Wednesday 25 November 2009

ลมหายใจของความพ่ายแพ้




ผมเป็นคนชอบดูหนัง วันก่อนได้ดูหนังเก่าๆเรื่องหนึ่ง เป็นหนังเกี่ยวกับอเมริกันฟุตบอลครับ ถึงผมรู้สึกว่าเป็นหนังที่เลือกนักแสดงได้แบบไม่ถูกที่ถูกทางเรื่องหนึ่ง เพราะดันเอา คีอานู รีฟ มาเล่นเป็นควอเตอร์แบ็ค แต่ก็เป็นหนังกีฬาแบบ..ผู้ช๊าย..ผู้ชาย ที่ให้ให้มุมคิดที่คมกริบหลายมุม เช่นเมื่อ ยีน แฮ็กแมน ที่แสดงเป็นผู้จัดการทีมออกมาถามเพื่อให้สติอดีตควอเตอร์แบ็คตัวจริง ที่กลับมาเล่นให้ทีมในแบบไร้วิญญาณว่า “คุณรู้ไหมว่าสิ่งที่นักกีฬาทุกคนต้องการและอยากได้เหมือนๆกัน คืออะไร..”

“second chance”

...

พ่ายแพ้หรือชัยชนะบางครั้งต่างกันแค่ “ลมหายใจ” แต่ไปทำให้ “ห่างไกลเหลือเกิน”
...

ในโลกธุรกิจ เมื่อกำไรขาดทุนเป็นกติกา แต่สำหรับนักกีฬา คะแนนที่สูงกว่า ย่อมเป็นตัวตัดสิน

สำหรับผู้แพ้หลายคน ความพ่ายแพ้ เป็นโอกาสอีกครั้งของความพยายาม

เศรษฐีไอเอ็มเอฟคนหนึ่ง ต้องมานั่งเศร้า เมื่อทราบว่าการลดค่าเงินทำให้ตัวเองเป็นหนี้เพิ่มขึ้นหลายร้อยล้านจากค่าเงินที่ลดลง เริ่มทำงานแบบเบื่อๆอยากๆ กินไม่ได้นอนไม่หลับ บ่น ปรับทุกกับเพื่อนๆที่ทำธุรกิจ ว่ารู้สึกว่าตัวเอง “แพ้” หมดกำลังใจ เพื่อนแสนดีหัวเราะและบอกว่า เออจริง ตัวเองก็โดนเหมือนกัน ทั้งเป็นหนี้นับสิบล้าน แต่งานก็ไม่ได้ทำเพราะโรงงานโดนยึด แต่ “ดีใจ” ได้เริ่มต้นใหม่ซักที

ได้ฟังแบบนี้ลมหายใจจากความพ่ายแพ้ของเขาเริ่มเปลี่ยนเป็นกลิ่นของ “โอกาส” ชวนให้หวนหา “ชัยชนะ”

ก็เมื่อของเราถึงหนี้จะเยอะ แต่ยังมีงานให้ทำ โรงงาน ห้างร้านยังไม่ถึงกับโดนยึด (แบงค์คงไม่อยากปล่อยให้ล้มง่ายๆ) เพื่อนคนอื่นเหมือนจะชนะ แต่มีกลิ่นความพ่ายแพ้มากกว่าเราตั้งเยอะ (และเค้าก็ยังอยากเริ่มต้นใหม่)

...

สำหรับผู้ชนะบางคน ชนะแล้ว เป็นเรื่องของที่สุดของความพยายาม

ใครๆก็รู้ว่า แบรนด์ไหน หรือใคร เป็นเจ้าชาเขียว ทำตลาดมานาน จนยอดขายกว่า 80%ของชาเขียวที่ขายในประเทศดันลดลงเป็น 70%.. 60% และไม่ถึง 50% ปล่อยให้ผู้ที่เคยแพ้หรือหน้าใหม่ในตลาดชาเขียวมองปัญหาใหม่ จากจุดอ่อนที่เคยสู้ไม่ได้ของทั้งตัวแบรนด์เอง จากแพ็กเกจจิ้ง หรือจากช่องทางจัดจำหน่าย เปลี่ยนเป็นการมองหาจุดแข็งที่รสชาติซึ่งใครๆก็ปรุงได้ เดี๋ยวนี้ไปดูแถวทองหล่อ อาร์ซีเอสิครับ ชาเขียวยีห้ออะไร ขายดีถล่มทลายขนาดไหน (เขาเอาไปผสม “Black”)

