Wednesday, 22 December 2010
อนาคตที่เรากำหนดได้
ใกล้สิ้นปีแบบนี้คงเป็นเวลาที่วุ่นวายสำหรับหลายๆธุรกิจนะครับ ไหนจะต้องปิดงบ เคลียร์งาน สรุปโครงการปีนี้เพื่อที่จะเตรียมลุยต่อในปีหน้า เก็บเงิน สรุปโบนัส สำหรับหลายๆท่านที่ต้องทำงานหนักกว่าปรกติเพื่อให้บริษัทผ่านช่วงวุ่นๆแบบนี้ไปได้ไม่ว่าต้องนั่งตอบอีเมล์จากลูกค้าที่มีรายการยาวเป็นหางว่าว ต้องหาเวลา(ที่ไม่ค่อยจะมี)มาประชุมกับแผนกอื่นๆแก้ปัญหาต่างๆนานาที่ประดังเข้ามาในช่วงเวลาแบบนี้ บางท่านต้องทำงานไปด้วยแล้วเอาข้าวกลางวันมาทานบนโต๊ะ(หรือบางท่านก็แทบไม่มีเวลาจะทาน!)
ใจเย็นๆนะครับ ถึงงานจะเรียกร้องเอาเวลาและความสามารถจากท่านเหลือเกินและมากขึ้นทุกวันๆ แต่คนเราไม่ใช่หุ่นยนต์ จะให้ทำงานต่อเนื่อง เครียดต่อเนื่องมันไม่ได้ มันต้องมีทางออกให้ตัวเองบ้าง วิธีง่ายๆลองดูว่าเรามีเวลาพักผ่อนเพียงพอหรือเปล่า เรื่องนอนนี่เป็นเรื่องเล่นๆที่สำคัญที่สุด นอนน้อยสมาธิก็น้อยคิดอะไรก็ไม่ออก นอกจากนี้ระหว่างวันหาเวลาพักทำอะไรสบายๆทุกๆหนึ่งหรือสองชั่วโมงจะเป็นผลดีกับตัวเราและตัวงานนะครับ และระหว่างพักพยายามมองโลกในแง่ดีคิดถึงเรื่องดีๆเรื่องอื่นนอกจากเรื่องงานบ้าง เอาตัวเองออกจากงานได้ซักพักก็เหมือนสมองได้หยุดเดินบ้างแล้ว เวลากลับบ้านไม่จำเป็นก็อย่าพยายามเอางานกลับไปทำ แยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวให้ออก งานก็งาน ครอบครัวก็ครอบครัวนะครับ
...
ปีใหม่ที่กำลังจะเข้ามาหลายคนคงตั้งความหวังอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตส่วนตัวและชีวิตการงานที่ดีๆเกิดขึ้น
…
“…it's not inherited talent which determines how good we become at something, but rather how hard we're willing to work”, Anders Ericsson
บางท่านมอบความเชื่อในอนาคตให้สิ่งบางสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่หลายท่านเชื่อว่าจิตใจของตัวท่านเองนั่นแหละที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้ตัวท่านเองและให้อนาคต
...
ผมมีความเชื่อว่าการที่เราจะทำให้อะไรประสบความสำเร็จสักอย่าง เราต้องรู้จักผลักดันตัวเองให้ผ่านจุดใดจุดหนึ่งของชีวิตที่ต้องแลกมาด้วย ความท้อแท้ ความกังวล ความเครียด และความล้มเหลว เมื่อเราผ่านจุดนั้นๆมาแล้วถ้าเราอยากเก่งขึ้นไปอีกเราก็ต้องพยายามมองหาจุดใหม่ๆในชีวิตที่มีโจทย์แตกต่างกันแต่ต้องแลกมาด้วยความลำบากและอุปสรรคในลักษณะที่คล้ายๆกันกับสิ่งข้างต้นอีก เมื่อเราผ่านจุดๆนั้นมาได้เรื่อย รางวัลที่ได้จะเป็นรางวัลของชีวิตที่ทำให้เรามีกำลังใจเดินไปข้างหน้าต่อไปเรื่อยๆและสามารถทำให้ตัวเราประสบความเร็จได้อีกไม่รู้จบ และทุกอย่างจะวนเวียนไปแบบนี้เป็นกำลังใจหล่อเลี้ยงชีวิตเราไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด
...
การจะผลักดันให้ตัวเองผ่านจุดๆนั้นได้มีเคล็ดลับดังนี้ครับ
ต้องเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และควรรักและภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ คนเราถ้ามีความเชื่อมั่น ทำอะไรก็สำเร็จ
เลือกทำสิ่งที่ยากก่อนสิ่งที่ง่ายเสมอ ธรรมชาติของคนเราทั่วไปมักมองหาอะไรที่ง่ายๆใกล้ตัวไว่อน แต่เราไม่อยากจะเป็นแค่คนทั่วไปไม่ใช่หรือครับ
ฝึกตัวเองให้คุ้นเคย เชี่ยวชาญกับงานหรือสิ่งที่ทำอยู่เสมอ หมั่นสร้างโฟกัสหรือสมาธิให้ตัวเองในงานที่เราทำ
หมั่นถามความคิดหรือความเห็นถึงเรื่องงานหรือผลของงานที่เราทำจากคนรอบตัวบ่อยๆ บางครั้งเราจะรู้อะไรดีๆจากคนที่เราคาดไม่ถึงเสมอครับ
สุดท้าย ต้องรู้จักหาเวลาพักผ่อน เอาหัวออกจากสิ่งที่ทำเป็นประจำอยู่บ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อหลีกหนีความจำเจและสร้างความตื่นเต้นในการกลับมาเจออะไรใหม่ๆหลังจากนั้น
...
ขอให้ทุกท่านสวัสดีปีใหม่ กลับมาพบกันพร้อมกับไฟเต็มหัวใจ เพื่อสิ่งดีๆ สิ่งใหม่ๆ ในปีใหม่ปีหน้าครับ
Tuesday, 23 November 2010
ถ้าคุณอยากเป็นเถ้าแก่
ฤดูการศึกษาของเมืองไทยตามระบบการเรียนปรกติจะมี 2 ภาคการศึกษาครับ ช่วงก่อนเริ่มภาคการศึกษาใหม่ที่ผ่านมาเราจึงเห็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์หลักสูตรปริญญาตรีโทเอก ที่มีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น รวมถึงคอร์สประเภท how-to ที่สอนกันด้วยระยะเวลาสั้นๆจบภายในหนึ่งวัน หนึ่งสัปดาห์ จนถึงไม่กี่เดือน มีให้เลือกมากมาย
ปรกติผมจะรับเชิญการเป็นวิทยากรไปพูดตามที่ต่างๆก็ช่วงเวลาระหว่างภาคการศึกษาแบบนี้ล่ะครับ เมื่อก่อนเป็นอาจารย์เต็มเวลามักเลือกสถานที่และช่วงเวลาที่ไปสอนไม่ค่อยได้ เดี๋ยวนี้สบายขึ้นเยอะ ผมจึงมักเลือกที่จะบรรยายในหัวข้อที่สั้นๆกระชับจบได้ในระยะเวลาที่ไม่มากนัก และโดยทั่วไป ที่สำคัญคือผมมักเลือกหัวข้อที่ได้แชร์ประสบการณ์กับนักศึกษาหรือผู้ที่ได้มาฟังบรรยาย เพราะผมเชื่อว่าทุกครั้งที่ผมไปพูดที่ไหน ผมอยากที่จะเรียนรู้จากผู้ฟังหรือนักศึกษา มากพอๆกับที่เขาเหล่านั้นตั้งใจ(และเสียเงิน)มาฟังผมพูด
ด้วยตัวผมซึ่งเป็นวิศวกรโดยอาชีพ แต่ไปจบปริญญาเอกทางการบริหารงานสถาปัตยกรรมและการออกแบบ กลับมารับราชการเป็นอาจารย์ และในที่สุดมาอยู่ในภาคเอกชนประกอบกิจการเป็นของตัวเอง คำถามยอดฮิตคำถามหนึ่งที่ผมถูกผู้ฟังถามอยู่เสมอเวลาไปบรรยายที่ไหนคือ “อาจารย์ครับ ถ้าเราอยากจะมีจะทำกิจการที่เป็นของตัวเองจำเป็นต้องมี MBA หรือจบปริญญาโททางธุรกิจหรือไม่”
ผมมักจะตอบไปว่า อาจจะไม่ และอาจจะใช่
…
“Entrepreneurship is a matter of the heart, and education is a matter of the brain”
“ความเป็นเถ้าแก่น่ะ มันอยู่ที่ใจ ส่วนการศึกษา มันเป็นเรื่องของสมอง”
...
“ใจ”มันสอนกันไม่ได้ครับ ถ้าเราเป็นเจ้าของกิจการหมายถึงเราต้องพร้อมที่จะสู้ พร้อมจะรับความเสี่ยงที่คาดไม่ถึงอยู่เสมอ (ทุนหาย กำไรหด ลูกค้าไม่มี เงินไม่เข้า ฯลฯ) “ใจ”ที่สอนกันไม่ได้แบบนี้จึงเป็นเรื่องของทัศนคติในการมองโลกอันแสนไม่แน่นอนและความกระหายอยากรู้อยากเห็น อยากประสบความสำเร็จ
การเรียนรู้ การศึกษา เป็นอีกเรื่องๆหนึ่งครับ การเรียนสามารถสร้าง“กรอบ”ให้เราคิด สร้าง“เกราะ”ให้เราอุ่นใจ ว่าความเสี่ยงที่คาดไม่ถึงน่ะมีอยู่จริง แต่เราต้องอย่างน้อยต้องเดาให้ได้ว่ามันจะมาเมื่อไหร่ อย่างไร ในทิศทางไหน เพื่อให้เราเลือกเดินในเส้นทางที่เสี่ยงน้อยที่สุด
...
เวลาผมต้องตอบคำถามดังกล่าวผมจึงเลือกยกตัวอย่างในลักษณะ “ชง” ให้ผู้ฟังรู้จักและอยากสนุกกับความเสี่ยงใดๆ แต่ขณะเดียวกันก็ลืมตายอมรับความเป็นจริงในสิ่งที่จะเกิดในโลกใบนี้ครับ
การเรียน การศึกษา ทำให้สมองกับใจทำงานไปด้วยกันได้แบบสร้าง“สมดุล”ของตรรกกะทางความคิดครับ
ก็เมื่อการตัดสินใจทางธุรกิจบางครั้งใจมันบอกว่า“ใช่” แต่สมองมันบอกว่า“ไม่” และในทางกลับกัน หลายครั้งถึงแม้ใจมันบอกว่า“ยัง” แต่สมองมันสั่งให้“ต้องเดิน”
ฉะนั้นเรื่องของการเป็นเถ้าแก่ให้ประสบความสำเร็จจึงไม่ใช่ต้องว่ามีปริญญาเสมอไปหรือไม่ แต่เป็นเรื่องของการรู้จักวิธีการบริหารสมองแบบ“เติมใจ”เข้าไปให้กัน แล้ว“เติมกำลัง”ให้ใจ ด้วยภูมิคุ้มกัน ด้วยความรู้ที่สมองสร้างได้
เพราะหลายครั้งสมองบอกสิ่งที่ฉลาดๆ เพื่อที่ไม่ต้องให้ใจเราไปพะวงกับการเรียนถูกเรียนผิดอีก (ก็คนอื่นทำผิดมาแล้ว)
แต่ก็หลายครั้งที่โจทย์ทางธุรกิจมันยาก นอกตำราและเกินกำลังของความรู้ใดๆที่เราสามารถนำมาอ้างอิง ต้องวัดกันด้วยใจหรือประสบการณ์ เพื่อเอามาตัดสิน
...
ผมจึงเชื่อว่า การเรียนรู้และการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำความรู้จักหลีกเลี่ยงความเสี่ยง และสร้างความน่าจะเป็นของความสำเร็จในการเป็นเจ้าของกิจการ แต่ผมก็เชื่อว่าถึงแม้เราจะมีเครื่องมือเหล่านั้น จิตใจที่พร้อม ประสบการณ์ที่มี คือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการฉวยโอกาสของความน่าจะเป็นเหล่านั้นเพื่อให้เราเดินหน้าต่อไปให้ยั่งยืน
...
เพราะในโลกธุรกิจ สมองและใจ เดินไปด้วยกันครับ
Friday, 5 November 2010
ต้นทุนของเวลา
ทราบข่าวคราวของประชาชนที่เดือนร้อนจากวิกฤตภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วมและลมพายุ ในเกือบทั่วทุกภาคของประเทศไทยแล้วหดหู่นะครับ เครียดแทนท่านที่ต้องประสบเคราะห์กรรมแบบที่ตั้งตัวไม่ทันมาก่อน วิกฤตแบบนี้เรื่องของความเสียหายเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากว่าจะเกิดเมื่อใด หรือจะเสียหายมากน้อยเพียงใด แต่เรื่องที่พอจะช่วยบรรเทาความเสียหายโดยการจัดการกับวิกฤตอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่วางแผนล่วงหน้าและกระทำได้อย่างรวดเร็วครับ
หน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานรวมทั้งรัฐบาลได้รับการตำหนิอย่างรุนแรงว่ารับมือกับปัญหาได้อย่างเชื่องช้าไม่ทันใจ และไม่ทันอารมณ์เหมือนอย่างนักข่าวบางช่องที่ทั้งเกาะติดสถานการณ์และลงไปลุยน้ำท่วมช่วยเหลือ พูดคุยกับประชาชนผู้ต้องเผชิญกับภัยพิบัติครั้งนี้ โดนต่อว่ามากๆเข้าผมว่า ถ้ารัฐบาลขออะไรได้สักอย่างคงอยากจะย้อนเวลากลับไปสัก หนึ่งอาทิตย์ หนึ่งวัน หรือเพียงหนึ่งชั่วโมง เพื่อที่จะมีโอกาส ทำอะไรๆได้ดีกว่านี้
...
เวลา คือ “ต้นทุน” ที่สูงมากของชิวิตครับ เพียงเสี้ยวนาทีทำให้เราตัดสินใจอะไรผิดที่อาจทำให้เราเสียใจไปตลอดชีวิต ที่น่าเศร้าคือเรามักจะนึกถึง“ต้นทุน”ตัวนี้เมื่อเรารู้ตัวว่า“ขาดทุน”ไปซะแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น เราๆท่านๆส่วนใหญ่เวลาตัดสินใจผิดหรือไม่ได้ตัดสินใจอะไรที่สร้างผลดีให้กับองค์กรกลับโทษตัวเอง โทษว่าเราไม่มี“ต้นทุน”ตัวนี้ โทษว่าเราไม่มี“เวลา”ตั้งแต่ต้น
คิดดูให้ดีเวลาเป็นต้นทุนที่มหัศจรรย์ของชีวิตนะครับ ลองคิดดูถ้าคิดเป็นชั่วโมง จะมีต้นทุนอะไรบ้างที่มีค่าสูงขนาดนี้แต่สามารถเริ่มต้นใหม่ได้ทุกวันสำหรับหนึ่งวันที่มีถึง 24 ชั่วโมง เมื่อเราคิดแบบวันนี้เราใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงของเราคุ้มหรือไม่?
วันนี้เราใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงในหนึ่งวันของเราคุ้มหรือยังครับ
...
สำหรับคนที่ชอบบ่นว่างานเยอะ โอย จะไม่มีเวลาทำงานเหลืออยู่แล้ว ลองนึกดูเล่นๆถ้าวันหนึ่ง เอ็มดีหรือ ประธานบริษัท เดินลงมาพูดกับคุณโดยตรงว่าอยากให้คุณทำงานชิ้นหนึ่งให้ โดยรายงานตรงต่อท่าน ซึ่งงานชิ้นนั้นเป็นงานที่สำคัญมากและขอใช้เวลาของคุณอยู่กับท่านเพื่องานชิ้นนี้เพียงหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น เป็นคุณๆจะทำหรือไม่? เกือบร้อยทั้งร้อยต้องตอบว่าทำ ส่วนหนึ่งอาจเพราะหน้าที่ แต่อีกส่วนหนึ่งเพราะหัวใจพองโตที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำงานสำคัญจากคนระดับสูงสุดขององค์กร
อ้าว? ไหนบอกยุ่ง ไม่มีเวลาทำงานเหลืออยู่แล้ว แล้วไปหาเวลาพิเศษนี้ได้อย่างไร
...
