Friday 6 November 2009

กับดักความรู้สึก




“A human being is a part of a whole…He experience himself, his thoughts and feelings as something separated from the rest…a kind of optical delusion of his consciousness. This delusion is a kind of prison of us, restricting us to our personal desire and to affection for a few things nearest to us. Our task must be to free ourselves from this prison…”
Albert Eistien

“มนุษย์เป็นแค่ส่วนหนึ่งของส่วนรวม มนุษย์ดันไปคิดเอาเองว่า การรับรู้ของตัวตน ความคิด และความรู้สึกเป็นเหมือนสิ่งที่แยกออกจากส่วนอื่นๆของส่วนรวม นั่นคือภาพลวงตาที่มนุษย์ไปสร้างขึ้นมาเองภายในจิตใจ ภาพมายานี้คือคุกที่ขังเราไว้กับความต้องการและความหลงใหลในสิ่งที่ใกล้ตัว หน้าที่ของเราจึงต้องปลดปล่อยตัวเองจากกับดักเหล่านี้แล้วสัมผัสความจริง”
อัลเบิร์ต ไอสไตน์

...

วันก่อนมีน้องคนหนึ่งที่เรียนอยู่ต่างประเทศ กำลังลุ้นกับผลการศึกษาที่ตะบี้ตะบันเรียนมานานหลายปี น้องคนนี้อยากให้ผมเล่าให้ฟังว่าจะจัดการกับ “ความเครียด” และ “ความกลัว” ได้อย่างๆไร

“ความเครียด” กับ “ความกลัว” บางคนแค่ได้ยินแล้วก็เหนื่อยแล้วครับ

ไม่ว่าเรื่องแบบเครียดๆที่ฟังแล้วกลัว หรือเรื่องน่ากลัวที่ทำให้เครียด เป็นเรื่องที่เกิดทุกเมื่อเชื่อวัน เหมือนเป็นส่วนหนึ่งที่ยากที่จะกำจัด ก็เพราะตัวเราเองนั่นแหละที่เลือกจะสร้างกับดัก โดยการ“จำกัด”ให้มันอยู่ภายในตัวเราเอง

เมื่อเป็นเรื่องเกิดภายในตัวเรา เราทำตัวเราเองก็ต้องแก้เอง จัดการด้วยตัวเอง ให้มันสลายอยู่ข้างในไม่ให้ออกมาภายนอก

...

ผมเป็นคนชอบทำและชอบรับประทานครับ เมื่อรับประทานมาก ก็สร้างปัญหาจากภายในสู่ภายนอก จากความขยันทำอาหารเป็นไขมันที่เพื่มขึ้น กลายเป็นน้ำหนักที่ไม่ต้องการ แล้วย้อนกลับมาทำร้ายและทำลาย ความรู้สึก ความมั่นใจ ทำให้ผมเริ่ม “เครียด”(ที่จะอ้วนแล้วดูไม่ดี) แต่ดัน “กลัว”(ที่ถ้าจะต้องลดน้ำหนักแล้วจะต้องอดรับประทาน)

...

ไอสไตน์บอกว่าคนเราเป็นแค่เสี้ยวเล็กๆของสิ่งอื่นที่ใหญ่กว่า...

เมื่อเสี้ยวหนึ่งของสิ่งอื่นที่ใหญ่กว่าบอกให้เรารู้ว่า ไขมันยังมีสองแบบ ทั้งแบบที่ดีและแบบไม่ดี ร่างกายมนุษย์ไม่ใช่นักการเมือง นักปกครอง จึงต้องการทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีทั้งสองแบบในปริมาณที่ต่างกันแต่ “สัมพันธ์กัน” ในช่วงเวลาที่ร่างกายมีสภาวะต่างๆกัน
เมื่อเสี้ยวหนึ่งของสิ่งอื่นที่ใหญ่กว่าบอกให้เรารู้ว่า คนเรายังมีหลายอารมณ์ หลากความรู้สึก สุข เศร้า เหงา หรือรัก โกรธ เกลียด เครียด และกลัว ปะปนกันไปในหลายมุม หลายช่วงของชีวิต ที่มีทั้งมืดบ้าง สว่างบ้าง