ปล่อยให้เป็นแบบนี้ วันหนึ่งยอดขายที่เคยสูง อาจเป็นแค่ที่สุดของความพยายามแบบ “เหมือนเคย”



เมือโลกถูกกำหนดด้วยกฏเกณฑ์กติกา

ถึงจะชนะ ก็ต้องเข้าใจว่าการแข่งขันอาจยังไม่จบ แต่แพ้แล้วก็ต้องเคารพ รู้จักการยอมรับ

ไม่ใช่ยอมรับในความพ่ายแพ้ แต่ยอมรับกับความตื่นแต้นของ “โอกาส” ที่มาอีกครั้ง (second chance) เพื่อที่จะลุ้นให้กลับมาชนะ

เพราะไม่ว่า “ชนะหรือแพ้” มันก็ห่างกันแค่ “ลมหายใจ”

และไม่ว่าเจออะไร ก็หวนให้ “คิดถึง” อีกสิ่งหนึ่งอยู่เสมอ

Tuesday 17 November 2009

เศรษฐศาสตร์และการทำนาย โวหารของกำลังใจ




สองสามปีมานี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ด คนทำธุรกิจนอกจากมองหาความหวังหรือแสงสว่างปลายอุโมงค์ ยังพยายามชะเง้อรอฟัง “ผู้รู้” หรือ “กูรู” ที่อย่างน้อยจะให้ความเห็นได้ว่าเมื่อไหร่เศรษฐกิจจะโงหัวขึ้นได้สักที

การทำนาย หรือให้ความเห็นทางเศรษฐศาสตร์และทิศทางของเศรษฐกิจคือ “โวหาร” ที่มีสัญลักษณ์หรือเครื่องหมาย แม้รูปแบบความเห็นหรือการนำเสนอจะแตกต่างกันแต่ก็ยึดหลักการคล้ายๆกันคือนำเสนอคำตอบที่ผู้รอฟังอยากฟังอยากรู้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบยากง่าย เข้าใจได้ช้าหรือเร็ว

เดิมทีการทำนายเป็นคนละเรื่องกับความเห็น ซึ่งเดี๋ยวนี้อย่างหลังมักขึ้นอยู่กับชื่อเสียง ความสามารถหรือแค่ภาพลักษณ์ของผู้พูด ปัจจุบันการทำนายหรือความเห็นจะมีประสิทธิภาพหรือถูกต้องแค่ไหนง่ายหรือยากเป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อความเป็นจริงมาก อีกทั้งมักจะถูกสื่อความไปในทิศทางที่สนับสนุนต่อจุดประสงค์ซ่อนรูปของผู้พูด

เบื้องหน้าและเบื้องหลังของความเห็นทางเศรษฐศาสตร์และทิศทางของเศรษฐกิจเหล่านี้จริงๆแล้วอาจแค่บรรจุมายาคติเกี่ยวกับโวหารหรือภาวะในใจของผู้ส่งสาส์นเท่านั้น


เราเห็นหลักของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของนักการเมืองเรื่องเศรษฐกิจที่เข้มแข็งแล้ว หลังจากงบประมาณที่ไปกู้คนอื่นเขามาจำนวนมหาศาล (แต่ไม่ยักบอกว่าเกี่ยวข้องทางเศรษฐศาสตร์กับความเข้มแข็งอย่างไร)