ความจริงก็คือเราต่างมีเวลา“พิเศษ”แบบนี้ซ่อนอยู่ทั้งนั้นครับ ขอให้เรามีแรงจูงใจเพียงพอเราก็สามารถบริหารต้นทุนตัวนี้ของเราจากภายในได้ดีขึ้น ลองนึกดูนะครับเวลาพิเศษแบบนี้บริหารได้โดยการเลิกทำสิ่งง่ายๆประจำวันที่จุกจิก เช่นเลิกไปใส่ใจกับการประดิดประดอย powerpoint presentation ให้สวยงาม เลิกประชุมในสิ่งที่ไม่จำเป็น(คุยกันหลายครั้งแล้วไม่รู้เรื่องสักที) เลิกทำงานในสิ่งที่สั่งคนอื่นให้ทำหรือทำในเวลาอื่นได้
จริงๆแล้วในแต่ละวันทุกคนมีเวลาเหลือกันทั้งนั้น แล้วแต่ว่าเราใช้ประโยชน์จากต้นทุนตัวนี้มากขนาดไหน จะให้ให้กำไรเป็นผลพลอยได้กับตัวเองและผู้อื่น หรือทำให้มันขาดทุนโดยมานั่งเสียใจทีหลังเมื่องานผิดผลาดหรือส่งงานไม่ทันแล้วมานั่งโทษต้นทุนตัวเองว่ามีไม่พอ ทั้งๆที่ต้นทุนตัวนี้อยู่กับเรา เกิดกับเรา บริหารโดยตัวเราซะเองทั้งนั้น
ชีวิตต้องวางแผน ทำงานต้องมีเป้าหมายต้องมีตารางเวลานะครับ ลองพินิจลองวิเคราะห์ดูว่าเราใส่ใจกับการบริหารต้นทุนตัวนี้ของเรามากน้อยขนาดได้ หรือปล่อยให้ตัวมันเองบริหารตัวมันเองไปเรื่อยๆ
...
เพราะไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสย้อนเวลา ขอเริ่มต้นใหม่
เมื่อความผิดพลาดหรือหายนะมาถึง
Tuesday, 28 September 2010
ไม่อิน(เทรนด์) ก็เอ้าท์
ไม่ต้องร่ายยาวให้มากความ ว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการในยุคนี้สมัยนี้เปลี่ยนแปลงเร็วขนาดไหน ไม่ต้องย้ำอีกให้เสียเวลา ว่าเศรษฐกิจขณะนี้มีผลกระทบกับความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภคอย่างไร เรื่องของเรื่องคือธุรกิจของเราให้ความสำคัญกับเทรนด์เหล่านี้มากน้อยเพียงใด
องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่สามารถคาดเดาสิ่งต่างๆที่ผ่านเข้ามาและส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อของผู้บริโภคครับ อย่างไรก็ดีมีงานวิจัยหลายชิ้นจาก Harvard Business School ออกมาระบุว่าองค์กรเหล่านั้นยังไม่ได้ศึกษาปัจจัยหลักจากเทรนด์หรือกระแสใดๆที่สร้างอิมแพคโดยตรงกับความอยากจะซื้อ ทัศนคติและพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างลึกซึ้งจริงๆ ที่เป็นอย่างนั้นเพราะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่มักเลือกที่จะ“รอ”เพื่อดูคู่แข่งหรือสภาวะตลาดที่ตอบสนองต่อกระแสที่เกิดขึ้น หรือไม่ก็น้อยมากที่จะปรับสินค้าหรือบริการของตัวเองอย่างรวดเร็วให้เป็นไปตามกระแสของตลาด
...
กระแสหรือเทรนด์หลายครั้งก็สามารถสร้าง “พลัง” ทางการตลาดและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคได้หลายรูปแบบและหลายทางครับ
เช่น กระเป๋าถือสุภาพสตรียี่ห้อ Coach ที่เป็นภาษา feminism ที่บ่งบอกความมั่งคั่งของผู้ถือมากว่า70ปียังต้องปรับตัวตามกระแสความไม่แน่นอนตามเศรษฐกิจโลกโดยการขยายคำจำกัดความของความหรูของแบรนด์อย่างเนียนๆ ด้วยการนำเสนอสินค้าไลน์ใหม่ที่ราคาถูกลงแต่คงไว้ซึ่งความเป็น Coach อย่างกระเป๋าถือรุ่น Poppy
หรือ Nike+ ที่รวมเอาความเป็น sportmanship ของ consumer กับกระแสใหญ่เชิงวัฒนธรรมของความคลั่งไคล้ในเทคโนโลยีและแฟชั่นของคนอเมริกัน โดยการรวมเอารองเท้ากีฬามาไว้กับเครื่องเล่น iPod จากกระแสดิจิตอลที่เปลี่ยนแปลงแทรกซึมเข้ามาใน life-style ของเราอย่างรวดเร็ว (ขายถล่มไปสองล้านกว่าคู่)
และ เทรนด์ทางด้านการการ “รักษ์” สนใจดูแลสุขภาพ ที่ทำให้เครื่องเล่นเกมส์ Nintendo ต้องสู้กับกระแสต่อต้านการเล่นวิดิโอเกมส์ของเด็กๆที่ดูไร้สาระไม่มีประโยชน์ (เพราะได้แต่นั่งใช้นิ้วจ้องจอภาพอยู่นิ่งๆกับที่ทั้งวัน) โดยการพัฒนาโมดูลของผู้เล่นที่ผสานเอาความเคลื่อนไหวกับ physical movement ของตัวเองเข้าไปในคอนโซลของเกมส์ (หลายท่านคงเคยเห็น คนเล่นเกมส์ตีเทนนิสหรือเกมส์ทำกับข้าวที่ต้องขยับหน้าจอเหมือนกำลังมีกิจกรรมนั้นอยู่จริงๆ!)
…
เรื่องการติดตามเทรนด์ให้อินน์ไม่เอ้าท์เป็นเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องการทำให้สินค้าหรือบริการของเราสะท้อนและตอบรับรูปแบบของเทรนด์นั้นๆออกมาได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าเราๆท่านๆส่วนใหญ่คิดแบบง่ายๆว่ากระแสหรือเทรนด์นั้นๆอาจอยู่นอกขอบเขตตลาดของเรา (ตีกรอบให้ตัวเอง) หรือเรามองเข้าข้างตัวเองว่ากระแสเป็นแค่กระแส ไม่ไปศึกษาอย่างจริงจังว่ากระแสจะสร้างผลกระทบกับตลาดของเราอย่างไรได้บ้าง หรือแม้แต่การที่เรามัวแต่ใช้เวลารอดูนานเกินไปจนคู่แข่งหรือคนอื่นคว้าไอเดียหรือความคิดดีๆเอาไปทำก่อน
เทรนด์หรือกระแส ไม่ว่าทางสังคม สิ่งแวดล้อม การเมืองหรือเศรษฐกิจ คิดแล้วมีผลกระทบต่อวิธีการที่ผู้คนมองโลกรอบๆตัวและสร้างทิศทางในการที่ผู้บริโภคจะคาดหวังอะไรๆจากสิ้นค้าและบริการ องค์กรทางธุรกิจต้องรู้จักวิธีทำตัวให้อินน์อยู่เสมอ เพราะทำตัวตกยุคเมื่อไหร่ก็บ๊ายบายเมื่อนั้นครับ
Thursday, 9 September 2010
ขอบคุณที่ได้รู้จัก
การที่เราเป็นเจ้าของกิจการหรือหัวหน้างานในธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อมหรือ SME หมายถึงการอยู่ในสภาวะแวดล้อมและโอกาสที่จะได้ตื่นเต้นกับพบเจอผู้ร่วมงานใหม่ที่เปลี่ยนหน้าค่าตาเข้ามาเรื่อยๆด้วยธรรมชาติขององค์กรลักษณะนี้ และในทางตรงข้ามก็คงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ในที่สุดต้องเผชิญหน้ากับการลาจากหรือการเลิกจ้างเพื่อนร่วมงานด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม
ที่น่าสนใจและท้าทายเราคือ สุดท้ายแล้วเรากับพนักงานใหม่จะได้เป็น “คนแปลกหน้าที่รู้ใจกันดีที่สุด” หรือกลายเป็นว่าจะต้องกล่าวคำ“ขอบคุณที่ไม่รู้จัก”
...
ชีวิตจริงบางทีก็เหมือนในหนัง เหมือนเต๋อกับหนูนาใน “กวน มึน โฮ” ที่ต่อให้รักกันแค่ไหน เมื่อเดินต่อกันไปไม่ได้ในที่สุดก็ ต้องลาจาก…
ชีวิตจริงเป็นหัวหน้างานมันไม่ง่ายเหมือนหนัง จะให้คนออกโดยไม่ระวัง มีหวังต้องช้ำนอกช้ำใน
...
ตลอดชีวิตการทำงานของผม ผมเคยให้พนักงานออก หรือเลิกจ้างพนักงานไปหลายคนครับ ต้องยอมรับว่ามันก็ไม่ใช่ประสบการณ์ที่ดีเท่าไหร่ บางครั้งทำเพราะควรทำ บางครั้งเพราะจำเป็นต้องทำ และหลายครั้งผมไม่แน่ใจว่าทำถูกต้องหรือไม่ แต่เมื่อธุรกิจต้องเป็นไป ชีวิตต้องเดินต่อ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดครับ จากประสบการณ์ทำให้ลองนั่งนึกดูว่าควรคิดอ่านประเมินอะไรบ้าง
อย่างแรกควรหาข้อมูลปรึกษาคนกลาง บางครั้งเรามีมุมหลายมุมที่มองไม่เหมือนมุมอีกหลายมุมจากคนอื่นๆไม่ว่านายหรือลูกน้องและเพื่อนร่วมงานระดับเดียวกัน ลองให้คนกลางเปรียบเทียบการทำงานระหว่างคนที่เรากำลังจะเลิกจ้างกับคนอื่นๆในหรือนอกองค์กรก็ได้ครับ สิ่งที่ได้ไม่ใช่คำตอบแต่คือความมั่นใจในสิ่งที่เรากำลังจะทำ(หรือไม่)
แล้วถามใจตัวเอง ถ้าเราเป็นเขาเราจะทำอย่างไรเมื่อถูกเลิกจ้าง เรากำลังเปรียบเทียบผลงานของเขากับผลงานของเรา หรือกำลังเปรียบเทียบผลงานของเขากับความหวังความตั้งใจของเรา ไม่เหมือนกันนะครับ ผลงานของเราแปลว่าเราพิสูจน์แล้ว ความหวังความตั้งใจของเราแปลว่าเราตั้ง“ธง”ของผลงานเอาไว้ ณ จุดๆหนึ่งแล้วบอกให้เขาเดินไปหาแต่เขาเดินไปไม่ถึง คำถามคือเขารู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่าเรามี“ธง”ผืนนั้นอยู่หรือไม่
จากนั้นต้องให้โอกาสและให้เวลาครับ มีสามสิ่งที่เป็นเรื่องจริงที่เจ็บปวดถ้าเราตัดสินใจเลิกจ้างเร็วเกินไป ข้อแรก มันอาจไม่ใช่ความผิดของพนักงานคนนั้นเมื่อทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามแผน(ของเรา) ข้อสอง คนเรามันปรับปรุงตัวกันได้ คนเราเปลี่ยนกันได้ แค่เมื่อไหร่เท่านั้นเอง และสุดท้าย ถึงแม้ว่าเลิกจ้างพนักงานคนหนึ่งแล้วเพื่อนร่วมงานอีกหลายๆคนจะรู้สึกสะใจว่ามันไปได้ซักที จะมีคนอื่นๆที่มักมององค์กรในมุมที่ว่า “อ๋อ บริษัทนี้มันทำกันแบบนี้เหรอ นึกจะไม่เอามันก็ไม่เอา” ซะงั้น
ต้องแน่ใจว่าเอกสารแน่นปึ๊ก ทั้งเรื่องการจ้างงาน สัญญา เงื่อนไขการจ้าง ความลับของบริษัท สิทธิของพนักงาน และเนื้องานที่มอบหมายให้พนักงานทำ (job description)
จะทำแล้วต้องหนักหน่วง เหนียวแน่น ตัดสินใจแล้วต้องทำเองและทำทันทีครับ ไม่งั้นตัวเราเองจะกลายเป็นตัวตลกในสายตาบริษัท พนักงานคนอื่นหรือแม้แต่เจ้านาย ตัดสินใจแล้วไม่ทำ มาเงื้อง่าราคาแพงแล้วยิ่งจะกลายเป็นเรื่องกวนใจเสียสมาธิ สร้างความรำคาญกับตัวเอง (และอาจมีคนอื่น) ว่า เฮ้อ มันไม่จบซักที
อย่าไปรับปากสัญญิงสัญญาอะไรไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “โถ อย่าเสียใจไปเลยน้อง เอาน่าพี่จะแนะนำงานใหม่ให้” หรือ “เอาวะ พี่จะคุยกับนายให้อีกที” ความรู้สึกส่วนตัวแบบนี้เอาออกมาปนกับความเป็นมืออาชีพไม่ได้ครับ
มาถึงขั้นนี้แล้ว ลองส่องมองตัวเองในกระจกครับ ถามตัวเองดูดีๆว่า ก็ไอ้ที่ต้องลงเอยกันแบบนี้ แล้วเราดันไปจ้างเขามาทำไมแต่แรก ความผิดส่วนหนึ่งไม่มากก็น้อยก็อยู่ที่ตัวเราด้วย จริงมั้ยครับ
และท้ายที่สุด อย่าเอาแบบเรื่องนี้มาพูดต่อทั้งภายนอกและภายในองค์กร เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็ยังเป็นเพื่อนร่วมอาชีพกัน วันนึงอาจจะเวียนมาหากัน มาเจอะเจอกันในต่างสถานะกันก็ได้ (กลับกลายมาเป็นคู่แข่ง คู่ค้า หรือแม้แต่ลูกค้า)
...
เหมือน เต๋อกับหนูนา เราแค่ไม่เหมาะกันตอนนี้ แต่ก็อย่างว่า
วันหนึ่งเราอาจเป็น “คนสองคนที่ไม่รู้จัก... แต่รักกัน”
...ก็ได้
Wednesday, 8 September 2010
กระตุกต่อมสร้างสรรค์
"All great innovations are built on rejection." Louise Nevelson
…
ธุรกิจหลายๆแบบเช่น งานโฆษณา พีอาร์ ประชาสัมพันธ์ สถาปนิก กราฟฟิกดีไซน์ เพื่อจะให้ได้งาน วิธีการทำงานส่วนใหญ่ต้อง"รีด"เอาความคิดสร้างสรรค์ออกมาเพื่อนำเสนอหรือเพื่อ"pitch"ลูกค้าก่อน ยิ่ง ยุคนี้สมัยนี้ลูกค้าเป็นใหญ่ซะด้วย การ "pitch" ลูกค้าสำคัญๆแต่ละครั้งจึงถือเป็นเรื่องใหญ่ไม่มีเล็ก เสนองานแต่ละทีต้องเอาเอ็มดีมานั่งพรีเซนต์เอง แต่ละบริษัทลงทุนกันเยอะ ปั่นไอเดียไปกัน แล้วออกมาขายฝันให้ลูกค้าเร้าใจในความคิดอันบรรเจิดของเรา
ถ้าไม่ได้งานก็แล้วไป แต่คำถามคือถ้าลูกค้าเกิดพอใจ พอได้งานมาแล้ว แล้วยังไงต่อ? ถ้าเราทุกคนนักคิดทุกบริษัทมีน้ำมันหล่อลื่นมาชโลมสมองตั้งแต่เริ่มเสนองานจนสามารถสนองเงิน(จากลูกค้า)ได้จนจบก็น่าดีใจ ทว่าความเป็นจริงมนุษย์ไม่ใช่เครื่องยนต์และความสร้างสรรค์ที่ยัง"คิดไม่จบ"แบบนี้ มันก็หมดกันได้ถ้าเราขาดแรงจูงในสร้างงาน
...
แรงจูงในสามารถทำให้เราทำงานได้ดี ได้เร็ว ได้มีคุณภาพ ทำให้ได้เห็นคุณค่าของงานครับ การสร้างสรรค์งานชิ้นหนึ่งเกี่ยวพันกับการรักษาระดับของความอยาก(ทำ) หรือเจ้าแรงจูงใจให้อยู่กับเราตลอดหรืออย่างน้อยก็ขอรู้ว่ามีกำลังใจเอาไว้กอดอยู่ข้างๆ
คนส่วนใหญ่สร้างแรงจูงใจ หรือรักษากำลังใจอย่างต่อเนื่องเพื่องานสร้างสรรค์ได้จาก 5 สิ่งในการทำงานครับ การแข่งขัน (competition) ขั้นตอน (process) ตัวงาน (product) ผลที่ได้ (impact) และความภูมิใจที่ได้ควบคุม (oversight)
...
