Saturday, 2 May 2009

ตามไปดูงานแฟร์ (ตอนที่ 1)


สัปดาห์นี้ผมต้องเดินทางอีกแล้วครับ คราวนี้ตั้งใจว่าจะเขียนอะไรจริงๆจังๆระหว่างทริป เพราะไปไหนกลับมาทีไรและเอามาเขียนทีหลังเป็นได้ทำรายละเอียดตกหล่นทุกที

ช่วงต้นปีของทุกปีหลังจากอีสเตอร์มีงานแสดงผลงานและนวัตกรรมทางด้านการออกแบบที่ดังมากงานหนึ่งในยุโรป คนจากทั่วโลกแห่กันมาจนเมืองๆนี้ซึ่งเป็นศูนย์กลางของแฟชั่นและไลฟ์สไตลย์ของยุโรปจนวุ่นวายไม่ได้หายใจหายคอ หลายปีก่อนงานนี้เป็นงานของคนที่ทำธุรกิจด้านการออกแบบ นำเข้าส่งออก โดยเฉพาะจากทางเอเชีย เดินกันแทบถล่ม เรียกว่าครึ่งๆเดินชนกับฝรั่งเป็นพวกหน้าตี๋หน้าหมวยหรือแขกทั้งนั้น เอ๊ะ แล้วอะไรทำให้เขาเหล่านั้นมากันเยอะ เอ๊ะอะไรทำให้งานนี้อยู่ยงคงกระพันกันมาหลายปี

มีคำพูดคำหนึ่งบอกว่าคนที่นี่หายใจเข้าออกเป็นศิลปะ (it's in the air that they breath) คำพูดนี้ไม่ไกลเกินจริง ลองนึกดูนะครับว่าจะมีกี่แห่งในโลกที่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวแล้วกลับไปมักจะบอกว่ามาที่นี่เดินเมืองไหนก็สวย มองไปทางไหนก็สวย หรือจะมีกี่วัฒนธรรมในโลกที่เก่าแก่แต่ไม่เคยเก่าเก็บ สามารถนำเสนอทั้งความอนุรักษ์นิยม ความร่วมสมัย ความทันสมัย ผ่านการจินตนาการจากวิวัฒนาการในทุกบริบทของสังคมที่จับต้องได้ และจะมีกี่แห่งในโลกที่เป็นจุดศูนย์กลางของศิลปะและแฟชั่นด้วยผ่านการบริหารและจัดการด้วยรากฐานของวิธีคิดวิธีการทำงานของศิลปินเหมือนเฉกเช่นในอดีตแต่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่นี่..อิตาลี

งานแสดงผลงานและนวัตกรรมทางด้านการออกแบบจัดขึ้นทุกปีที่เมืองมิลานครับ ผมขอเรียกสั้นๆว่า "มิลานแฟร์" ตัวงานดูเผินๆเหมือนการออกแสดงผลงานหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ประจำปีของแบรนด์ต่างๆทางสถาปัตยกรรม แต่ผมว่าเสน่ห์ของงานคือเป็นการนำแสนอแนวคิดของศิลปินแบบ "ไม่เปื้อน" (uncontaminated) ครับ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น
เรามาว่ากัน

ผมขอเริ่มที่เฟอร์นิเจอร์ อย่างที่กล่าวข่างต้น เป็นที่รู้กันว่าแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่มาจากอิตาลีนั้นมากับคำว่า "สวย" และ "แพง" สองคำนี้เป็น "ต้นทุน" ของ "แบรนด์" ที่จริงเป็นอย่างยิ่งครับ
แบรนด์เฟอร์นิเจอร์จากอิตาลีหรือหลายประเทศในยุโรปบริหาร "ต้นทุน" ของตัวเองแบบบริหาร "สตูดิโอ" โดยแต่ละ "สตูดิโอ" มี designer หลายคนหลากความคิดหลายวิธีการแต่ทำงานด้านการออกแบบที่เป็นทิศทางของตนเองที่ถนัดและชัดเจนเป็นตัวของตัวเอง designerคอยป้อนงานออกแบบพร้อมกัยงานผลิตให้ "สตูดิโอ" โดยมี "สตูดิโอ"คอยกำหนดกรอบแนวคิดกว้างๆจากโจทย์ของ "แบรนด์" ที่วางไว้ให้