วันๆหนึ่งมีเรื่องราวจึงมากมาย ไม่ว่าเรื่องภายนอกตัว ชวนปวดหัว ผูกไปกับเรื่องข้างใน ย้อนคิดกลับไป ใครๆคงรู้สึกว่าเหนื่อยที่ต้องมานั่งคิด

เรื่องน้ำหนักที่ไม่ต้องการตอนนี้ผมเลยคิดแบบเหมาเองว่า อาจเป็นแค่ปริมาณความต้องการที่ “ไม่สัมพันธ์กัน” ณ ขณะหนึ่ง(ตอนชั่ง)ของ “ความเครียดและความกลัว” กับ “ความสุข” ที่ได้ทำและได้รับประทานอาหาร และ “ความกล้า”ที่จะรวบรวมกำลังใจเริ่มต้นกลับมาออกกำลังกาย

เมื่อบริหารจัดการความสัมพันธ์นี้ได้อย่างน้อยก็ได้สัมผัสความเป็นจริงว่า ถ้าอยากทำอยากรับประทานก็ต้องรู้จักเปลี่ยนเรื่องเหนื่อยๆที่ต้องมานั่งเครียดและความกลัว หันมาเหนื่อยออกกำลังกายแต่ได้ผลาญแคลลอรี่

ทำให้เรื่อง “ความเครียดและกลัว” กับ “ความสุข” ของการกิน กลับมา “สัมพันธ์กัน” โดยการออกกำลังกาย

...

พูดถึงเรื่องที่เครียดและกลัวของผมอีกเรื่องหนึ่ง ชวนให้ย้อนกลับไปสมัยผมเรียนปริญญาเอก

เรื่องของการพูดในที่สาธารณะครับ

นักศึกษาปริญญาเอกมักถูกโพรเฟสเซอร์สั่งให้เขียนผลงานที่ได้จากการทำวิจัยเพื่อไปนำเสนอในงานประชุมวิชาการนานาชาติเสมอ สำหรับผมพูดไปครั้งไหนก็ไม่ประทับใจไม่รู้ลืมเท่าครั้งแรกครับ

บินไปประชุมก็บินไปคนเดียว ในที่ประชุมผู้เข้าร่วมเป็นพัน แต่ละคนก็หน้าโหดๆทั้งนั้น ดูชื่อแต่ละท่านแล้วก็ขนพองสยองเกล้า คนนี้ก็จำได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลก คนนั้นแต่งตำราให้เราอ่านตอนเรียน เอ๊ะคนโน้นได้โนเบลนี่นา แล้วกะเหรี่ยงอย่างเราพูดไปแล้วใครจะฟัง เค้าจะคิดว่างานที่วิจัยเราผิดๆถูกมั้ยหว่า พูดออกมาเค้าจะด่าเรามั้ย สารพัดเหตุผลที่จิตใจภายใน จะหาเหตุให้ตัวผมทั้งกลัวทั้งเครียด ใจสั่นไปหมดครับ

กำลังจะขึ้นเวทียังต้องโทรทางไกลกลับไปหาอาจารย์ที่ปรึกษาขอกำลังใจว่าเอางัยดี อันโน้นถูกมั้ย อันนี้ดีหรือยัง อาจารย์ผมไม่ตอบอะไรเป็นเรื่องเป็นราวที่ผมถามสักอย่าง ท่านพูดสั้นๆไม่กี่คำ

“… คุณจำไว้ งานชิ้นนี้น่ะเป็นของคุณ ไม่มีใครรู้จักงานชิ้นนี้ดีเท่าคุณ และเหตุผลที่ทุกคนต้องมานั่งมารอฟังคุณ เพราะอยากรู้เรื่องราวของงานดีๆอีกชิ้นหนึ่ง อยากรู้ว่าคุณทำงานดีๆชิ้นนี้สำเร็จได้อย่างไร เพราะฉะนั้น หน้าที่ของคุณที่ไม่กี่นาทีต่อจากนี้ คือแค่เล่าเรื่องราวดีๆเรื่องนี้ของคุณให้ทุกคนฟังด้วยความภูมิใจ”