"การแข่งขันหรือฉันต้องเป็นที่หนึ่ง" สำหรับหลายๆคน เราต้องการมีพลังผลักดันความคิดแบบ งานฉันต้องดีเพราะฝีมือฉันน่ะแจ๋ว งานฉันทำแล้วต้องได้รางวัลต้องดีเด่นเหนือใคร ถ้ากำลังใจของเรามาแนวนี้ไม่ต้องอายไม่ต้องเขินครับ แสดงพลังของคุณที่ซ่อนอยู่ออกมา เสนองานดีๆเข้าประกวด ออกไปแข่งขัน หรือทำงานทุกชิ้นให้ดีเหมือนจะส่งเข้าประกวดได้ตามเวทีต่างๆ
"ทำงานเป็นระบบ คิดให้จบแล้วถึงจะสวย" สถาปนิกระดับตำนานหลายคนที่ทำงานดีๆมีเคล็ดลับการออกแบบอาคารอลังการงานสร้างที่"ความสวย"ของ"เส้น"กับ"ความตรง"ของ"ไลน์"นะครับ คนบางคนชอบที่จะทำงานบนพื้นฐานของขั้นตอน ของแผน เพื่อเพิ่มความมั่นใจที่คนอื่นหรือระบบได้พิสูจน์แล้วว่าถ้าเดินตามน่ะ มันจะดีเอง ก็ไม่ผิดครับ ถ้าวิธีการทำงานของเรามาแนวนี้ ขอให้เลือกงานที่ให้"เวลา"กับคุณในการคิด งานที่กะเกณฑ์ได้มามีปริมาณมากน้อยในช่วงเวลาตรงไหนอย่างไร ขอให้เราระวังเรื่องการทำงานใกล้ deadline เพราะจะทำให้งานคุณนอกจากจะไม่สร้างสรรค์ยังจะตายเอาง่ายๆ เพราะทุรนทุราย ด้วยความร้อนรน
"ตัวงานสำคัญกว่า ไม่ว่าที่มาจะเป็นอย่างไร" สำหรับคนโฆษณาหลายคนต้องการเห็น campaign ที่เราสร้างออกมาเกิดขึ้นจริงกลายเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ artist ทุกคนอยากจะเห็นรูปที่ตัวเองวาดเสร็จสมบูรณ์ อินทิเรียร์ทุกคนอยากจะเห็นงานที่ตัวเองออกแบบ สร้างเสร็จเร็วๆ เพื่อจะได้ดูว่ามันจะสวยขนาดไหน ถ้ากำลังใจของคุณมาแบบนี้ขอให้ทำงานแบบเร็วรัดกระชับพื้นที่ไวไวครับ อย่าไปผูกติดกับขั้นตอนใดๆมาก ทำงานให้เร็ว ทดลองให้บ่อย ลองเส้นทางใหม่ๆหลายๆทางเพื่อไปหาจุดหมายอันเดียวกันครับ
"รักงานของฉัน คือ รักฉัน" ผลที่ได้รับหรือการตอบรับที่ดีจากสาธารณชนคนอื่นๆหลายครั้งคือสิ่งที่สำคัญของคนทำงานนะครับ งานจะสวยหรือไม่ อาจไม่เด่นที่สุดแต่คนชอบ อาจไม่สวยที่สุดในสายตาเราแต่ลูกค้าโอ ชิ้นงานแพงที่สุด ลูกค้าไม่เอาแต่นายชม สิ่งที่ดีที่สุดในโลกของเราคือคนอื่นอภิเชษฐ์งานของเรา ถ้าเราเป็นแบบนี้ควรทำงานกับลูกค้าแบบเน้นความต้องการของลูกค้าเยอะๆแล้วก็ตามใจเค้าให้มากครับ
"เดินไปด้วยกันเธอกับฉันเราหลายคน" นักออกแบบส่วนใหญ่ทำงานเป็นทีมครับ ความสำเร็จของงานหลายครั้งคือความสำเร็จของทีม ไม่ว่างานจะออกมาดีมากดีน้อยเป็นอย่างไรก็คือสิ่งที่ทุกคนในทีมร่วมเดินมาด้วยกัน ถ้าแรงจูงใจของเราเป็นแรงจูงใจที่มาจากการได้ทำงานร่วมกัน เราน่าจะเน้นทำงานสร้างสรรค์แบบที่เน้นระบบการทำงานเชิง project management ในงานก่อสร้างหรืองานออกแบบ และการทำงานสร้างสรรค์ที่ทำเพื่อสังคมครับ
…
การสร้างสรรค์งานดีๆบางทีต้องมี"อุปกรณ์"ครับ แล้วอุปกรณ์ที่ดีที่สุดก็คือการหาวิธีการ"กระตุกต่อมความคิด"ของเราในรูปแบบต่างๆกัน
...และเราก็สามารถทำได้ง่ายๆทุกวันโดยการสร้างกรอบเพื่อค้นหารูปแบบของโอกาสเหล่านี้ ที่เหมาะสม ในจังหวะเวลาที่ต่างๆกันครับ
Thursday, 26 August 2010
ต้นทุนของความเชื่อมั่น
สำหรับบริษัทขนาดเล็ก การเสียพนักงานที่มีความสามารถดีๆออกไป เป็นเรื่องแย่ และจะยิ่งนับเป็นเรื่องใหญ่เป็นอย่างยิ่ง ถ้าพนักงานคนนั้นดึงลูกค้าดีๆของเราไปด้วย สำหรับธุรกิจในเมืองไทย การมีเพื่อนฝูงเป็นเรื่องสำคัญ ทะเลาะกันกับเพื่อนหรือพันธมิตรทางธุรกิจเหมือนกับเล่นไพ่แล้วเสียสองเด้ง นอกจากเสียความสัมพันธ์ดีๆกับพันธมิตรที่มีอยู่ ชื่อเสียงในวงการของธุรกิจทั้งสองฝ่ายก็คงฉาวโฉ่ เพราะแมงโม้ที่ไม่สนว่าใครถูกใครผิด คงเอาไปพูดต่อๆไปเรื่อย
...
การทรยศหักหลังกันเองของคนในองค์กร (Betrayal) เป็นสิ่งที่ทำลายแรงยึดเหนี่ยวของความก้าวหน้า เป็นเชื้อโรคที่คอยกัดกินความเจริญทางความคิด กำลังใจ ความผูกพันธ์รวมถึงความเป็นเพื่อน
Betrayal เรื่องเล็กๆ ที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันในบริษัทถึงแม้จะดูเป็นเรื่องเล็กๆจิ๊บจ๊อยแต่ก็สามารถกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้นะครับ เรื่องของ Betrayal ง่ายๆเช่น การที่พูดแล้วรับปากแล้วแต่ไม่รักษาคำพูด การพูดจานินทาลับหลังคนอื่น การใส่ร้ายป้ายสีกันเอง การไม่แบ่งปันข้อมูลที่อาจจะทำให้อีกฝ่ายทำงานได้ง่ายขึ้น เอาเข้าจริง เป็นบ่อยๆเข้า ทำให้อีกฝ่ายที่ถูกกระทำหรืออาจรู้สึกว่ากำลังถูกกระทำน้อยอกน้อยใจ สูญเสียต้นทุนที่สำคัญขององค์กรคือ “ความเชื่อมั่น” ได้นะครับ
ในความเป็นจริงแล้วคนในองค์กรคงรู้สึกน้อยใจในเรื่องต่างๆอยู่ตลอดเวลา เรื่องเล็กๆแบบ นายไม่รัก ระบบบริษัทไม่ดีไม่สนับสนุนความคิดเรา เงินเดือนน้อยไป หรือ ผู้ใหญ่ไม่สนับสนุน เรื่องเหล่านี้ส่วนสำคัญอยู่ที่ตัวเจ้าของกิจการหรือหัวหน้างานครับ
คิดว่าให้งานใหญ่เค้าไปแล้วแต่ได้ให้อำนาจการตัดสินใจกับเค้าไปด้วยหรือเปล่า ?
คิดว่าให้ตำแหน่งใหญ่ไปแต่ความวางใจไปด้วยหรือไม่ ?
ให้คำสัญญาแต่ให้และแสดงออกถึงความเชื่อมั่นในตัวลูกน้องหรือยัง ?
ถ้าคำตอบของคำถามเหล่านี้ส่วนใหญ่คือไม่ การทำแบบนี้นอกจากจะทำให้เค้าเสียกำลังใจ ยั่งบั่นทอนความสามารถของลูกน้องดีๆเหล่านี้อีกด้วย
...
“...แม้จะรักเธอเท่าไหร่ ฉันก็ต้องคอยบังคับใจฉันให้เหินห่าง ทั้งที่ใจตัวเอง อยากระบายให้เธอรู้บ้าง
และเธอสูงเกินจะใฝ่ เธอคงจะไม่สนใจในคนข้างล่าง ที่เขาเฝ้ามองอยู่ ถึงแม้ไม่มีความหวัง”
...บอย โกสิยพงษ์
…
เมื่อหัวหน้างานกำลังจะตัดสินใจอะไรเรื่องใหญ่ๆที่คิดว่าสำคัญกับบริษัท อย่าคิดถึงแต่บริษัทนะครับ คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดกับ“คนข้างล่าง”ที่อยู่ในบริษัทด้วย และเพื่อที่จะนำคนเหล่านั้นออกจากความรู้สึกถูกหักหลังน้อยอกน้อยใจ ให้กลับกลายเป็นความไว้วางใจ ความสนใจ อยากระบายให้“นาย”รู้บ้าง น่าจะลองทำแบบนี้ครับ
รู้จักสังเกตและยอมรับว่าลูกน้องทำอะไรอยู่ ดูเหมือนอู้แต่เค้ากำลัง“นั่งปลดปล่อยความคิด”เพื่อเรา เพื่องานเพื่อความสร้างสรรค์หรือเปล่า ต้องเข้าใจว่างานที่สร้างสรรค์ไม่ได้เกิดจากความกดดันแต่เกิดจากความยอมรับและเปิดกว้างในทุกมิติของการทำงาน
รับรู้รับฟังและปล่อยให้เค้าระบายออกมาซะบ้าง เจ้านายที่ดีควรรู้จักรับฟังปัญหาไม่ว่าจะสำคัญกับงานหรือไม่ ที่สำคัญต้องเข้าใจว่าลูกน้องต้องการสิ่งที่เรียกว่าเวลาและความรู้สึกดีดี ตามความจำเป็นของงาน
“ไตร่ตรองดูให้ดี สิ่งที่อยู่ในใจคั่งค้าง” มีอะไรพูดออกมาให้หมด กระตุ้นเค้าให้พูดออกมาให้เคลียร์ (แบบตะล่อมนะครับ ไม่ใช่ตะคอก) อะไรที่มันสะสมไว้เรื่องไม่ดีๆอาจกลายเป็นเรื่องแย่ แล้วก็พาลให้มันระเบิดออกมาหมดไม่วันใดก็วันหนึ่ง
“ให้ใจที่มันอ่อนไหว ได้พักผ่อนคลายเสียบ้าง” อย่าไปกดดันลูกน้องว่าทุกงานต้องมีเป้าแบบนั้นแบบนี้ ของความชัดเจนขออะไรที่แน่นอนซะทุกเรื่อง บางครั้งรู้ว่างานนั้นทำไปก็อาจไม่สำเร็จ แล้วลูกน้องหาทางออกไม่เจอ เราก็ยังต้องรู้จักหา“แลนดิ้ง”ให้เค้าหน่อย ทางหนึ่งเพื่อรักษาหน้าเรา อีกทางหนึ่งให้เขาได้ผ่อนคลายเสียบ้าง
“แม้ดีใจ ก็ต้องฝืนทำตัวเหินห่าง” เมื่องานสำเร็จหัวหน้างานที่ดีต้องยกความดีนั้นให้ลูกน้อง ถ้างานพลาดต้องขอตัวเองให้รับผิดชอบแทนลูกน้อง อย่าผูกผลงานใดๆไว้กับบริบทของตัวเองนะครับ
…
“Friendship and Betrayal are two things apart, yet one thing together”
...
อย่าเสียคนดีๆออกไป ด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง
อย่าเสียเพื่อนคนสำคัญออกไป ด้วยการไม่สนใจเรื่องที่อาจจะกลายเป็นเรื่อง
เพราะความน้อยเนื้อต่ำใจเนื่องจากความรู้สึก“ถูกหักหลัง”นั้น...
มี “ต้นทุนของความเชื่อมั่น” ที่สูงมากนะครับ
Tuesday, 10 August 2010
บาดแผลของความล้มเหลว
สองสามวันมานี้ผมนั่ง“รอ”แรงบันดาลใจในการเขียนงาน นั่งรอก็แล้ว ยืนรอก็แล้ว นอนรอก็แล้ว เจ้าแรงบันดาลใจที่ว่านี้มันก็ยังไม่ยอมมาซักที สงสัยผมจะเริ่มต้นผิด ที่คิดว่าแรงบันดาลใจมันคงเหมือนกำลังภายในที่เกิดขึ้นได้เอง
คงเป็นเพราะที่ผ่านมาผมไม่เคยมีโจทย์ในการเขียนงาน วิธีการทำงานของผมคือการพยายามหาเนื้อหาจากแรงบันดาลใจที่อยู่รอบๆตัว แล้วเอามาถัวมากลั้วเล่นกับตัวหนังสือ เพื่อสื่อออกมา เพื่อสร้างงานเขียน แต่ช่วงนี้มันเป็นเรื่องเป็นราวไม่ออก คงเพราะเรื่องรอบตัวมันวุ่นวาย เลยไม่เกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียนอะไร จนมาได้นึกถึงเพลง “เรื่องจริง” ของ บอยด์ โกสิยพงศ์ ในหัว จู่ๆ ก็รู้สึกว่ามีอะไรๆไหลเข้ามา แต่ก็ยังคิดอย่างอื่นไม่ออก แค่อยากเขียนอะไรสักอย่างโดยใช้เพลงนี้เป็นแรงบันดาลใจ
…
“...ว่าสำหรับฉันนั้นเธอคือทุกสิ่ง เป็นแรงบันดาลใจเป็นทุกๆอย่าง
เธอเชื่อมให้ฉันเห็นภาพที่สวยงาม ของชีวิต แม้ว่าเรายังไม่ทันได้รู้จัก กันเลย...”
…
Architects are late bloomers. Most architects do not hit their professional stride until around age 50!, Matthew Frederick
สำหรับสถาปนิกและนักออกแบบ กว่าจะสร้างตัวเองและตัวงานให้ไปถึงจุดสุดยอดของวิชาชีพ ต้องล้วนแล้วแต่ผ่านอุปสรรคของความไม่แน่นอนของธรรมชาติของงานออกแบบ การสร้างสรรค์ และนวัตกรรม สถาปนิกและนักออกแบบต้องผ่านความสำเร็จและความล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน แต่ด้วยธรรมชาติของคำว่า “นวัตกรรม”หรือ“การสร้างสรรค์” ความล้มเหลวบางครั้งก็ไม่ได้มีความหมายในเชิงลบเสมอไป ด้วยแรงบันดาลใจที่เสมอภาคเท่าๆกันตอนเริ่มต้น ด้วยวิธีการคิดการทำงานแบบรลองทำในสิ่งที่คนอื่นเคยลอง ผิดพลาดในสิ่งที่คนอื่นเคยผิดพลาดมาแล้ว และเรียนรู้จากสิ่งที่คนอื่นก่อนเราเคยเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้นมาก่อน
...
“...เพราะงานออกแบบเป็นการเชื่อมภาพที่สวยงามของคำตอบที่อาจเป็นผลมาจากความล้มเหลวหลายๆอย่างในชีวิตในวันนั้น
ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่ทันได้รู้จักกับคำตอบนั้นในวันนี้... ”
...
เพราะแรงบันดาลใจคือพลังเชิงบวกของความล้มเหลว
...
ความล้มเหลว ถึงดูจะไม่น่าสนุกก็เป็นเรื่องไม่น่ากลัวครับ นักบริหารนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จล้วนผ่านความล้มเหลว ล้มลุกคลุกคลานกันมาแล้วทั้งนั้น สิ่งที่น่าสนใจคือเราจะเปลี่ยนความล้มเหลวเหล่านั้นให้เป็นพลังเชิงบวกหรือเป็นแรงบันดาลใจได้อย่างไร
เปลี่ยนได้ ไม่ใช่โดยนั่ง“รอ”พลังเชิงบวกแต่อย่างเดียว แต่ทำได้โดยควบคุมความล้มเหลว ลดความผิดพลาดเชิงลบที่แย่ๆ ที่กำลังเป็นบาดแผลขององค์กรครับ
...
ความผิดพลาดแบบรู้ทั้งรู้ว่าผิด ก็ยังจะทำ
รู้ว่าข้อมูลทางการตลาดออกมาชี้ชัดว่าบริษัทไม่เหมาะกับสินค้าหรือบริการใน segment นี้แต่ไม่ชี้แจงความจริงให้เจ้านายฟังเพราะกลัวโดนดุเพราะคิดว่าเจ้านายยังไงก็คงไม่ฟัง หรือรู้ว่าทำโครงการนี้ยังไงก็เกินงบ ส่งงานก็ไม่ทันแน่ๆยังทู่ซี้บอกเจ้านายว่า...ครับ มันยังโอเคครับ... ความผิดพลาดแบบนี้จะว่าไปเกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันในองค์กรนะครับ
ความผิดพลาดแบบถ้าเอาใจใส่และตั้งใจจริงๆมันก็คงไม่เกิด
ความละเลยในการเอาใจใส่ในการทำงานหรืออีโก้ มักจะทำให้เกิดความผิดพลาดแบบนี้ครับ ..เออน่า รู้แล้ว... หรือทัดศนคติการทำงานแบบ ...เรื่อยๆเปื่อยๆ เป็นความผิดพลาดหลักอย่างหนึ่งที่พบเห็นบ่อย แต่ความผิดพลาดแบบนี้เราสามารถปรับทัศนคติในการทำงานของคนในองค์กรได้เร็วและไม่ยาก ถ้าเรารู้จักสร้างแรงจูงใจในการทำงานที่ดีให้คนในองค์กรได้ครับ
ความผิดพลาดแบบไม่ต้องคิด ไม่ทดลอง ลุยทำดูเลย ลงเอยยังไงค่อยว่ากัน
ทุกคนไม่ใช่เกิดมาเป็นคนเก่งนะครับ ทุกบริษัทก็ไม่ได้มีทรัพยากรมาให้พนักงานไม่ว่าระดับไหนมานั่งผลาญเล่น สถาปนิกก่อนขึ้นแบบจริงยังต้องทำ working mass model เพื่อศึกษาว่าแบบออกมาแล้วหน้าตารูปร่างจะได้ตามใจคิดเหมาะตามใจฝันหรือไม่ การจะทำ marketing campaign สักตัวถือเป็นเรื่องใหญ่ ยังต้องมีการทำ pilot study ศึกษาทดลองจากโครงการเล็กๆที่คล้ายกันก่อน หรือการเลือก software ทางการเงินมาใช้กับธนาคารยังต้องมีการ pitching และทดสอบระบบก่อนการ implement จริง ทุกอย่างที่ทำก็เพื่อเรียนรู้ว่าจะมาความผิดพลาดอะไรที่เราคาดไม่ถึงเพื่อที่จะกำจัดออกไปก่อนการลงมือทำจริง
...