...หรือนี่คือหลักการที่เน้นโวหารของประชานิยม

เราเห็นหลักของการให้ความเห็นทุติยภูมิทางเศรษฐกิจหรือ พฤติกรรมบางอย่างทางเศรษฐศาสตร์เพื่อองค์กร เป็นความเห็นความคิด คำทำนายที่ขึ้นๆลงๆ แบบอ้อมๆ วิถีโค้ง โดยนักวิชาการที่ไม่ว่าอ่อนเยาว์หรือมากด้วยคุณวุฒิ(แต่ไม่เคยอยู่ในสาระบบของธุรกิจ)

...หรือนี่คือหลักการที่เน้นโวหารของความมั่นใจในข้อพิสูจน์หรือแค่ความเชื่อ ไม่ว่าของตัวเอง หรือของคนอื่น ในหรือนอกระบบ

เราเห็นหลักของการแสดงความคิดเห็นของแนวโน้มการขึ้นลงของอุปสงค์ อุปทาน พฤติกรรมผู้บริโภคโดยนักธุรกิจที่ต้องการแสดงศักกายภาพของบริษัทหรือของตัวตน หรือเพื่อส่งเสียงดังๆโน้มน้าวตลาด หรือเพื่อสร้างแรงจูงใจผ่านสื่อหรือสาส์นต่างๆ

...หรือนี่คือหลักการที่เน้นโวหารของด้านความกลัว ความกังวล หรือความเข้มแข็ง ให้กำลังใจตลาด ให้กำลังใจตัวเอง หรือให้กำลังใจตลาดเพื่อให้กำลังใจตัวเอง


ความเห็นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าการทำนายอาจมีธง มีภาพของตัวเองที่ส่งสัญญาณที่มีสัญลักษณ์อันหลากหลายขึ้นอยู่กับมุมมอง
เมื่อมีหลายมุมมองแล้วนั้น..

หรือการทำนายอะไรๆทางเศรษฐกิจ จะเป็นแค่เรื่องโวหารของกำลังใจ

Friday 13 November 2009

Design Is.. Milan Salone Internazionale del Mobile (จบ) 13-11-09




เดี๋ยวนี้อะไรอะไรก็ต้องมีดีไซน์แบรนด์นะครับ เฟอร์นิเจอร์หรู การตกแต่งรถยนต์ ลิโมซีนหรู มายบักหรือเมอร์เซดิส เรือสำราญ เครื่องบินโดยสารของสายการบินโดยเฉพาะจากแถบตะวันออกกลาง เครื่องบินส่วนตัว เลียเจ็ต แบรนด์ที่มักได้รับยอมรับเป็นอย่างสูงการถึงงานออกแบบและผลิตตกแต่งภายในคุณภาพสูงของแบรนด์เหล่านี้เพื่อยกระดับเสริม ตอกย้ำคุณภาพแบรนด์ขึ้นไปอีกคือ โพรทอนนาโฟล (Poltrona Frau)

Poltrona Frau คือตัวแทนของความหรูไร้ข้อจำกัดของกาลเวลาด้วยการออกแบบและตกแต่งร่วมสมัยคลาสสิคที่เน้นการใช้งานหนังเป็นหลักร่วมด้วย ลายไม้หรือผ้าคุณภาพสูงระดับไฮโซ ผนวกกับการเลือกใช้วัสดุคุณภาพสูงที่สุดคุณภาพของงานยากจะหาที่ติ รายละเอียดทุกอย่างเริ่มต้นและจบด้วยช่างฝีมือล้วนๆ ด้วยการทำงานออกแบบกับดีไซเนอร์ระดับโลกเท่านั้น แบรนด์หรูแบบนี้เป็นเอกสิทธ์สำหรับนักสะสมตัวจริงและผู้เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ต้องการความเป็นหนึ่งไม่เป็นสองรองใครเท่านั้นครับ Poltrona Frau โด่งดังมีชื่อเสียงมานานเพราะงานออกแบบตกแต่งแบบครบวงจรในเครื่องบิน โรงละคร เรือ พระราชวัง สถานทูต หรือโรงแรมหรู เป็นแบรนด์สำหรับลูกค้ากลุ่ม elites และ royalties ที่เป็นบุคคลพิเศษจริงๆ งานทุกชิ้นของ Poltrona Frau ถือเป็น custom made ถึงแม้ช่วงหลังๆจะมีการผลิตและออกแบบคอลเลคชันแนวตามใจตลาดออกมาบ้างครับ

