวเองไม่ชอบก็ไปลบคอมเม้นของเค้าทิ้ง) และหลายครั้งเอาแต่ tweet เรื่องน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง

...

แค่ Marketing 2.0 ที่กล่าวถึงก็มีส่วนและผลกระทบในโลกการตลาดการเมืองพอตัว แต่ก็ได้แต่เพียงสร้างความแตกต่าง และความเชื่อถือใน Brand เท่านั้น ไม่สามารถตอบโจทย์การตลาดการเมืองที่ยั่งยืนในระยะยาวได้



สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีความหมายอะไรเท่าไหร่นักสำหรับการตลาดแบบ Marketing 3.0 ครับ การตลาดซึ่งเป็นแบบที่ต้องรับฟังและสื่อสารสิ่งที่ลูกค้าหรือประชาชนอยากด้วยจะพูดเป็นหลัก เป็นการตลาดที่ต้องขับเคลื่อนด้วยคุณค่าที่แท้จริงในระยะยาว (Value Driven) การตลาดที่ต้องตอบสนองต่อ จิตวิญญานของลูกค้า(ประชาชน) และตอบสนองต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดขององค์กรหรือประเทศ เป็นการตลาดแบบ Spiritual Marketing และ Cultural Marketing ซึ่งคือวิถีการตลาดแห่งอนาคต ใกล้ๆตัวเราที่เห็นก็เช่น Campaign Foursquare ของ K-Bank ซึ่งผู้ที่เล่นอินเตอร์เน็ทลูกค้าของธนาคารสามารถสร้างมีความผูกพันธ์กับสาขาของ K-Bank แล้วได้ value จากการ “Check-in” เพื่อ “Claim” ความเป็นเจ้าของ แทนที่จะแค่ทำธุรกรรมทางการเงินธรรมดาที่ทำได้ทางอินเตอร์เน็ตทั่วไป

ยุคนี้สมัยนี้ คะแนนเสียงหรือประชาชนในฐานะ “ผู้ซื้อ” โดยการเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่ต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนักการเมือง พรรคการเมือง นโยบายทางการเมืองและพฤติกรรมทางการเมืองต่างๆเท่านั้น “ผู้ซื้อ”ไม่ใช่แค่ต้องการข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของสินค้าหรือนโยบายทางการเมืองที่สัญญาไว้เท่านั้น แต่ “ผู้ซื้อ” ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบสัมผัสได้จริงจากจิตใจ จับต้องได้ทันจากความคิด และรู้สึกได้จริงถึงความเป็นเจ้าของความเชื่อทางการเมือง ไม่ใช่ถูกจองจำด้วยความเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อเดียวกัน หรือด้วยแค่คะแนนที่ให้เท่านั้น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการตลาดการเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง โชคดีที่เรามีอุปกรณ์เครื่องมือทางการตลาดที่ค่อนข้างจะครบครันอยู่แล้ว อยู่ที่นักการเมืองไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างไร

...

แต่แนวคิดทางการตลาดแห่งอนาคตแบบนี้จะสร้างความแตกต่างให้การเมืองไทย หรือคนไทยหรือไม่? อย่างไร?

...อีกไม่นานนี้คงรู้กันครับ