“บาดแผลของความล้มเหลว” เป็นภาพสะท้อนที่ดีของ “แรงบันดาลใจ”
เพราะความล้มเหลวบังคับให้เราต้องถอดรื้อสิ่งต่างๆ ที่ไม่สำคัญ คิดว่าตัวเองว่าเราเป็นอะไรมากกว่าที่เป็น แล้วก็เริ่มทุ่มเทพลังงานให้กับการทำงานเดียวที่สำคัญให้เสร็จให้ได้
เพราะความล้มเหลวบ้างเป็นบางครั้งในชีวิตเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีทางที่ใครจะใช้ชีวิตโดยที่ไม่เคยล้มเหลวกับอะไรเลย
เพราะความล้มเหลวมอบความมั่นคงทางจิตใจให้กับเรา ความล้มเหลวสอนเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับตัวเราเอง ที่เราไม่สามารถเรียนรู้ได้จากคนอื่น
เพราะบาดแผลนั้น คอยเป็น“เครื่องเตือนใจ”…
ว่าความล้มเหลว มีคุณค่า ยิ่งกว่าแรงบันดาลใจ
Friday, 30 July 2010
Intelligence, Paradox และ Creativity
หลายปีมานี้เห็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับ Intelligence และ Success แล้วใจหนึ่งก็ดีใจ ใจหนึ่งก็หวั่นไหวครับ
...
นักเรียนระดับมัธยมของไทยประสบความสำเร็จได้เหรียญทองโอลิมปิค เคมี ฟิสิกส์ ส่งไปกี่คนได้เหรียญกันมาครบ สอยกันเป็นว่าเล่น
ทีมนักศึกษาไทยไปแข่งขัน โครงการสร้างหุ่นยนต์ (Robot) ประเภทต่างๆ ไม่ว่าเตะฟุตบอล กู้เก็บสิ่งของ เก็บกู้ระเบิด หรือทำ task อื่นที่เริ่มซับซ้อนมากขึ้น
สถาปนิก ดีไซน์เนอร์ ผู้กำกับไทยได้รับรางวัล ได้รับการยอมรับระดับโลก ระดับนานาชาติ ในเรื่องฝีมือการออกแบบ การสรรค์สร้างอะไรๆที่เป็นศาสตร์ใดๆของงาน Creative
...
ดีใจว่าทรัพยากรของเรามี Intelligence แต่หวั่นไหวว่าใน Success ที่ได้รับ ว่าไม่มีอะไรที่รู้สึกได้ถึงความยั่งยืน (Sustainability) ของ Creativity
มีนักเรียนไทยกี่คนที่ได้เหรียญทองฟิสิกส์มาแล้วกลายเป็นวิศวกรของ NASA หรือมีนักเรียนไทยที่ได้เหรียญทองเคมีกี่คน น่าจะต่อยอดไปได้รับรางวัลโนเบลด้านการปลูกถ่ายอวัยวะโดยค้นพบยาชนิดใหม่
มีหุ่นยนต์ที่เป็นผลงานจริงๆของคนไทยกี่ตัวที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตรถยนต์ ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ใช้งานทางการทหาร หรือใช้งานทางวิทยาศาตร์การกีฬา เท่าที่ทราบเราก็ซื้อเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาจากประเทศอื่นทั้งสิ้น (และแพงมาก)
มีสถาปนิกไทยกี่คนที่ออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่เป็น Iconic จริงๆของประเทศ หนังไทยที่ได้รับรางวัลบอกอะไรเราได้ในแง่การรับรู้รสชาดของภาพยนต์ของคนไทย แล้วดีไซเนอร์ไทยสร้างแบรนด์ดิ้งระดับโลกได้ซักกี่แบรนด์
...
ที่เป็นแบบนี้ ก็เพราะเรา “สับสน” ครับ
เราสับสนแบบคิดเผินๆว่า เด็กไทยนี่เก่ง.. ทราบไหมครับว่า กว่าเราจะส่งเด็กที่ดูจะมีพรสวรรค์หรือ gifted ทางด้านวิชาการที่ได้กล่าวมา เราต้องมานั่งค้นหากว่าจะค้นพบ จากนั้นต้องพาเด็กๆเหล่านั้นไปเก็บตัวกันเป็นเดือนๆ(หลายกรณีเป็นปีๆ) เพื่อติวเข้มกับอาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัยในระดับมหาวิทยาลัย หรือระดับการศึกษาที่สูงกว่าระดับปรกติในประเทศของเด็กคนนั้นๆ
เราสับสนแบบคิดเอาเองว่า ความสำเร็จคือการเอาชนะเพื่อให้ได้รางวัลมาแล้วหยุดการพัฒนาการต่อยอดเพื่อให้การวิจัยหุ่นยนต์ของเราเอามาใช้ได้จริงทางการพาณิชย์ (ที่ต้องลงทุนสูงมากทั้งด้านความคิดและทรัพยากร)
เราสับสนว่าแบบไม่อยากจะรับรู้ ว่างานออกแบบที่จะทำให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนต้องมองที่รากของงานนั้นๆ ผ่านสายตาของผู้มองครับ ไม่ใช่เจ้าของงานหรือผู้สร้าง ทุกวันนี้สถาปนิกยังเถียงกันเองว่ากรุงเทพเองมีจุดเด่นหลายอย่าง เลยไม่มีอะไรที่เป็น Iconic architecture ทุกวันนี้สถาปนิกยังโทษว่าประเทศไทยหรือจังหวัดต่างๆไม่มีการวางผังเมืองเลยไม่มีโอกาสสร้างอะไรที่เป็น Iconic architecture ดีไซเนอร์ยังไม่รู้ว่าการสร้างแบรนด์ยุคนี้มันต้องมอง Local ไปหา Global ไม่ใช่ไปดูตัวอย่างหรือเอาอย่างจาก Global มาประยุกต์ใช้กับงาน Local
...
เราสับสนเพราะเราพยายามสร้างสรรค์แต่ไม่รู้จักการจัดการ มุมที่ขัดแย้งกัน (Paradox) ของ Creativity
...
Paradox มาจากคำกรีกโบราณสองคำคือ para ที่แปลว่า beyond และคำว่า doxa ที่แปลว่า opinions เป็นคำที่อาจจะสื่อสารอธบายเป็นภาษาไทยได้ง่ายๆว่า Paradox คือเรื่องราวหรือปรากฏการณ์ที่ยากที่จะเป็นไปได้ที่จะทำความเข้าใจเนื่องจากมีความจริงที่แตกต่างกันมากจากทั้งสองด้าน
Paradox of Creativity ในมุมมองของการทำธุรกิจบนพื้นฐานของ Creative Economy คือการทำความเข้าใจกับ เรื่องที่ขัดแย้งกันของ Idea ที่น่าจะเป็นไปไม่ได้ นำเอามาสร้างให้เป็นมูลค่าทางธุรกิจเป็นกระบวนการที่ต้องเกิดขึ้นตลอดเวลาครับ และเพื่อสร้างให้ Creative Idea ที่ดูเหมือนจะยากในการนำมาใช้งานเอามาสร้างเม็ดเงินหรือผลกำไรได้จริงนั้น
อย่างแรก ผู้สร้างสรรค์งานต้องเข้าใจว่างานดีๆที่สร้างสรรค์และประสบความสำเร็จมักมาโดยไม่รู้ตัวจากความพยายามที่ผิดพลาดหลายพันหลายหมื่นครั้ง
I have not failed. I've just found 10,000 ways that won't work,
Thomas Edison
…
และอย่างที่สอง ผู้สร้างสรรค์งานต้องเข้าใจว่างานดีๆที่มีความสร้างสรรค์มักเกิดจากความพยายามในการสร้างสรรค์ค้นหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งมาจากความพยายามคนละเรื่อง หรือมีเป้าหมายจากคนละทิศคนละทาง
ทราบไหมครับ ว่าคีย์บอร์ดที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้มาจากความพยายามที่จะหาเทคนิคการปิดจุกไวน์เพื่อให้ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพของไวน์ ขณะที่กำลังศึกษาเทคนิคการคั้นน้ำองุ่นเพื่อทำไวน์
หรือใกล้ตัวเราหน่อยก็ ตำนานของชีวิตล้มลุกคลุกคลานของคุณตัน ภาสกรนที กับชาเขียวโออิชิ ที่เกิดจากการที่ลูกค้ามาต่อว่าคุณตัน เพราะต้องการเอาชาเขียวที่ติดใจในรสชาดจากร้านบุ๊ฟเฟ่โออิชิ เพื่อใส่ถุงกลับบ้าน แต่ทางร้านกลับบอกว่าชาเขียวที่นี่ไม่ได้ขาย เราขายแต่อาหารบุ๊ฟเฟ่! ตอนหลังคุณตันเลยได้ไอเดียเอาชาเขียวมาใส่ขวดขาย เริ่มจากโรงงานเล็กๆกลายมาเป็นตำนานอาณาจักรโออิชิและปรากฏการณ์ชาเขียวของเมืองไทยในทุกวันนี้
Success is an ability to go from failure to failure without losing enthusiasm,
Sir Winston Churchill
...
เพราะ Intelligence ไม่ได้รับประกันความสำเร็จอย่างยั่งยืนในชีวิต แต่ Creativity สามารถทำในสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ให้เกิดขึ้นได้จริง แถมยังได้ที่จะไม่ทำให้“สับสน” ได้อะไรที่คงไว้ซึ่ง ความแตกต่างแบบไม่แตกแยก
เพราะเกิดจากวิธีคิดแบบ“ความแปลก”ด้วย Paradox อยู่เสมอ
Tuesday, 6 July 2010
หน้าตาของ Design Leadership: Design Identity
หลายสัปดาห์ที่แล้วผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับ Design Leadership คุยเรื่องดีไซน์ลีดเดอร์กับบุคคลิกแบบที่เมเนเจอร์ควรมี เขียนจบไม่นานมีแอบโดนต่อว่า หลายท่านกล่าวหาผมว่า “จัดไม่จบ” ท่านว่าผมพูดไม่ครบว่า “Design Leadership” ตกลงมันคืออะไรกันแน่? อ๋อ ถ้าแค่คิด ทำ พูดแบบดีไซน์เนอร์จะทำให้วิวัฒนาการของกระบวนการแก้ปัญหามันดีขึ้น การแก้ปัญหามันเร็วขึ้นง่ายขึ้น แหม เป็นแบบนั้นก็มหัศจรรย์น่ะสิครับ
“Leadership” ที่เราหยิบยกมาคุยกัน ผู้คนส่วนใหญ่มักมองว่าเป็นแค่เรื่องตรรกกะทางจิตวิทยา มากกว่าเป็นอะไรจับต้องได้ Leadership..ไม่ช่วยลดต้นทุน Leadership..ไม่สร้างยอดขาย Leadership..ไม่สร้างกำไร Leadership..ก็แค่สร้างแรงใจ เพื่อลูกน้องทำงานแบบลืมหายใจ(เวลาเหนื่อย ท้อแท้) แล้วเดินต่อไปอีกหน่อยก็ถึงเส้นชัยแล้ว
…
“Design Leadership”เป็นคนละเรื่องกับ Business Leadership ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการเดินนำองค์กรไปข้างหน้า
ผลคาดหวังที่ได้จาก Design Leadership ต้องเป็นอะไรที่ “ฉลาด”และ“แจ๋ว”กว่านั้นครับ เพราะ Design Leadership ไม่ใช่การเดิน“นำหน้า”องค์กร แต่เป็นการเดินไปด้วยกัน เดินไปเป็นเพื่อน เดินไปเป็นพี่(เลี้ยง) หรือเดินอย่างอิสระ เพื่อเชื่อมต่อบริบทของการบริหารงานในองค์กรมีดีไซน์ที่เต็มไปด้วยความเกี่ยวพันและต่อเนื่องครับ
เมื่อพูดถึงผู้นำหรือ Leader ก็หมายถึงผู้ที่ชี้แนะเส้นทางให้คนเดิน ไม่ว่าจะให้เดินตามหรือเดินไปด้วย สำหรับเส้นทางธุรกิจในปัจจุบันเรื่องจะให้ลูกน้องเดินตามน่ะไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะให้เดินไปด้วยกัน คิดด้วยกัน ทำด้วยกัน เพื่อสร้างบรรยากาศที่สร้างสรรค์เพื่อสิ่งใหม่ๆน่ะ “ไม่ง่าย” ครับ
…
Business Leader ที่ชอบให้ลูกน้อง“เดินตาม” มองไปมองมาหน้าตาก็คงเห็นๆกันอยู่ว่ามีไม่กี่แบบ แต่Design Leader ที่เดินไปพร้อมๆกันกับลูกน้อง ถ้าจะให้จำแนกแบบให้เห้นตัวตน Identity คงจะประมาณนี้ครับ
Design Leader แบบปรมาจารณ์ The Maestros
ผู้นำทางศิลป์ ผู้ซึ่งยกระดับมาตราฐานในวิชาชีพที่เกียวข้องกับการออกแบบแขนงต่างๆ ตัวอย่างเช่น คุณภัทราวดี มีชูธน ทางด้านศิลปและการแสดง คุณนิธิ อ่านเปรื่อง ทางด้านสถาปัตยกรรมร่วมสมัย คุณนิวัติ กองเพียร ทางด้านจิตรกรรมและวรรรกรรม และอีกหลายๆท่านที่ไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งเป็นผู้นำทางความคิด ผ่านกระบวนความของงานและวิชาชีพที่แต่ละท่านได้มีส่วนร่วมให้กับสังคม
Design Leader แบบผู้มีวิสัยทัศน์ The Visionaries
ผู้นำที่สร้างและนำเสนอทิศทางใหม่ทางความคิด โดยก้าวข้ามผ่าน บริบทเก่าของสิ่งรอบตัวที่มีอยู่ ผู้นำแบบนี้เรามี Steve Jobs แห่ง Apple คุณประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์ “แกะดำทำธุรกิจ” วิศวกร ที่เปลี่ยนเส้นทางชีวิตเข้าสู่วงการโฆษณาและการตลาด หรือคุณธนา เธียรอัจฉริยะที่ทำให้ โทรศัพย์มือถือกลายเป็นเรื่องครอบครัว ส่วนตั๊วส่วนตัว แถมดูอบอุ่น ไกลตัวหน่อยก็ Larry Keeley ที่ปรึกษาระดับโลกทางด้าน design strategy
Design Leader แบบผู้จัดการ The Managers
ผู้นำองค์กรที่ยกระดับงานออกแบบให้เป็นเรื่องความอยู่รอดขององค์กร เช่น Chris Bangle แห่ง BMW ที่ขจัดภาพลักษณ์ของรถดื้อๆ ให้เป็นรถยนต์เพื่อความสนุก หรือ Tom Ford ดีไซเนอร์อัจฉริยะที่สร้างภาพลักษณ์หรูหราของของ Gucci ให้เต็มไปด้วยแฟชั่นที่จับต้องได้
Design Leader แบบเจ้าของกิจการ The Entrepreneurs
ผู้นำแบบ“เถ้าแก่” ที่กล้าเสี่ยงกล้าลองวิธีการทำธุรกิจใหม่ๆ แบบ คุณอิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เถ้าแก่น้อย ที่เคยสร้างรายได้จากเกมส์ออนไลน์ที่ตัวเองเล่นจนมาขายสาหร่ายแล้วรวยกว่า หรือคุณตัน โออิชิที่ตั้งตัวเพราะบุฟเฟท์ รวยด้วยชาเขียว และช๊อกฟ้าผ่าวงการด้วยการขายหุ้นให้คู่แข่ง(คราวนี้รวยไม่เลิก) หรือ David Kelly ผู้ก่อตั้ง IDEO บริษัทที่ปรึกษาด้านการออกแบบและนวัตกรรมที่มีผลงานระดับโลกกับแบรนด์แบบ Prada
Design Leader แบบแบรนด์แอมบาสเดอร์ The Ambassadors
ผู้นำหรือตัวแทนของแบรนด์ที่สามารถสื่อสารและเข้าถึงผู้คนในแง่ความสำคัญของดีไซน์ หลายท่านคงรู้จัก Richard Branson แห่ง Virgin หรือ คุณดวงฤทธิ์ บุนนาคตัวแทนของสถาปนิกรุ่นใหม่ หรือ คุณฐิติพัฒน์ ศุภภัทรานนท์ แห่ง Harn Thann และคุณเศรษฐา ทวีสิน ผู้ซึ่งมาพร้อมกับภาพลักษณ์ที่ อบอุ่น น่าเชื่อถือของยักษ์ใหญ่ Sansiri
Design Leader แบบตัวแทนไอเดียความสนุก The Entertainers
ผู้นำที่สามารถเปลี่ยนแปลง ขัดเกลาองค์กระกอบของงานดีไซน์ให้เป็นอะไรที่เข้าใจง่าย สามารถเข้าถึงได้โดยคนทั่วไป เช่น Philippe Starck กับงานไอเดีย“ลึกๆ”ที่ไม่ต้องดูให้มันอาร์ต ไม่ต้อง“ลึก” ก็สวยได้ หรือดีไซเนอร์ผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต เจ้าของไอเดียสิ่งเหลือใช้แปลงกายเป็นงานออกแบบ
Design Leader แบบนักวิชาการ The Scholars
ผู้นำทางความคิดที่สร้างมุมมองใหม่ของงานออกแบบผ่านการศึกษาเพื่อให้เข้าถึง เรามี ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะนักวิทยาศาสตร์จากองค์การนาซ่าที่สามารถใช้หลักธรรมะเข้ามาผสมผสานในการบริหารจัดการองค์กร หรืออย่าง ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่เอาความน่าหลงใหลของทะเลที่“ออกแบบโดยธรรมชาติ”มาสื่อให้เห็นถึง“วิธีการแบบธรรมชาติ” ในการ“สื่อสารกับธรรมชาติ” เพื่อให้เรารักธรรมชาติแบบใครๆก็คิดไม่ถึง
Design Leader แบบนักปฏิวัติ The Provocateurs
ผู้นำหัวขบถที่อยู่นอกวงการออกแบบที่มักที่จะท้าทายวิธีคิดแบบดีไซเนอร์ หลายท่านคงรู้จัก Chung Kook Hyun เบื้องหลัง Sumsung ที่อุดหนุนแนวคิดของวิศกรรมที่ขับเคลื่อนโดยบริบทของงานดีไซน์ หรือ Axel Meyer ของ Nokia ที่ยังเลือกที่จะดื้อเลือกที่จะกำหนดให้โทรศัพย์เป็น communication มากกว่า living iconic แบบ iPhone (ก็ไม่เห็นจะผิดอะไร ยังขายดีเป็นที่หนึ่ง)
Design Leader แบบนักเขียน นักคิด นักวิจารณ์ The Scribes
ผู้นำ หรือผู้ชี้นำทางความคิด ที่นำเสนอมุมมองใหม่ที่ของวิธีคิดเชิงดีไซน์โดยสื่อออกมาทางวรรณกรรม Jeremy Myerson แห่ง Design Week และ Tyler Brule จาก Wallpaper ใกล้ตัวเราหน่อยก็ คุณประชา สุวีรานนท์แห่ง Design and Culture หรือ คุณมกร เชาวน์วาณิชย์ เจ้าของงานครีเอทีฟสองหัว และ คุณสักกฉัฐ ศิวะบวร บรรณาธิการของ iDesign
…
ตัวตนของ Design Leader ยังมีอีกเยอะครับ ยังแบ่งแยกได้อีกหลายหมวดหลายหมู่ ก็ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ความแตกต่าง” ที่น่าสนใจคือในความแตกต่างนี้ยังมีสิ่งหนึ่งที่ Identity ของ Design Leader มีเหมือนกันคือพวกเขาเหล่านี้เก่งที่ “รู้จักมองไปข้างหน้าและกล้าลองกับอนาคต” “คิดเชิงกลยุทธ์แต่ไม่ยึดติดกับแบบแผน” และที่สำคัญ “รู้จักเป็นผู้นำแบบที่เข้าใจในเงื่อนไขของผู้ตาม”
…
ตัวตนของ Design Leader ที่ฉลาด จึงต้องมีทั้ง ความมั่นใจจากเบื้องหลัง ความหนักแน่นในปัจจุบัน
เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับ “คนที่กำลังเดินตามหลัง”...
