Sunday 15 February 2009

ข้อแนะนำที่ควรทำตามเพื่อจะได้ไม่ต้องทะเลาะกับใครเวลาท่านสร้างบ้าน

ลูกค้าจุกจิก รบกับผู้รับเหมา ทะเลาะกับผู้ออกแบบ จ่ายเงินไม่คุ้มงาน สร้างบ้านสักหลังมีแต่เรื่องนะครับ การทะเลาะ(กับใครก็ตาม)ในแวดวงก่อสร้างเหมือนเป็นของคู่กันกับการก่อสร้างซะแบบนั้น ลูกค้าหรือเจ้าของบ้านบางคนเบื่อพาลไม่อยากรับผิดชอบการสร้างมันซะเลย หลายปีมานี้ผมต้องให้คำปรึกษาหลายๆกรณี จากผู้รับเหมาบ้าง จากเจ้าของบ้านบ้าง สถาปนิกบ้าง ก็ต่างกรรมต่างวะระครับ การสร้างบ้านสักหลังเป็นเรื่องใหญ่ใช้เงินเยอะ ความเสี่ยงสูงสำหรับทุกฝ่าย เมื่อเรารู้แล้วว่ามันเสี่ยงเหลือเกินเราต้องควรระวังในการประคับประคองโครงการให้มันจบดีๆโดยเอาใจเขามาใส่ใจเรานะครับ เชื่อเถอะทุกฝ่ายอยากรีบทำรีบจบทั้งนั้น เจ้าของงานก็อยากได้โครงการสวยงามดังฝัน ผู้รับเหมาก็อยากส่งงานและได้เงินครบ สถาปนิกหรือนักออกแบบก็อยากส่งงานให้เสร็จจะได้เห็นงานของตัวเอง(และได้เงิน) มีคนกลุ่มเดียวที่อยากเห็นคนทะเลาะกันคือทนายความครับ อย่างไรก็แล้วเมื่อมีเรื่องขึ้นมาทุกฝ่ายก็เจ็บไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ วันนี้ผมมีข้อคิดง่ายๆให้ทุกฝ่ายลองพิจารณาเพื่อท่านจะได้ไม่ช้ำใจทีหลังครับ

  1. เลือกมืออาชีพในการทำงานหรือเลือกดูโหงวเฮ้งลูกค้าก่อน เจ้าของบ้านตรวจสอบให้ละเอียดนะครับ ถ้าท่านใช้ผู้ออกแบบอิสระหรือมือปืนท่านอาดได้ของถูก แต่เวลาทำงานเขาก็จำกัดมาได้ตอนดึกๆ คุมงานวันธรรมดาไม่ได้ เอกสารก็อาจไม่เรียบร้อย สัญญาก็อาจไม่ชัดเจน ท่านใช้บริษัทมืออาชีพก็ต้องแพงขึ้นมาแต่ความรับผิดชอบก็เป็นเงาตามตัว สถาปนิกหรือผู้รับเหมาเวลารับงานตรวจดูลูกค้าดีๆ ว่าเป็นเจ้าของจริงมั้ย เป็นตัวแทนหรือนายหน้าหรือไม่ เอาเงินจากที่ไหนมาทำกู้หรือสด เข้าใจในธรรมชาติงานก่อสร้างมากน้อยเพียงใด
  2. ให้เวลาซึ่งกันและกัน ผู้ออกแบบต้องเข้าใจว่าลูกค้ามีเวลาขนาดไหนในการมีส่วนร่วมในการออกแบบ ลูกค้าต้องคุยกับผู้ออกแบบให้ชัดเจนว่าผู้ออกแบบใช้เวลามากน้อยอย่างไรในการทำงานออกแบบ ต้องเข้าใจว่าเวลามากงานก็ดี เวลาน้อยคุณภาพก็แย่ลงครับ ไอ้ที่บอกราคานี้แต่จะเร่งให้ส่งงานได้ค่ะครับ ไม่มีหรอกครับ
  3. คนคุมประสานงานต้องมีและเก่ง หน้างานก่อสร้างอะไรก็ไม่แน่ สถาปนิกส่วนใหญ่หรือทั้งหมดชอบที่จะออกแบบอย่างเดียวครับ ถ้าจะให้คุมงานด้วยต้องมีสัญญาบริการแยกออกมา ในความจริงเราอาจจ้างที่ปรึกษาหรือคนคุมงานแยก แต่ในมุมมองผมผู้ออกแบบน่าจะเป็นคนคุมงานที่ดีที่สุดเนื่องจากแบบของตัวเองย่อมไม่มีคนอื่นเข้าใจได้ดีเท่าตัวเองครับ ท่านคงไม่อยากไปรบกับผู้รับเหมาเองใช่มั้ยครับ (ถึงแม้ว่าบางครั้งการคุมงานเองโดยเจ้าของงานก็เป็นผลดีมากกว่าเสีย)
  4. มีการวางแผนงานก่อสร้างอย่างชัดเจน ใช้อะไรก็ได้ครับ บ้านเรามีตั้งแต่softwareที่ยากๆ หรือใช้excel จนถึงการจดบันทึกวันเวลาที่จะเริ่มทำและจะทำงานนั้นให้เสร็จด้วยกรพดาษปากกาธรรมดา อะไรก็ได้ครับ ถ้าท่านไม่ทำท่านเสียเปรียบในการอ้างอิงทีหลัง
  5. มีการบันทึกการเปลี่ยนแปลงเสมอ ลูกค้าสั่งแก้งานท่านต้องเซ็นที่แบบ ผู้รับเหมาของปรับสเป็กท่านก็ต้องอนุมัติก่อน อย่าเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่ายนะครับ ทุกอย่างเป็นเงินเป็นทองเสมอ แม้แต่ของานแถมก็ต้องบันทึกนะครับ (จำไว้ว่าของฟรีไม่มีในโลก)
  6. ทุกฝ่ายต้องเข้าใจว่าอะไรคือสัญญา พูดไว้แล้วต้องทำ ผู้ออกแบบสัญญาออกแบบละเอียดจะแก้นิดแก้หน่อยก็ทำไปเถอะครับ ผู้รับเหมาส่งงานช้าก็ต้องปรับ เจ้าของบ้านท่านจะจ่ายเงินช้าดึงเงินผู้รับเหมาโดยเขาไม่ได้ผิดท่านก็ต้องนับวันที่ช้าเป็นวันทำงานเพิ่มเติมให้เขา เลิกซะทีเถอะครับทัศนคติที่ว่าผู้รับเหมารวยทุกคน เขาได้เงินท่านมาเขาก็ต้องเอาไปจ่ายลูกน้อง ช่าง ซื้อของ ทำสัญญาต้องเชื่อใจกัน ถ้าไม่เชื่อใจกันก็อย่าเซ้นแต่แรก
  7. พูดคุยเจรจาอย่างจริงจังทุกครั้ง เวลามีเรื่องเห็นไม่ตรงกัน คุยกันทุกครั้งและพยายามหาทางออกหรือเสนอแนวทางที่พอจะรับกันได้ เชื่อเถอะครับ ไม่คุยกันวันนี้ก็เจอกันที่ศาลก็ต้องมาคุยกันเองอยู่ดี ศาลไทยท่านชอบให้ไกล่เกลี่ยครับ ถึงวันนั้นมันสายไปแล้ว

No comments:

Post a Comment