Poltrona Frau มีลูกค้าระดับ high profile มากมาย เมื่อเอ่ยถึงหลายท่านคงนึกออกหรือเคยใช้บริการ เช่นสายการบิน Etihad Airways, Singapore Airline, Japan Airlines และ Emirates ทั้งในเครื่องแอร์บัส 380 หรือเครื่องรุ่นอื่นๆในชั้นโดยสารธุรกิจและชั้นหนึ่ง อาคาร Al Sahel Towers ซึ่งตกแต่งทั้งอาคารที่ดูไบ เรือสำราญที่มีชื่อเสียงก้องโลกอย่าง Blue Velvet แม้แต่ Ferrari และ Maserati ก็เป็นลูกค้าแฟนพันธ์แท้ของแบรนด์ให้ตกแต่งภายในรถยนต์ระดับ super sport หลายรุ่น สมาชิกของราชวงศ์ของสหรัฐอาหรับเอมมิเรต ราชวงศ์โมนาโค และสมาชิกราชวงศ์ชั้นนำของยุโรปก็มักเลือกใช้บริการออกแบบและตกแต่งภายในเครื่องบินส่วนตัวของแบรนด์นี้อย่างสม่ำเสมอครับ

งานมิลานแฟร์ปีนี้จบไปแล้ว แต่เรื่องราวของเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ต่างๆหลากสไตย์หลายแนวคิดที่น่าหลงใหลเล่าอย่างไรก็ไม่มีจบ ฉบับหน้าผมจะเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังเรื่องราวและเกร็ดความรู้สนุกๆของแบรนด์รุ่นใหม่ๆของเฟอร์นิเจอร์จากอิตาลีครับ

Friday 6 November 2009

กับดักความรู้สึก




“A human being is a part of a whole…He experience himself, his thoughts and feelings as something separated from the rest…a kind of optical delusion of his consciousness. This delusion is a kind of prison of us, restricting us to our personal desire and to affection for a few things nearest to us. Our task must be to free ourselves from this prison…”
Albert Eistien

“มนุษย์เป็นแค่ส่วนหนึ่งของส่วนรวม มนุษย์ดันไปคิดเอาเองว่า การรับรู้ของตัวตน ความคิด และความรู้สึกเป็นเหมือนสิ่งที่แยกออกจากส่วนอื่นๆของส่วนรวม นั่นคือภาพลวงตาที่มนุษย์ไปสร้างขึ้นมาเองภายในจิตใจ ภาพมายานี้คือคุกที่ขังเราไว้กับความต้องการและความหลงใหลในสิ่งที่ใกล้ตัว หน้าที่ของเราจึงต้องปลดปล่อยตัวเองจากกับดักเหล่านี้แล้วสัมผัสความจริง”
อัลเบิร์ต ไอสไตน์

...

วันก่อนมีน้องคนหนึ่งที่เรียนอยู่ต่างประเทศ กำลังลุ้นกับผลการศึกษาที่ตะบี้ตะบันเรียนมานานหลายปี น้องคนนี้อยากให้ผมเล่าให้ฟังว่าจะจัดการกับ “ความเครียด” และ “ความกลัว” ได้อย่างๆไร

“ความเครียด” กับ “ความกลัว” บางคนแค่ได้ยินแล้วก็เหนื่อยแล้วครับ

ไม่ว่าเรื่องแบบเครียดๆที่ฟังแล้วกลัว หรือเรื่องน่ากลัวที่ทำให้เครียด เป็นเรื่องที่เกิดทุกเมื่อเชื่อวัน เหมือนเป็นส่วนหนึ่งที่ยากที่จะกำจัด ก็เพราะตัวเราเองนั่นแหละที่เลือกจะสร้างกับดัก โดยการ“จำกัด”ให้มันอยู่ภายในตัวเราเอง

เมื่อเป็นเรื่องเกิดภายในตัวเรา เราทำตัวเราเองก็ต้องแก้เอง จัดการด้วยตัวเอง ให้มันสลายอยู่ข้างในไม่ให้ออกมาภายนอก

...