แล้ว “เดินไปด้วยกัน” สู่อนาคตครับ
Thursday, 24 June 2010
Creativity กับการ “กระชับพื้นที่”
Designer/Architect ทุกคนเจอะเจอปัญหาในการพัฒนาตัวเองให้โตขึ้น พัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นในสายงานของเราเองทั้งนั้นครับ
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การที่เราตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอจากมุมมองของตัวเองและความเป็นมืออาชีพอาจไม่เพียงพอต่อทุกสิ่งที่เปลี่ยนไปในโลกใบนี้ที่เล็กลงๆไปเรื่อยๆ Designer/Architect ต้องรู้จักมองหาหนทางที่จะทำให้งานของตัวเอง “สด” “ใหม่” ไม่ใช่แค่ทำให้งานดู“น่าสนใจ”แบบใครๆก็น่าจะทำได้ เรามักจะชินกับวิธีการทำงานแบบพยายามมองหา “ตัวอย่าง” มองหา “หนทาง” หรือ “สูตรสำเร็จ”ที่จะเพิ่มความเป็น creativity แบบว่า เอ๊ะ ไอเดียดีๆมันอยู่ที่ไหน เราลืมไปว่าบางทีถ้าเราแค่เราปรับเปลี่ยนแปลงมุมมอง ความคิดและ “ทัศนคติ”ของเราเอง เราก็สร้างทั้งไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ออกจากตัวเองได้ ด้วยตัวเองนะครับ ลองถามตัวเองดูว่า
1. เข้าใจตัวงานออกแบบขนาดไหน เข้าใจแบบ “คิดเอง เออเอง” หรือเข้าใจแบบสื่อสารออกมาให้คนอื่น appreciate ได้ “ขายได้” ตัวงานสื่อสารกับคนดูแบบคุยกันรู้เรื่องโดยไม่ต้องร่ายยาวพูดมาก มีคำพูดที่ว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เก่งๆไม่ใช่ทุกคนจะเป็นนักพูดที่ดี แต่ต้องเป็นครูที่ดีด้วยจิตวิญาณได้... Designer/Architect ก็ไม่แตกต่างกัน ถ้าเราไม่เข้าใจตัวงานจนสามารถทำให้งานของเรามันพูดได้ สื่อสารได้ เราต้องหาช่องทางแก้ไขจุดนี้ เปลี่ยนคำอธิบาย เปลี่ยนวิธีการนำเสนอแบบใหม่ๆ ทดลองลดอีโก้ตัวเอง อย่าลืมว่าส่วนสำคัญของงานออกแบบคือการนำเสนอและการสื่อสารนะครับ
2. ยึดตึดกับโจทย์ของลูกค้าเกินไปหรือเปล่า บางครั้งคนนอกมองนึกว่า Designer/Architect จะเป็นวิชาชีพที่ต้องสร้างสรรค์อยู่เสมอ แต่ Designer/Architect ไม่ใช่ artist เวลาคิดอะไรมักต้องมีกรอบการทำงานที่ชัดเจนกว่า แต่ก็ใช่ว่าเราต้องไปเอากรอบการทำงานครั้งหนึ่งครั้งเดียวมายึดเราไว้ทำให้ยิ่งคิดก็ยิ่งไม่ยืดหยุ่น กรอบการทำงานก็พัฒนาได้เปลี่ยนได้นะครับ ถ้าเรามีไอเดียดีๆทำไมโจทย์ของลูกค้าจะยืดหยุ่น เด้งหน้าเด้งหลังในหรือนอกกรอบไม่ได้ Designer/Architect บางคนพอใจกับแค่โจทย์ที่ลูกค้าหรือ project manager ยื่นให้แล้วทำให้งานออกแบบจบ ส่งงานไปก็จบเท่านั้น เวลา project manager สื่อสารกับลูกค้าไม่เหมือนเวลาเราคิดงานนะครับเพราะเค้ามักจะเสนอในกรอบที่เค้าคิด เค้ากำหนดเนื่องจากเค้ามีหน้าที่ต้องต้องแชร์ส่วนแบ่งความคิดให้คนกลุ่มอื่นๆอีก ไม่ลองคิดอะไรเจ๋งๆ แจ๋วๆที่อยู่นอกโจทย์แล้วนำเสนอให้เป็นทางเลือกของลูกค้าล่ะครับ ไอเดียดีๆที่เกิดขึ้นได้และดังเป็นพลุไม่ใช่เกิดจากการคิดการทำงานแบบ “เดินตามเส้น เป็นไปตามกติกา” แต่ เกิดจากลูกบ้าเรื่องล่าสุด ที่แอบมุดอยู่ในความกล้าของเราต่างหาก
3. หาข้อมูลเพียงพอขนาดไหน มีเจ้าของงานคนหนึ่งของผมเคยพูดว่า “โถ(ดีนะ ที่ไม่..ถุย) ดีไซเนอร์ก็แค่เปิดหนังสือดีไซน์มาแล้วก็ปั๊มแบบมาให้ผม” หรือ “โถ เป็นวิศวกร เวลาดีไซน์ก็เปิดหนังสือเอา ใครๆก็ทำได้” ฟังแล้วเจ็บแปลบ แสบไปถึงขั้วหัวใจมั้ยครับ วิธีการหาข้อมูลทำ research สำหรับงานออกแบบต้องหาข้อมูลแบบ “กว้างxยาวxลึก”นะครับ ต้องมีมิติของความกว้างแบบหลากหลายของแหล่งข้อมูล อินเตอร์เน็ต หนังสือ งานแสดงผลงาน สื่อต่างๆที่มีอยู่สารพัดสารเพ ต้องมีมิติของความยาวที่ทันสมัยตลอดเวลา มองย้อนไปในอดีตแอบแวะปัจจุบัน ผ่านไปถึงอนาคต และต้องมีมิติลึกๆแบบกล้าๆที่จะก้าวข้ามผ่านงานที่อยู่เฉพาะในวิชาชีพของตัวเอง ดูอะไรแปลกๆแหวกแนวของคนอื่นๆบ้าง ลองมองแบบนักการตลาด มองแบบนักบัญชี มองแบบนักโฆษณา แล้วค่อยมองกลับมาดูงานของเราอีกที แล้วเราจะเห็นอะไรที่ไม่เหมือนเดิม
4. โดนล้มแบบแล้วใจสลาย ไม่ใช่เรื่องโลกแตกนะครับ เข้าใจเถอะว่า “creativity” ไม่ใช่ “solution” ไอเดียดีๆบางทีอาจไม่ใช่คำตอบ อย่าอีโก้นัก โดนล้มแบบ ถูกลูกค้าปฏิเสธ ไม่ว่าด้วยเหตผลอะไร ก็อย่าไปคิดมาก แต่ควรจะมาคิดใหม่ ลับสมองให้คม ไม่ต้องมานั่งโอดโอยจะเป็นลม ก็ไอเดียฉันผิดอะไร ก็ฉันคิดมาแล้ว คิดจบแล้ว เป็นเรื่องดีที่ Designer/Architect จะกล้า defend งานของตัวเองครับ โปรดอย่าลืมว่าเราทำงานให้คนกลุ่มใหญ่ที่กำลังจะสร้าง impact ให้คนกลุ่มใหญ่ยิ่งกว่า ล้มแรงต้องลุกแรงๆครับ
สุดท้าย ลองทำตัวเองเป็นผู้ฟัง ไม่ใช่ผู้พูดสิครับ ลองนั่งเงียบๆดู แอบฟังแอบถาม คำวิจารณ์งานของเราจากคนอื่น ลองคิดเงียบๆ(แบบไม่) ถ้าเราเป็นลูกค้าเราจะซื้อไอเดีย ซื้องานของเราเองหรือเปล่า ถ้าคำตอบยังมี doubt แม้แต่นิด แสดงว่ายังมี “พื้นที่” ยังมี “วงล้อม”ของ creativity ให้เรา“กระชับ”เพื่อคุณภาพงานที่จะดีขึ้นครับ
“Making the simple complicated is commonplace; making the complicated simple, awesomely simple, that's creativity.”
“ทำเรื่องง่าย ให้เป็นเรื่องยากน่ะ มันไม่ยาก ทำเรื่องยากๆให้เข้าใจได้ง่าย นั่นคือการสร้างสรรค์”
—Charles Mingus
Wednesday, 16 June 2010
จริงหรือ ที่ความสงบ จะสยบความเคลื่อนไหว
การพูดให้เสียงดัง แต่คน(ในองค์กร)ไม่ได้ยินเป็นเรื่องแปลก แต่ถ้าอยากแค่กระซิบเบาๆ แล้วเค้า(คู่แข่ง)รู้เป็นเรื่องน่าเศร้าทางธุรกิจครับ
...
สาเหตุที่คนยุคนี้สมัยนี้ดูจะไม่ค่อยพูดจากัน ไม่ค่อยฟังกันแล้ว ก็ด้วยเวลาที่เปลี่ยนไป สังคมที่เริ่มเปลี่ยนแปลง
สังคมไทยโดยพื้นฐานไม่ใช่สังคมของการแสดงออกตรงไปตรงมา เป็นสังคมของหน้าตา วาจาและกริยาเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยการแสดงออกแบบบอกให้เดา แต่ไม่ค่อยยอมบอกให้รู้ ว่าคุณน่ะ จริงๆแล้วคิดอะไรอยู่
เรื่องที่แย่คือสังคมแบบนี้ พอคิดต่างหรือคิดไม่เหมือนกันแล้วต้องมาเก็บกด พอเห็นต่างแล้วกลับหาทางออกไม่เจอ
สังคมแบบนี้ ถ้ามองให้ทันสมัยแบบการเมือง เรียกว่าเป็นการจราจลทางความคิด และถ้ามองลึกๆอีกสักนิด มันก็ไม่ต่างอะไรกับระเบิดเวลาทางพฤติกรรม
…
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งจาก Harvard Business Review ระบุว่าพนักงานในองค์กรส่วนใหญ่อยากพูดอยากออกความเห็นเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นในองค์กร ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน เกี่ยวกับลูกค้า เกี่ยวกับเพื่อนร่วมงาน หรือเกี่ยวกับเจ้านายตัวเอง ที่น่าตกใจคืองานวิจัยชิ้นดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า กว่าครึ่งของพนักงานงานเหล่านั้นตัดสินใจที่จะเงียบหรือเลือกที่จะไม่พูดอะไร เพราะกังวลถึงผลที่จะตามมา... ว่ากันให้ชัดๆคือไม่อยากจะรับผิดชอบผลที่จะเกิดขึ้น
ความ“ดื้อเงียบ”แบบนี้ที่กลายเป็นความ“ลี้ลับ”ในสังคมหรือองค์กร ที่กำลังบั่นทอนการทำงานและกำลังใจของทั้งผู้อยากจะพูดรวมถึงผู้จะควรจะฟัง
สาเหตุของความเงียบของมนุษย์ไม่ว่าเรื่องใดๆ คือ “ความกลัว” ครับ กลัวที่ต้องรับผิดชอบ กลัวความผิด กลัวความไม่รู้ และกลัวว่าเรื่องที่กลัวอยู่นั้นน่ะ คือความจริงที่กำลังเกิดกับตัวเอง
...
ความเงียบแบบนี้ถ้าปล่อยไว้มีแต่จะทำลายล้างซึ่งกันและกัน ระหว่างผู้ที่อยากจะพูดและผู้จะอยากจะฟัง
ทำให้ผู้บริหารเข้าใจผิดประเด็น (แบบเดาไปเองว่าสิ่งไหนคืออะไร) ทำให้พฤติกรรมดื้อเงียบกลายเป็นแฟชั่นที่สร้างวัฒนธรรมที่ผิดในการบริหารงานบุคคล (เลือกเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งให้คนกล้าพูด คนที่ดูเหมือนจะพูดเก่ง) ทำให้แก้ต้องปัญหาในสังคมไม่รู้จบ (เพราะไม่ทราบจริงๆว่าปัญหาคืออะไร) ทำให้เพื่อนร่วมงานกลายเป็นคู่แข่ง ที่สำคัญ ทำให้หัวหน้ากับลูกน้อง หรือผู้ใหญ่กับเด็ก มีเส้นแบ่งของ“ชนชั้น”ที่ชัดเจนมากกว่ามาตราฐานของบทบาทและสติปัญญา
...ถึงแม้ในที่สุดเรื่อง“ความเงียบ”แบบนี้อาจทำให้สังคมหรือองค์กรเดินหน้าไปได้ แต่คงเดินไปในเส้นทางที่ไม่ได้ดีที่สุด สำหรับทุกคน
...
สิ่งที่ควรจะทำคือการเอาชนะ “ความกลัว” เหล่านั้นครับ
สำหรับผู้ฟัง ต้องเอาชนะ โดยต้องยอมรับด้วยความเข้าใจ ว่าความกลัวแบบนี้มีอยู่จริง และต้องเข้าใจว่ามีความกลัวความกังวลบางอย่างมันสิงอยู่ในใจของผู้ที่อยากจะพูด
สำหรับผู้พูด ต้องเอาชนะ โดยเปลี่ยนความกลัวเป็นความกล้า ที่จะคิดว่าไอ้ความกลัวที่มีอยู่ตรงนั้น เมื่อยังไงซะถ้าพูดออกไปแล้วมันจะต้องเกิดผลอะไรตามมา และรู้ทั้งรู้ว่ายังไงเราก็ขจัดมันออกไปไม่ได้ ก็ไม่เห็นจะต้องไปกลัวอะไรมัน
และสำหรับทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ต้องเอาชนะโดยให้กำลังใจ คิดให้ดีว่า ไม่ว่าเราจะเป็นใคร ไม่ว่าเราจะเดินอยู่ในบทบาทไหน จริงๆแล้วในสังคมของเรา หรือในองค์กรของเรา เรากำลังเดินไปด้วยกัน เพื่อไปหาจุดหมายเดียวกัน
...