เมื่ออาจารย์วางสายไป ผมเบลอครับ ด้วย “ความเครียดและความกลัว” มันค่อยๆเบลอหายไป กลายเป็น “ความกล้าและความมั่นใจ” ซึ่งไม่ไช่เกิดจากกำลังใจที่ได้รับ

แต่เกิดจาก“การรับรู้และสัมผัสได้”ถึง ความสุขและความเป็นจริงของงานวิจัยของตัวเอง ซึ่งไม่เคยหายไปไหน เพียงแต่เวียนกลับมาอยู่ที่จุดเดิม

เป็นจุดที่ผมกำหนดเอง และยืนอยู่เอง

...

ตั้งแต่วันนั้นมาการพูดสำหรับผมกลายเป็นเรื่องของ การจัดการกับ“เรื่องราวที่มีความสุข”เพื่อมอบให้คนอื่นๆ และเป็นเรื่องของ“ความมั่นใจ”ที่สร้างให้กับตัวเอง...ในทุกๆครั้งที่มีโอกาสพูดในที่สาธารณะ

ไม่มีเรื่องของ “ความเครียดและความกลัว” อีกเลย

...

ไอสไตน์บอกว่าคนเราต้องรู้จักสัมผัสความเป็นจริง…

“...เมื่อเราเป็นแค่เสี้ยวเล็กๆของส่วนรวม จะเอาความรู้สึกของเราเองมาตีค่าได้อย่างไรว่าความรู้สึกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกของส่วนรวม จะขังตัวเองอยู่ทำไมกับความรู้สึกที่จริงๆแล้วอาจเกิดจากสิ่งอื่นหรือ คนๆอื่น”

3 comments:

Ploy Lumthong said...

ขอบคุณมากๆค่ะ :)

phatrasamon said...

ขอบคุณอจ. ดร. กุลเดช สำหรับบทความที่ดิฉันมั่นใจว่าหากใครที่

กำลังฝ่อ หรือกำลังไม่มั่นใจกับการกำลังจะทำอะไรอยู่ หลังจากอ่านจบ

คิดว่า “ฮึด” แน่ค่ะงานนี้!



*ก็คงจะคล้ายๆ กับขณะที่กำลังจะทำอะไรสักอย่าง อาจจะเคยทำมา

แล้วหรือยังไม่เคยทำจึงทำให้จินตนาการวาดกันไปนะคะว่า จะเกิด

อะไรขึ้น ทั้งๆ ในความเป็นจริง ยังไม่เห็นยังไม่เป็นแต่ก็ ดักทางตัวเอง

ซะก่อน แอบฝ่อกันขึ้นมากอ่น ทั้งๆ ยังไม่เกิด อันนี้ต้องยอมรับค่ะ

กระทั่งตนแม้เป็นคนไม่ค่อยฝ่อไม่ค่อยกลัวหรือหวั่นไหวอะไรสักเท่า

ไหร่ เหตุการณ์นี้ก็ยังเกิดกับตนค่ะ และเมื่อไหร่ก็ตามที่เริ่มรู้สึกฝ่อ

ตนมัก "ดัก" ทางอารมณ์ของตัวเองก่อนด้วยการกำหนดจิต ให้นิ่งให้

เฉย ไม่ตื่นเต้น ขณะที่ใจก็คิดไปด้วยว่า เค้าก็คน เราก็คน ทำไมต้อง

กดดันตัวเอง ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องหน้ากลัว ฯลฯ



**ถ้าเขียนต่ออีกยาวแน่ :) ต้องขอบคุณอาจารย์ดร กุลเดชค่ะ สะกิด

ให้ได้คิดจริงๆ ค่ะว่า...

“ความสำเร็จหรือชัยชนะ…กำหนดได้ด้วยจิต และลิขิตได้ด้วย

จินตนาการ” จริงๆ นะคะอาจารย์ xx

กุลเดช สินธวณรงค์ said...

ชอบครับ "กำหนดด้วยจิต ลิขิตด้วยจินตนาการ"

Post a Comment