ผมเป็นคนชอบทำและชอบรับประทานครับ เมื่อรับประทานมาก ก็สร้างปัญหาจากภายในสู่ภายนอก จากความขยันทำอาหารเป็นไขมันที่เพื่มขึ้น กลายเป็นน้ำหนักที่ไม่ต้องการ แล้วย้อนกลับมาทำร้ายและทำลาย ความรู้สึก ความมั่นใจ ทำให้ผมเริ่ม “เครียด”(ที่จะอ้วนแล้วดูไม่ดี) แต่ดัน “กลัว”(ที่ถ้าจะต้องลดน้ำหนักแล้วจะต้องอดรับประทาน)

...

ไอสไตน์บอกว่าคนเราเป็นแค่เสี้ยวเล็กๆของสิ่งอื่นที่ใหญ่กว่า...

เมื่อเสี้ยวหนึ่งของสิ่งอื่นที่ใหญ่กว่าบอกให้เรารู้ว่า ไขมันยังมีสองแบบ ทั้งแบบที่ดีและแบบไม่ดี ร่างกายมนุษย์ไม่ใช่นักการเมือง นักปกครอง จึงต้องการทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีทั้งสองแบบในปริมาณที่ต่างกันแต่ “สัมพันธ์กัน” ในช่วงเวลาที่ร่างกายมีสภาวะต่างๆกัน
เมื่อเสี้ยวหนึ่งของสิ่งอื่นที่ใหญ่กว่าบอกให้เรารู้ว่า คนเรายังมีหลายอารมณ์ หลากความรู้สึก สุข เศร้า เหงา หรือรัก โกรธ เกลียด เครียด และกลัว ปะปนกันไปในหลายมุม หลายช่วงของชีวิต ที่มีทั้งมืดบ้าง สว่างบ้าง

วันๆหนึ่งมีเรื่องราวจึงมากมาย ไม่ว่าเรื่องภายนอกตัว ชวนปวดหัว ผูกไปกับเรื่องข้างใน ย้อนคิดกลับไป ใครๆคงรู้สึกว่าเหนื่อยที่ต้องมานั่งคิด

เรื่องน้ำหนักที่ไม่ต้องการตอนนี้ผมเลยคิดแบบเหมาเองว่า อาจเป็นแค่ปริมาณความต้องการที่ “ไม่สัมพันธ์กัน” ณ ขณะหนึ่ง(ตอนชั่ง)ของ “ความเครียดและความกลัว” กับ “ความสุข” ที่ได้ทำและได้รับประทานอาหาร และ “ความกล้า”ที่จะรวบรวมกำลังใจเริ่มต้นกลับมาออกกำลังกาย

เมื่อบริหารจัดการความสัมพันธ์นี้ได้อย่างน้อยก็ได้สัมผัสความเป็นจริงว่า ถ้าอยากทำอยากรับประทานก็ต้องรู้จักเปลี่ยนเรื่องเหนื่อยๆที่ต้องมานั่งเครียดและความกลัว หันมาเหนื่อยออกกำลังกายแต่ได้ผลาญแคลลอรี่

ทำให้เรื่อง “ความเครียดและกลัว” กับ “ความสุข” ของการกิน กลับมา “สัมพันธ์กัน” โดยการออกกำลังกาย

...