พูดคุยและรับฟังกันให้มากๆเถอะครับ
เพราะ “ความสงบ” ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ไม่ควรปล่อยให้ถูกใช้เพื่อสยบความเคลื่อนไหวใดๆ
ที่เกิดจาก “ความกลัว”
Monday, 7 June 2010
Social Network กับ อสังหาริมทรัพย์
ช่วงหลายเดือนมานี้ต้องยอมรับว่าเป็นช่วงขาขึ้นของเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือ Social Network ซึ่งได้พิสูจน์ตัวเองตามคำทำนาย(และคำปรามาส)แล้วว่าเป็น “ของจริง”ครับ ด้วยขีดความสามารถของสมาร์ตโฟนต่างๆที่เพิ่มขึ้นมาก ตอนนี้มองไปทางไหนมีแต่คนนั่งสไลด์ไอโฟน หรือแช็ตด้วยบีบี หลายๆธุรกิจกำลังตั้งตัวไม่ติดกับกระแสของสื่อช่องทางใหม่นี้ หรือก็ยังพยายามปรับตัวแบบงงงง ก็เพิ่งไม่กี่เดือนนี้คนไทยยังไม่ค่อยใช้ทวิตเตอร์ เอาแต่เล่นเอ็ม หรือเฟสบุ๊กยังจำกัดอยู่แค่คนกลุ่มคนชั้นกลางที่มีการศึกษาสูงหน่อยอยู่เลย บริษัทอสังหาที่มีทุนทรัพย์มากหน่อยก็ขยับตัวอย่างเป็นระบบเพื่อรวมช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์เข้ามาอยู่ในส่วนหนึ่งของงานการตลาดภาพรวมทั้งหมดแล้ว บริษัทที่ยังขยับตัวช้าก็นั่งดูคนอื่นเค้าไปเรื่อยๆก่อน ว่ากันไปครับ
มีคำถามว่า แล้วบริษัทออกแบบ บริษัทสถาปนิก บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จำเป็นต้องโดดเข้าร่วมรถไฟขบวนนี้หรือเปล่า แน่นอนครับ เมื่อขณะนี้เครื่องมือและรูปแบบทางการตลาดในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก ถ้าคุณไม่เริ่มต้น คู่แข่งของคุณก็จะแซงหน้าคุณไป
แต่การใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ให้เกิดประโยชน์ไม่ใช่เรื่องง่ายแบบไวเท่าใจคิด การใช้ประโยชน์จากสื่อช่องทางใหม่เหล่านี้ไม่ใช่แค่ลงโพรไฟล์ใน Facebook, Twitter หรือ LinkedIn ถ้าเราคิดจะตั้งใจทำมันให้เกิดผลจริงจัง เราต้องมี “กลยุทธ์” ครับ
การทำการตลาดเป็นเรื่องของการสร้างเครือข่ายเพื่อการรับรู้ เพราะฉะนั้น social network ที่เราจะใช้ต้องเกี่ยวข้องกับการสร้างเครือข่ายของคนที่ “แชร์” ความรู้สึกหรือมีเรื่องที่สนใจและพร้อมที่จะสร้างความสนใจใหม่ๆด้วยกัน เป็นเครือข่ายแบบที่เกิดขึ้นได้โดย ไม่ต้องพยายามมาก ไม่ลำบาก “ไม่รู้สึกถูกยัดเยียด” เป็นเครือข่ายแบบที่หลากหลายและเปิดกว้าง เป็นเครือข่ายสังคมใหม่ที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ แต่รอบคอบด้วยเนื้อหาหรือ content ที่มีประเด็นให้ถกเถียงกันต่อ
กุญแจสำคัญของสื่อสังคมออนไลน์เพื่อจุดประสงค์ทางการตลาดอสังหาริมทรัพย์ คือ ความรับรู้ของแบรนด์ (Brand awareness) การจัดการชื่อเสียงของ แบรนด์ (Brand reputation management) การสร้างช่องทางธุรกิจใหม่ (New business generation) การประชาสัมพันธ์ (News distribution and PR) การหาข้อมูลการตลาด (Research through online polls) การบริการลูกค้า (Customer support) การให้รายละเอียดข่าวสารข้อมูลการเปิดตัวสินค้าและบริการ (Specific product/service launch campaigns) การติดต่อกับคู่ค้า (Connecting with affiliate companies)
ปัจจุบันนี้เรามีช่องทางสื่อสารอะไรเป็นตัวเลือกเพื่อจุดประสงค์ทางการตลาดดังกล่าวบ้าง
บล๊อก (Blogs) เป็นช่องทางการสื่อสารแบบสองทางระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่านครับ บล๊อกต่างจากเว็บเพจเพราะบล๊อกพูดแล้วมีคนพูดด้วย บล๊อกไม่ควรใช้ในการขายหรือยัดเยียด แต่ควรให้ข้อมูลในลักษณะความเห็น คำแนะนำที่จะทำให้น่าสนใจและมีเสน่ห์ที่ทำให้ผู้อ่านอยากจะสมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับข้อมูลต่อเนื่อง
ไมโครบล๊อก (Microblogs) ตอนนี้ก็มีแต่ Twitter ที่คนพูดถึงมากที่สุด ด้วยกระแสและความเร็วของการสื่อสาร (จนน่าจะมาแทนที่บริการส่งข่าว sms เร็วๆนี้) ทวิตเตอร์เป็นการส่งข้อความสั้นเพื่อ “เร้า” ความสนใจ เป็นการเหย่ให้คิด พูดให้น่าติดตามครับ
เครือข่ายออนไลน์ (Social Networking sites) ไม่ว่าจะเป็น Facebook, LinkedIn, MySpace, Plaxo, Xing ซึ่งก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตัวที่น่าสนใจมากสำหรับอสังหาริมทรัพย์และมีเครือข่ายของสถาปนิก วิศวกร มัณฑนากรมากอยู่แล้วคือ LinkedIn และ Facebook. สำหรับ Xing มีสถาปนิกใช้กันเยอะมากและเป็นที่นิยมในต่างประเทศมากครับ เครือข่ายเหล่านี้เปิดโอกาสให้เราแลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องราวต่างๆได้ง่าย ต่อเนื่องและไม่จำกัด
เครือข่ายบุ๊กมาร์ก (Social bookmarking sites) ซึ่งรวมพวก Digg และ Stumbleupon. เว็บเหล่านี้ทำให้เราสามารถบุ๊กมาร์กหน้าเว็บที่เราชอบและเก็บเอาไว้โดยมีระบบการโวตให้ความเห็นเพื่อให้ผู้อ่านคนอื่นเกิดความสนใจและเข้ามาชมหน้าของเว็บเหล่านั้น โดยมากการใช้เครือข่ายเหล่านี้ใช้เพื่อเพิ่มยอดผู้เข้าชม สมาชิก หรือผู้สนใจในบล๊อกของเราครับ
การใช้สื่อสังคมออนไลน์ต้องมีกลยุทธ์ ใช้สุมสี่สุ่มห้าก็ไม่มีประโยชน์นะครับ อย่าลืมว่าการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ก็เพื่อสร้างเครือข่ายและเพื่อการพูดคุย จะเริ่มต้นอย่างไรต้องถามตัวเองก่อนว่า
1. จุดประสงค์ในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของคุณคืออะไร ทำให้แบรนด์เป็นที่รับรู้? หรือมองหาธุรกิจใหม่? หรือเพื่อสร้างชื่อเสียงของแบรนด์อีกด้านให้ดีขึ้น? หรือเพื่อออกสินค้าหรือบริการใหม่? หรือเพื่อรับสมัครมองหาบุคคลากรผู้ร่วมงานเพิ่ม? อะไรก็แล้วแต่ เนื้อหาที่ออกไปไม่เหมือนกันนะครับ สื่อที่ใช้ก็ไม่เหมือนกันด้วย
2. คุณกำลังคุยกับใคร? ลองนึกดูว่าคุณต้องการให้ข้อความของคุณไปถึงกลุ่มเป้าหมายอะไรบ้าง สถาปนิกคงไม่อยากอ่านโฆษณา ผู้บริโภคทั่วไปคงไม่อยากดูอะไรที่อาร์ตย่อยยากเกินไป นักการตลาดคงสนใจอะไรที่เป็นตัวเลข ต้องไม่ลืมว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์คือการสื่อสาร “สองทาง” คุณต้องคุยกับเค้าในเรื่องที่เค้ารู้เรื่องและอยากจะรู้เรื่องด้วย
3. ใครในองค์กรจะรับผิดชอบในการควบคุมดูแลเครือข่ายสังคมออนไลน์ของคุณ? ควรเป็นคนมีไหวพริบขนาดไหน ติดตามข่าวสารต่างๆอย่างรวดเร็ว รู้รอบ สื่อสารภาษาต่างๆดี มีความรู้ด้านต่างๆที่จะคุยกับเครือข่ายของคุณขนาดไหน
4. จากนั้นคุณต้องมาเลือกว่า platforms ที่คุณจะใช้คืออะไร? เดี๋ยวนี้ทั้ง Facebook, LinkedIn หรือ Twitter มันต่อเนื่องกันหมด คำถามคือต้องใช้มันทั้งหมดทุกตัวหรือไม่ เพื่ออะไร ผมทราบว่าคนไทยเล่นเฟสบุ๊กขึ้นเยอะเพราะการเมืองและก็เลิกเล่นไปเยอะเพราะการเมือง! เนื่องจากข้อมูลที่ส่งเข้ามากลายเป็นความเห็นที่แตกต่าง ทวิตเตอร์ ทวิตเข้าไปมากๆก็ไร้สาระและตรวจสอบที่มาไม่ค่อยได้ เรื่องราวเริ่มคล้ายๆกันไปหมดเนื่องจากทุกคนก็ follow คนโน้น ติดตามคนนี้ ซ้ำไปซ้ำมาข้อมูลข่าวสารก็จะกลายเป็นขยะ
5. เลือกสร้างชื่อโพรไฟล์ของคุณและเขียนคำอธิบายของธุรกิจคุณใหม่เหมาะสมครับ อย่าลืมว่าระบบติดตามของ เครือข่ายสังคมออนไลน์ ทุกตัวแม้จะดีขึ้นเรื่อยๆก็ยังเป็นแค่อัลกอรึทึมที่มนุษย์ใส่ลงไป คีย์เวิร์ดบางคำในโพรไฟล์ของคุณทำให้คนหรือเพื่อนใหม่ค้นหาคุณพบง่ายๆหรือลืมคุณไปเลยก็ได้
6. มองหาหรือกลุ่มคนที่คุณอยากจะสร้างเครือข่ายด้วย โดยทั่วไปเดี๋ยวนี้ระบบ search engine ใน เครือข่ายสังคมออนไลน์แต่ละตัวดีขึ้นมาก แต่ที่สำคัญมีสมาชิกใหม่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์เหล่านี้เพิ่มขึ้นทุกวัน เพราะฉะนั้นคุณต้องดูข้อมูลของสมาชิกคนอื่นว่าเค้าติดตามใครติดตามอะไรกันบ้าง ที่สำคุญยิ่งกว่าคุณต้องดูข้อมูลเหล่านั้นบ่อย ถี่ และต่อเนื่อง เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้เปลี่ยนทุกวินาทีครับ
7. เมื่อคุณพร้อม ต่อจากนี้ไปเป็นเรื่องของ content ครับ ต้องขยันหาเรื่องคุยหรือ issue ต่างๆที่ต่อเนื่อง อยู่ในกระแสรองหรือกระแสหลักของการออกแบบหรือ lifestyle ของสมาชิกที่ติดตาม ที่สำคัญต้องเกี่ยวข้องเกาะไปถึงวัตถุประสงค์ทางการตลาดที่คุณตั้งไว้แต่แรก
ลองเริ่มต้นดู แล้วคุณจะรู้ว่าเรากำลังทำการตลาดไปสู่อนาคตครับ
Sunday, 23 May 2010
มองหาแล้วเชื่อมั่น
พูดถึงความรัก หรือสิ่งใกล้เคียงที่ชอบมองหากันนักหนา เคยสงสัยทำไมมั้ยว่า คนเราต้องกระตือรือร้นที่จะมองหารัก?
...
ก็ความรัก ทีแรก มันคือความตื่นเต้น แหม ความรักครั้งแรก ใครๆ คนไหนก็ไม่มีลืม ก็มันตูมตาม มันวาบหวาม มันเร้าใจ
ก็ความรัก ทีแรก มันไม่ใช่เรื่องของ(หัว)ใจ แต่เป็น “ไฟ” ที่สุมเข้าไปเพื่อให้อะไรอะไรมันเผาผลาญ
ก็ความรัก ทีแรก มันเป็นเรื่องของแค่ “ฉันและเธอ” ไม่ต้องไปเจอคนอื่นๆ พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน ญาติ ใครเตือนอะไรไม่มีฟัง(หรอก) หรือฟังแต่ก็ไม่ได้ยิน ก็หูมันอื้อ ตามันลายแล้ว
ก็เมื่อความรัก ทีแรก มันคือ “วิทยาศาสตร์” คือความสงสัย เลยต้องเอามาทดลอง ความรักทีแรกจึงไม่ต่างจาก“ของแปลก” ทดลองไปเพื่อหา “สิ่งใหม่” เพื่อหา“ชัยชนะ”ในการได้มา และยังมองว่าไม่ใช่ความพ่ายแพ้แม้ว่าจะต้องเสีย“ของแปลกๆ”นั้นไป เลยเลือกชอบ เลือกจีบ(หรือยอมให้จีบ)มันไปเรื่อยๆ ถ้าไม่เหนื่อยฉันก็ไม่หยุด
ก็เมื่อความรัก ทีแรก คือการค้า ถ้าอยากได้มาก็ต้องเอาอะไรมาแลกไป เธออยากให้ฉันทำอย่างโน้น เธอก็ต้องยอมทำแบบนี้ เธออยากไปที่นี่ เธอต้องพาฉันไปที่นั่น
...
ผ่านจุดนั้นไป เมื่อได้รักมา แล้วเอามาทำอะไรต่อ? คนเราในโลกยุ่งๆใบนี้ เดี๋ยวก็เบื่อ เดี๋ยวก็อยาก มีหลายต่อหลายคนที่ยังชอบที่จะเบื่อๆอยากๆ รักๆเลิกๆ ไม่รู้จบ แต่ก็อีกหลายคนที่โชดดีเจอคนที่ “ใช่”
เอ๊ะ ไม่เห็นจะยากอะไร ก็แค่ทำความเข้าใจ ว่า..
…
...สิ่งที่เรียกว่ารัก คือ การค้นพบ คือ “กระจก”ที่ทำให้มองเห็นตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง เป็นตัวตนที่ครึ่งหนึ่งไม่ใช่ของตัวเอง เป็นตัวตนที่พร้อมที่จะเป็นของคนที่เรารัก พร้อมที่จะคิดแบบคนที่เรารัก มองแบบคนที่เรารัก และให้ทุกอย่างกับคนที่เรารัก
ตัวตนที่คิดว่าเข้มแข็ง แต่ยอมรับว่าจริงๆก็มีจุดอ่อน ตัวตนที่ร่าเริงแต่บางมุมก็จริงจัง ตัวตนที่คิดว่าชอบของสิ่งหนึ่ง แต่จริงๆก็ไม่ปฏิเสธสิ่งใหม่ๆ
...สิ่งที่เรียกว่ารัก “เต็มไปด้วยเรื่องราว” ทั้งเรื่องดีๆหรือเรื่องร้ายๆ ทั้งเรื่องตื่นเต้น ทั้งเรื่องน่าเบื่อ เป็นเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความเป็นของของเรา เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้ว จบแล้ว เห็นแล้ว ไม่ว่าเหตุการณ์จะออกมาเป็นอย่างไร เป็นเรื่องราวที่ถึงแม้จะเริ่มต้นใหม่ เริ่มกับใคร ทำยังไงก็ไม่มีทางเหมือนเก่า
ลองคิดดูร้านนั้นที่เราไปกินข้าวด้วยกัน ไปกินกับคนอื่นสั่งอะไรยังไงมันก็ไม่อร่อยเหมือนเดิม ที่ที่เราเคยไป มองไปทางไหนก็มีแต่ความทรงจำ
...สิ่งที่เรียกว่ารัก คือ ความผูกพันธ์กับ“เพื่อน”คนเดียวที่ดีที่สุด เพื่อนที่เข้าใจอะไรมากกว่าแค่เธอกับฉัน เพื่อนที่รู้จัก“เรา”มากกว่าเรารู้จักตัวเราเอง เพื่อนที่รู้จักจังหวะหลบหลีกเราเวลาเราโกรธ เพื่อนที่รู้จักปลอบเราเวลาเราเศร้า เพื่อนที่พร้อมจะไปกับเราทุกที่แม้จะเป็นที่ที่ไม่เคยไป เพื่อนที่เราไว้ใจมากกว่าตัวเราเอง
และเป็นเพื่อนคนสุดท้ายที่อยากให้อยู่ข้างๆเรา เมื่อถึงเวลาที่เราพร้อมที่จะ“ไป”
...สิ่งที่เรียกว่ารัก ไม่มีการ“แก้ตัว” มีแต่การ“แก้ไข” เพราะสำหรับความรัก ชิวิตมีแต่การให้อภัย ไม่ใช่มีแค่ไฟ แต่มีหัวใจที่เต็มไปด้วยการให้โอกาส
...สิ่งที่เรียกว่ารัก ไม่ใช่คนตาบอดที่มองไม่เห็น แต่ความรักคือ“คนตาฝ้าฟาง”ที่เริ่มที่จะมองอะไรๆในชีวิต“ชัดขึ้น” เมื่อเห็นชัดขึ้นก็ยิ่งทำให้อยากจะมอง อยากจะเห็นชัดขึ้นไปเรื่อยๆ และทำให้อยากจะเข้าใจสิ่งต่างๆในชีวิตมากขึ้นอีก เลยยิ่งทำให้ชีวิตยิ่งตื่นเต้นมากขึ้น
แล้วความรักก็จะทำให้เรากลายเป็นคนตาดี..ในที่สุด
...