จำเบเกอรี่มิวสิคได้มั้ยครับ? หลายปีก่อนเบเกอรี่มิวสิคฉีกกติกาของค่ายเพลงในอดีตที่กำหนดทิศทางแนวคิดเพลงให้ศิลปินร้อง กำหนดวิธีการบริหารศิลปินจากคนที่ไม่ใช่ศิลปิน กำหนดวิธีการกลยุทธ์การทำเพลง (production)โดยนักการตลาด เบเกอรี่มิวสิคฉีกกติกาโดยเอาทุกอย่างมาให้นักร้องทำ! (นั่นก็แรงไปนิด ไปมาเลยเจ๊ง แต่แกรมมี่ยังอยู่)

กติกาเหล่านี้ ไม่เคยมีในวงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องมี "ต้นทุน" ของ "แบรนด์" ครับ ความสวยหรือราคาที่แพงสำหรับที่อื่นอาจบอกได้ว่าเป็นกลไกของอุปสงค์ อุปทานและการตลาด และ "ต้นทุน" ของ "แบรนด์"ของเฟอร์นิเจอร์แบบ B&B Italia, Minotti หรือ Moroso คือการทำงานศิลปะด้วยศิลปิน บริหารโดยศิลปิน เพื่อคนที่เคารพศิลปะ

"ต้นทุน" ของ "แบรนด์" แบบนี้ดังกล่าวจึงลึก "ต้นทุน"แบบนี้ทำให้เฟอร์นิเจอร์อิตาลีขายได้ที่ตัว "งาน" ไม่ใช่ตัว "แบรนด์"

สวยก็แบบมีตัวตน สวยแบบมีเรื่องราว สวยแบบมีที่มาที่ไป (คือซื้อโซฟาไปซักตัว ต้องไปคิดต่อ คิดแล้วจะยิ่งสวย ยิ่งสนุก)

แพงก็ที่คุณค่าและมีมูลค่าเหนือกาลเวลา (คือซื้อโต๊ะไปซักตัวคือการลงทุน ยิ่งเก็บยิ่งมีค่า)

น่าเสียดายที่คนเอเชียไม่เคารพกติกาซักเท่าไหร่ ทุกๆปีแห่กันมาเพื่อ "ตัดตอน" กติกา
โดยการ "ก๊อปปี้" ซะมากกว่า พอเป็นอย่างนี้เวลามางานแฟร์ทุกปีคนที่นี่เค้าเลยมักไม่ค่อยให้เกียรติ เพราะท่านเอาแต่ยิงถ่ายรูปเอาๆโดยไม่สนอะไรเลย ทั้งๆที่ป้ายก่อนเข้างาน ก่อนออกจากงาน อยู่ในงานบอกว่าห้ามถ่าย! คนเอเชียตัดตอนกติกาการออกแบบ การจัดการไปที่การผลิตเลย ทั้งโลกเค้ารู้กันว่ามาดูแทรนด์ใหม่ที่มิลานแฟร์แต่ไปดูของก๊อป (ที่เหมือนมากกกแต่ถูกกว่า 3เท่า)ที่เมืองจีน (จัดสองเดือนหลังจากจบมิลานแฟร์ ไม่น่าเชื่ออาตี๋ทำได้ทุกอย่าง!)

เอ๊ะแบบนี้แปลว่าคนจีน คนแขกออกแบบไม่เป็นได้แต่ลอกเค้าและเอามาผลิตอย่างนั้นหรือ แปลว่างานออกแบบหรือศิลปะของเอเชียหรือชาติอื่นๆสู้ฝรั่งไม่ได้หรืองัย

คงไม่ใช่แบบนั้นทั้งหมดครับ

แล้วผมจะกลับมาบอกว่าทำไม

No comments:

Post a Comment