พูดถึงเรื่องที่เครียดและกลัวของผมอีกเรื่องหนึ่ง ชวนให้ย้อนกลับไปสมัยผมเรียนปริญญาเอก

เรื่องของการพูดในที่สาธารณะครับ

นักศึกษาปริญญาเอกมักถูกโพรเฟสเซอร์สั่งให้เขียนผลงานที่ได้จากการทำวิจัยเพื่อไปนำเสนอในงานประชุมวิชาการนานาชาติเสมอ สำหรับผมพูดไปครั้งไหนก็ไม่ประทับใจไม่รู้ลืมเท่าครั้งแรกครับ

บินไปประชุมก็บินไปคนเดียว ในที่ประชุมผู้เข้าร่วมเป็นพัน แต่ละคนก็หน้าโหดๆทั้งนั้น ดูชื่อแต่ละท่านแล้วก็ขนพองสยองเกล้า คนนี้ก็จำได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลก คนนั้นแต่งตำราให้เราอ่านตอนเรียน เอ๊ะคนโน้นได้โนเบลนี่นา แล้วกะเหรี่ยงอย่างเราพูดไปแล้วใครจะฟัง เค้าจะคิดว่างานที่วิจัยเราผิดๆถูกมั้ยหว่า พูดออกมาเค้าจะด่าเรามั้ย สารพัดเหตุผลที่จิตใจภายใน จะหาเหตุให้ตัวผมทั้งกลัวทั้งเครียด ใจสั่นไปหมดครับ

กำลังจะขึ้นเวทียังต้องโทรทางไกลกลับไปหาอาจารย์ที่ปรึกษาขอกำลังใจว่าเอางัยดี อันโน้นถูกมั้ย อันนี้ดีหรือยัง อาจารย์ผมไม่ตอบอะไรเป็นเรื่องเป็นราวที่ผมถามสักอย่าง ท่านพูดสั้นๆไม่กี่คำ

“… คุณจำไว้ งานชิ้นนี้น่ะเป็นของคุณ ไม่มีใครรู้จักงานชิ้นนี้ดีเท่าคุณ และเหตุผลที่ทุกคนต้องมานั่งมารอฟังคุณ เพราะอยากรู้เรื่องราวของงานดีๆอีกชิ้นหนึ่ง อยากรู้ว่าคุณทำงานดีๆชิ้นนี้สำเร็จได้อย่างไร เพราะฉะนั้น หน้าที่ของคุณที่ไม่กี่นาทีต่อจากนี้ คือแค่เล่าเรื่องราวดีๆเรื่องนี้ของคุณให้ทุกคนฟังด้วยความภูมิใจ”

เมื่ออาจารย์วางสายไป ผมเบลอครับ ด้วย “ความเครียดและความกลัว” มันค่อยๆเบลอหายไป กลายเป็น “ความกล้าและความมั่นใจ” ซึ่งไม่ไช่เกิดจากกำลังใจที่ได้รับ

แต่เกิดจาก“การรับรู้และสัมผัสได้”ถึง ความสุขและความเป็นจริงของงานวิจัยของตัวเอง ซึ่งไม่เคยหายไปไหน เพียงแต่เวียนกลับมาอยู่ที่จุดเดิม

เป็นจุดที่ผมกำหนดเอง และยืนอยู่เอง

...

ตั้งแต่วันนั้นมาการพูดสำหรับผมกลายเป็นเรื่องของ การจัดการกับ“เรื่องราวที่มีความสุข”เพื่อมอบให้คนอื่นๆ และเป็นเรื่องของ“ความมั่นใจ”ที่สร้างให้กับตัวเอง...ในทุกๆครั้งที่มีโอกาสพูดในที่สาธารณะ

ไม่มีเรื่องของ “ความเครียดและความกลัว” อีกเลย

...