ความรักไม่ใช่การมองหา“คนที่ดีที่สุด” แต่ความรักคือการทักทาย ทำความรู้จักกับสิ่งที่ “อาจไม่ได้สมบูรณ์แบบ อาจยังไม่ดีที่สุด” แล้วค่อยๆปรับตัวเราให้เข้ากับสิ่งที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบสิ่งนั้น ...ให้ดีที่สุด
เพื่อว่าเราจะได้ “เชื่อมั่น” กับสิ่งๆนั้น
...ให้มากที่สุด
Sunday, 9 May 2010
ความรักหลายสี
ผมเคยเขียนเรื่อง “สี” เรื่องที่มีหลายอารมณ์ของ “ความจริง ความรู้สึก และความรัก” ปนเปกันไป “สี”เป็นเรื่องของสัญลักษณ์ที่มีอัตลักษณ์ด้วยตัวของตัวเอง แต่ก็ได้สร้างความรู้สึกบนสิ่งอื่นให้คนอื่นคล้อยตาม เพื่อแปลความหมายตามความรู้สึก ซึ่งบางครั้งความรู้สึกของสีนั้นๆก็ไม่จำเป็นต้องเป็นความจริงเสมอไป “สี”จึงเป็นตัวแทนของอะไรได้หลายๆอย่าง มองได้จากหลายๆมุม ซึ่งคงจะเป็นมุมที่จริงบ้าง ลวงบ้าง แล้วแต่ว่าเราจะเอามาแทนตัวของเราเองในมุมๆไหน หรือแทนอย่างไร
...
ผมมีรุ่นน้องสองคนที่คบกันมานานและก็รักกันมาก เฉียดจะตกร่องปล่องชิ้นกันก็หลายครั้ง เพื่อนๆยกธงเชียร์ให้ลงเอยกันซักที ไปๆมาๆตอนนี้ติดโรคยอดฮิตของคนที่คบกันนานๆ คือโรค “สีเทา” โรคนี้หลายคนคงจะเคยเกิดกับตัวเอง และหลายคนคงจะเคยผ่านมันไปครับ สำหรับคนที่คบกันมานาน สีสวยๆของความรักอาจเริ่มจาง อาจเพราะช่วงแรกละเลงสีมันมากเกินไป หรือสิ้นเปลืองสีไปด้วยเวลา อาจเป็นเพราะมีสีอื่นๆที่เรายอมให้มันเข้ามามีอิทธิพลกับสีเดิมของเราโดยเราเองก็ยังไม่รู้ตัว เราปล่อยให้มีสีหลายๆสีมาผสมมั่วไปหมด สร้างม่านบางๆสีเทาที่ทำให้เราเริ่มมองไม่เห็นกัน มองไม่เห็นว่าม่านนั้นน่ะจริงๆแล้ว “ไม่มีอะไรเลย” ไม่มีอะไรนอกจากสิ่งที่เราสร้างขึ้นเองและสร้างมาด้วยกัน แต่เราเองลืมตัวไปชั่วขณะ ปล่อยให้มันผสมกันเองในถาดสี แทนที่จะวาดเส้นสายขึ้นมาด้วยกัน เป็นภาพวาดของชีวิตบนกระดาษ และระบายลงไปด้วยความหลากหลายของกันและกัน เพื่อทำให้ภาพวาดนั้นกลายเป็นเรื่องราวที่สร้างโดยเรา และเป็นของเราไปอีกนานแสนนาน เป็นเรื่องราวที่ดูอีกกี่ครั้งก็สวย และที่สำคัญเรื่องราวในภาพนั้นมี “สี” ของเราทั้งสองคนผสมกลมกลืนกันลงตัว มองได้หลายมุม สวยได้หลายแบบ
...
ภาพชีวิตของคนหลายคนมักมีสีหลากสี เพราะความรักในชีวิตมักไม่สามารถระบายให้จบในครั้งๆเดียว กว่าจะได้ภาพที่สมบูรณ์เรามักผ่านการใช้สีหลายๆสี มากน้อยไม่เท่ากัน
...
ความรักสีเทาถึงแม้จะดูหดหู่ ท้อถอย แต่สีเทาก็เป็นสีที่ระบายออกถึงอารมณ์ที่บางครั้งจำเป็นต้องมีอยู่ในชิวิตครับ เพียงแต่ขอให้รู้จัก“จำกัด”ให้สีเทาอยู่ในส่วนเล็กๆของภาพ และเมื่ออยู่ในภาพสีนี้ก็คือการเตือนความทรงจำว่าภาพที่จะสมบูรณ์ได้ก็เหมือนชิวิตที่หลายครั้งความสวยไม่ใช่เรื่องราวอันหมดจรดที่เล่าครั้งเดียวแล้วสวยได้แบบไม่มีตำหนิ
ความรักบางครั้งเป็นสีชมพู ที่ใสซื่อบริสุทธิ์ ถึงจะมีใครมาฉุด ฉันก็ขอแอบ ก็ตอนเป็นเด็กน่ะมันไม่ต้องรู้ ไม่ต้องใส่ใจอะไร ขอแค่คิดว่าเป็นเธอน่ะ เพราะงั้นอะไรๆก็ใช่ อยากคิดถึงทุกคืน ความรักสีนี้เป็นความรักแบบทุ่มเททุ่มทุนสร้าง มองรอบตัวอะไรก็สวยงามไปหมด เป็นสีที่ถึงแม้ผ่านมานานก็ยังไม่ลืม และแอบยิ้มแบบปลื้มๆถึงสิ่งเราก็เคยมี
ความรักสีแดงถึงดู “ร้อนแรง” แต่ก็มักจะ “โหดร้าย”ตอนจบ จำได้มั้ยครับ ความรักแบบที่บางครั้งเรารู้ว่าต้องการด้วยความอยาก ราคะ แรงและมึน (แต่ก็จะเอาอ่ะ) ทำให้มองอะไรอย่างอื่นไม่เห็น มองหาเหตุผลไม่มี ความรักและปลื้มคนที่เค้ามีเจ้าของแล้วทั้งที่รู้ว่ามันผิด หรือหลงเธอคนนั้นแบบทั้งตัวทั้งใจขอไปอยู่ด้วย (แต่ก็รู้ว่าจะจบไม่สวย เอาวะ ยังงัยขอไปด้วยตอนนี้ก่อนละกัน)
ความรักสีเขียว สีของความพอพอเพียง แต่เป็นความรักแบบไม่มีวันลงเอย เคยมั้ยครับที่มีรักแบบไม่ต้องมีความหวังแต่หัวใจเต็มไปด้วยพลังแบบพี่มีแต่ให้ ไม่ต้องเอาอะไรแค่ขอให้เธอรู้ซักนิด(เผื่อจะมีหวัง) ความรักในครอบครัวก็เป็นสีเขียวๆอบอุ่นแบบนี้ครับ
ความรักเศร้าๆ “สีบลู” รู้ว่าเขาและเธอไม่อยู่ข้างๆเราอีกแล้ว เป็นความรักที่สูญเสียแบบลาจาก รักแบบทรมานเพราะไม่มีวันได้พบกันอีก รักที่ต้องทำใจที่รู้ว่าถึงจะเป็นรักแท้ แต่จากไปแบบไม่มีวันกลับ หรือความรักที่รู้ว่าสักวัน ยังงัยมันก็ต้องจบ คงต้องรักแบบเรียนรู้ที่จะยอมรับกับความเศร้าความหดหู่
หรือความรักสีเหลืองอ่อนๆ แบบ“แอบๆ” ค่อยๆใกล้ชิด ปิดยังงัยก็ไม่มิดแต่ยังไม่กล้าบอก มีโอกาสแต่ยังไม่แน่ใจ หรือมีใจแต่ยังไม่กล้าคิด เป็นความรักแบบที่มีสีเบียดๆค่อยๆละเมียดเข้าไปหา
ความรักที่รู้ว่ายากแต่ด้วยความพยายามอะไรก็เป็นไปได้ คือความรักสีม่วงที่ “ลึก” แต่ “เร้าใจ” ที่ถึงจะดูยังงัยมันก็ไม่น่าจะเข้ากันได้ แต่ เอ้า เป็นงัยเป็นกัน ความรักแบบกล้าๆกลัวๆ เสี่ยงๆนิดๆ ตื่นเต้นหน่อยๆในตอนแรก พอลองดูแล้วก็รู้ว่าติดใจ(อ่ะ)
หรือความรักสีขาว ที่ไม่จะเป็นต้องเป็นแค่สีของความบริสุทธิ แต่มองเป็นสีที่ช่วย “ลดทอน” ความไม่พอดี ความเกินเลยของสีต่างๆ เป็นสีของความรักที่ช่วยรักษาสมดุลของภาพวาดที่ผสมผสานไปด้วยสีต่างๆให้ลงตัว สีขาวจึงมีความเป็นสีของ “ความรักตัวเอง” ที่มอบให้กับสีอื่นๆเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจกับอะไรๆที่เราใช้ไปในชีวิต
...
ภาพวาดของชีวิตเป็นแค่จุดเริ่มต้นของความรัก ถึงจะวาดให้สวยจากความพยายามผสมสีตั้งแต่เริ่มต้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป อะไรๆก็เก่าลง ภาพๆนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเสริมเติมแต่งเพื่อให้ชีวิตนั้นสวยอยู่เสมอ ก็ “สี” ต่างๆของความรักที่เรามีอยู่ในครั้งแรกนั่นแหละครับ ที่เราเลือกใช้เติมจุดต่างๆในภาพที่มันอาจจะจางอาจจะบางลงไปบ้าง เติมตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้าง บางครั้งสีโน้น บางครั้งสีนี้ เติมไปอยู่ไป ไม่มีวันเสร็จ
...
เพราะความรักของเรา จะสวย จะสมบูรณ์แค่ไหน..
อยู่ที่เราเลือกใช้สีอะไร..
ในช่วงเวลาไหนของชีวิตครับ
Tuesday, 16 March 2010
ดูหนัง(ได้รางวัล)..แล้วย้อนดูตัว(เอง)
โบราณท่านว่าไว้ “ดูหนัง ดูละคร แล้วย้อนดูตัว”
แต่วันนี้ขอไม่พูดถึงละคร(ไทย)ที่ไม่เคยมีอะไรแปลกใหม่ที่มีประโยชน์ เพราะผมอยากจะพูดถึงเวทีประกวดรางวัลภาพยนต์นานาชาติหรือเวทีออสการ์ เวทีที่ทุกๆปีมักมีอะไรให้ได้ใจหาย(พลาดรางวัล) หรือลืมหายใจ(รอลุ้น) อยู่เสมอ
ผมเป็นคนชอบดูหนังครับ ไม่ว่าหนังนอกกระแสที่ดูมาตั้งแต่สมัยเรียน หรือหนังดังในกระแสถล่มทลายบ๊อกซ์ออฟฟิซ เพราะ “มายาคติ” มีในโลกมายามีอะไรมากกว่าที่เราคิดนะครับ (เอาแค่ชื่อก็ชนะแล้ว มายา+คติ) หนังดีๆหลายเรื่องเป็นกระจกสะท้อนให้เราเห็นตัวตน เงาความคิดหรือของคนที่ซ่อนอยู่
ออสการ์เป็นสถาบันภาพยนต์ของคนอเมริกัน โดยคนอเมริกัน และ(หลายครั้ง)เพื่อหนังอเมริกัน วัฒนธรรมอเมริกันก็เผยแพร่ผ่านภาพยนตร์เหล่านี้ และหลายครั้งภาพยนตร์ดีๆหลายเรื่องก็ให้แง่คิด บทเรียนและมุมมองที่น่าสนใจกับการบริหารชีวิต การทำงาน และก็สามารถนำมาปรับมาใช้ได้กับการต่อสู้ในแวดวงธุรกิจซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวัน
…
สิ่งที่ผมชอบจาก Slumdog Millionaire หนังดังที่หนุ่มน้อยชาวอินเดียเล่นเกมส์เศรษฐี “สร้างโชคได้ด้วยตัวเองจากเรื่องราวรอบตัว” ที่รู้จักสังเกต เก็บเล็กผสมน้อยจากเกร็ดต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทั้งๆที่มองเผินๆบางครั้งเรื่องราวเหล่านั้นดูแล้วอาจจะไม่ได้ใช้ประโยชน์กับชีวิตเฉพาะหน้าของหนุ่มน้อยในสลัมคนนี้เลย
ผมชอบ Forrest Gump ที่นำเสนออย่างแหลมคมว่า “ทุกคนเกิดมาไม่มีใครแตกต่าง” แต่ชิวิตนี้ไม่มีอะไรแน่นอน อะไรก็เกิดขึ้นได้ และยังเสนอให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “ความสำเร็จสร้างได้ ไม่ว่าจะมาจากความฝัน จากความพยายาม หรือจากความอดทน” ที่แม้วันนี้ยังมองไม่เห็น ก็ไม่ได้แปลว่าความสำเร็จในชีวิตน่ะมันจะไม่มี
หนังที่ได้รางวัลออสการ์อย่าง More than a Game บอกเล่าเรื่องราวของนักเรียนยากจนกลุ่มหนึ่งที่เติบโตมาพร้อมๆกับความฝันของการเป็นแชมป์บาสเก็ตบอล ตัวหนังให้น้ำหนักของ “การเดินทางสู่ความสำเร็จที่สำคัญยิ่งกว่าตัวความสำเร็จ” ที่ได้รับ และยังตอกย้ำว่าทุกสิ่งเป็นไปได้ถ้าคนของเรามีความทุ่มเทมุ่งมั่น
ผมประทับใจกับหนังนอกกระแสที่ได้รางวัลเวทีเล็กๆหลายรางวัลเรื่องหนึ่งอย่าง Lovely Bones หนังที่เล่าเรื่องราวของความผูกพัน ความเป็นห่วงกังวลกับคนรอบๆตัวเราที่มีมากยิ่งกว่าตัวเรา หนังที่สรุปขมวดปมอย่างฉลาดว่า “ปัญหาและเรื่องราวทุกสิ่งมีทางออกของตัวมัน ด้วยตัวมันเอง” ตลอดเวลาของการเดินทางที่ดูเหมือนจะหยุดนิ่งของเรา ขอเพียงแค่เรารู้จักคิด รู้จักสังเกต เราจะเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น สิ่งที่คิดว่าไม่เคยเป็น และสิ่งที่คิดว่าไม่เคยมี
...
"Think differently and Push the boundaries."
+
"Right people and Right dedication."
+
"Optimism and Openness"
...
คิดต่างและคิดให้ไกลถึงที่สุด
+
ใช้คนให้เป็น คนที่มองแล้วเห็นความตั้งใจ
+
มองโลกแง่บวก พร้อมเปิดใจกับสิ่งที่อาจมองไม่เห็น อาจไม่ได้เป็น อาจคิดว่าไม่มี
…
มายา + คติ คือ การมองมายาเพื่อให้เห็นและนำมาใช้เป็น “คติ”
ไม่ใช่แค่ให้มี “สติ” อยู่แต่ในโลกมายา
นะครับ
Thursday, 4 February 2010
Designing Luxury
ดูเหมือนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ“ความหรูหรา”เห็นท่าจะแยกไม่ออกจากเรื่องของพลังของงานดีไซน์นะครับ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมีอยู่มากมายใน luxury segment ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่แบรนด์แฟชั่นทั่วไปจนถึงนาฬิกาและน้ำหอม
พูดถึงการจะทำน้ำหอมให้ดังสักยี่ห้อหนึ่ง ต้องเกี่ยวข้องกับการใช้ทักษะในการออกแบบสร้างสรรค์สิ่งที่แตกต่าง(แบบคนละเรื่องเดียวกัน) 2 สิ่ง นั่นคือ การออกแบบกลิ่นและการออกแบบขวดบรรจุ สำหรับแบรนด์ดีๆดังๆ หลายท่านบอกได้เต็มปากว่า“แค่เห็นขวด”ก็หอมแล้ว และแบรนด์บางแบรนด์ออกซับแบรนด์ในตระกูลเดียวกันออกมา ผู้ซื้อที่เป็นแฟนพันธ์แท้ก็สามารถเชื่อมั่นไปกว่าครึ่งว่าหอมแน่ แม้ไม่ต้องดม
…
ลองคิดเล่นๆ เหตุผลที่แบรนด์น้ำหอมหลายๆแบรนด์สามารถสร้างตัวตนไปได้ถึงขนาดนั้น เพราะอะไร?
…
สิ่งที่สำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งของการบริหาร luxury แบรนด์ คือ “การสื่อสาร” ข้อความระหว่าง “ตัวตนของแบรนด์” กับ “พลังของงานดีไซน์ในแบรนด์” ที่ต้องการสื่อออกมา แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จคือแบรนด์ที่มีพลวัตและปฏิสัมพันธ์สูงกับผู้บริโภคแบบ ..จับต้องได้ด้วยประสบการณ์.. สัมผัสได้ด้วยภาษาใจ.. และ..สามารถเข้าถึงและรับรู้ในสิ่งที่ต้องการ โดยไม่ต้องอธิบาย..
...
ลองคิดไปเรื่อยๆ แบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่นกลุ่มโรงแรมหรูทำไมต้องพัฒนาตัวตนอยู่ตลอดเวลา?
...
มองแบรนด์โรงแรมจากการสร้างประสบการณ์ที่จับต้องได้ ด้วยภาพของความหรูหราในห้องพัก เครื่องนอน การตกแต่งสถานที่ ไปจนถึง gourmet cuisine ที่โรงแรมภูมิใจนำเสนอ
ดูบางแบรนด์โรงแรมที่พัฒนามาถึงการสร้างกลุ่มและกลไกที่สัมผัสได้ด้วยใจสะท้อนผ่านรสนิยมการออกแบบโรงแรมที่มีแนวคิดใหม่ ไม่ค่อยจะเหมือนใครของ Design Hotels, Tablet Hotels, Hip Hotels, Small and Luxury Hotels (SLHs)
และเดี๋ยวนี้การทำโรงแรมกอปรกับการท่องเที่ยวให้“หรู” เป็นเรื่องของการสร้างความเข้าใจ สร้างคำจำกัดความถึง “รูปแบบ” ที่แตกต่างของคำว่าท่องเที่ยวด้วย “การประดิษฐ์” และ “ออกแบบความหรูหรา” เพื่อประสบการณ์ดีๆของผู้อยากที่จะมีอยากจะสัมผัส
แบรนด์ดิ้งการท่องเที่ยวเดี๋ยวนี้ต้องออกแบบ“ความหรูหราที่ประสบการณ์”ครับ วันนี้ตลาด luxury travel เชยแล้วถ้าจะมานั่งขายชื่อเสียงของสถานที่สำคัญหรือชื่อประเทศโน้น โรงแรมนี้ วงการท่องเที่ยวเดี๋ยวนี้ตอนนี้จะมีก็แต่เรื่องของการสัมผัสการทำไวน์และทานอาหารแบบ fine dining จากชาโตว์จริงๆที่ฝรั่งเศส หรือการพักผ่อนพร้อมดูงานมิลานแฟชั่นวีคใน service apartment กลางเมืองมิลานที่ออกแบบโดย Armani Casa ไปจนถึงการนอนเต๊นท์หรู ส่องสัตว์แบบซาฟารีพร้อมสปากลางป่าแบบคนอังกฤษในแอฟริกา กลับมานอนพักในวังเก่าแบบ Florentine ในอิตาลี ที่แขกที่เข้าพักจะได้รับการบริการแบบ royalty หรือจะเป็นประสบการณ์บนเรือหรือในบ้านโคโลเนียลยุค American revolution ของหลายประเทศในแถบแคริบเบียน
…
กลไกของแบรนด์ที่ตัวแบรนด์และผลิตภัณฑ์ของแบรนด์สัมผัสตรงกับผู้ซื้อจึงต้องเป็นเรื่องของ “การออกแบบความทรงจำ” ที่โดนสัมผัสได้ด้วย “จิตใจและอารมณ์” และต้องสัมผัสได้แบบถูกที่ถูกเวลา
...
ลองคิดให้ดี เอาเข้าจริงๆ แบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับก่อสร้าง ออกแบบและอสังหา ที่ว่า“หรูหรา” มีที่มาเป็นอย่างไร?
…
มาจากประสบการณ์ที่คุณจับต้องได้(จริงหรือ)
มาจากรสนิยมที่สร้างและแปลกใหม่ด้วยคุณภาพและพลังของการออกแบบ(ที่ไม่เคยเห็น..แต่อาจรู้สึกว่าใช่)
หรือมาด้วยการดีไซน์ประสบการณ์จริง สร้างเรื่องราวที่โดนใจ สร้างเรื่องที่ใครๆได้รู้สึกว่าใช่ (อยากจะมีและอยากจะเป็น)
...
น่าคิดนะครับ
Thursday, 28 January 2010
Design Is..Furniture as an Investment 28-01-10
สวัสดีปีใหม่ครับ ปีใหม่แบบนี้ขอให้ทุกท่านมีแต่เรื่องดีๆ และหวังว่าหลายๆท่านคงกำลังสบายใจกับผลประกอบการที่ตรง(หรือทะลุ)เป้านะครับ
เริ่มต้นปีแบบนี้ทุกท่านคงกำลังวางแผนชีวิตและกิจการสำหรับทั้งปีนี้และในปีถัดๆไป พูดถึงแผนการในชีวิตคงต้องเอ่ยถึงเรื่องเงินๆทองๆและเรื่องการลงทุน ทุกท่านเชื่อหรือไม่ครับว่าการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์เดี๋ยวนี้เสมือนคือการเลือกลงทุนอย่างหนึ่ง
ในอดีตก่อนที่จะมีการผลิตเฟอร์นิเจอร์ออกมาเป็นลักษณะแมสมากๆเหมือนทุกวันนี้ การจะทำเฟอร์นิเจอร์สักชิ้นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ ตู้เตียง เสมือนคือการทำงานของช่างฝีมือซึ่งเต็มไปด้วยพลังในการการสร้างสรรค์ เป็นการทำงานที่ใส่ใจในทุกรายละเอียด ใช้วัสดุคุณภาพดีที่สุด (โดยเฉพาะการคัดเลือกไม้ประเภทต่างๆ) ทุ่มเทให้เวลากับงานแต่ละชิ้นเหมือนกำลังสร้างความภาคภูมิใจไม่ใช่แค่จะทำให้เสร็จ เฟอร์นิเจอร์หลายชิ้นส่วนใหญ่ในอดีตจึงเปรียบเสมือนงานชิ้นเอก เป็นเครื่องพิสูจน์ความภูมิใจที่ยังสัมผัสได้ คงทนและแน่นอน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ปัจจุบันเราเรียกเฟอร์นิเจอร์ที่เข้าข่ายและมีคุณสมบัติแบบนี้ว่าเป็นเฟอร์นิเจอร์ระดับหรูหราครับ คำว่าหรูหราคำนี้ทำให้คนเข้าใจผิด คิดไปถึงรสนิยมของผู้สะสมหรือผู้ที่จะซื้อว่าต้องสูงส่งและแพงเท่านั้นตามไปด้วย จริงๆแล้วไม่ใช่เลยครับ passion และความตั้งใจในการทำเฟอร์นิเจอร์ต่างหากที่ให้เฟอร์นิเจอร์ออกมามีบุคลิกที่เปี่ยมไปด้วยพลังเหมือนเฟอนิเจอร์ในอดีตที่เรายังคงมองหาได้ในปัจจุบันผ่านตัวตนของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์หลายๆแบรนด์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ ทั้งแบรนด์อายุมากหรือแบรนด์ใหม่ๆ ไม่จำกัดการออกแบบว่าจะเป็นแนวโมเดิร์น คอนเทม หรือคลาสสิค ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้สะสมครับ
การเลือกซื้อโซฟาซักตัวจึงเป็นการเลือกลงทุนครับ ก็เมื่อโซฟาดีๆหรือหรือเตียงหลังหนึ่งนี่ เรายังใช้กันร่วมสิบปี เรื่องของเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ดีๆจึงเป็นการลงทุนว่าวัสดุที่ใช้จะทนทานขนาดไหน และลงทุน(ลุ้น)ว่าราคาของโซฟาตัวนั้นราคาซื้อขายแลกเปลี่ยนจะเป็นอย่างไรเมื่อแบรนด์นั้นจะออกคอลเลคชันใหม่ โดยทั่วไปแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ระดับนี้จะรู้จักรักษาเนื้อรักษาตัวเพื่อรักษาแบรนด์ จะไม่ออกรุ่นใหม่ๆพร่ำเพรื่อ จะไม่ทำโปรโมชัน จะไม่ลดแลกแจกแถม หลายครั้งอยากขายคนที่อยากซื้อ(แบบมองแวบเดียวรู้ว่าใช่หรือไม่ใช่) และจะชอบทำงานร่วมกับดีไซเนอร์หรือเจ้าของบ้านที่เข้าใจสเปซของตัวเองเป็นอย่างดี
วันนี้ตลาดในต่างประเทศการประมูลขายเฟอร์นิเจอร์โบราณ เครื่องตกแต่งหรือแม้แต่ พรมเปอร์เซียอายุเป็นร้อยปีเป็นเรื่องปรกติครับ ตลาดนี้เป็นตลาดใหญ่มากนะครับ ที่นำหน้าเราไม่ว่าฮ่องกง สิงคโปร์เค้าเริ่มมีตลาดเฟอร์นิเจอร์เพื่อการลงทุนมาซักพักแล้ว ลองคิดดูเล่นๆ สิ่งที่เราเรียกว่าเฟอร์นิเจอร์โบราณในอดีต ถ้ากลายเป็นเงินทองในวันนี้ แล้วสิ่งที่เรามองว่าเป็นเฟอร์นิเจอร์หรูหราโมเดิร์นในปัจจุบัน ถ้าเลือกดีๆจะมีมูลค่ามหาศาลขนาดไหนในวันข้างหน้า อิตาเลี่ยนดีไซน์แบรนด์ใหม่หลายๆแบรนด์ซึ่งทำเฟอร์นิเจอร์ที่เราเรียกว่าโมเดิร์นออกมาจนพิพิธภัณฑ์ยังต้องเลือกเอามาเก็บไว้ อนาคตข้างหน้าการลงทุนของท่านในการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์แบรนด์ให้ถูกตา ถูกใจ และถูกแบรนด์ก็คือสมบัติที่ชื่นชมได้นั่นเองนะครับ
ผมเขียนคอลัมน์นี้มาหลายฉบับ ส่วนใหญ่จะวนไปเวียนมาเป็นเรื่องงานออกแบบและเฟอร์นิเจอร์ มีผู้อ่านหลายท่านอีเมล์มาสอบถามเรื่องงานออกแบบกับงานบ้านโมเดิร์นซึ่งเข้าใจไปคนละทิศคนละทางว่าไอ้เจ้าบ้านสีขาวๆกล่องๆนี่มันก็สวยเหมือนกันหมด หรือใครๆก็ออกแบบหรือสร้างทำให้เป็นบ้านโมเดิร์นได้เหมือนกันหมดหรืออย่างไร(คงจะไม่) ครั้งหน้าผมจะเล่าให้ฟังนะครับ
“Manager” หรือ “Leader” : Design Leadership
ตั้งแต่ปลายปีเก่าจนถึงต้นปีนี้เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของบรรดาลูกจ้างและมนุษย์เงินเดือนครับ หลายๆบริษัทหลายๆองค์กรเริ่มทยอยแจกโบนัสมาตั้งแต่ปลายปี สำหรับในแวดวงก่อสร้าง ออกแบบและอสังหาฯหลังจากตลอดทั้งปีลุ้นภาวะเศรษฐกิจพลิกคว่ำพลิกหงายให้ใจคอวูบวาบเล่น แล้วช่วงนี้ก็เริ่มมีข่าวดีแย้มออกมาบ้าง ถึงจะทราบว่าบริษัทรับเหมาก่อสร้างหลายแห่งนอกจากไม่มีโบนัส แถมเงินเดือนไม่ขึ้นแล้ว ยังต้องประกาศปิดตัวลงชั่วคราว(หรือถาวรเลยก็มี) และบริษัทฯออกแบบหลายแห่งที่สัญญาจะให้โบนัสพนักงานมาหลายปีดีดักแต่รอแล้วรอเล่าก็ยังไม่เคยได้สักที แต่ก็ทราบว่าบริษัทพัฒนาที่ดินที่สร้างคอนโดขายแห่งหนึ่งแจกโบนัสพนักงานระดับบริหารบางคนสูงสุดถึง 11 เดือน
อะไรเป็นเหตุผลให้ความแตกต่างมันถึงได้มีมากมายขนาดนั้น?
...
ช่วงหลังๆการบริหารจัดการทรัพยาการบุคคลมีวิธีการใหม่ที่สร้างสรรค์และระมัดระวังในการคัดเลือกบุคคลากรเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและการจัดการมากขึ้น สำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและพัฒนา ตำแหน่งตั้งแต่ระดับผู้จัดการขึ้นไปโดยเฉพาะสำหรับบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมประเภทอสังหาฯ ไอที หรือแม้แต่รีเทลและงานบริการนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เรามักจะคุ้นเคยกับการทำงานหรือการมองหาตำแหน่งนี้ที่เรียกว่า “ผู้จัดการส่วนออกแบบ” หรือ “Design Manager”
ผมได้รับการสอบถาม แลกเปลี่ยนความคิด และพูดคุยจากน้องๆ เพื่อนๆ หรือแม้แต่กับลูกค้า ถึงทัศนคติที่ว่า “Design Manager” ที่ดีที่เก่งควรเป็นอย่างๆไร
อะไรทำให้หลายๆบริษัทมีผลประกอบการในปีที่ผ่านมาต่างกันเหลือเกินทั้งๆที่บริษัทฯส่วนใหญ่ก็ลงทุนกับบุคลากรด้านการออกแบบหรือ R&D ไม่ว่า in-house หรือ out-source อย่างเต็มที่กันทั้งนั้น (ยกตัวอย่าง ในแวดวงอสังหาฯ สังเกตุว่ารูปร่างหน้าตาของบ้าน อาคารคอนโด รูปแบบ ผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทฯส่วนใหญ่ก็ออกมาดูดี ไม่ค่อยมีที่ติ)
เป็นแบบนี้ก็เพราะ “หน้าที่” และความคาดหวังส่วนใหญ่จาก “Design Manager” ยังคงอยู่ในกรอบของ การสร้างงานออกแบบให้แตกต่างจากคู่แข่ง หรือการใช้งานทรัพยากรให้เกิดประโยชน์และก่อให้เกิดกำไรสูงสุด และคือการสร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อความเป็นไปได้ในการสานต่อเพื่อผลิต
แต่สิ่งที่ควรมีแบบ “Design Leader” ด้วยการผลักดันองค์กรให้เดินหน้า กลับกลายเป็น “บทบาท” ที่เป็นส่วนน้อย
…
หลายองค์กรมี “Design Manager” แต่ไม่ทุกองค์กรที่จะมีคนที่รู้จักสร้างบทบาทแบบ “Design Leader”
...
คนที่รวมเอากระบวนการคิดแบบ “Design Thinking” เข้ามาในการทำงาน เอาเข้ามาในองค์กร
ด้วยการมองว่าองค์กรคือนวัตกรรมที่ยังสร้างหรือยังทำไม่เสร็จ ยังไม่ตกผลึก (unfinished prototype)
ด้วยการทำงานแบบดีไซเนอร์ที่ลองผิดลองถูกอย่างเป็นระบบ (calculated trial-and-error)
เริ่มจากการ “สังเกตุ” แล้ว “ระบุจำแนก” รูปแบบของพฤติกรรมของสิ่งต่างๆรวมถึงปัญหา ก่อนจะนำมาซึ่งการ “สร้างสรรค์ความคิดใหม่” ทดลอง “นำความคิดเหล่านั้นมาใช้” เพื่อฟัง “ข้อคิดเห็น”จากผู้เกี่ยวข้อง แล้วเริ่มต้นกระบวนการเหล่านี้ทั้งหมดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดีและดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ
เป็นการสร้างวิวัฒนาการณ์แบบการแก้ปัญหา เหมือนวิวัฒนการณ์ของการทำงานแบบดีไซเนอร์
...
ความแตกต่างขององค์กรหรือบริษัทต่างๆในภาวะที่คล้ายกันแบบนี้อยู่ที่ “วัฒนธรรมองค์กร” และ “Design Leadership”
ผู้ที่อยู่รอดคือผู้ที่มีวัฒนธรรมที่ปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อสร้างหรือรักษาความเป็นผู้นำ เพื่อสร้างให้สินค้า บริการและประสบการณ์เป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้า“แปลกใจ” รู้สึกดีเป็นพิเศษแบบ “แตกต่าง”
…
Design Management สร้าง“กรอบ” เอาไว้ทำงานรอบๆตัว
Design Leadership จะสร้างความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ แบบ“ไม่มีกรอบ” ถึงอาจยังไม่ชอบ
..แต่อยากให้ลองดูครับ