ไอสไตน์บอกว่าคนเราต้องรู้จักสัมผัสความเป็นจริง…

“...เมื่อเราเป็นแค่เสี้ยวเล็กๆของส่วนรวม จะเอาความรู้สึกของเราเองมาตีค่าได้อย่างไรว่าความรู้สึกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกของส่วนรวม จะขังตัวเองอยู่ทำไมกับความรู้สึกที่จริงๆแล้วอาจเกิดจากสิ่งอื่นหรือ คนๆอื่น”

Monday 2 November 2009

ความเชื่อมั่น บนจุดที่ยืนอยู่




เผลอแป๊ปเดียวเหลือไม่กี่สัปดาห์จะหมดปีอีกแล้วนะครับ วันนี้ผมมานั่งไล่แผนการทำงานจนถึงปลายปี แทบจะไม่เหลือเวลาสำหรับปีนี้ซะแล้ว บางครั้งมานั่งนึก อยากให้ปีหนึ่งมีมากกว่าสิบสองเดือน แต่พอมานึกแบบถ้วนถี่ สิบสองเดือนที่ก็แทบจะเครียดตายอยู่แล้ว (จบๆไปเร็วๆก็ดี)

บางครั้งเราจะรู้จักตัวเองที่สุดก็จากคนอื่น เพราะคนอื่นคือคนที่มองเห็นเราแบบยุติธรรมไม่เข้าข้างตัวเองมากที่สุด ทุกๆปีในช่วงปลายปี ผมจะนัดน้องๆที่ทำงานทานข้าวเพื่อสังสรรค์ พูดคุย นอกจากเพื่อเป็นการถามสารทุกข์สุขดิบและทราบปัญหาแบบสบายๆกันเอง ยังเป็นการประเมินตัวเองแบบกังวลกังวลไปด้วย จนกลายเป็นประเภณีไปแล้ว ปีนี้ก็เหมือนกันครับ หลายคนหลายแผนก ส่วนหนึ่งที่มักได้ค้นและพบคือเราเป็นแบบที่เรามั่นใจว่าเราเป็นเราหรือไม่ หรือเขาเป็นแบบที่เรามั่นใจหรือเปล่า

จากหลายปีที่ผ่านมาทำให้ผมได้คำตอบที่เรียกว่าหลากหลายน่าสนใจ คือเราเป็นเราแบบที่เรามั่นใจมากกว่าการประเมินจากความไม่แน่ใจของคำตอบของคนอื่นๆ

ความมั่นใจของทุกคนสร้างได้ครับ ไม่ว่ากี่ปีจะเปลี่ยนไปหรืออยู่ที่ไหนก็ตัวเรา ท่องเอาไว้นะครับ

• อย่ากังวลว่าตัวเองต้องเพอร์เฟ็กท์ คำตอบของภาวะผู้นำหรือของธุรกิจไม่เคยมีอะไรที่ผิดเสมอหรือถูกเสมอ สิ่งที่ดีที่สุดคือรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่มากที่สุด ณ เวลาที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุด แล้วตัดสินใจ เมื่อตัดสินใจแล้วอย่าหันกลับไปมอง

• เรียนรู้ที่จะอยู่กับความผิดพลาดของตัวเอง ก็พลาดไปแล้วก็ต้องอยู่กับมัน ยอมรับมันนะครับ คนเราก็พลาดทั้งนั้น ยอมรับ เรียนรู้แล้วเดินต่อครับ

• ตัดสินใจอะไรไปแล้ว รับผิดชอบกับการตัดสินใจนั้นๆ ทำไปแล้วคือทำไปแล้ว อย่าไปกังวลกับมันว่าใครจะชอบใครจะไม่ชอบ

• ต้องเข้มแข็งอยู่เสมอ แข็งนอกอ่อนใน ยืดอกรับทุกสิ่ง

• หมั่นหาความสนุก ความสุขจากงาน ชีวิตมันสั้น จะคิดมากไปทำไม มีอะไรให้คิดให้ทำในหน้าที่การงานตลอดเวลา มีอะไรให้ค้นหาในตัวเองและเพื่อนร่วมงานเสมอ

ปีใหม่คือความมั่นใจใหม่ๆครับ...

มั่นใจในตัวเอง เพื่อให้คนอื่นมั่นใจในตัวเรา